เมื่อพูดถึงนักยึดแย่งที่ดิน (land grabber) เรามักมีความคิดเชื่อมโยงไปถึงเหล่านายทุนที่กว้านซื้อพื้นที่การเกษตร พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือการลงทุนในพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าโดยนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ถือครองที่ดิน และผลประโยชน์ทั้งหลายก็ตกอยู่กับกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม
แต่ในยุคสมัยที่การสังสรรค์และการพักผ่อนมีทางเลือกมากขึ้น การเกิดขึ้นของย่านสร้างสรรค์ที่เต็มไปด้วยกิจกรรมชิคฮิปคูลของเหล่าคนเมือง ซึ่งไม่ใช่แค่ไปเพื่อถ่ายรูป แต่มุ่งเสนอประสบการณ์สุดล้ำให้ผู้มาเยือนว้าวไปกับกิจกรรมตรงหน้า ดังเช่นย่านบ้านเก่าของผู้เขียนซึ่งตั้งอยู่ในซอยนานา บริเวณวงเวียน 22 กรกฎาคม ที่เกิดการผลิกโฉมจากบ้านไม้เก่าแก่ อาม่าอากงขายยาจีน กิจการขนส่งสินค้า หรือเปิดบ้านไว้เป็นโกดังเก็บของที่ค้าขายกันบนถนนเยาวราชซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลนัก กลายมาเป็นซอยที่เต็มไปด้วยชาวต่างชาติ ศิลปิน และบรรดาหนุ่มสาวที่มาเช่าบ้านและปรับปรุงเป็นพื้นที่ทำงาน รวมถึงผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจบาร์และโฮสเทล จนซอยนานาในปัจจุบันแปรสภาพจากชุมชนค้ายาจีนแสนเงียบเหงา กลายเป็นชุมชนที่เต็มไปด้วยความสดใหม่ของกลุ่มคนสร้างสรรค์ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
แม้ซอยนานาในปัจจุบันจะยังคงอบอวลไปด้วยกลิ่นอายและบรรยากาศของคืนวันเก่าๆ แต่การเข้ามาของกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์หลายกลุ่มหลายแขนงก็ทำให้รูปโฉมและบรรยากาศของซอยนานาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เมื่อพวกเขาค่อยๆ ปรับเปลี่ยนซอยนานาโดยเริ่มจากการซื้อบ้านเก่า ตึกเก่า หรือบ้างก็เช่าห้องแถวและคงความเก่าน่าพิสมัยภายนอกเอาไว้ แต่ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายในให้เข้ากับรสนิยม ไม่ว่าจะเป็นสตูดิโอแสดงงานศิลปะ บ้านพำนักของศิลปิน (artist residency) ร้านอาหาร บาร์ร่วมสมัย คาเฟ่กุ๊กกิ๊ก รวมถึงการแปรสภาพบ้านเก่าให้เป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง ในขณะที่กลุ่มผู้อยู่อาศัยเดิมทยอยย้ายออกไป หรือที่ยังอยู่ก็ต้องปรับจังหวะการใช้ชีวิตให้ผสานสอดคล้องกับกระแสของวัฒนธรรมใหม่ที่ถาโถมเข้ามา ซึ่งการที่ที่ดินโดยรอบมีมูลค่าสูงขึ้น ก็ทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบจากค่าเช่าบ้านที่สูงขึ้นไม่มากก็น้อย
ซอยนานาในปัจจุบันแปรสภาพจากชุมชนค้ายาจีนแสนเงียบเหงา กลายเป็นชุมชนที่เต็มไปด้วยความสดใหม่ของกลุ่มคนสร้างสรรค์ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
ไม่เพียงเท่านั้น การเข้ามาของคนกลุ่มใหม่ยังส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานสังสรรค์ในชื่อ ‘Nana Craft + Jumble trail’ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง โดยเป็นการเปิดบ้านของศิลปินให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจเดินเข้าออกได้ตั้งแต่ชั้นล่างไปจนถึงชั้นดาดฟ้า รวมทั้งมีการขายสินค้า อาหาร และเครื่องดื่มตั้งแต่เย็นย่ำจนถึงกลางดึก
นอกจากบรรดานักท่องเที่ยว พื้นที่ที่ค่อยๆ เปลี่ยนรูปโฉมและความคึกคักที่เกิดขึ้นก็เชื้อเชิญให้นักลงทุนและชาวต่างชาติทยอยกันมาเปิดกิจการหรือขอเช่าบ้าน ด้วยเหตุผลตั้งแต่ความหลงใหลในความเก่าแก่ของบ้านเรือน ไปจนถึงความน่าดึงดูดของตลาดการท่องเที่ยวแบบเอาใจคนรุ่นใหม่ ไม่เพียงเท่านั้น ซอยนานายังโชยกลิ่นหอมไปแตะจมูกของออร์แกไนเซอร์ทั้งหลายให้มาจัดอีเวนต์ปิดซอยทั้งเพื่อการค้าและวัตถุประสงค์อื่นอีกหลายครั้ง
ความแนบเนียนของการค่อยๆ กลืนกินพื้นที่ผ่านร้านเหล้า โฮสเทล คาเฟ่ และร้านอาหารต่างๆ จึงเกิดขึ้นโดยที่กลุ่มผู้เข้ามาใหม่ไม่ทันตระหนัก และกลุ่มผู้อยู่อาศัยเก่าก็ไม่ทันตั้งตัว ลองจินตนาการภาพอาแปะส่งน้ำแข็งยืนถอดเสื้อคุมคนงานขณะที่บ้านข้างๆ กำลังมีปาร์ตี้สนุกสนาน หรืออากงท่านหนึ่งที่กลัวว่า “พวกฝรั่งที่เข้ามามันจะมาก่อการร้ายหรือเปล่า”[1] รวมไปถึงอาเจ้ที่บอกว่า “ค่าเช่าบ้านแพงขึ้น อีกหน่อยคงอยู่ไม่ได้ ไม่รู้เขาจะให้อยู่ต่อหรือเปล่า” หรือการตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่อื่นเพราะ “อยู่ไม่ได้แล้ว เสียงดัง มีคนเข้ามาตลอด ตรงนี้มันบ้านฉัน โฉนดฉัน ก็ประกาศขายอยู่ จะออกไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด ลูกหลานก็เรียนจบหมดแล้ว ไม่มีอะไรต้องห่วงแล้ว”
สำหรับอาคารเก่าเปี่ยมเสน่ห์อวลกลิ่นยาจีน หากมันถูกส่งต่อไปอยู่ในมือของนักลงทุน จากราคาค่าเช่าเดือนละ 2,000-3,000 บาท ผู้อยู่อาศัยใหม่ก็อาจต้องควักกระเป๋าถึงเดือนละไม่น้อยกว่า 10,000-20,000 บาท
ลองจินตนาการภาพอาแปะส่งน้ำแข็งยืนถอดเสื้อคุมคนงานขณะที่บ้านข้างๆ กำลังมีปาร์ตี้สนุกสนาน หรืออากงท่านหนึ่งที่กลัวว่า “พวกฝรั่งที่เข้ามามันจะมาก่อการร้ายหรือเปล่า”
แม้จะมีกลุ่มผู้อยู่อาศัยเก่าบางคนที่รู้สึกสนุกไปกับการเข้ามาของคนกลุ่มใหม่ แต่ก็มีไม่น้อยเช่นกันที่เริ่มเป็นกังวลกับอนาคตของตัวเองในที่ดินที่อยู่อาศัยมาเกือบทั้งชีวิต จะมีก็แต่ผู้อยู่อาศัยเก่าบางคนที่เป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน ซึ่งไม่ค่อยเดือดร้อนกับการต้องย้ายออกหรือการให้ผู้อื่นเช่าทรัพย์สินของตน
นักยึดแย่งที่ดินแห่งยุคสมัยจึงปรากฏผ่านการใช้ชีวิตดังที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งไม่ว่าน้ำใหม่จะไล่น้ำเก่าออกไปได้หมดหรือไม่ และแม้กลุ่มศิลปินต่างชาติจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ได้ต้องการให้ซอยนานากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยามราตรีแห่งใหม่ และอาจออกจากพื้นที่หากซอยนานากลายเป็นความฮอตฮิตที่เย้ายวนชวนให้ผู้คนเดินทางเข้ามา แต่วิถีที่กำลังดำเนินไปก็เปลี่ยนภาพจำของพื้นที่นี้ไปเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกัน พลังอำนาจทางเศรษฐกิจก็ทำให้กลุ่มผู้อยู่อาศัยเก่าบางส่วนต้องถอยร่นไปอยู่ในพื้นที่อื่น
แน่นอนว่าการย้ายเข้ามาของคนกลุ่มใหม่มีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดงานสร้างสรรค์และการพัฒนาพื้นที่ แต่คำถามสำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้การเดินไปข้างหน้า ไม่หลงลืมใครอีกหลายคนไว้ข้างหลัง
[1] จากการสัมภาษณ์เพื่อประกอบงานวิจัยเรื่อง ‘วิถีชีวิต การปรับประสาน และพัฒนาการทางพื้นที่ในซอยนานา เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย’ ของผู้เขียน ในปี 2558
Tags: กรุงเทพมหานคร, เมือง, ซอยนานา, ย่านเก่า