ภาพยนตร์เรื่อง สองพี่น้อง (โดยภัทรพร ภู่ทอง ฉายในปี พ.ศ. 2560) เป็นภาพยนตร์เชิงสารคดีที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย พนักงานการไฟฟ้านครปฐม ที่ถูกแขวนคอตายอย่างปริศนา บริเวณประตูทางเข้าหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งใน ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2519 หลังจากทั้งสองคนออกไปติดป้ายประกาศต่อต้านการกลับเข้ามาของจอมพลถนอม กิตติขจร ผู้โดนเนรเทศไปในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ซึ่งการกลับมาของจอมพลถนอมในปี พ.ศ. 2519 นี้ สร้างความไม่พอใจให้กับคนในชาติหลายกลุ่ม ชุมพรและวิชัยเป็นหนึ่งในนั้น
ไม่นาน ทั้งสองกลับถูกแขวนคอตาย ศพถูกแขวนประจานให้กับผู้คนที่ผ่านไปมาเห็น แต่การดำเนินคดีหาผู้กระทำผิดกลับไม่เป็นไปอย่างที่ควร ศพของทั้งสองถูกฝังอย่างรวดเร็วโดยไร้การชันสูตร
จากเหตุการณ์นี้เอง ทำให้นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นำเรื่องราวเกี่ยวกับช่างไฟฟ้าที่นครปฐม ไปแสดงละครที่ลานโพธิ์ บริเวณคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จนเป็นชนวนทำให้มีข่าวเรื่องนักแสดงที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร) เป็นเหตุให้ประชาชนไม่พอใจและรวบรวมกำลังจากหลายๆ กลุ่ม เป็นชนวนหนึ่งที่นำไปสู่เหตุจลาจลในเช้าวันที่ 6 ต.ค. 2519 เหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนี้ลุกลามไปจนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 46 คน (ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่เป็นข้อกังขา) ท้ายที่สุดแล้ว จุดประสงค์ที่แท้จริงของละครที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ได้นำมาแสดงนั้น กลับไร้ซึ่งการตั้งคำถามใดๆ ราวกับเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
กว่า 40 ปีของความเลือนรางในความทรงจำและความเงียบงันทางกระบวนการยุติธรรม เหตุการณ์ 6 ตุลายังคงเป็นประวัติศาสตร์ที่ทางการไม่พูดถึง ทว่าเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เครือข่ายนักวิชาการรวมตัวกันทำงานในโครงการบันทึก 6 ตุลา ที่จัดทำขึ้นเพื่อบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่จริงแต่อาจไม่เคยได้รับการเผยแพร่มาก่อน เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง สองพี่น้อง ที่นับเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ภายใต้โครงการนี้
ตัวตนที่ปรากฏผ่านความทรงจำที่มีชีวิต
20 นาทีในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ บอกเล่าชีวิตและภูมิหลังครอบครัวของ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย จากเรื่องเล่าของญาติและคนรอบข้าง คือ ชุมพลและศรีพร ทุมไมย พี่ชายและพี่สะใภ้ของชุมพร อมร ผลจันทร์ เพื่อนสนิทในวัยเด็กของชุมพร และประยูร เกศศรีพงษ์ศา พี่ชายของวิชัย
คำถามจากผู้สัมภาษณ์หลีกเลียงไม่ได้ที่จะถามถึงอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้ตาย “เวลาชุมพรเขามาหา เขาเคยคุยเรื่องการเมืองกับคุณไหม?” คำตอบที่ได้ไม่ชัดเจน แต่มากพอที่จะเข้าใจได้เมื่อรวมเข้ากับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์กระแสหลักที่อธิบายผ่านตัวอักษรซึ่งปรากฏในช่วงต้นเรื่องและท้ายเรื่อง
เรื่องเล่าของประวัติศาสตร์กระแสหลักถูกบอกเล่าเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจคร่าวๆ ผ่านตัวอักษรที่ปรากฏในช่วงต้นและท้ายเรื่อง ฉากหลังของภาพเคลื่อนไหวคือประตูที่ใช้เป็นสถานที่แขวนคอของชุมพรและวิชัย แม้ระยะเวลาจะผ่านมานานถึง 40 ปี แต่ประตูเหล็กยังคงตั้งอยู่ที่เดิม ไร้การซ่อมแซม ถูกทิ้งร้างไม่ได้รับการใช้งาน แช่นิ่งอยู่ในกาลเวลา เช่นเดียวกันกับความยุติธรรมที่ยังไม่ได้รับการชำระของผู้เสียชีวิตที่เคยถูกแขวนที่ประตูบานนี้ ภาพเบื้องหลังไม่สำคัญเท่ากับตัวอักษรที่เคลื่อนไหวอยู่ในเฟรม ให้ผู้ชมตั้งใจอ่านและรับรู้สาระของตัวอักษรซึ่งเป็นเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์กระแสหลัก มองข้ามบานประตูที่ชำรุดและแช่นิ่งอยู่เบื้องหลัง
คำถามที่ผู้สัมภาษณ์เลือกถามญาติและเพื่อนสนิทของผู้ตาย ล้วนอิงแอบไปกับประวัติศาสตร์ เหมือนว่ากำลังสร้างพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้กับโศกนาฏกรรมผ่านความทรงจำของญาติ ทำให้ความทรงจำของปัจเจกถูกถ่ายทอดให้เป็นความทรงจำร่วมผ่านพื้นที่ของภาพยนตร์ ให้ผู้ชมได้รู้จักตัวตนของชุมพรและวิชัย เป็นเรื่องเล่าจากความทรงจำที่ยังมีชีวิต ทำให้ผู้ตายกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ภาพยนตร์ถ่ายทอดเหตุการณ์การพบปะเฉพาะกิจของญาติชุมพรและวินัยออกมาอย่างเรียบง่าย เหมือนเป็นเรื่องปกติของการพบญาติหรือคนรู้จัก ต่างถามไถ่ถึงสารทุกข์สุกดิบหลังจากไม่ได้เจอหน้ากันเป็นเวลานาน ชื่อ สองพี่น้อง มีความหมายมากกว่ามิตรภาพของชุมพรและวิชัย แต่ยังรวมไปถึงการแบ่งปันความทรงจำที่เกิดขึ้นระหว่างญาติของทั้งสองอีกด้วย
สารคดีทำหน้าที่มากกว่าการบันทึกความจริง
เทปสัมภาษณ์นานหลายชั่วโมงถูกตัดต่อเหลือเป็นภาพยนตร์สั้นเพียง 20 นาที สิ่งที่สำคัญไปกว่าคำถามเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว อุดมการณ์ทางการเมือง และการตามหาศพ ที่ภาพยนตร์พยายามถ่ายทอดออกมาให้อิงกับประวัติศาสตร์อยู่ตรงที่ว่า ความยาวทั้งหมดของภาพยนตร์ ถูกตัดต่อและนำเสนอออกมาเพื่อให้ผู้ชมได้รู้จักกับชุมพรและวิชัยในฐานะของเหยื่อที่ตายในเหตุการณ์ทางการเมือง หนึ่งในชนวนสำคัญของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ความทรงจำจากปัจเจกที่ถ่ายทอดออกมาถูกภาพยนตร์ ผ่านทั้งคำถาม หลักฐานในหนังสือพิมพ์ รูปถ่ายวัยเด็ก หรือกระทั่งภาพการเสียชีวิตของผู้ตาย แต่ภาพยนตร์ไม่สามารถปิดบังสิ่งที่กำลังถ่ายทอดอยู่ได้อย่างหมดจด ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ เมื่อญาติของผู้เสียชีวิตกำลังเล่าเรื่องและตอบคำถาม สายตาของพวกเขาเลือกที่จะมองออกไปทางอื่น อาจเป็นการสบตากับผู้สัมภาษณ์ หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว แต่พวกเขาไม่เคยจ้องมองไปที่ตัวกล้องที่กำลังบันทึกเทปของตนเอง แม้กระทั่งกล้องเองก็ไม่ได้พยายามถ่ายให้เห็นสายตาผู้สัมภาษณ์ หรือพยายามให้คนในกล้องจำเป็นต้องสบตากับเลนส์ที่กำลังบันทึกภาพอยู่ ปฏิกิริยาของผู้คนอยู่นั่งอยู่เบื้องหน้านั้น แสดงออกอย่างชัดเจนถึงการปิดบังและหลบซ่อน เรื่องเล่าของความทรงจำที่ได้รับฟังในภาพยนตร์นั้นอาจเป็น ‘ความจริง’ แต่จากภาพเคลื่อนไหวในภาพยนตร์ทำให้รับรู้ได้ว่า ความทรงจำที่ถูกเลือกออกมาเล่านั้น เป็นความทรงจำที่เล่าอยู่เบื้องหน้าภาพยนตร์สารคดี เป็นความทรงจำในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ถูกปรับและถ่ายทอดออกมาโดยปัจเจก ที่อาจผ่านทั้งความกลัวที่จะนำเสนอความทรงจำที่เคยขัดแย้งกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก หรืออาจเป็นบาดแผลจากความสูญเสียที่อยู่ในความทรงจำของตัวเองมาเนิ่นนาน
ภาพยนตร์ทำหน้าที่ต่อด้วยการดัดแปลงและตัดต่ออีกครั้งให้เหลือเพียง 20 นาที ทำให้ตัวตนของชุมพรและวิชัย ความทรงจำที่ถูกใครบางคนพยายามลบให้เลือนหายให้ปรากฏขึ้นอีกครั้ง ในพื้นที่ของภาพเคลื่อนไหว เล่าเรื่องชัดเจนจากความทรงจำของคนใกล้ชิด ราวกับว่าชุมพรและวิชัยไม่เคยไปไหน ราวกับภาพของผู้ตายที่แขวนอยู่บนผนังบ้าน หรือเถ้ากระดูกที่ถูกเก็บไว้ในวัด ไม่ว่าจะในภาพยนตร์ หรือในแง่มุมของผู้ชม ความห่างไกลระหว่างการรับรู้ทางสายตา กลับสร้างความรู้จักและใกล้ชิดมากขึ้นในมุมมองของความทรงจำ บาดแผลไม่เพียงแต่สร้างพลังให้กับปัจเจกเท่านั้น แต่ยังมีพลังมากไปถึงความทรงจำร่วม ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญและอาจเป็นสิ่งเดียวของผู้เป็นเหยื่อ
ถึงแม้ว่าวันนี้ความยุติธรรมอาจยังไม่มาถึง แต่อย่างน้อยที่สุด ชุมพรและวิชัยก็เป็นที่รู้จักและกลับมามีตัวตนอีกครั้งภายใต้ความทรงจำของโศกนาฏกรรม 6 ตุลาฯ
ภาพยนตร์เรื่องสองพี่น้อง และโครงการบันทึก 6 ตุลาฯ กำลังพยายามทำให้เรื่องราวที่ต้องเผชิญอำนาจกระบวนการยุติธรรมอันเบาบาง ถูกสังคมวงกว้างได้ยินและมองเห็น โดยเปิดพื้นที่ทางความคิดที่แตกต่างให้กับผู้ชม ประเทศไทยอาจมีโศกนาฏกรรมทางการเมืองเกิดขึ้นอีกกี่ครั้งก็ได้ แต่ผู้กระทำควรได้รับการลงโทษจากกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่คนบางกลุ่มจำเป็นต้องก้มหน้ารับกับการสูญเสียที่ไม่ได้รับการชำระเหล่านี้
อ้างอิง:
กุลกนกวรรณ ฮัมดานี. 2560. ภัทรภร ภู่ทอง–ใส่เสียงให้ความทรงจำ. (27/11/2560)
ประชาไท. 2557. สารคดีที่ห้ามพลาด ‘ความทรงจำไร้เสียง’ 6 ตุลา ในความทรงจำของ ‘พ่อ–แม่’. (27/11/2560)
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. 2560. เหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดขึ้นได้อย่างไร. (27/11/2560)
ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย. 2553. เหตุการณ์ 6 ตุลา. (ระบบออนไลน์). (27/11/2560)
วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์. 2560. กาลครั้งหนึ่งช่างการไฟฟ้าสองคนถูกแขวนคอที่นครปฐม. (25/12/2560)
Tags: การเมืองไทย, ภาพยนตร์, 6 ตุลาฯ, ประวัติศาสตร์, ภัทรภร ภู่ทอง, สองพี่น้อง