คุณรู้หรือไม่ว่า เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยไม่ได้เพียงจำยอมให้ญี่ปุ่น ‘ผ่านทาง’ แต่เรายังอำนวยความสะดวกให้กองทัพญี่ปุ่นเปิด ‘Comfort Station’ หรือเรียกตรงไปตรงมาว่า ‘ซ่องทหาร’ บนผืนแผ่นดินของเรา บรรดา ‘Comfort Women’ ซึ่งต้องทำงานเยี่ยงทาสบำเรอเพศ ไม่ได้มีเพียงหญิงเอเชียที่กองทัพญี่ปุ่นจัดนำเข้ามา แต่มีผู้หญิงไทยรวมอยู่ด้วย

คุณคงรู้จัก เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่คุณอาจยังไม่รู้ชัดว่ามี ‘รายละเอียด’ ของบางเหตุการณ์อันเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ข้ออ้าง’ ที่นำไปสู่ความรุนแรงอัปลักษณ์ในการล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันนั้น

ดูเหมือนประวัติศาสตร์และความทรงจำเหล่านั้น มีเสียงแผ่วเบาจนแทบจะ ‘ไร้เสียง’

แต่เรื่องราวของมันกลับมา ‘ส่งเสียง’ อีกครั้ง — เพื่อให้สังคมรับรู้ว่ามันเคยเกิดขึ้นจริง ยังคงดำรงอยู่ ก็ด้วยการสืบค้นไม่ลดละของนักวิจัยหญิง ‘ภัทรภร ภู่ทอง’ หรือ ‘อ้อ’

จากอดีตนักศึกษาสาขาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยทำงานเป็นนักวิจัย ก่อนไปศึกษาต่อด้าน NGO Studies ที่มหาวิทยาลัยซองกุงเฮ ประเทศเกาหลีใต้ เคยทำงานที่องค์การนิรโทษกรรมสากล ประจำประเทศไทย (Amnesty International Thailand) เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนรับทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย (Asian Public Intellectual: API) เพื่อวิจัยศึกษาเรื่องพิพิธภัณฑ์สันติภาพที่ญี่ปุ่น

ปัจจุบัน เธอเป็นนักวิจัยในโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ และโครงการหอจดหมายเหตุ ‘Comfort Women’ มหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล และเป็นที่ปรึกษางานวิจัยให้องค์กรหลายแห่ง

 

ภัทรภรดูเป็นคนเรียบๆ เย็นๆ พูดจาเนิบ เสียงเบา จนบ่อยครั้งเราต้องโน้มตัวเข้าไปฟัง สิ่งที่ได้ยินจากปากคำของเธอมักเป็นสายโซ่ของคำถามที่พรั่งพรู และหางเสียงมุ่งมั่นกับการค้นหาคำตอบ

มันเริ่มมาจากความ ‘ไม่รู้’ ที่ชวนให้เธอขุ่นเคืองตัวเอง นำไปสู่การเรียนรู้และคลี่คลายความเข้าใจ ก่อนถ่ายทอดข้อเท็จจริงสู่สังคม

ภัทรภรคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่สังคมต้องเรียนรู้ถึงเรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้าง กล้าหาญกับการเผชิญหน้ากับความจริง และไม่ควรปล่อยให้ ‘ความเงียบ’ เป็นเสียงที่ครอบงำความทรงจำหรือประวัติศาสตร์หน้าใดก็ตาม

 

จากสาขาที่เรียนจบ คุณมาทำงานวิจัยได้อย่างไร

ปีที่เรียนจบเป็นช่วงต้มยำกุ้ง เมืองไทยยังได้รับผลกระทบ ตอนนั้นไปเที่ยวเนปาล ได้ไปที่หมู่บ้านประคตินคร อำเภอนวลปราสี จังหวัดลุมพินี รู้สึกว่าวิถีชีวิตที่นั่นสวยงาม จึงกลับมาขอทุนทำงานวิจัยโดยมีแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบ เพื่อจะไปดูว่าเขาพึ่งพาตนเองได้อย่างไร

 

ชาวบ้านที่นั่นบอกว่าเขาอยู่แบบพึ่งพาตนเอง (self-sufficiency) หรือว่าคุณเอาแนวคิดนี้ไปทาบ

อ้อเอาแนวคิดนี้ไปทาบ ครั้งแรกที่ไปเป็นช่วงหน้าหนาว ท้องไร่ท้องนามีต้นมัสตาร์ดเหลืองไปหมด มีวัวควาย ทุกอย่างดูอุดมสมบูรณ์มาก มีข้าวโพดที่เก็บมาใหม่ๆ หัวไชเท้า ผักกาด มีน้ำมันมัสตาร์ดสดๆ ที่เขาหีบเอง อาหารก็อร่อยในช่วงหน้าหนาว และจากการอ่านหนังสือหลายๆ เล่ม ทำให้รู้สึกว่าเนปาลเป็นดินแดนในฝัน สงบสุข อยากกลับไปเป็นอาสาสมัคร อยากลองไปใช้ชีวิตอย่างนั้น แต่พอไปใช้ชีวิตที่นั่นจริงๆ ก็พบว่ามันไม่ใช่ แต่ไม่ได้โทษฤดูกาลหรือหนังสือนะคะ เพียงแต่ได้รู้ว่าการอ่านของตัวเองยังไม่ได้แตกฉาน ไม่ได้มีทักษะในการวิพากษ์วิเคราะห์

อะไรทำให้คิดว่า ‘ไม่ใช่’

พอไปอยู่เองสี่เดือน เราไม่ได้เป็นแค่นักท่องเที่ยวแล้ว เริ่มเห็นอะไรอื่นที่เราไม่เคยคิดมาก่อน เจ้าของบ้านที่อยู่ช่วงทำวิจัยเป็นครู ไม่ได้ร่ำรวยมาก แต่ก็ไม่ลำบาก แต่พอเดินลึกเข้าไปในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ดินเสื่อมโทรม เพาะปลูกอะไรไม่ได้ จะเป็นที่อยู่ของคนวรรณะที่ต่ำลงมา คนในกลุ่มนั้นมักจะทำงานรับจ้าง ซึ่งก็ไม่ใช่งานที่คนยอมรับนับถือ อย่างกวาดถนน เพราะระบบวรรณะในแถบนั้นยังรุนแรงอยู่

อีกอย่างหนึ่งคือ คนที่เป็นคนอ่านงานวิจัยของอ้อคือพระไพศาล วิสาโล กับพี่เป็ด-พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ ทั้งสองท่านช่วยท้วงติงในหลายประเด็น เช่นเราเขียนว่า หมู่บ้านไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ผู้หญิงรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร มีหน้าที่ดูแลบ้าน คนในบ้าน สัตว์เลี้ยง พระไพศาลและพี่เป็ดแนะนำว่า ควรตั้งคำถามหรือวิเคราะห์อย่างไร ความเท่าเทียมทางเพศคืออะไร เช่น มีพื้นที่ทางสังคมมากน้อยแค่ไหน เป็นผู้นำในหมู่บ้านไหม มีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจไหม มีอาชีพเป็นครูหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขบ้างไหม ที่บอกว่าเขาพอใจกับสถานภาพนั้น เราคิดเองหรือว่าไม่ได้เข้าใจมากพอ ทีแรกที่อ่านฟีดแบ็กเหล่านี้ก็รู้สึกเสียใจ แต่พอได้ทบทวนและคุยกับคนอื่นๆ และอ่านหนังสือมากขึ้น ก็คิดว่าตัวเอง naive จริงๆ

อย่างบ้านที่อ้ออยู่ด้วย แม่ที่อยู่ด้วยจะตื่นมาตั้งแต่ตีสี่ครึ่งแล้วทำงานยุ่งทั้งวัน บางวันต้องเข้าไปในป่าเพื่อเก็บฟืนหรือหญ้ามาเลี้ยงแพะ พอมาย้อนนึก ผู้หญิงทำงานหนักมาก ขณะที่พ่อซึ่งเป็นครู ไม่ต้องรับผิดชอบงานในบ้านเลย น้องผู้หญิงที่บ้านเวลามีประจำเดือนจะต้องลงไปอยู่ในห้องอีกห้อง ไม่ออกมาเจอใคร เราซึ่งเป็นผู้หญิงก็จะเอาอาหารไปให้ ภาชนะต้องแยกต่างหาก เวลาตักอาหารให้ต้องทำให้อาหารมันหล่นลงไป ต้องไม่ให้ทัพพีไปแตะกับภาชนะของเขา

 

นั่นคือปีอะไรคะ

ประมาณ 2543-2544 เขายังเป็นอย่างนั้น แล้วเวลาที่มีประจำเดือน อ้อก็เข้ากาฏมัณฑุไปเลย จะไม่อยู่ที่บ้าน เพราะเราก็ไม่อยากโกหกเขา ซึ่งบ้านนี้คือดีที่สุดแล้วในหมู่บ้านนั้น เพราะว่าพ่อเป็นครู พี่ชายก็เป็นนักกิจกรรมเยาวชนค่อนข้างหัวก้าวหน้า

 

สุดท้ายแล้ว อะไรคือบทสรุปงานวิจัยชิ้นนั้น

มองว่าหมู่บ้านนี้เป็นภาพแทนของประเทศเนปาล เราเห็นความไม่เท่าเทียม พื้นที่ทางสังคมของผู้หญิงยังมีข้อจำกัด ด้วยความเชื่อที่เป็นผลมาจากโครงสร้างฮินดู เห็นว่าที่สุดแล้วการพึ่งพาตนเองไม่ได้เป็นคำตอบของหมู่บ้าน ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีระบบสวัสดิการ ไม่มีระบบอะไรที่รับประกันความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านจริงๆ แน่นอนว่าเขาอาจไม่ต้องซื้อข้าว ผัก เนื้อ ผลไม้ วันหนึ่งๆ แทบไม่ต้องใช้เงิน แต่ถึงแม้ว่าเขาไม่ต้องใช้เงินกับปัจจัยสี่ แต่เขาไม่มีเงินมากพอที่จะพัฒนาด้านการศึกษาให้กับลูกหลาน หรือเข้าถึงการรักษาพยาบาลกรณีมีความเจ็บป่วยร้ายแรงเกิดขึ้น ทุกคนควรมีทางเลือก ถ้าเด็กอยากเรียน ถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกได้รับการศึกษาสูงๆ จะทำอย่างไร มันไม่ได้เป็นบทสรุป แต่เป็นการตั้งคำถามกลับไปที่หมู่บ้านมากกว่า

 

คิดว่าตัวเองได้บทเรียนอะไรจากการทำงานวิจัยครั้งนั้น

คิดว่าตัวเองอ่อนด้อยต่อความรุนแรงทางโครงสร้าง ความรุนแรงทางวัฒนธรรม เวลามองอะไรยังมองตรงไปตรงมา มองเฉพาะสิ่งที่เห็นอยู่ข้างหน้า แต่ไม่ได้วิเคราะห์ไปถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังอย่างวัฒนธรรมความเชื่อ งานวิจัยครั้งนั้นทำให้อยากทำงานวิจัยมากขึ้น ตั้งคำถามมากขึ้น

หลังจากนั้น อ้อทำงานกับ Asian Muslim Action Network อยู่ประมาณห้าปี แล้วจึงไปเรียนต่อด้าน NGO Studies ที่มหาวิทยาลัยซองกุงเฮ ประเทศเกาหลีใต้ ที่นั่น สนุกกับการเรียนมาก อยากกลับมาทำงานวิจัยที่เมืองไทย จึงเลือกทำเรื่อง Comfort Women ทำไมสังคมไทยถึงเงียบกับเรื่องนี้ สมมติฐานคือว่าสังคมไทยมักจะเงียบกับความรุนแรงเชิงโครงสร้าง แล้วยกคอมฟอร์ตวีเมนเป็นกรณีศึกษาถึงความเงียบของสังคมไทย

 

เราเห็นความไม่เท่าเทียม พื้นที่ทางสังคมของผู้หญิงยังมีข้อจำกัด ด้วยความเชื่อที่เป็นผลมาจากโครงสร้างฮินดู เห็นว่าที่สุดแล้วการพึ่งพาตนเองไม่ได้เป็นคำตอบของหมู่บ้าน

ส่วนใหญ่มักได้ยินแต่คอมฟอร์ต วีเมน ที่เป็นชาวเกาหลีและจีน ไม่เคยได้ยินว่ามีผู้หญิงไทยด้วย

อ้อเองก็ไม่เคยรู้ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคอมฟอร์ตวีเมนคืออะไร ตอนนั้นเราเรียนและมีการถกเถียงกันเรื่องนี้ อ้อเป็นคนเดียวที่ไม่รู้เรื่องนี้ เพื่อนในชั้นที่เป็นคนเกาหลี จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ทุกคนรู้ จนรู้สึกโกรธว่าทำไมฉันไม่รู้ ก็ถามอาจารย์ถามเพื่อนและอ่านหนังสือเพิ่มเติม

คอมฟอร์ตวีเมนเป็นผู้หญิงเอเชียที่กองทัพญี่ปุ่นบังคับและจัดหาเข้าไปเป็นคนให้บริการทางเพศแก่ทหารในกองทัพ แบบที่เขาเรียกว่าเป็นทาส (sexual slavery) ตอนที่ญี่ปุ่นมาใช้ไทยเป็นฐานในการผ่านไปพม่า ก็มีการตั้ง comfort station ขึ้นในไทย พอได้รู้ก็โกรธ ทีแรกบอกอาจารย์ว่าอยากทำเรื่องคอมฟอร์ตวีเมนกับโครงสร้างสังคมแบบชายเป็นใหญ่ในเกาหลี แต่อาจารย์บอกว่าเรื่องนี้มีคนทำแล้ว ทำไมไม่ทำเรื่องนี้ในประเทศไทย อ้อบอกว่า ไม่มี ในเมืองไทยไม่มี อาจารย์ก็บอกว่าไปอ่านหนังสือให้เยอะกว่านี้

 

แสดงว่าเขารู้ว่ามี

ใช่ แต่เขาอาจจะไม่รู้ละเอียด จึงไปคุยกับองค์กรที่ทำเรื่องนี้ ก็รู้ว่าในเมืองไทยมี และมีการส่งผู้หญิงผ่านประเทศไทย จึงกลับไปบอกอาจารย์ว่าจะทำเรื่องนี้ โดยเลือกมองในเรื่องสันติศึกษา โดยวิเคราะห์ว่าเราอยู่ในสังคมแบบไหน เราอยู่ในสังคมที่ทหารเป็นใหญ่ มีอิทธิพลมากต่อสังคมการเมือง เพราะฉะนั้นการพูดถึงประวัติศาสตร์ พูดถึงสงครามและความรุนแรง จะมีข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับทหาร ระบบการศึกษาของเราก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการตั้งคำถามต่อระบบ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสังคมไทยถึงเงียบกับเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องสถานภาพของผู้หญิงในสังคมไทย ทั้งตอนนั้นและก็ตอนนี้ แม้ว่าทุกวันนี้ด้วยกฎหมายผู้หญิงมีความเท่าเทียมมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน เพราะผู้หญิงที่อยู่ในภาคธุรกิจการค้าประเวณีไม่ได้ถูกมองเป็นผู้หญิง เขาถูกมองเป็นวัตถุ เป็นสินค้า แล้วสินค้านี้ทำให้เกิดรายได้มหาศาลมาก

 

หากการค้าประเวณีเป็นเรื่องถูกกฎหมายในบ้านเรา คุณยังมองว่าการที่ผู้หญิงไทยไปเป็นคอมฟอร์ตวีเมนให้ทหารญี่ปุ่นคือความรุนแรงอยู่หรือไม่

จริงๆ แล้วผู้หญิงไทยที่เข้าไปอยู่ในคอมฟอร์ตสเตชัน ปูมหลังส่วนใหญ่อยู่ในอาชีพค้าประเวณีอยู่แล้ว และในช่วงเวลานั้นการค้าประเวณีในไทยถูกกฎหมาย ดังนั้นขบวนการเคลื่อนไหวที่ทำเรื่องนี้จึงไม่ได้มองผู้หญิงไทยเหล่านั้นเป็นคอมฟอร์ตวีเมน เพราะนิยามของคอมฟอร์ตวีเมนนั้น การได้มาอาจเป็นการพรากมา ขโมยมา ล่อลวงมา ไม่ได้มาด้วยความเต็มใจ แต่ข้อโต้แย้งของอ้อในงานวิจัยคือ ไม่ว่าผู้หญิงจะมีสถานภาพหรือแบ็กกราวน์ดอย่างไร เมื่อเข้าไปอยู่ในคอมฟอร์ตสเตชันแล้ว ทุกคนมีโอกาสที่จะได้รับความรุนแรงเหมือนกันทั้งหมด ประเด็นอยู่ที่ว่าผู้ชายที่เป็นทหารอยู่ในสภาวะแบบไหน เช่นประเทศไทยไม่ได้เป็นพื้นที่การสู้รบ อารมณ์ความรู้สึกของทหารจะแตกต่างจากทหารที่อยู่ในพื้นที่การสู้รบอย่างในฟิลิปปินส์ ปาปัวนิกีนี จีน แต่นั่นคือผู้หญิงไทยแค่โชคดีเท่านั้นที่ไม่ได้เจอทหารญี่ปุ่นที่มีปัญหาเรื่องความตึงเครียดจากการสู้รบ

 

หมายถึงอาจจะไม่ได้เจอสภาพที่เลวร้ายอย่างที่ผู้หญิงเกาหลี จีน หรือฟิลิปปินส์เจอ

ใช่ค่ะ แต่อ้อเขียนกึ่งวิพากษ์ขบวนเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน ว่าวิธีการเขียนนิยามของเขาทำให้ไม่สามารถจะมองประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหรือสถานการณ์ของคอมฟอร์ตวีเมนจริงๆ เพราะคุณไม่ได้วิพากษ์ว่า ระบบทหารหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสงครามหรือทางการเมือง มันส่งผลหรืออิทธิพลให้คนเกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

อ้อเห็นว่า หนึ่ง-มันไม่ได้มองปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ระบบทหารที่เข้มงวดมากและทำให้คนแสดงออกในหลายวิธี ทหารที่อยู่แนวหน้าจะเครียดมาก ไม่รู้ว่าตัวเองจะตายเมื่อไร ต้องไปฆ่าใคร หรือถูกฆ่าเมื่อไร พฤติกรรมจึงมีความก้าวร้าวรุนแรงมาก และอาจจะไปทำอันตรายแก่คนที่อ่อนแอกว่าตัวเอง

สอง-ไม่ได้มองว่าการใช้ผู้หญิงทางเพศในแวดวงทหารไม่ได้หยุดอยู่แค่สงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากสงครามสงบ ทหารพันธมิตรที่เข้าไปอยู่ในเกาหลีหรือญี่ปุ่น ก็มีการใช้ผู้หญิงทางเพศ มีการตั้ง Rest & Recreation Area ขึ้นมา อย่างในช่วงสงครามเวียดนาม กองทัพอเมริกันก็มีการทำสัญญาให้ประเทศไทยเป็น Rest & Recreation Area อย่างปัจจุบัน ในตะวันออกกลาง อิรัก อัฟกานิสถาน ก็มี Rest and Recreation area เหมือนกัน ฉะนั้น คอมฟอร์ตวีแมนในนิยามแบบนั้นจะหยุดอยู่แค่สงครามโลกครั้งที่สอง จึงไม่ได้มีคุณูปการในการวิพากษ์ระบบทหาร

คอมฟอร์ตวีเมนเป็นผู้หญิงเอเชียที่กองทัพญี่ปุ่นบังคับและจัดหาเข้าไปเป็นคนให้บริการทางเพศแก่ทหารในกองทัพ แบบที่เขาเรียกว่าเป็นทาส (sexual slavery)

การค้าประเวณีในไทยกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายตั้งแต่เมื่อไร

ตอนช่วงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

ถ้าอย่างนั้น ตอนสงครามเวียดนาม เราเซ็นสัญญาเป็น Rest and Recreation Area ได้อย่างไร

เพราะเราไม่ได้พูดตรงไปตรงมาว่า เราจะจัดหาโสเภณีให้ทหารอเมริกันไงคะ พื้นที่เหล่านั้นแค่เป็นสถานที่พักผ่อนและสันทนาการ มีร้านอาหาร ไนต์คลับ บาร์ แต่เราไม่ได้พูดว่ามีการค้าประเวณีแอบแฝงอยู่ในนั้น พื้นที่ที่ว่าจะอยู่ทางภาคอีสานและภาคกลางตอนบน อย่างจังหวัดนครสวรรค์ รวมถึงพัทยา พัฒนพงศ์ ย่านเพชรบุรีตัดใหม่ด้วย

 

การทำวิจัยเรื่องคอมฟอร์ตวีเมนในไทย คุณใช้อะไรเป็นฐานข้อมูล เพราะมันก็ผ่านมา 70 กว่าปีแล้ว

ใช้เอกสารราชการของกองบัญชาการทหารสูงสุดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเก็บอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ถือเป็นงานชิ้นแรกๆ ในเกาหลีที่ใช้เอกสารเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะใช้เอกสารทางการทหารของญี่ปุ่นเป็นหลัก อาจมีการนำของจีน ออสเตรเลีย อเมริกา มาใช้ แต่เอกสารของไทยยังไม่เคยมีการนำมาใช้ระดับระหว่างประเทศมาก่อน

 

ตอนอ่านเอกสารรู้สึกอย่างไร

เกิดความกระหายที่จะรู้มากขึ้นๆ มีกำลังในการอ่านเอกสาร ซึ่งเอกสารเหล่านั้นก็ไม่ได้บอกตรงไปตรงมา อาจจะแทรกอยู่ในเอกสารโน้นนี้สองสามบรรทัด เช่นมีการพูดว่า ที่นครสวรรค์ ผู้กองญี่ปุ่นเข้าไปคุยกับข้าหลวงไทยว่าจะจัดหาผู้หญิงให้ทหารญี่ปุ่นได้ไหม แต่ทางข้าหลวงไทยก็บอกว่า ไม่ได้ มันไม่ใช่หน้าที่ แต่…ถ้ากองทัพญี่ปุ่นต้องการผู้หญิงก็สามารถไปหาเองได้ หรือเอกสารที่ดินหรืออาคารสถานที่ มีการระบุว่า บ้านเลขที่นี้ อาคารนี้เป็นคลับของญี่ปุ่น เป็นซ่องทหารญี่ปุ่น เอกสารที่สำคัญอันหนึ่งคือหลังสงครามสิ้นสุด มีการส่งผู้หญิงจากพื้นที่ต่างๆ ไปยังค่ายเชลยสงครามที่อยุธยา มีผู้หญิงราว 300 กว่าคน มีเด็กด้วย มีผู้หญิงเกาหลี มีชื่อด้วย เอกสารที่เกี่ยวกับรายชื่อก็บอกว่า ผู้หญิงเหล่านี้เป็น Comfort Girls

ระหว่างอ่านก็พยายามจัดหมวดหมู่ ซ่องทหารญี่ปุ่นจะแบ่งได้หลากหลาย เช่น ซ่องทหารที่อยู่ในค่ายทหารญี่ปุ่นเลย ซ่องทหารที่อยู่ข้างนอกบริหารจัดการโดยทหารญี่ปุ่นให้ใช้เฉพาะทหารญี่ปุ่นเท่านั้น ซ่องข้างนอกที่บริหารจัดการโดยพลเรือนญี่ปุ่นให้ทหารเข้าไปใช้ ซ่องที่บริหารจัดการโดยพลเรือนญี่ปุ่นให้ทหารและพลเรือนญี่ปุ่นเข้าไปใช้ ซ่องที่บริหารจัดการโดยคนไทยที่ให้ทหารญี่ปุ่นเข้าไปใช้ ซ่องที่บริหารจัดการโดยคนไทยให้ทุกคนเข้าไปใช้

พอจัดหมวดหมู่แบบนี้ทำให้เห็นระบบมากขึ้นว่า จริงๆ แล้ว ทหารเกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีจริงๆ พลเรือนไทยเกี่ยวข้องกับการจัดหาผู้หญิงให้ทหารญี่ปุ่นจริงๆ ทางการไทยเกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกให้กับระบบนี้จริงๆ เป็นข้อพิสูจน์ว่ามีอยู่จริง ทางการไทยรับรู้ แต่คำถามต่อไปคือทำไมทางการไทยเงียบ ฉะนั้นก็ฟ้องให้เห็นว่าทางการไทยมีมุมมองอย่างไรต่อผู้หญิง หรือต่อเรื่องนี้

ทุกวันนี้ อ้อก็ยังทำวิจัยเรื่องนี้ให้กับมหาวิทยาลัยที่เกาหลี โดยทยอยเก็บประเด็นไปทีละเรื่อง เพราะเอกสารของกองบัญชาการทหารสูงสุดมีอยู่สองแสนกว่าแผ่น อย่างปีที่แล้ว งานที่ทำคือศึกษาเส้นทางว่าคอมฟอร์ตวีแมนที่เป็นเอเชียและไทย ถูกส่งไปที่ไหนบ้าง ปีนี้เป็นการทำ mapping ว่าอยู่ที่ตรงไหน ตอนนี้มันกลายเป็นอะไร แล้วจัดทำแผนที่เป็นอินโฟกราฟิก นี่คืองานที่ทำกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล เพราะที่นั่นกำลังจะทำหอจดหมายเหตุคอมฟอร์ตวีเมน

 

ทำไมเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

มันเป็นการเรียกร้องความยุติธรรม เรียกร้องการขอโทษ ให้ญี่ปุ่นรับผิดชอบการกระทำในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และคิดว่าเป็นเรื่องของการเมืองด้วย เพราะการเคลื่อนไหวในเกาหลีจะมีแง่มุมการเมืองสูงมาก มีการแข่งขันกันในภูมิภาคระหว่างจีน เกาหลี ญี่ปุ่น

 

ตอนที่คุณขอทุนวิจัยไปศึกษาเรื่องพิพิธภัณฑ์สันติภาพที่ญี่ปุ่น และได้รับทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย (Asian Public Intellectual: API) มีประเด็นใดน่าสนใจบ้าง

ทำให้มีโอกาสได้เห็นความเป็นไปได้หลายๆ อย่าง อ้อศึกษาอยู่ที่ Kyoto Museum for World Peace ได้เห็นความพยายามของคนที่มีประสบการณ์จากสงครามโลกครั้งที่สอง เขาอยากจะพูดอยากจะเล่า รวมกลุ่มกันเป็นเครือข่าย คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นนักวิชาการ ไม่ได้มีความรู้อะไรเป็นพิเศษ เป็นคนเกษียณอายุ แม่บ้าน แต่มีความตั้งใจที่จะทำอะไรสักอย่าง

 

รู้สึกขัดแย้งไหมคะ เพราะจากที่ได้รับรู้เรื่องคอมฟอร์ตวีเมน ญี่ปุ่นคือผู้กระทำ แล้วมาเห็นคนญี่ปุ่นพยายามบันทึกประสบการณ์จากสงครามเพื่อพูดถึงสันติภาพ หรือในฐานะเหยื่อ

ไม่นะคะ กลับเห็นความเป็นไปได้มากกว่า เพราะเขาเป็นพิพิธภัณฑ์เชิงวิพากษ์ คือการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้นมาเป็นการถอดบทเรียนของมหาวิทยาลัย Ritsumeikan ตอนช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มหาวิทยาลัยส่งนักเรียนไปคุ้มครองพระราชวังที่เกียวโต และส่งนักเรียนไปรบจำนวนมาก ซึ่งบาดเจ็บล้มตายก็เยอะ เมื่อสงครามสงบ มหาวิทยาลัยจึงร่างหลักการว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับระบบทหาร จะไม่ส่งนักศึกษาไปเป็นทหารอีกต่อไป ฉะนั้นการที่เขาสร้างพิพิธภัณฑ์นี้จึงมีส่วนวิพากษ์ระบบทหารและระบบจักรพรรดิ พร้อมกับถอดบทเรียนของตัวเองว่ามหาวิทยาลัยก็มีส่วนเกื้อหนุนระบบนี้ และจะไม่ทำอีกต่อไป เหล่านี้เป็นความพยายามที่จะพูดถึงสงครามจากอีกด้าน ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นในฐานะเหยื่อระเบิดปรมาณูของกองทัพอเมริกัน และเขาก็ยอมรับว่าในสงครามที่เกิดขึ้น เขาเองก็มีส่วนเป็นผู้กระทำ

อย่างพิพิธภัณฑ์เล็กๆ อีกแห่งที่นางาซากิ ที่นั่นจะพูดถึงนานกิง คอมฟอร์ตวีเมน การทดลองอาวุธ หรือยูนิต 731 ที่นำมนุษย์มาทดลอง พูดถึงแมนจูเรียที่ญี่ปุ่นยึดครองเป็นอาณานิคมนานนับสิบปี พูดถึงทางรถไฟสายมรณะ พูดถึงการบังคับแรงงานเกาหลีให้ทำงานในเหมืองแร่ และมีความพยายามที่จะเชื่อมต่อกับพิพิธภัณฑ์ในนานกิง พานักเรียนไปทัศนศึกษา เชิญคนจากที่นั่นมาเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ของตนเอง เป็นการสร้าง dialogue ระดับประชาชนขึ้นมา และมีพิพิธภัณฑ์แบบนี้อีกหลายแห่งในญี่ปุ่น ทำให้รู้สึกว่าเขากล้าที่จะเผชิญหน้ากับความจริง กล้าที่จะขอโทษ และชวนให้คิดต่อไปว่า ทำไมคนญี่ปุ่นถึงทำพิพิธภัณฑ์แบบนี้ได้ ซึ่งเราไม่เห็นในเมืองไทย อะไรเป็นโครงสร้างที่เกื้อหนุนให้เขาพูดประเด็นนี้ได้ กฎหมายของญี่ปุ่นเป็นอย่างไร เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ระบบการศึกษาของเขาเป็นอย่างไร

 

เพราะอะไร เขาถึงทำได้

คนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการทบทวนตัวเอง แม้ไม่ใช่ทุกคน และกฎหมายญี่ปุ่นมีมาตราหนึ่งที่พูดถึงเสรีภาพในการแสดงออก หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความล่มจม ความโหดร้ายรุนแรงต่างๆ มันนำไปสู่การทบทวนของคนญี่ปุ่น ทำให้พิพิธภัณฑ์เล็กๆ เหล่านี้มีที่ทางของมัน

 

ทหารเกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีจริงๆ พลเรือนไทยเกี่ยวข้องกับการจัดหาผู้หญิงให้ทหารญี่ปุ่นจริงๆ ทางการไทยเกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกให้กับระบบนี้จริงๆ

แล้วคุณเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการบันทึก 6 ตุลาฯได้อย่างไร

ตอนไปเรียนต่อที่เกาหลี อ้อได้ไปฝึกงานที่ May 18 Memorial Foundation หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ที่พูดถึงขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาและประชาชนที่เมืองกวางจู ในปี 2523 เรียกกันว่า Gwangju Uprising แล้วได้เขียนรายงานถึงกระบวนยุติธรรมและการค้นหาความจริง เปรียบเทียบกรณีกวางจูและ 6 ตุลาฯ

 

ทำไมถึงเลือกเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519

มองว่า 14 ตุลาฯ 2516 นั้นมีคนพูดถึงเยอะ มีมูลนิธิ 14 ตุลาฯ มีอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ และมีกิจกรรมต่อเนื่อง พฤษภาฯ ’35 หรือพฤษภาฯ ’53 อย่างน้อยมีการจัดงานรำลึก มีกลุ่มญาติ แต่ 6 ตุลาฯ มันเงียบมาก และอยากจับคู่ระหว่างเหตุการณ์ที่มีการจัดการความทรงจำกับเหตุการณ์ที่ไม่มีการจัดการความทรงจำ ว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้งานจัดการความทรงจำและกระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ

 

กรณีกวางจูและ 6 ตุลาฯ นี้มีความเหมือนความต่างกันอย่างไร

เป็นการต่อสู้กับเผด็จการเหมือนกัน กวางจูมีทั้งนักศึกษาและประชาชน จุดร่วมคือความรุนแรงจากภาครัฐ และเป็นการปะทะกันระหว่างนักศึกษากับภาครัฐ แม้ว่า 6 ตุลาฯ เกิดปี 2519 กวางจูเกิดปี 2523 แต่ก็ยังเป็นช่วงเวลาที่มีความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ ฝ่ายซ้าย และพลังนักศึกษาประชาชน เป็นปราฏการณ์ที่เห็นได้ทั่วโลก ไม่ว่าเอเชียหรือละตินอเมริกา

ความต่างคือ 6 ตุลาฯ เงียบ ยิ่งไปกว่านั้นกวางจูสามารถนำตัวผู้นำที่สั่งการ (นายพลช็อน ดู-ฮวัน) และคนที่มีส่วนร่วมมาลงโทษ (ศาลตัดสินลงโทษประหารชีวิตนายพลช็อน ดู-ฮวัน ต่อมาได้รับการลดหย่อนเหลือจำคุกตลอดชีวิต) ฝ่ายผู้เสียหายก็มีการรวมตัว และรัฐบาลก็จ่ายเงินชดเชยให้กับญาติและครอบครัว มีการรวมกลุ่มญาติตั้งเป็นมูลนิธิ บริหารจัดการในรูปแบบสถาบัน มีการตั้งพิพิธภัณฑ์ มีโปรแกรมต่างๆ เช่น จัดทำหลักสูตรสอนเรื่องสิทธิมนุษยชน ทำกิจกรรมกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย จัดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับภูมิภาคด้วย

เรื่อง 6 ตุลาฯ ในแง่หนึ่ง ไม่ใช่เรื่องที่เงียบอะไรนัก มีข้อมูลเยอะมาก มีฟุตเทจ มีภาพ มีบทความ อาจเป็นบล็อก มีจำนวนมาก เพียงเสิร์ชในอินเตอร์เน็ตก็จะทราบว่า ฝ่ายผู้กระทำมีใครบ้าง ฝ่ายนักศึกษามีใครบ้าง ทุกวันนี้ยังมีการจัดงานที่ธรรมศาสตร์ แต่อยู่ในลักษณะที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย

 

พูดอย่างนี้ได้ไหมคะว่า 6 ตุลาฯ ไม่ได้เงียบนัก แต่ไม่มีการบันทึกอย่างเป็นระบบและเป็นทางการ

ใช่ค่ะ

 

เหตุการณ์ที่กวางจูมีบันทึกในหนังสือแบบเรียนของเกาหลีไหมคะ

มีค่ะ

 

แล้ว 6 ตุลาฯ ล่ะ มีไหม

ไม่พบค่ะ จากที่ลองหามาอ่าน 4-5 สำนักพิมพ์ ทั้งแบบเรียนมัธยมฯ ต้นและมัธยมฯ ปลาย ก็ไม่พบ แต่เมื่อสอบถามเด็กนักเรียน หลายคนบอกว่าทราบเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ครูเล่าให้ฟัง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะลำดับเหตุการณ์ทางการเมือง แต่คงไม่ได้เชื่อมโยงให้เห็นที่มาที่ไปและผลสืบเนื่องอะไร

 

คุณสรุปรายงานเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่กวางจูและ 6 ตุลาฯ ว่าอย่างไร

ตอนนั้นอ้อเรียนอยู่ที่เกาหลี ก็มีอิสระที่จะเขียน อ้อสรุปว่าอิทธิพลเชิงสถาบันและกรอบกฎหมายในไทย ทำให้กระบวนค้นหาความจริงและกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถดำเนินไปถึงที่สุดได้ เมื่อดำเนินไปถึงจุดจุดหนึ่งก็ต้องหยุด เนื่องจากเราไม่สามารถค้นต่อหรือวิพากษ์คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง นั่นคือข้อสรุป

ขณะที่เขียนมีความโกรธอะไรบางอย่าง รู้สึกว่ามันไม่แฟร์จริงๆ ยิ่งได้ไปเห็นกิจกรรมที่ May 18 จัดอยู่เสมอ ซึ่งทำให้สปิริตของการต่อสู้และผู้สูญเสียยังคงอยู่ ไม่มีใครลืมคนเหล่านี้ และคิดถึงคนเหล่านี้ด้วยความขอบคุณ แต่เมื่อเหลียวมาดูเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เราไม่เห็นสิ่งเหล่านี้เลย

 

ทำไมคนเกาหลีรู้สึกขอบคุณผู้สูญเสียที่กวางจู

ฟังเหมือนพูดให้โรแมนติก แต่คนเกาหลีที่ได้คุยด้วยหลายคนเขารู้สึกขอบคุณจริงๆ เพราะนี่คือการวางรากฐานให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงอะไรบางอย่าง มันไม่ใช่การสละชีวิต แต่เป็นการแสดงสิทธิความเป็นพลเมือง ในการพูดในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ปฏิเสธสิ่งที่ตนไม่ต้องการ อ้อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจแก่คนข้างหลัง มันไม่ใช่ตัวอย่าง แต่ทำให้เห็นความเป็นไปได้ ทำให้เห็นพลังของตัวเอง เห็นสิทธิของตัวเองมากขึ้น เห็นความเป็นไปได้ของการต่อสู้ด้วยตัวเอง การต่อสู้แบบเครือข่าย เห็นความเป็นไปได้ของการเอาตัวคนผิดมาลงโทษ เห็นความเป็นไปได้ของการต่อสู้ที่ไม่โดดเดี่ยว

 

เรื่อง 6 ตุลาฯ ในแง่หนึ่ง ไม่ใช่เรื่องที่เงียบอะไรนัก มีข้อมูลเยอะมาก มีฟุตเทจ มีภาพ มีบทความ อาจเป็นบล็อก มีจำนวนมาก เพียงเสิร์ชในอินเตอร์เน็ตก็จะทราบว่า ฝ่ายผู้กระทำมีใครบ้าง ฝ่ายนักศึกษามีใครบ้าง ทุกวันนี้ยังมีการจัดงานที่ธรรมศาสตร์ แต่อยู่ในลักษณะที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย

 

สำหรับตัวคุณเอง อะไรคือการรับรู้แรกถึง 6 ตุลาคม 2519

จำได้ว่าพ่อแม่และคนอื่นๆ พูดกันว่าคนตายเยอะมากและมีการเอาศพไปโยนให้จระเข้กิน บอกว่าที่ธรรมศาสตร์มีอุโมงค์ด้วย ตอนที่เอ็นท์ฯ ติดธรรมศาสตร์ แม่พูดเล่นๆ ว่า อย่าลืมไปดูด้วยนะว่ามีอุโมงค์จริงหรือเปล่า

ในอำเภอของเรา (จังหวัดระนอง-บ้านเกิดของเธอ) มีหมู่บ้านที่คนเรียกกันว่าเป็นพื้นที่สีชมพู (ที่ตั้งถิ่นฐานของผู้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสม์ แต่ไม่มีการสู้รบ ถ้าเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของผู้ฝักใฝ่ฯ และมีการสู้รบ เรียกกันว่าพื้นที่สีแดง) ตอนเด็กไม่เข้าใจว่าคืออะไร ก็คิดไปว่าบนแผนที่ พื้นที่ตรงนั้นคงระบายด้วยสีชมพู และพี่ข้างบ้านที่ช่วยเลี้ยงพี่ๆ และอ้อ เขาไปอบรมอะไรสักอย่าง ไม่น่าจะเป็นลูกเสือชาวบ้าน เขาก็มาเล่าว่าเพลงหรือกิจกรรมที่ทำมันเป็นการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และมีการชวนหนุ่มสาวจากพื้นที่สีชมพูมาร่วมกิจกรรมนั้นด้วย

พี่คนนั้นเล่าว่าฟังคนพวกนี้ไม่ค่อยรู้เรื่อง พูดใต้ แต่คนละสำเนียงกัน ส่วนใหญ่จะมาจากนครศรีธรรมราช พวกนี้เป็นคนแข็งๆ น่ากลัวๆ มุ่งมั่น ตรงไปตรงมา ตอนแรกๆ พี่เขาก็กลัวๆ แต่พอเข้าค่ายด้วยกัน ก็เห็นว่าน่ารัก

 

สมัยนั้นเวลาคนพูดถึงพื้นที่สีชมพู รู้สึกอย่างไร

ให้ไปคงไม่ไป รู้สึกว่ามันเป็นการพูดถึงด้วยความรู้สึกแง่ลบมากกว่าแง่บวก คนที่อยู่ที่นั่นน่ากลัว ไม่เหมือนพวกเราที่ใช้ชีวิตปกติธรรมดา คนที่นั่นดูลึกลับ จากความทรงจำเลยรู้สึกว่าคนเหล่านั้นไม่ใช่คนดั้งเดิมจากพื้นที่เรา เป็นคนที่อพยพมาจากที่อื่น ถึงจะอยู่อำเภอเดียวกันแต่ดูห่างไกลจากความสัมพันธ์ในชุมชน เป็นเขตภูเขา เป็นป่า แต่ตอนนี้พื้นที่สีชมพูนั่นเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่สำหรับท่องเที่ยวแล้ว

ในระนองมีนิคมสร้างตัวเองที่รัฐบาลจัดสรรด้วย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องอะไรกับนโยบาย 66/23 หรือการปราบปรามคอมมิวนิสต์หรือเปล่า ตอนหลังเมื่อลองทบทวนก็พบว่าหลายเรื่องมันเชื่อมโยงกัน สิ่งที่เกิดในจังหวัดเรา ทำไมพี่เลี้ยงเราต้องไปรับการอบรม ยายของอ้อเองก็เป็นลูกเสือชาวบ้าน แต่ตอนนั้นไม่เคยตั้งคำถามอะไร คิดว่าเป็นกิจกรรมผู้สูงอายุ ไปพบปะ ร้องรำทำเพลง แต่ตอนนี้ถ้าพูดถึงลูกเสือชาวบ้าน อ้อจะเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ทันที

หนังเรื่อง ความทรงจำ-ไร้เสียง (Silenced – Memories) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบันทึก 6 ตุลาฯ ด้วยหรือเปล่า

อันที่จริงหนังสารคดีเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘ประวัติศาสตร์บอกเล่าความรุนแรงทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อดีตของความรุนแรง ปัจจุบันที่เป็นอยู่และความยุติธรรมในอนาคต’ ที่เสนอขอทุนเอพีไอร่วมกับเพื่อนชาวอินโดนีเซีย โดยเพื่อนบันทึกเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวมุสลิมในยุคซูฮาร์โต เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2532 ส่วนอ้อฟังเสียงประวัติศาสตร์ คือพยานและครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คือ แม่เล็ก-วิทยาภรณ์ แม่ของคุณมนู วิทยาภรณ์ และพ่อจินดา ทองสินธุ์ พ่อของคุณจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้

อ้อเองไม่ได้เป็นคนทำหนัง โชคดีได้ เสาวนีย์ สังขาระ มาช่วยถ่ายทำและตัดต่อ ตั้งแต่เริ่มงานตั้งใจว่าไม่อยากเล่าตรงไปตรงมา ไม่อยากทำให้มันเศร้า ถ้าจะเศร้าก็ให้เศร้าเองด้วยเรื่องราว ไม่อยากสร้างดราม่าอะไรทั้งสิ้น และไม่อยากเอาฟุตเทจจากเหตุการณ์มาใส่ ต้องการท้าทายตัวเองว่า ถ้าจะเล่าถึงความรุนแรง เราเล่าโดยไม่มีภาพความรุนแรงได้อย่างไรบ้าง ตอนที่ตัดต่อเสร็จเป็นช่วงหลังรัฐประหาร 2557 อยากจัดฉายในช่วงเดือนตุลาคม แต่อาจารย์บางท่านกลับบอกว่า คิดว่าช่วงนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมจะพูดถึงเรื่องนี้ ไม่เข้าใจเลย เพราะหนังไม่ได้มีภาพหรือประเด็นที่อ่อนไหวเลย ขณะเดียวกัน อ้อก็เห็นความกลัวในทีมงานของเรา ทีแรกเขาขอไม่ให้ลงเครดิต จนเมื่อหลายๆ คนที่ได้ดู บอกตรงกันว่าไม่มีอะไรเซ็นซิทีฟ เขาจึงยอมให้ใส่ชื่อ ตอนที่ฉายได้เชิญอาจารย์ธงชัย วินิจจะกุล (หนึ่งใน 13 แกนนำที่ถูกจำคุกจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา) มาช่วยเล่าว่า 6 ตุลาฯ มีคำถามอะไรที่ยังไม่ได้ถาม คำถามอะไรที่ยังไม่ได้รับคำตอบ

ต่อมา เมื่อมีการเตรียมจัดงานครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาฯ เมื่อปี 2559 อาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ (รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กรรมการโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’) ติดต่อมา บอกว่าอยากจะทำสารคดีสักเรื่อง อ้อชื่นชมอาจารย์อยู่แล้ว เพราะอาจารย์ทำข้อมูลการสลายชุมนุมปี ’53 ไว้ดีมาก คิดว่าเป็นการทำข้อมูลกระบวนการค้นหาความจริงความรุนแรงจากภาครัฐที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาในเมืองไทย อาจารย์เองมีเรื่องในใจที่อยากทำอยู่ คือเรื่องคนที่เสียชีวิต ทำอย่างไรให้เรารู้จักตัวตนของผู้เสียชีวิต เขาเป็นคนแบบไหน ชอบกินอะไร เรื่องธรรมดาสามัญที่ทำให้รู้จักเขามากขึ้น

 

ทำไมอยากนำเสนอออกมาในแนวนี้

อ้อไม่เคยถามอาจารย์ แต่คิดว่าเข้าใจว่าอาจารย์ต้องการอะไร ถ้าให้ตอบเอง และตอบแทนอาจารย์ และคณะกรรมการ มันคือการคืนความเป็นมนุษย์ให้คนเหล่านั้น อาจารย์ธงชัยพูดมาตลอดว่า คนที่เสียชีวิตในช่วง 6 ตุลาฯ ถือเป็นการพรากความเป็นมนุษย์ไป

 

การพรากความเป็นมนุษย์… ช่วยขยายความหน่อยสิคะ

คนเหล่านี้ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นมนุษย์ ในแง่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน มันไม่มีแล้ว ถ้าดูจากฟุตเทจเก่าจะเห็นว่ามีการยกหน้าศพขึ้นมาแล้วบอกว่านี่ไม่ใช่คนไทย นี่เป็นคนเวียดนาม นี่คือการลดทอนความเป็นมนุษย์ของเขาผ่านการบอกว่าเขาไม่ใช่คนไทย เขาเป็นคอมมิวนิสต์ เขาไม่ใช่พวกเรา เขาเป็นคนอื่น เขามีคุณค่าน้อยกว่า เพราะฉะนั้นก็ชอบธรรมแล้วที่คนพวกนี้จะถูกกำจัด

การย้อนกลับไปทำความรู้จักพวกเขา (ในหนังสารคดีเรื่อง ด้วยความนับถือ – Respectfully Yours) อ้อคงพูดไม่ได้ว่าเราคืนความเป็นมนุษย์ให้เขา แต่อย่างน้อยที่สุดนี่เป็นการทำให้เห็นว่าเขาเป็นคนเหมือนกัน มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน เป็นที่รักของพ่อแม่พี่น้อง มีครอบครัว มีคนที่รัก เคยมีอนาคต เคยมีความฝันเหมือนเราทุกๆ คน

 

สารคดีที่เกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ทั้งสองเรื่องนี้ เผยแพร่ทางไหนบ้าง

ใครๆ ก็ดูได้ทาง YouTube เคยออกฉายในงานครบรอบ 6 ตุลาฯ แต่ยังไม่เคยเสนอโทรทัศน์ช่องใด (นิ่งคิดครู่หนึ่ง) ควรลองไปเสนอเหมือนกันนะคะ เพราะทีวีเป็นพื้นที่สาธารณะ การได้ฉายคือการ recognise อย่างหนึ่ง

 

ที่มาของข้อมูลในโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ มีวิธีสืบค้นอย่างไร ดูเหมือนว่าหลายอย่างก็เป็นข้อมูลใหม่ที่สังคมไม่เคยรู้มาก่อน

ส่วนหนึ่งเป็นการตามหาคนในภาพ เราเอาภาพเก่าจำนวนมากมานั่งดูกัน และนำไปสู่คำถามและข้อมูลใหม่ๆ เช่น ที่สนามหลวงมีคนถูกแขวนคอห้าคน ไม่ใช่สองคน อย่างที่เรารับรู้กัน หรือว่าชายที่ถูกแขวนคอและถูกตีด้วยเก้าอี้ (ภาพถ่ายโดย Neil Ulevic ช่างภาพสำนักข่าว AP) ไม่ใช่ ‘วิชิตชัย อมรกุล’ อย่างที่เข้าใจกัน แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร ส่วน ‘chairman’ ชายที่ใช้เก้าอี้ฟาดคนที่ถูกแขวนคอ เป็นใครก็ไม่รู้ แม้ว่าเขาจะปรากฏตัวในหลายภาพมาก แต่ 40 ปีผ่านไปยังไม่มีการตั้งคำถาม แสดงให้เห็นว่ามีเรื่องราวเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ อีกมากที่เรายังไม่รู้ และมีผู้คนอีกมากที่ได้รับผลกระทบ ครอบครัวที่เราไม่ได้เข้าถึงและไม่ได้มีโอกาสมาพูด เรื่องทั่วไปที่คนรับรู้กัน ก็จริงบ้างไม่จริงบ้าง

ความไม่รู้เหล่านี้เป็นที่มาของโครงการบันทึก 6 ตุลาฯ ในลักษณะจดหมายเหตุ เพื่อรวบรวมเอกสารทั้งจากทางราชการ สื่อต่างๆ รวบรวมประวัติศาสตร์บอกเล่าจากครอบครัว และผู้อยู่ในเหตุการณ์

 

ข้อมูลทางฝั่งผู้กระทำล่ะคะ จะรวบรวมไว้ด้วยหรือไม่

เราเริ่มทำข้อมูลส่วนนี้ด้วย ในเว็บไซต์จะเห็นว่าเรามีเอกสารจากพิพิธภัณฑ์อัยการสูงสุด ซึ่งเป็นคำให้การของฝ่ายโจทก์ซึ่งก็คือรัฐ ส่วนนักศึกษาเป็นจำเลย

 

ข้อหาคือ

เป็นคอมมิวนิสต์ จากเหตุการณ์มีนักศึกษาถูกจับ 3,000 กว่าคน ภายใต้ข้อหาการชุมนุมการเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อได้รับการประกันก็ถูกปล่อยไป ส่วนคนที่เป็นแกนนำ 13 คนถูกดำเนินคดีและตัดสินจำคุก

 

แล้วการฆ่าที่เกิดขึ้นตามมุมต่างๆ ของสนามหลวง ระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ล่ะคะ

ไม่มีการดำเนินคดี ไม่มีการดำเนินคดี (เธอพูดซ้ำก่อนจะเน้นทีละคำ) ไม่มี-การดำเนินคดี-การเสียชีวิต-ค่ะ ไม่มีการฟ้องร้อง มีศพ แต่ไม่มีการฟ้องร้อง เข้าใจไหมคะ อย่าพูดถึงเรื่องการฟ้องร้องว่าใครเป็นโจทก์เลย ถามก่อนว่ามีสำนวนคดีไหม

 

อ้อคงพูดไม่ได้ว่าเราคืนความเป็นมนุษย์ให้เขา แต่อย่างน้อยที่สุดนี่เป็นการทำให้เห็นว่าเขาเป็นคนเหมือนกัน มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน เป็นที่รักของพ่อแม่พี่น้อง มีครอบครัว มีคนที่รัก เคยมีอนาคต เคยมีความฝันเหมือนเราทุกๆ คน

อย่างหนังเรื่องล่าสุดของคุณในปีนี้ สองพี่น้อง (Two Brothers) เรื่องของช่างไฟฟ้าสองคนคือ ชุมพร ทุมไมย และวิชัย เกศศรีพงษ์ศา ที่ถูกแขวนคอที่นครปฐม โครงการฯ ติดตามจนพบญาติของพวกเขาได้อย่างไร

เราตระหนักว่าเวลาพูดถึง 6 ตุลาฯ ชื่อของสองคนนี้ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงเท่าไรนัก ขณะเดียวกัน เมื่อมองเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เราอยากขยายพื้นที่ออกไปมากขึ้น 6 ตุลาฯ ไม่ได้มีแค่ 6 ตุลาฯ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ธรรมศาสตร์หรือสนามหลวง เราก็เริ่มทำข้อมูลกับคนที่อยู่นอกพื้นที่ของคำว่า ‘6 ตุลา’ และตอนที่เราเริ่มทำข้อมูลคนที่ถูกแขวนคอว่ามีกี่คนกันแน่ พบว่าห้าคนที่ท้องสนามหลวง แล้วก่อนหน้านี้ คือเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2519 ก็ยังมีอีกสองคน

ในงานฉายหนังสองเรื่องก่อนหน้านี้ที่หอสมุดธรรมศาสตร์ พี่เอ๋-วัฒนชัย วินิจจะกุล เสนอว่าพวกเราน่าจะทำข้อมูลเกี่ยวกับช่างไฟฟ้าสองคนนี้ด้วย เพราะว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ และเขาก็ถูกแขวนคอด้วย อ้อจึงเริ่มค้นหาญาติจากสมุดหน้าเหลือง

 

สมุดหน้าเหลืองยังใช้ได้อยู่

ยังอยู่และก็เวิร์กนะ อ้อตามหาญาติได้หลายคนจากสมุดหน้าเหลือง โดยการค้นจากนามสกุลและลองโทรติดต่อไป สำหรับญาติของชุมพร ทุมไมย คนที่รับโทรศัพท์คือพี่สะใภ้ เขาประหลาดใจ เล่าถึงชุมพรให้ฟังว่าเป็นคนนิสัยดี เป็นคนรักหลาน แล้วบอกให้คุยกับสามีเขา-ชุมพล ทุมไมย ซึ่งก็คือพี่ชายของชุมพร และบอกว่ารู้ไหมสามีเขายังเก็บหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไว้ทุกฉบับ วันรุ่งขึ้นคุณชุมพลโทรมา พอเราแนะนำตัวแนะนำโครงการฯให้ทราบ เขาก็ร้องไห้…สะอื้นหนักมาก บอกว่าเขาคิดมาตลอดว่า วันหนึ่งถ้าเขามีเงิน มีความสามารถ เขาอยากจะทำอะไรให้น้อง เขาไม่ได้คาดหวังว่าจะมีการระลึกถึงน้องเขาในเชิงสถาบันหรืออะไร แค่อยากให้คนไม่ลืมน้องเขา เมื่อโครงการฯ ติดต่อเขาไป ก็เหมือนว่าสิ่งที่เขารอคอยเป็นจริงขึ้นมา

 

แล้วคุณไปพบประตูแดงซึ่งเป็นจุดแขวนคอช่างไฟฟ้าทั้งสองคนได้อย่างไร

ด้วยข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ เรารู้ว่าประตูนั้นอยู่ถนนอะไร ใกล้ตรงไหน เรารู้ด้วยว่าหลังจากเอาศพสองคนนั้นลงมาแล้วเอาไปฝังที่ไหน จึงไปถามคนละแวกนั้น ไปถามผู้ใหญ่บ้าน เขาไม่รู้ แต่แนะนำให้ไปถามผู้ใหญ่บ้านคนเก่า เราก็ขับรถไปหา ผู้ใหญ่บ้านคนเก่าบอกว่าเขารู้ว่าอยู่ที่ไหน ตอนนี้มันก็ยังอยู่ พวกเรานี่หูตั้งเลย เขาบอกว่าตอนเกิดเหตุเขาอายุ 17-18 ชาวบ้านบอกว่ามีศพแขวนอยู่ที่ประตู เขาก็วิ่งไปดู อ้อถามเขาว่าพาเราไปได้ไหม เขาก็ขี่มอเตอร์ไซค์พาเราไป ตอนเห็นประตูอยู่ลิบๆ ทุกคนรู้สึกขนลุก ในแง่ที่ว่าสิ่งที่เราตามหา ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะยังอยู่ แต่ 41 ปีผ่านไป มันยังอยู่ตรงนั้น และอยู่ในสภาพแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย

พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่จัดสรร แบ่งเป็นบล็อกๆ และมีการล้อมรั้วเอาไว้ เป็นที่ดินของเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในนครปฐม ล้อมรั้วและมีประตูเป็นทางเข้าที่ดิน อยู่ห่างจากถนนใหญ่ แต่ห่างจากโรงพักนครปฐมแค่สองกิโลฯ กว่า

เราเลยไปที่โรงพักนครปฐม ไปถามหาตำรวจห้าคนที่เกี่ยวข้องกับคดี ว่ายังมีสำนวนคดีอยู่หรือไม่ ไม่พบอะไรเลย เขาบอกว่าตำรวจชั้นประทวนจะไม่มีการเก็บบันทึกการโยกย้าย และสำนวนคดีเกิน 25 ปีไปแล้วจะถูกทำลาย

ตำรวจห้าคนนั้นยังมีชีวิตอยู่ไหม

เรารู้ชื่อ และตามได้แล้วสองคน คนหนึ่งเสียชีวิตไปแล้ว คนหนึ่งเราเพิ่งไปพบมาเมื่อกลางเดือนตุลาฯ เขายินดีคุย แต่เพิ่งไปเจอครั้งแรกยังไม่ได้ข้อมูลอะไรมาก แต่เท่าที่ได้คุย เขาบอกว่าเขาถูกใส่ร้าย เขาและตำรวจอีกสี่คนไม่ได้ทำ พวกเขาเป็นแพะ เราคิดว่าถ้าได้มีโอกาสคุยกับเขามากขึ้น ความจริงหลายๆ อย่างน่าจะปรากฏ เพราะนี่เป็นแค่ครั้งแรกที่ได้คุยกัน คงต้องค่อยเป็นค่อยไป อีกสามคนยังตามไม่ได้

และได้คุยกับนายตำรวจอีกท่านที่นครปฐม คุยผ่านเพื่อน เขาคิดว่าคดีนี้ไม่มีแม้แต่สำนวนคดีด้วยซ้ำ ไม่มีการทำอะไรกับคดีนี้เลย หลังจากที่มีการพบศพที่ประตูแดง มีมูลนิธิหนึ่งมาเอาศพลง แล้วเอาไปฝังที่สุสานแห่งหนึ่งในนครปฐม ไม่มีการชันสูตรพลิกศพเลย แล้วพอญาติมา เขาไปที่โรงพัก ตำรวจบอกว่าไม่รู้ว่าศพอยู่ที่ไหน ไม่มีแล้ว จนเขาต้องไปอีกครั้งกับนายทหารที่เป็นญาติ ต้องแต่งตัวเต็มยศและมีทหารคนอื่นไปด้วย ตำรวจถึงได้บอกว่าเอาไปฝังที่สุสาน แล้วถึงได้ขุดขึ้นมาเพื่อไปชันสูตรพลิกศพทีหลังว่าใช่หรือไม่

คิดว่าการเอาไปฝังนั้นคือจบแล้ว ไม่ใช่เรื่องของใครอีกต่อไปแล้ว แต่การเอาไปแขวนมันเป็นการส่งสาร คือถ้าสองคนนี้ถูกฆาตกรรมและคนทำต้องการกลบหลักฐาน ก็มีวิธีอีกตั้งมากมาย แต่การเอาไปแขวนในที่โล่งแจ้ง มันฟ้องว่าต้องการให้มีคนเห็น มีการพูดถึง ถึงคิดว่ามันเป็นการส่งสารถึงสาธารณะ ถึงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่พอส่งสารเสร็จแล้วร่างสองร่างนั้นก็หมดหน้าที่ ก็เอาไปฝังซะในบริเวณสำหรับศพไม่มีญาติ

 

เมื่อมองเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เราอยากขยายพื้นที่ออกไปมากขึ้น 6 ตุลาฯ ไม่ได้มีแค่ 6 ตุลาฯ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ธรรมศาสตร์หรือสนามหลวง

คุณเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า… ฉันมารื้อฟื้นเรื่องพวกนี้เพื่ออะไร

เมื่อไม่กี่วันนี้ก็เพิ่งมีคนถามคำถามนี้ เขาถามว่ามันจะมีความหมายแค่ไหนกับกระบวนการยุติธรรม อ้อจะขอตอบในแบบเดียวกัน อ้อไม่ได้เป็นคนที่มีอุดมคติหรือคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่เคยคิดว่าตัวเองอยู่ในสถานะนั้น อ้อเริ่มทำงานพวกนี้ด้วย anger and hunger มีความโกรธและกระหายใคร่รู้ว่าทำไมเราถึงไม่รู้ มันเป็นการตอบอะไรที่อยู่ข้างในมากกว่า ทำไมฉันถึงไม่รู้เรื่องนี้ ทำไมจึงเกิดเรื่องนี้ขึ้นกับคนนี้ แล้วทำไมมันยังไม่ไปไหน

 

ไม่รู้แล้วทำไมต้องโกรธ

รู้สึกว่ามันไม่แฟร์ ครั้งแรกที่รู้สึกแบบนี้คือตอนไปเรียนที่เกาหลี และได้รู้เรื่องคอมฟอร์ตวีเมนเป็นครั้งแรก เพื่อนชาติอื่นเขารู้กันทุกคน เราไม่รู้อยู่คนเดียว

 

คิดว่าเป็นปัญหาส่วนตัว หรือเป็นปัญหาของการศึกษา หรือปัญหาของความทรงจำสาธารณะของไทย

คิดว่าเป็นปัญหาระบบการศึกษา ขนาดอ้อคิดว่าตัวเองเป็นคนอ่านหนังสือค่อนข้างเยอะนะ แต่ทำไมเรายังไม่รู้ ทำไมไม่ได้เรียนเรื่องเหล่านี้ในโรงเรียน ทำไมไม่มีคนบอกให้เรารู้ เรามีสิทธิที่จะรู้นะ เป็นความรู้สึกโกรธ รู้สึกคับข้องใจ อยากรู้ อยากไปให้ถึงที่สุด เคยไหมคะเวลาสงสัยอะไร อยากรู้อะไร อยากไปให้ถึงที่สุดที่จะไปได้

 

ถ้ามองในภาพกว้าง หลังเหตุการณ์ความขัดแย้งในสังคม เรามักจะเข้าสู่กระบวนการ reconciliation เพื่อคืนสันติสุขสู่สังคม ยุคหนึ่งเราใช้คำว่า ‘สมานฉันท์’ ยุคนี้เราเรียกว่า ‘ปรองดอง’ คุณมองว่าสองคำนี้มีนัยต่างกันไหม

ไม่เคยตั้งคำถามว่าสองคำที่ใช้ต่างวาระกันนี้มีนัยต่างกันหรือไม่ เพราะถึงที่สุด ไม่ได้ให้ค่ากับคนที่พูดคำนี้อีกต่อไปแล้ว เพราะไม่ว่าคุณจะใช้คำที่มันสวยหรูแค่ไหน แต่ถ้าไม่ได้มีความจริงใจหรือตั้งใจทำให้มันเกิดขึ้นได้จริง มันก็ไม่มีความหมาย

 

อ้อไม่ได้เป็นคนที่มีอุดมคติหรือคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม อ้อเริ่มทำงานพวกนี้ด้วย anger and hunger ทำไมฉันถึงไม่รู้เรื่องนี้ ทำไมจึงเกิดเรื่องนี้ขึ้นกับคนนี้ แล้วทำไมมันยังไม่ไปไหน

จริงๆ แล้ว กว่าที่ความขัดแย้งและบาดแผลจะเยียวยาไปสู่ความมีสันติสุขได้ จำเป็นต้องมีกระบวนการอะไรมากกว่านั้นหรือเปล่า

ทีนี้เมื่อพูดถึงกระบวนการของมัน หลายคนคงเข้าใจจากประสบการณ์ของตนเอง ไม่ได้คิดถึงใจคนอื่น คิดว่าเมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้อภัยมันก็จบ ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ กว่าที่จะนำไปสู่การให้อภัย มันผ่านอะไรบ้าง

อันดับแรกผู้กระทำยอมรับไหมว่าเขาเป็นผู้กระทำ ยังไม่ต้องพูดถึงความรับผิดชอบใดๆ แค่เริ่มต้นพูดก่อนว่า ฉันได้กระทำอะไรลงไป กล้าที่จะเผชิญหน้าผู้ที่เป็นเหยื่อ ผู้ที่ได้รับผลการกระทำไหม นั่นคือต้องมีพื้นที่ที่ทำให้คนกล้ามาเผชิญกับความจริง ที่ฝ่ายหนึ่งจะสามารถพูดความจริงได้โดยไม่ต้องมีความเกรงกลัวหรือหวาดกลัว อีกฝ่ายหนึ่งพร้อมที่จะเผชิญกับความจริงนั้น

แล้วมีกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นไหม มีการชดเชยเยียวยาไหม มีการขออภัยไหม จนกว่าที่จะนำไปสู่การให้อภัย แล้วก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ในพื้นที่เดียวกัน อาจจะโกรธกันก็ได้ อาจจะไม่สามารถเป็นเพื่อนกัน หรือทำงานร่วมกันได้ แต่อย่างน้อยที่สุด มันมีกลไกให้คนที่เป็นฝ่ายกระทำและถูกกระทำได้อยู่ในพื้นที่เดียวกันไหม มีกลไกใดที่จะทำให้แน่ใจว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก หรือถ้ามันเกิดขึ้นอีก ก็จะมีความยุติธรรมเกิดขึ้น

 

เหมือนคนไทยนิยมทางลัด การตัดบท เกิดอะไรขึ้นก็ตบหลังตบไหล่ปรองดองกันได้ทันที

คิดว่าคนไทยไม่ได้ถูกสอนให้เผชิญความจริง แม้แต่ชีวิตเราเอง มีสักกี่ครั้งที่เราถูกสอนให้เผชิญกับความจริง และถ้าเราจะเลือกเส้นทางที่ควรจะเป็น มันใช้เวลานานมากนะ เราจะอดทนรอไหม

สำหรับอ้อ เหตุผลหนึ่งที่เลือกทำงานกับโครงการบันทึก 6 ตุลาฯ เพราะอยากทำอะไรที่เห็นผล ไม่ใช่วันนี้พรุ่งนี้ แต่เห็นว่ามันมีทางที่จะนำไปสู่ผลนั้น เช่น การสืบค้นข้อมูล การไปพบญาติผู้สูญเสีย ไปเจอฝ่ายผู้กระทำ มันไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมในช่วง 41 ปีที่ผ่านมาหรอก แต่…อ้อเห็นทางว่าคนที่เห็นข้อมูล เริ่มเข้าถึงข้อมูล เขาจะตั้งคำถามกับเหตุการณ์มากขึ้น และจะไม่ใช่แค่การตั้งคำถามกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แล้ว มันจะนำไปสู่การตั้งคำถามกับเหตุการณ์อื่นๆ ด้วย

อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีคำถามว่า เอ๊ะ-เรื่องนี้ทำไมเราไม่รู้มาก่อน ทำไมไม่มีการพูดถึง

ทำไมมันถึงเงียบนัก

 

ถ่ายภาพโดย ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย

 

FACT BOX:

ปัจจุบันเป็นนักวิจัยในโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’, โครงการหอจดหมายเหตุ ‘Comfort Women’ มหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล และเป็นที่ปรึกษางานวิจัยให้กับองค์กรหลายแห่ง

ผลงานการวิจัย
– โครงการภูมิปัญญาและแนวทางการพึ่งตนเองของชุมชนประคตินคร อำเภอนวลปราสี จังหวัดลุมพินี ประเทศเนปาล โดยประสบการณ์ส่วนหนึ่งจากการทำวิจัยครั้งนั้น ถ่ายทอดเป็นบทความสารคดีสำหรับเด็กและเยาวชน ตีพิมพ์ในนิตยสาร พลอยแกมเพชร และต่อมารวมเล่มในชื่อว่า ไปเที่ยวบ้านลักษณมัน
– โครงการหอจดหมายเหตุการบังคับใช้แรงงานทางเพศสตรีและเด็กผู้หญิงโดยกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
– เปรียบเทียบกระบวนการค้นหาความจริงและการสมานฉันท์ของประเทศเกาหลีและประเทศไทย : กรณีเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม (1976) และเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยกวางจู (1980)
– สู่สันติภาพและการสมานฉันท์ที่เกิดขึ้นจริงผ่านพิพิธภัณฑ์สันติภาพ : กรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์สันติภาพในญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์
– ประวัติศาสตร์บอกเล่าความรุนแรงทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อดีตของความรุนแรง ปัจจุบันที่เป็นอยู่และความยุติธรรมในอนาคตผลงานภาพยนตร์

 

Tags: , , , , , , , , , ,