ย้อนกลับเมื่อปี 2557 ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศมากถึง 109 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่เกิดหลังปี 2523 และไทยแลนด์ของเราก็ติดอันดับ 1 ใน 5 ประเทศที่ชาวจีนเดินทางมากันมากที่สุด ส่วนหนึ่งอาจเพราะเยื่อใยความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน จีน-ไทย ที่มีมาแต่อดีต ที่ชาวจีนจากผืนแผ่นดินใหญ่รุ่นต่อรุ่นได้เข้ามาตั้งรกรากแถบทรงวาด สำเพ็ง และเยาวราช จนกลายเป็น ‘ไชนาทาวน์’ ของเมืองไทยที่เรารู้จักกัน
หากในช่วง 3 ปีมานี้ ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ห้วยขวาง ย่านที่คนเมืองหลวงไม่เคยคิดเชื่อมโยงกับคนไทยเชื้อสายจีนเยาวราช ก็กลับคึกคักขึ้นมา จนว่ากันว่าในอนาคตอาจเป็นไชนาทาวน์แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
1 ( 一 อี)
นับจากด้านซ้ายของทางออก 1 MRT ห้วยขวางไปประมาณ 700 เมตรจนสุดถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ สองข้างทางรวมถึงตรอกซอกซอยเต็มไปด้วยจุดบริการแลกเปลี่ยนเงิน สปา ร้านโลจิสติกส์ ร้านขายกระเป๋าหนัง หมอนยางพารา เครื่องสำอาง และอาหารจีน เจ้าละ 1-3 คูหา ที่สลับกันเปิดปิดจากเที่ยงวันยาวไปถึงหลังเที่ยงคืน
ไม่ต้องแหงนหน้ามองหา อักษรจีนตัวโต ๆ บนป้ายริมถนนก็กระทบสายตา หน้าร้านต่างๆ ก็เป็นภาษาจีน อาจมีภาษาไทยบ้าง อย่างน้อยร้านหนึ่งก็มีคำว่า ‘ผลัก’ ตรงประตู กระทั่งร้านข้าวกะเพราไก่ไข่ดาว ก็ยังมีอักษรจีนแปะไว้หน้าร้านเพื่อเรียกลูกค้า
แม้ไม่ถึงขั้นต้องทำวีซ่า แต่ย่านนี้จะทำให้ ‘ไท่กั๋วเหริน’ (คนไทย) รู้สึกว่าตัวเองเป็นชนต่างชาติในเมืองจีน!ก่อนมา เราลองเสิร์ชหา ‘ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ’ และ ‘ห้วยขวาง’ ในกูเกิล ผลที่พบหนีไม่พ้นเรื่องราวของศาลพระพิฆเนศ ตรงแยกจุดตัดถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญกับถนนรัชดาภิเษกที่ผู้คนต่างมาสักการะบูชาเพื่อความสิริมงคล ซึ่งแน่นอนว่ามีป้ายอักษรจีนอธิบายขั้นตอนการสักการะบูชาอยู่ ตามมาด้วยเรื่องธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียนการค้าอย่างถูกต้อง และการใช้นอมินี แถมเมื่อนั่งพักดื่มชากาแฟในร้านป้าคนไทยที่เปิดมานานถึง 20 ปี ก็มีเสียงเมาธ์ ‘เพื่อนบ้านร้านเคียง’ ชาวจีนตามประสา ถึงการหอบเงินก้อนโตแห่มาเปิดกิจการในไทย ที่ลงท้ายว่า ‘ใครจะไปรู้ ป้าว่าย่านนี้สีเทา’
เทาแค่ไหนไม่รู้ แต่เอาเป็นว่า เมื่อหลายอย่างไม่ขาวและดำสนิท ข่าวและคำบอกเล่าของป้าก็ทำให้ย่านนี้ดูมีสีสันและน่าทำความรู้จักมากขึ้น
2 ( 二 เอ้อ)
งานวิจัย ‘การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่: กรณีศึกษาชุมชนจีนแห่งใหม่’ โดยชาดา เตรียมวิทยาและคณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ระบุว่ามีชาวจีนรุ่นใหม่อาศัยในบริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญประมาณ 7,000 คน (2558) ใจความตอนหนึ่งพูดถึงจุดเริ่มต้นการรวมตัวของชุมชนจีนในห้วยขวางไว้ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม
1. กลุ่มจีนไต้หวัน: ราวปี 2523 ชาวจีนไต้หวันที่พักและทำงานในละแวกใกล้มารวมตัวกันในย่านนี้ เป็นช่วงที่ไทยใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ซึ่งได้เริ่มโครงการสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ มีการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซียเชื้อสายจีน ประกอบกับเดิมทีย่านนี้เป็นแหล่งความบันเทิง มีอาบอบนวด คาราโอเกะอันเป็นที่นิยมของนักธุรกิจชาวไทยและชาวต่างชาติ และเมื่อหมดสัญญาจ้างงานก็มีชาวจีนไต้หวันบางคนที่ไม่เดินทางกลับ สมรสกับคนไทย อยู่ต่อ จนถึงทำธุรกิจที่นี่
2. กลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนอดีตทหารจีนคณะชาติ: รัฐบาลไทยเคยอนุญาตให้กองทหารจีนอาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยในฐานะผู้อพยพและทำหน้าที่เป็นกองกำลังตามแนวชายแดนป้องกันผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่ดอยแม่สลอง อำเภอจัน จังหวัดเชียงราย เรียกกันว่า ‘บ้านสันติคีรี’ ต่อมากองทหารจีนได้กลายเป็นพลเรือนไทย ทุกวันนี้ชาวไทยลูกหลานชาวจีนอดีตทหารจีนคณะชาติ (เป็นจีนยูนนาน มีภาษาถิ่นคล้ายภาษาจีนกลาง) ได้รวมตัวกันเป็นชุมชนในเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และมีบางส่วนเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อและทำงานโดยเลือกอาศัยอยู่ในย่านนี้ เพราะได้เปรียบที่สื่อสารภาษาจีนกลางได้ บางคนขยัน อดออมจนกลายเป็นเจ้าของธุรกิจ
3. กลุ่มชาวจีนที่เกิดหลังปี 2503: จีนประกาศตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในปี 2523 เพื่อเปิดประเทศและมีนโยบายสนับสนุนให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศหลังจากแทบไม่มีการติดต่อกับต่างประเทศตั้งแต่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2492 ทำให้มีชาวจีนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งเดินทางมาไทย เพราะมีชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่แล้ว (ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าเรือสำเภา มีภูมิลำเนาในมณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน) และเมื่อปี 2528 ก็มีหนุ่มสาวชาวจีนอีกส่วนหนึ่งเดินทางมาเรียนต่อและทำงานในเมืองไทย โดยเลือกอาศัยอยู่ในย่านนี้เช่นกัน เพราะมีคนเชื้อสายจีนที่พูดภาษาจีนกลางได้
4. กลุ่มชาวจีนที่เกิดหลังปี 2513 และ ปี 2523: จีนเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศในปี 2533 และพัฒนาต่อเนื่องมาตามแนวนโยบายระบบตลาดสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน (Socialist Market Economy with Chinese Characteristics) ทำให้เศรษฐกิจของจีนดีขึ้น จนมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาไทย เมื่อได้งานทำก็เลือกอยู่ในย่านนี้ เน้นราคาห้องพักถูก ใกล้ตลาดสด เดินทางสะดวก อีกทั้งรัฐบาลไทยสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ทำให้มีนักศึกษาจีนจำนวนมากเดินทางมาเรียน โดยเฉพาะนักศึกษาจีนยูนนานที่มักไม่อยากกลับ บอกว่ารักเมืองไทย จึงอยู่ต่อเพื่อหางานทำที่นี่
สรุปภาพได้ว่าชาวจีนในย่านถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญเป็นการรวมตัวกันของครูอาสาสมัคร นักศึกษา นักท่องเที่ยวที่เลือกหาอาชีพเสริมเป็นมัคคุเทศก์ รวมถึงกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนยูนนาน ลูกหลานอดีตทหารจีนคณะชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของร้านค้าที่ขายสินค้าไทยให้กับชาวจีน
ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยคือ ร้านโลจิสติกส์ในย่านนี้ บางร้านรับส่งสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยว โดยคิดค่าบริการตามน้ำหนักของสินค้า เจ้าของร้านเล่าว่าใช้รถขนส่งสินค้าในเส้นทาง Route R3A รวมเวลา 7 ถึง 8 วัน ก็จะถึงเขตปกครองตนเอง สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน จากนี้ไม่เกิน 10 วัน สินค้าจะถูกกระจายไปยังผู้รับทั่วประเทศจีน โดยสินค้ายอดฮิต ได้แก่ นมอัดเม็ด หมอนยางพารา ผลไม้อบแห้ง เครื่องสำอาง และพระเครื่อง บางร้านเป็นตัวแทนให้บริการส่งพัสดุด่วน หรือที่เรียกกันว่า ‘โคว่ตี้’ ชื่อดังของจีน
เราพบว่าสินค้ายอดฮิตที่ว่าก็เป็นสินค้าในร้านย่านนี้เกือบทั้งหมด และเมื่อคุยกับชายกลางคน ตาสระอิ ลูกครึ่งไทย – จีน ลุคเถ้าแก่ ประจำร้านเครื่องสำอางและขนมอบแห้ง คูหาหนึ่ง ก็บอกว่าที่นี่เป็นเพียงหน้าร้าน เพราะเขาขายลูกค้าชาวจีนผ่านแอปพลิเคชัน WeChat
3 ( 三 ซาน)
ใครกันกล่าวว่า ‘ถ้าพลาดกำแพงเมืองจีนเท่ากับไปไม่ถึงเมืองจีน’ เราก็ขอกล่าวบ้างว่า ‘ถ้าพลาดอาหารจีนเท่ากับมาไม่ถึงถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ’ เพราะนอกจากบรรยากาศย่านจีนในไทย ก็อาหารจีนนี่แหละ! ที่คุณควรสัมผัสด้วยตนเองเพื่อมาให้ถึงย่านนี้
เท่าที่เห็นส่วนใหญ่เป็นร้านหม้อไฟ สุกี้ ปิ้งย่างแบบจีนยูนนาน เน้นรสชาติเผ็ดชา มีประเภทผัก เนื้อสัตว์ผัดและต้ม ราคาประมาณ 150 บาทไล่ไปถึงหลักพัน รวมถึงติ่มซำเข่งละ 16 บาท บะกุ๊ดเต๋ สุกี้สไตล์ฮ่องกง บุฟเฟ่ต์ท่านละ 199 บาท (ร้านนี้อยู่ต้นถนน เปิด 24 ชั่วโมง) อาหารตามสั่งร้านไม่ติดแอร์ พร้อมเมนูอย่างข้าวผัดพริกหมูมะเฟืองจีน บะหมี่เป็ด ไก่ ที่คนแน่นในช่วงเที่ยง ราคา 50 ถึง 80 บาท ส่วนเครื่องดื่ม นอกจากน้ำเปล่า น้ำอัดลมพื้นๆ ยังมีน้ำจับเลี้ยง น้ำฟักเขียวกระป๋อง และเหล้าเบียร์บ้างบางร้าน
สำหรับของหวานในย่านนี้แม้มีให้ชิมกันไม่มากนัก แต่ร้านอาหารคาวหลายร้านก็มีเมนูมะม่วง ทุเรียน แตงโม แบบเนื้อเน้นๆ เสิร์ฟมาในถ้วยเดียวกันกับผลไม้ปั่น ไอศกรีม แมงลัก หรือบัวลอย ที่ความหวาน เย็น และหนึบรวมตัวกันได้อย่างพอดีในคำเดียว
ภาพ: ภัทรานิษฐ์ จิตสำรวย
อ้างอิง http://beyond.library.tu.ac.th/cdm/ref/collection/trf_or_th/id/27033
FACT BOX:
- ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนอดีตทหารจีนคณะชาติ หรือทหารจีนกองพล 93 เป็นกองทัพของรัฐบาลจีนก๊กมินตั๋งที่ส่งมารักษาชายแดนจีน-พม่า ก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้หลังต่อสู้ในสงครามกลางเมืองของจีนแล้วหนีไปอยู่ที่ไต้หวัน ส่วนทหารจีนกองพล 93 กลายเป็นทหารไร้สังกัด ขณะเดียวกันรัฐบาลพม่าได้ปราบปรามกองทหารจีนพลัดถิ่นเหล่านี้ ทหารจีนกองทัพ 93 ที่ไม่ได้เดินทางไปไต้หวันจึงอพยพหนีทหารพม่าเข้ามาภาคเหนือของไทย ซึ่งไต้หวันเองประกาศจะไม่สนับสนุนช่วยเหลือกำลังที่ตกค้าง ในที่สุดพวกเขาจึงปักหลักอยู่ที่ดอยแม่สลอง อำเภอจัน จังหวัดเชียงราย
- ข้อดีของระบบ ‘โคว่ตี้’ หรือร้านโลจิสติกส์ขนส่งสินค้าจีน คือ ลูกค้าสามารถตรวจสอบสถานะพัสดุ ได้ทางระบบออนไลน์ ใครเป็นผู้รับผิดชอบจัดส่ง และจะถึงมือผู้รับปลายทางเมื่อไร
- โครงข่ายของเส้นทาง Route R3A หรือเรียกย่อว่า R3A เริ่มเดินทางออกจากรุงเทพฯ ไปด่านเชียงของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ผ่านพิธีศุลกากรข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เข้าสู่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป. ลาว จากนั้นสามารถมุ่งไปเมืองบ่อเต็น เขาหลวงน้ำทา ที่อยู่ทางทิศเหนือของสปป. ลาว ผ่านพิธีศุลกากรเพื่อเข้าสู่เมืองบ่อหาน หรือห่อหาน เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน