ตั้งแต่เริ่มปี 2017 ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่ถกเถียงไปทั่วโลก เพราะโลกในยุคโลกาภิวัตน์กำลังทิ้งคนจนไว้ข้างหลังมากขึ้นเรื่อยๆ และสิ่งนี้ได้สะท้อนออกมาผ่านผลโหวต Brexit และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งที่ผ่านมา ที่คนหมดหวังกับการเมืองในระบบ
ประเด็นนี้ถูกหยิบยกไปพูดในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เช่นกัน เพราะรายงานของ Oxfam ปี 2016 เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจว่า มหาเศรษฐีโลก 8 คน ครองทรัพย์สินเท่ากับคนจนที่สุด 3,600 ล้านคน ซึ่งเท่ากับจำนวนประชากรกว่าครึ่งโลก มหาเศรษฐีเหล่านี้สามารถเพิ่มพูนความมั่งคั่งได้อย่างรวดเร็ว โดยโลกมีมหาเศรษฐีระดับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพียงแค่ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา
แต่ในฐานล่างสุดของโครงสร้างสังคม ประชากรโลก 1 ใน 9 คน ยังเข้านอนด้วยความหิวทุกคืน และ 1 ใน 10 ของพวกเราทุกคนยังมีรายได้น้อยกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน
ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนว่า ความเหลื่อมล้ำเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน เพราะแท้จริงแล้วตัวเลขที่แสดงความเหลื่อมล้ำแสดงให้เราเห็นตั้งแต่ปี 2009 จน คริสทีน ลาการ์ด (Christine Lagarde) ประธานและกรรมการผู้จัดการ IMF พูดกลางที่ประชุมสภาเศรษฐกิจโลกในปีนี้ว่า “ฉันเคยเตือนทุกคนแล้วเกี่ยวกับภัยอันตรายของความเหลื่อมล้ำในปี 2013 แต่ไม่มีใครฟัง”
ฉันเคยเตือนทุกคนแล้วเกี่ยวกับภัยอันตรายของความเหลื่อมล้ำในปี 2013 แต่ไม่มีใครฟัง
ประเทศไทยติดอันดับ 3 ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก
ตัวเลขข้างต้นได้สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประชากรโลก ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยประเทศไทยขยับขึ้นจากอันดับ 11 เป็นอันดับ 3 ของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก รองจากรัสเซีย และอินเดีย และใน 5 ปีที่ผ่านมา คนเพียง 1% เป็นเจ้าของความมั่งคั่งของคนทั้งประเทศรวมกัน มหาเศรษฐีระดับพันล้านในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 5 คนในปี 2551 เป็น 28 คนในปี 2558
แต่คนไทย 10% หรือประมาณ 7 ล้านคน ยังมีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจนคนไทยมากกว่า 3 ใน 4 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินใดๆ เลย โฉนดที่ดิน 61% ของประเทศไทยอยู่ในมือประชากร 10%
เราอยู่ได้ไหมโดยไม่พึ่งพาคนที่มีอะไรน้อยกว่าเรา ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้
ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องสนใจว่าเขาเป็นอยู่อย่างไร ถ้าเขาคับข้องใจ เราก็จะแย่ตาม
ความเหลื่อมล้ำคือปัญหาของทั้งคนรวยและคนจน
ความเหลื่อมล้ำคือปัญหาของคนรวยและคนจน
เมื่อเราอยู่ในระบอบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขัน และให้คนหากำไรจากเศรษฐกิจแบบการตลาด ดังนั้นผลลัพธ์ที่ออกมาจึงย่อมไม่เท่ากัน คำถามคือเมื่อเราเลือกที่จะอยู่ในระบอบเศรษฐกิจแบบนี้แล้ว เราจะมองหรือจัดการอย่างไรกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น
สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวในงาน ‘เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน’ ที่จัดโดย Oxfam ประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2017 ว่า “เราอยู่ในระบอบทุนนิยม ยังไงผลลัพธ์มันไม่เท่ากันอยู่แล้ว ในเมื่อเราเลือกที่จะอยู่ในระบอบนี้แล้ว และคำตอบต่อเรื่องนี้สามารถมองได้ 2 มุม มุมแรกคือ ‘ศีลธรรม’ ปัจจุบันเรามีคนจำนวนมากที่เห็นใจคนอื่น รู้สึกสงสารคนอื่น และสนใจว่าตอนนี้สถานการณ์ของคนมีรายได้น้อยเป็นอย่างไร อีกมุมหนึ่งคือ เราต้องคิดว่าเราอยู่ได้ไหมโดยไม่พึ่งพาคนที่มีอะไรน้อยกว่าเรา ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องสนใจว่าเขาเป็นอยู่อย่างไร ถ้าเขาคับข้องใจ เราก็จะแย่ตาม ความเหลื่อมล้ำคือปัญหาของทั้งคนรวยและคนจน”
เมื่อมนุษย์คืออีกทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในระบอบเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งโครงสร้าง และกระทบต่อทั้งคนรวยและคนจน สฤณีอธิบายว่า “ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นเท่ากับเราทิ้งคนจำนวนมากให้ไม่มีศักยภาพ ที่จะเป็นพลเมืองที่สร้างผลผลิตให้กับสังคม ปล่อยให้สมองของมนุษย์สูญเปล่า เราควรจะสนใจการสร้างเศรษฐกิจฐานกว้างให้เขาขึ้นมาเป็นประชาชนที่มีประสิทธิภาพ ไม่อย่างนั้นเศรษฐกิจจะเปราะบาง สังคมขาดความหลากหลาย ซึ่งส่งผลต่อการคิดค้นนวัตกรรม”
ดังเช่นตัวเลขความเหลื่อมล้ำข้างต้นที่แสดงว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางโอกาสทางการศึกษา คนรายได้น้อยมีโอกาสเข้าศึกษามหาวิทยาลัยต่างจากคนรายได้สูงถึง 19 เท่า
ประเทศเราเน้นกับความเจริญ เราภูมิใจกับค่าจีดีพี แต่ไม่ได้ดูค่าเฉลี่ยรายได้ และการกระจายโอกาสในสังคม
ความเหลื่อมล้ำสามารถแก้ได้โดยเริ่มจากตัวเอง
เมื่อเรามองตัวเลขที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และเพศ ที่ดูแล้วคนรวยกับคนจนนั้นจะมีความเป็นอยู่ที่แตกต่างที่ถ่างและห่างออกไปเรื่อยๆ เราอาจจะรู้สึกว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นเป็นเรื่องของรัฐเท่านั้นที่จะต้องเข้ามากระจายความเท่าเทียมให้กับสังคม แต่สฤณีชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วนอกจากจะเป็นหน้าที่ของรัฐแล้ว ยังต้องเริ่มที่ตัวเราและภาคเอกชนด้วยเช่นกัน
“หากเรามองบริษัทเป็นหนึ่งหน่วย เราจะเห็นว่ามันมีส่วนที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นหรือน้อยลง เริ่มจากปัจจัยภายในบริษัทอย่างช่องว่างของเงินเดือนผู้บริหารกับลูกจ้าง ซึ่งประเทศไทยคืออีกประเทศที่มีช่องว่างของรายได้ระหว่างลูกจ้างกับผู้บริหารติดอันดับโลก ส่วนปัจจัยภายนอกบริษัทคือ บริษัทจ่ายค่าวัตถุดิบในราคาที่เป็นธรรมแค่ไหน ละเมิดสิทธิแรงงานหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ แล้วแต่ละบริษัทเห็นความสำคัญมากน้อยแค่ไหน”
แต่เมื่อถามว่าเป็นหน้าที่ของบริษัทหรือเปล่า เพราะบางบริษัทอาจมองว่า การทำตามกฎหมายที่รัฐกำหนดก็น่าจะเพียงพอ “ถ้าเรามองบริษัทเป็นคน คำถามคือเราอยู่คนเดียวได้ไหมโดยไม่พึ่งพาคนอื่น บริษัทอาจจะมองว่าแค่ทำตามกฎหมายที่รัฐกำหนด แต่ประเด็นคือรัฐก็ไม่ได้ทำหน้าที่นี้ได้ดี”
คนจะมองว่าการช่วยเหลือคนจนนั้นเป็นลักษณะสงเคราะห์ แต่การช่วยเหลือแบบนี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้เรามีสิทธิมีเสียงมากขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่การช่วยเหลือที่แท้จริง
ภาครัฐเน้นแต่ความเจริญจนลืมกระจายรายได้และโอกาส
ทุกวันนี้มองไปรอบตัวจะเห็นการก่อสร้างอาคารสูง ถนน และรถไฟฟ้าจำนวนมาก ที่เป็นตัวบ่งบอกความเจริญของเมือง แต่ปัญหาความยากจนไม่เคยหายไปจากประเทศไทย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นอดีตคนที่ทำงานในภาครัฐ เปิดเผยในงาน ‘เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน’ ว่า
“ผมว่าบทบาทของภาครัฐมีสองส่วนคือ สร้างความเจริญ และต้องย้อนกลับมามองว่าความเจริญนั้นส่งผลให้คนจนมากน้อยแค่ไหน แต่ประเทศเราเน้นกับความเจริญ เราภูมิใจกับค่าจีดีพี แต่ไม่ได้ดูค่าเฉลี่ยรายได้ และการกระจายโอกาสในสังคม”
ชัชชาติยังพูดถึงตัวอย่างที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่เห็นได้ชัดคือ การคมนาคม
“การคมนาคมคือสุดยอดของความเหลื่อมล้ำ คนอาจจะมองว่าความเหลื่อมล้ำมีเพียงด้านการศึกษาและรายได้ แต่ท้องถนนคือส่วนผสมของความไม่เท่าเทียมในสังคมมากที่สุด โครงการรถเมล์ไม่เคยทำสำเร็จ แต่โครงการรถไฟฟ้ามูลค่า 7 แสนล้านบาททำสำเร็จ ทั้งๆ ที่คนใช้รถไฟฟ้ามีเพียง 7 แสนคน และคนใช้รถเมล์เยอะกว่า เรื่องพื้นฐานที่สุดเรายังทำไม่ได้เลย”
ท้องถนนคือส่วนผสมของความไม่เท่าเทียมในสังคมมากที่สุด
โครงการรถเมล์ไม่เคยทำสำเร็จ แต่โครงการรถไฟฟ้ามูลค่า 7 แสนล้านบาททำสำเร็จ
ทั้งๆ ที่คนใช้รถไฟฟ้ามีเพียง 7 แสนคน และคนใช้รถเมล์เยอะกว่า
เรื่องพื้นฐานที่สุดเรายังทำไม่ได้เลย
ส่วนในฐานะผู้บริหารชัชชาติมองว่า นอกจากกฎระเบียบในองค์กรแล้ว เราต้องเห็นความสำคัญของชีวิตคนอื่น “ความเหลื่อมล้ำไม่ได้แก้จากบนลงล่างเท่านั้น เราสามารถแก้ได้ที่ตัวเรา เราต้องเห็นความสำคัญของชีวิตคนอื่น ซึ่งมันเริ่มได้จากการปลูกฝัง อย่าไปมองโจทย์นี้แค่จะต้องใช้คนรวยเท่าไรมาช่วยคนจน”
สิ่งนี้สะท้อนออกมาในความคิดเห็นของ นุชนารถ แท่นทอง ตัวแทนของพี่น้องสลัม 4 ภาคเช่นกัน เธอกล่าวว่า “เราไม่ได้ยากจนแค่ทางด้านรายได้ แต่เรายากจนทั้งทางโอกาสในสังคมและการศึกษา นโยบายรัฐทุกวันนี้ยังไม่ได้ทำเพื่อคนส่วนใหญ่”
เธอมองว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยนั้นไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ แต่มันยังครอบคลุมถึงมิติอื่นๆ “ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมอาจจะเกิดขึ้นจากเราเองได้ไหมอย่างเช่นความเห็นแก่ตัว ถ้าพวกเราเห็นแก่ตัวกันน้อยลง ให้เกียรติกันมากขึ้น คนจะมองว่าการช่วยเหลือคนจนนั้นเป็นลักษณะสงเคราะห์ แต่การช่วยเหลือแบบนี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้เรามีสิทธิมีเสียงมากขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่การช่วยเหลือที่แท้จริง”
เมื่อเรามองเห็นปัญหาว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่ใช่แค่เรื่องของรายได้มากหรือน้อย แต่รวมถึงความไม่เท่าเทียมทางโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา โอกาสในการถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำมาหากิน จนกระทั่งเรื่องประจำวันอย่างโอกาสในการใช้ท้องถนนที่เป็นทรัพย์สินของทุกคน
ดังนั้นเมื่อเราเลือกที่จะอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่เป็นการแข่งขัน การกระจาย ‘โอกาส’ ในระบบการแข่งขันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง:
Tags: GDP, research, inequality