ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชื่อของ ‘วัดขุนสมุทรจีน’ หรือ ‘วัดขุนสมุทราวาส’ จังหวัดสมุทรปราการ ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง จากการเป็นวัดขนาดใหญ่ริมอ่าวไทยที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะ กินพื้นที่บริเวณวัดเข้าไปเป็นจำนวนหลักหลายกิโลเมตร จนกลายเป็นเกาะ และเกิดความกังวลว่า วัดที่สวยงามเงียบสงบริมทะเลแห่งนี้อาจ ‘จม’ วันใดวันหนึ่งในอนาคต และชาวบ้านในชุมชนบริเวณใกล้เคียงต้องทยอยอพยพออกไปเรื่อยๆ
เดิมทีพื้นที่ของวัดขุนสมุทรจีนเป็นแหลมเล็กๆ ยื่นเข้าไปในอ่าวไทย มีเนื้อที่กว่า 76 ไร่ โดยได้รับบริจาคจากชาวบ้านขุนสมุทรจีน และเคยมีที่อยู่อาศัย รวมถึงโรงเรียนตั้งอยู่ แต่เนื่องจากบริเวณชายฝั่งประเทศไทยโดนน้ำทะเลกัดเซาะตามธรรมชาติอยู่แล้ว บวกกับภาวะโลกร้อนที่ทำให้คลื่นแรงขึ้น น้ำทะเลเพิ่มขึ้น จึงทำให้ครั้งหนึ่งพระอุโบสถเก่าแก่ภายในวัดต้องจมอยู่ใต้น้ำบางส่วนตอนเวลาน้ำขึ้น และสามารถเข้าชมได้เมื่อน้ำลด
อย่างไรก็ดี หลังจากทางวัดและชาวบ้านในชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยอาศัยเสาไฟฟ้าเก่า ปักเป็นแถวเพื่อสร้างแนวเขื่อนหินป้องกันคลื่นทะเลและดักตะกอน รวมถึงทางวัดได้ยกพื้นให้สูงขึ้นด้วยโครงไม้ และปลูกไม้ป่าชายเลน เพื่อเพิ่มความหนาแน่นให้เป็นธรรมชาติ จึงทำให้วัดแห่งนี้ รวมถึงพระอุโบสถ กลายเป็นสถานที่ทางศาสนาที่มีความแตกต่างจากที่อื่นๆ เนื่องจากมีร่องรอยของน้ำทะเลจากธรรมชาติที่ประทับอยู่ตามจุดต่างๆ
แต่ปัญหายังไม่จบ เนื่องจากปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะของวัดขุนสมุทรจีนเป็นเรื่องของชายฝั่ง ซึ่งชายฝั่งของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชายหาดโคลน จึงได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลและมีความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติอยู่แล้ว
ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ศาสตราจารย์ ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับ The Momentum ถึงภาพรวมและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยระบุว่า การกัดเซาะที่บริเวณพื้นที่วัดขุนสมุทรจีนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน และมีการทดลองติดตั้งเสา สร้างแนวเขื่อน หยุดการกัดเซาะในพื้นที่กัดเซาะด้านที่มีโครงสร้าง และทำให้มีดินตะกอนเพิ่มขึ้น แต่ตรงที่ไม่มี ก็ยังเกิดการกัดเซาะอยู่
“ช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา พื้นที่ตรงนั้นหายไปหนึ่งกิโลฯ แล้วถ้าเราไม่ทำอะไรเลย มันก็จะกัดเซาะขึ้นมาอีกหนึ่งกิโลฯ ในยี่สิบปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ก็จะมีแต่โครงการระยะสั้นๆ ก็คือการตัดไม้ไผ่มาปัก แต่ก็เห็นว่ามันไม่ได้ผล เพราะไม้ไผ่ไม่สามารถป้องกันแรงคลื่นได้”
“ถ้าไม่ทำอะไรเลย ผลเสียจะตกไปอยู่ที่ชาวบ้านแถวนั้นที่ต้องสูญเสียพื้นดิน ย้ายหนี ซึ่งความเป็นจริงมันไม่ใช่เฉพาะบริเวณนั้น แต่หมายถึงทั้งอ่าวไทยตอนบน ตอนนี้ก็มีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งก็มีจะมาตรการของเขา”
The Momentum มีโอกาสลงพื้นที่วัดขุนสมุทรจีนในช่วงที่ผ่านมา เพื่อสังเกตการณ์และเยี่ยมชมวัดริมอ่าวแห่งนี้ ที่ปัจจุบันยังคงมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมไม่ขาดสาย รวมถึงชาวบ้านที่ค้าขายอยู่ในบริเวณวัด บ่งบอกว่าวัดแห่งนี้ยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนขุนสมุทรเฉกเช่นทุกยุคสมัยที่ผ่านมา
เมื่อเดินเข้ามาในบริเวณวัด ภาพที่ปรากฏคือพื้นที่กว้างขวางและร่มรื่น ต้นไม้น้อยใหญ่ช่วยกรองแสงแดดยามบ่ายที่ร้อนอบอ้าว เบื้องหน้าคือผืนทะเลอ่าวไทยที่กว้างใหญ่ มีลมทะเลพัดโบกโบยตลอดเวลา และเงียบสงบ
จุดแรกที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเยี่ยมชมคือ พระอุโบสถเก่าแก่ที่ยังคงสภาพจากอดีต ซึ่งเคยจมอยู่ใต้น้ำบางส่วนตอนเวลาน้ำขึ้น แต่ปัจจุบันมีการปรับปรุงโดยยกพื้นให้สูงขึ้น ด้านนอกมีลวดลายปูนปั้นสวยงาม ด้านในเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อปากแดง ซึ่งยังคงใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้
ด้านหน้าของอุโบสถที่มีระฆังวางอยู่บริเวณทางเข้า บรรยากาศรอบข้างเงียบสงบ สังเกตว่ายังคงมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาชมความงดงามตามธรรมชาติของวัดแห่งนี้อยู่พอสมควร ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ รวมถึงครอบครัว
เมื่อมองลงไปบริเวณด้านล่างของพระอุโบสถที่ถูกยกขึ้น จะยังเห็นร่องรอยความชื้นจากน้ำทะเล ที่ปัจจุบันยังสามารถซัดเข้ามาถึงบริเวณพระอุโบสถอยู่ เมื่อถึงเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูงขึ้น
ด้านหน้าพระอุโบสถ จะมีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรองค์ใหญ่ที่หันหน้าไปทางทะเล ราวกับกำลังยืนหยัดต่อสู้กับคลื่มลมและทะเลจากธรรมชาติที่กำลังกัดกร่อนเข้ามาทีละน้อย ส่วนด้านข้างจะมีเก๋งจีนที่ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม โดยสามารถเข้าไปกราบขอพรได้
ซากโครงกระดูกสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ที่ถูกวางแสดงไว้ใต้หลังคาแบบเปิด และเป็นที่ดึงดูดใจแก่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะเด็กๆ
หากยืนอยู่บริเวณริมทางวัด หันหน้าเข้าสู่อ่าว จะมองเห็นเสาไฟฟ้าเก่าที่ถูกปักเรียงกัน เพื่อสร้างแนวเขื่อนหินป้องกันคลื่นทะเลและดักตะกอน ที่มาจากความร่วมมือของชาวบ้านในชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน ปัจจุบันน้ำทะเลได้กัดเซาะฝั่งเข้ามาเรื่อยๆ ส่งผลให้ชาวบ้านต้องคอยขยับเข้าฝั่งหลายครั้ง
ชาวบ้านบางคนที่มาขายอาหารในบริเวณใกล้วัดเล่าให้ฟังว่า ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งทำให้หลายครอบครัวต้องย้ายที่อยู่อาศัย จากเดิมที่ชุมชนขุนสมุทรจีนมีอยู่ประมาณ 400 คน ปัจจุบันลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง เหลือเพียงประมาณ 200 คน
แม้ส่วนหนึ่งของปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะจะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้อย่างเรื่องของธรรมชาติบริเวณแผ่นดินปากอ่าว แต่ก็จำเป็นต้องมีมาตรการในการป้องกันควบคู่ไปด้วย อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อชะลอให้น้ำทะเลกัดเซาะช้าที่สุด
ปัจจุบันทางวัดขุนสมุทรจีนได้มีการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ เพื่อทดแทนอุโบสถหลังเก่าที่ทรุดโทรมจนไม่สามารถทำการบูรณะได้ โดยอุโบสถหลังใหม่จะอยู่บริเวณที่สูงจากพื้นดินมากกว่าเดิม ส่วนห้องโถงใต้อุโบสถ จะทำเป็นศาลาการเปรียญ เพื่อรองรับกิจกรรมหรืองานบุญต่างๆ ที่ทางวัดจัดขึ้น
อุโบสถแห่งใหม่มีความสวยงาม สามารถมองลงไปเห็นบริเวณวัดได้กว้างขวาง รวมถึงอ่าวไทย โดยอุโบสถนี้สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง มีเพรียงเสาที่เป็นไม้ตะเคียนทอง กรุด้วยไม้สัก แกะสลักเป็นลวดลายวิจิตรงดงาม โดยช่างที่มีความชำนาญ
วัดขุนสมุทรจีนตั้งอยู่ที่ ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ผู้ที่สนใจสามารถมาเยี่ยมชมได้ทุกวัน เวลา 07.00-16.00 น. โดยนอกจากตัววัดแล้ว บริเวณใกล้เคียงยังมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน และโฮมสเตย์บ้านขุนสมุทรจีนด้วย
Tags: วัดขุนสมุทรจีน, วัดขุนสมุทราวาส, วัดจม