ถึงตอนนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเจ้านกม่วง หรือ ‘Trash Doves’ สติกเกอร์สุดฮิตบนเฟซบุ๊ก ผลงานของ ซิด ไวเลอร์ (Syd Weiler) ศิลปินชาวอเมริกันจากรัฐฟลอริดา ผู้ที่สร้างสรรค์งานวาดภาพประกอบและแอนิเมชันบนโลกดิจิทัล และเป็นหนึ่งในสมาชิก ‘Adobe Creative Residency’ หรือแคมเปญรวบรวมศิลปินที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่ร่วมแชร์ประสบการณ์ให้คนทั่วไปได้รับรู้ขั้นตอนการทำงานจากโปรแกรมตระกูล Adobe
แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากเรื่องที่คุณอาจรู้ไปแล้ว ยังมีเรื่องเกี่ยวกับเจ้า Trash Doves ที่คุณไม่จำเป็นต้องรู้อีกด้วย
1. Trash Doves คือนกอะไร
Trash Doves แปลความหมายตรงตัวว่า ‘นกพิราบขยะ’ แต่หากจะนิยามให้สุภาพกว่านั้นคงต้องเรียกว่า นกพิราบสีม่วง
2. ความหมายของนกพิราบในสหรัฐอเมริกา
เคยมีนิทรรศการศิลปะ ที่มีชื่อว่า ‘Fly by Night’ การสร้างงานศิลปะผ่านตัวนกพิราบ โดยศิลปิน ดุก ไรลีย์ (Duke Riley) ที่จัดการแสดงด้วยการบินของฝูงนกพิราบที่ถูกติดด้วยหลอดไฟ LED เล็กๆ บริเวณขาของพวกมัน พร้อมออกโชว์ช่วงเวลาเย็นเหนือน่านฟ้าของมหานครนิวยอร์ก เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2016 เพื่อให้คนหยุดแหงนมองบนฟ้าเพื่อสื่อถึงความสง่างามของนกพิราบ
บ่งบอกเป็นอย่างดีว่าสัตว์ปีกชนิดนี้สร้างความรำคาญให้คนในแผ่นดินลุงแซมไม่ต่างไปจากที่ประเทศไทย
และ ซิด ไวเลอร์ เอง ก็หยิบเอาสัตว์ปีกชนิดนี้มาตั้งเป็นชื่อหลัก ผ่านคาแรกเตอร์หลากอิริยาบท และไม่ลืมที่จะเติมคำว่า Trash หรือขยะ ซึ่งนิยามมาจากความสกปรกที่คนมองว่ามันสร้างความรำคาญในชีวิตประจำวันไม่น้อย
3. Trash Doves เกิดมาเพื่อสร้างความก่อกวน
หลังจากที่ Trash Doves ปล่อยให้ดาวโหลดใช้งานฟรีในเฟซบุ๊ก ไวเลอร์ก็ไม่รีรอที่จะแสดงความเห็นถึงผลงานตัวเองผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ว่า “ทุกคน Trash Doves เปิดให้ใช้บริการในเฟซบุ๊กแล้ว! และที่สำคัญมันฟรี!!! ส่งมันไปก่อกวนเพื่อนๆ ของคุณได้เลย”
4. ประเด็นยอดฮิตที่ถูกค้นข้อมูลบน Google มากที่สุด
กระแสความแรงของ Trash Doves เป็นเหตุให้เรื่องราวของสติกเกอร์นกสีม่วงนี้ถูกคนไทยในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี และเชียงใหม่ ค้นหาข้อมูลจากคำนี้เป็นจำนวนมาก โดยจากการลองใช้ Google Trends สำรวจคำเสิร์ช ‘Trash Doves’ พบว่า มีคนไทยเริ่มต้นเสิร์ชคำนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ จากนั้นก็มีการค้นหามากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งดัชนี Interest Over Time ที่ใช้วัดความสนใจของคนเกี่ยวกับคำเสิร์ชใน Google Trends พุ่งขึ้นถึง 100 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
โดยเขตที่มีดัชนี Interest Over Time สูงสุด คือ นนทบุรี (100) ตามด้วยกรุงเทพมหานคร (78) และเชียงใหม่ (72)
ขณะที่คำค้นหายอดฮิตที่คนเลือกมาเสิร์ชมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ trash doves gif, Trash doves คือ และนกม่วง ตามลำดับ
5. Trash Doves สัญญะที่แฝงไปกับพฤติกรรมการใช้งานเฟซบุ๊กของคนไทย
การใช้งานอย่างแพร่หลายของ Trash Doves ที่ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในไทยนิยมโพสต์แสดงความรู้สึกหรือความคิดเห็นของตนเองต่อประเด็นต่างๆ ที่ต่างกันออกไปผ่านอิริยาบทต่างๆ ของนกพิราบม่วงนี้ มักเป็นการแสดงความเห็นของผู้ใช้งานที่ชอบแสดงความเห็นโต้ตอบกันไปมา จากเดิมที่เคยพิมพ์ตัวอักษรลงไป ก็หันมาส่งสติกเกอร์ทั้งแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเพื่อบ่งบอกความรู้สึกแทนมากกว่า
สำหรับการใช้งานเซตสติกเกอร์ของ Trash Doves ภาพหลักคงหนีไม่พ้นรูปเจ้านกพิราบกำลังสั่นหัว ซึ่งหากตีความออกมาคงเปรียบได้ทั้งการร่วมแสดงความเห็นร่วมกับผู้ใช้งานคนอื่นในเชิงหยอกล้อ, ต้องการโพสต์บนไทม์ไลน์ตนเองเพื่อแฝงนัยยะบางอย่าง เช่น ‘นก’ คำสแลงที่คนใช้เรียกแทนตัวเองเวลาผิดหวังจากคนที่เรารู้สึกดีด้วย เป็นต้น หรือสร้างความก่อกวนบนหน้าฟีด รวมไปถึงการแสดงความเห็นตอบกับผู้อื่นที่มีสัญญะแอบแฝงเชิง 18+ เหมือนอย่างที่เพจ ‘สัตว์โลกอมตีน’ นำนกพิราบม่วงมารวมกันกับแมวโยกตัวจากสติกเกอร์ MiM & Yam มาแล้ว ซึ่งทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่ต้องการหลีกเลี่ยงการโต้ตอบผ่านตัวอักษรได้เป็นอย่างดี
จากกระแสการโหลดใช้งานอย่างล้นหลามของ Trash Doves และกระแสที่หลายคนเลือกแสดงความคิดเห็นทางเฟซบุ๊กส่วนตัวเต็มไทม์ไลน์ ไปจนถึงเพจเสียดสีชื่อดังต่างๆ ที่นำนกพิราบสีม่วงนี้มาเปรียบกับพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของคนไทย จนเกิดการแชร์กระแสดังกล่าวเป็นวงกว้าง รวมถึงคนไทยบางคนส่งเรื่องเหล่านี้ไปยังทวิตเตอร์ส่วนตัวของ ซิด ไวเลอร์ ส่งผลให้เธอปลาบปลื้มกับผลงานตัวเองที่มีกระแสตอบรับอย่างล้นหลามไม่น้อย จนถึงขั้นขอบคุณคนไทยผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวอีกครั้งว่า
“ฉันตื่นขึ้นมาพร้อมกับคนรัก Trash Doves เป็นจำนวนมาก! ขอบคุณประเทศไทยที่สนับสนุน หวังว่าคุณจะรักพวกมันนะ <3”
อ้างอิง:
- www.google.com/trends/explore?date=now%207-d&geo=TH&q=trash%20doves (วัดค่าความนิยมจากจำนวนการเสิร์ชคำ)
- www.marketingoops.com/news/viral-update/trash-doves
- twitter.com/SydWeiler?lang=th
- sydweiler.com/projects