กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ใช้เวลาปิดเทอมใหญ่ทางการเมืองคราวนี้ไปคลุกคลีกับกลุ่มสตาร์ทอัพ และกำลังปลุกปั้น Refinn สตาร์ทอัพในหมวด Fintech ที่พยายามแก้ปัญหาภาระหนี้สินของคนซื้อบ้านด้วยโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ที่น่าจับตามอง

กรณ์ + สตาร์ทอัพ = Refinn

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แวดวงสตาร์ทอัพ และกรณ์ จาติกวณิช ก็คล้ายกับดาวที่อยู่กันคนละวงโคจร แต่หลังจากที่เขาเริ่มต้นไอเดียในการทำหนังสือ Dare to Do  กล้าลุยไม่กลัวล้ม ที่เผยสูตรความสำเร็จของ 12 นักธุรกิจในแวดวงต่างๆ ซึ่ง 5 คนในนั้นเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มสตาร์ทอัพ จากนั้นความสนใจของเขาในแวดวงสตาร์ทอัพจึงเริ่มต้นขึ้น

เขาก้าวสู่บทบาทผู้ร่วมลงทุนของกองทุน ‘500 TukTuks’ หรือ Venture Capital สัญชาติไทยที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพหน้าใหม่ๆ ได้แสดงฝีมือของตัวเอง ก่อนที่จะมาร่วมก่อตั้ง Refinn สตาร์ทอัพในหมวด Fintech โดยสาเหตุที่สนใจ Fintech ก็เพราะเขาคลุกคลีอยู่ในแวดวงการเงินมานาน และมองว่าปัญหาใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของคนไทยคือเรื่องหนี้สิน

“สิ่งที่ผมมองเห็นตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยก็คือเรื่องหนี้” กรณ์กล่าว

“สมัยผมเป็นรัฐมนตรี ตัวเลขหนี้ครัวเรือนอาจจะอยู่ที่ประมาณ 60% ของ GDP แต่เวลาผ่านไปเพียง 5 ปี ตอนนี้เพิ่มมากว่า 80% ถือเป็นการเพิ่มที่รวดเร็วที่สุดในโลกเมื่อเปรียบเทียบสถิตินี้กับประเทศอื่นๆ นับเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก นี่เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเราไม่โต เพราะคนไทยไม่มีเงินในกระเป๋า ซึ่งพอดีมีกลุ่มสตาร์ทอัพเข้ามาเสนอว่าเขาสามารถคิดระบบขึ้นมา เพื่อช่วยให้คนไทยสามารถปรับโครงสร้างหนี้ของตัวเองเพื่อลดภาระหนี้สินได้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของ Refinn”

“การปรับโครงสร้างหนี้หรือรีไฟแนนซ์ในแต่ละครั้ง
จะสามารถช่วยลดภาระหนี้ได้ถึง 15-20% ซึ่งเยอะมาก”

‘รีไฟแนนซ์’ ช่องว่างของตลาดที่รอการเติมเต็ม

กรณ์มองว่าปัญหาหนี้สินที่ใหญ่ที่สุดและควรได้รับการช่วยเหลือมากที่สุดคือ ‘หนี้สินที่อยู่อาศัย’ โดยหัวใจในการปลดล็อกนี้คือการรีไฟแนนซ์

“การปรับโครงสร้างหนี้หรือรีไฟแนนซ์ในแต่ละครั้งจะสามารถช่วยลดภาระหนี้ได้ถึง 15-20% ซึ่งเยอะมากนะครับ ถ้าคุณกู้เงินมาซื้อบ้าน 4 ล้านบาท เลือกผ่อน 25 ปี ตลอดระยะเวลาการผ่อนนี้เม็ดเงินโดยรวมที่คุณต้องผ่อนชำระให้กับธนาคารจะอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านบาท แต่ถ้าคุณเข้าสู่กระบวนการรีไฟแนนซ์ หลังจากผ่อนไป 3 ปีแล้ว คุณอาจจะสามารถประหยัดเงินได้ถึง 2 ล้านบาท ซึ่งมีผลมหาศาลต่อความมั่นคงทางการเงินของลูกหนี้”จากข้อมูลสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัย ที่สถาบันการเงินสมาชิกเครดิตบูโรส่งเข้ามาในฐานข้อมูล ณ สิ้นปี 2558 มีมูลค่าประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท ขณะที่ยอดการปรับโครงสร้างหนี้หรือรีไฟแนนซ์ในแต่ละปี มีเพียงประมาณ 6 หมื่นล้านบาทเท่านั้นคำถามก็คือคนไทยไม่รู้จักการรีไฟแนนซ์อย่างนั้นหรือ?คำตอบคือไม่ใช่กรณ์มองว่าสาเหตุหลักที่ยอดการปรับโครงสร้างหนี้ของคนไทยน้อยกว่าที่ควรจะเป็นนั้น มาจากผลิตภัณฑ์สินเชื่อรีไฟแนนซ์ของธนาคารพาณิชย์ในบ้านเรามีมากเกินกว่าที่ผู้บริโภคจะพิจารณาเลือกได้ โดยปัจจุบันสินเชื่อรีไฟแนนซ์ของธนาคารพาณิชย์มีรวมกันไม่ต่ำกว่า 80 ผลิตภัณฑ์ นั่นทำให้ผู้บริโภคเกิดความยากลำบากในการเลือกสินเชื่อให้ตรงกับความต้องการของตัวเอง ส่วนใหญ่จึงเลือกตามธนาคารที่ตัวเองมีบัญชีอยู่ หรือเลือกตามแบรนด์ที่ชอบ แต่ไม่ได้เลือกจากข้อเสนอที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดภาระหนี้สิน

นี่เป็นช่องว่างทางการตลาดช่องใหญ่ที่ Refinn มองเห็น และกำลังเข้ามาเติมเต็ม

ข้อเสนอที่ดีที่สุดบนปลายนิ้วสัมผัส

สิ่งที่ Refinn ทำคือ การเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการหาข้อเสนอที่ดีที่สุดสำหรับลูกหนี้ โดยแอปพลิเคชัน Refinn จะให้คุณกรอกข้อมูลไม่เกิน 5 บรรทัด ระบบจะทำการคำนวณแล้วแจ้งออกมาเป็นผลิตภัณฑ์รีไฟแนนซ์ต่างๆ ที่เหมาะกับคุณ พร้อมเปรียบเทียบจุดเด่นและจุดด้อยของแต่ละผลิตภัณฑ์ให้ได้เห็นกันอย่างชัดเจน

ที่สำคัญคือใช้งานได้ฟรี! เพราะ Refinn สร้างรายได้จากส่วนแบ่งที่ธนาคารต่างๆ มอบให้ในกรณีที่สินเชื่อได้รับการอนุมัติในภายหลัง

กรณ์มองว่านอกจากผู้บริโภคจะได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการ ช่วยลดภาระผ่อนหนี้ และทางธนาคารก็ได้ลูกค้าเพิ่มแบบไม่จำกัดแล้ว Refinn ยังช่วยทำให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสมากขึ้น

“Refinn จะช่วยกระตุ้นให้มีการแข่งขันที่โปร่งใสมากขึ้น ความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างธนาคารเล็กกับธนาคารใหญ่จะหายไป เพราะลูกค้าที่เข้ามาใช้ Refinn จะเลือกสินค้าจากข้อเสนอ ธนาคารเล็กและธนาคารใหญ่จะได้เสนอผลิตภัณฑ์ต่อลูกค้าในรูปแบบที่ทัดเทียมกัน ใครมีข้อเสนอดีกว่าก็ได้ลูกค้าไป วัดกันที่ความน่าสนใจของข้อเสนอเท่านั้น ไม่ได้วัดกันด้วยจำนวนสาขาที่มี หรือเครือข่ายต่างๆ ถือเป็นการเปลี่ยนวิธีการแข่งขันให้มีความสร้างสรรค์ โปร่งใส และเป็นธรรมต่อผู้บริโภคมากขึ้น”

Fintech จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องมีอะไรบางอย่างให้แก่ผู้ใช้บริการที่
ณ ปัจจุบันเขาหาไม่ได้จากสถาบันการเงิน
เพราะถ้าเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่คนจะมาใช้บริการ

อนาคตของ Refinn: ตีตลาดโลก

แม้ว่าในช่วงเริ่มต้น Refinn จะทำการทดลองความต้องการของตลาดด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่อรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว แต่ในอนาคตอาจมีการขยายบริการให้ครอบคลุมไปถึงสินเชื่อประเภทอื่นๆ รวมทั้งการขยายบริการไปสู่ตลาดในประเทศอื่นๆ ด้วย

“เมื่อดูในต่างประเทศ แม้แต่ประเทศที่พัฒนากว่าเราอย่างเช่น อังกฤษ หรือออสเตรเลีย ก็พบว่ายังไม่มีบริการนี้ เพราะฉะนั้นเราคิดว่าธุรกิจนี้น่าจะ scalable หรือสามารถขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศได้อีกต่างหาก ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จในระดับนั้น เราก็จะเป็น Fintech บริษัทแรกจากเอเชียที่สามารถตีตลาดในต่างประเทศได้ แต่ในระยะสั้นนี้เราอยากให้เวลาสำหรับการพิสูจน์ตัวเองในตลาดบ้านเราก่อน ช่วงนี้ก็พยายามศึกษาวิธีการที่จะเข้าไปในประเทศต่างๆ ด้วย ซึ่งแต่ละตลาดก็มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก”

โอกาสมหาศาลของ Fintech

เมื่อดูตัวเลขมูลค่าการตลาดของ Fintech ทั่วโลกในปี 2015 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 2.5–3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการคาดการณ์กันว่าจะเพิ่มเป็น 4 หมื่นล้านเหรียญ ภายในปี 2020 หรือเติบโต 130% ส่วนในเอเชียเอง Fintech มีมูลค่าการตลาดอยู่ที่ 2,200 ล้านเหรียญ และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 6,700 ล้านเหรียญในปี 2020 หรือโตเป็น 3 เท่าจากปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะมองว่า Fintech คือผู้เล่นรายสำคัญที่จะเข้ามาก่อกวนและสร้างความเปลี่ยนแปลงกับระบบการเงิน การธนาคารรูปแบบเดิมๆ ให้พลิกโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเมื่อถามถึงประเด็นนี้ กรณ์มองว่า

“Fintech จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องมีอะไรบางอย่างให้แก่ผู้ใช้บริการที่ ณ ปัจจุบันเขาหาไม่ได้จากสถาบันการเงิน เพราะถ้าเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่คนจะมาใช้บริการ ฉะนั้น การที่หลายคนมองว่า Fintech เป็นกลุ่มสตาร์ทอัพที่จะประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุคนี้ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะการให้บริการทางการเงินทั่วโลกยังไม่ดีพอ การเข้าถึงบริการทางการเงินในช่วงเวลาที่ผ่านมายังมีจุดด้อยค่อนข้างมาก ถ้าดูในบ้านเรา คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีบัญชีธนาคาร ไม่สามารถกู้ยืมผ่านธนาคารด้วยเหตุผลต่างๆ ได้ด้วยซ้ำ ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้จะได้รับการตอบโจทย์โดยเทคโนโลยีผ่าน Fintech ที่จะมาให้คำตอบในแง่ของการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนทั่วไปได้

“ยิ่งมีการส่งเสริมเรื่อง e-Payment โดยรัฐบาล ก็จะช่วยทำให้ทุกอย่างเข้ามาในระบบดิจิทัล และถือเป็นเรื่องดีมากๆ สำหรับรัฐ เพราะจะทำให้การใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์ของประชาชนคนไทยอยู่ในระบบ มีผลต่อการลดการทุจริตคอร์รัปชัน และความสามารถในการจัดเก็บภาษี ส่วนประชาชนก็มีความคล่องตัว ปลอดภัย และต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงินก็น่าจะลดลง”

ในอนาคต Fintech จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินของคนทั่วโลกไปในทิศทางไหน คงไม่มีใครให้คำตอบได้ แต่คำตอบที่ชัดเจนและตอบได้ทันทีในตอนนี้คือโอกาส และช่องว่างอีกมากมาย ที่รอให้สตาร์ทอัพรายใหม่ๆ เข้าไปจับจอง

คงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่ากรณ์จะพา Refinn ของเขาไปถึงฝั่งฝันและช่วยลดภาระหนี้สินของคนไทยได้มากแค่ไหน

 

FACT BOX:

Fintech ย่อมาจาก Financial Technology หรือเทคโนโลยีในการทำธุรกรรมทางการเงินที่ฉีกรูปแบบการทำธุรกรรมเก่าๆ ทั้งการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Payment) การโอนเงิน (Money Transfer) การกู้ยืมเงิน (Loan) การระดมทุน (Fundraising) และการจัดการทรัพย์สิน (Asset Management) ซึ่งจากการจัดอันดับของ Business Insider พบว่า Fintech ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงที่สุดในปี 2015 คือ Lufax บริการเครือข่ายสินเชื่อออนไลน์จากประเทศจีน ที่มีมูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ