ภาพยนตร์ Spider-Man: Homecoming ตัดฉากคลาสสิกที่สำคัญสองฉากที่เป็นขนบในการเล่าเรื่องต้นกำเนิดของสไปเดอร์แมนไปเสียสิ้น ฉากแรกคือฉากที่ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ (Peter Parker) เด็กวัยรุ่นมัธยมนิวยอร์กถูกแมงมุมกัมมันตรังสีกัดแล้วค่อยๆ กลายร่างเป็นมนุษย์แมงมุมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายครั้งใหญ่ทั้งพละกำลังและความสามารถพิเศษที่เพิ่มขึ้น ในสไปเดอร์แมนภาคล่าสุดนี้ ปีเตอร์เลือกที่จะบอกสั้นๆ กับเนด (Ned) เพื่อนสนิทร่วมชั้นว่าเขาได้พลังพิเศษมาเพราะถูกแมงมุมกลายพันธุ์กัดและแมงมุมตัวนี้ได้ “ตายไปแล้ว” อาจด้วยสาเหตุเพราะทีมงานต้องการกระชับเวลาในการเล่าซ้ำเรื่องเดิมจากสองเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้
ส่วนอีกฉากสำคัญที่ถูกตัดออก คือฉากการเสียชีวิตของลุงเบ็น (Uncle Ben) ที่มาพร้อมกับประโยคอมตะที่ว่า “อำนาจที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง” (with great power comes great responsibility) ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ปีเตอร์ตัดสินใจเป็นซูเปอร์ฮีโร หากการตายของลุงเบ็นทำให้การตัดสินใจของเขามีปัจจัยเชิงศีลธรรมเป็นตัวขับ ปีเตอร์ก็ตอบคำถามเชิงศีลธรรมกับตัวเองได้แล้วว่าเขาจะไม่ใช้ ‘พลังอันยิ่งใหญ่’ ที่ได้มาในการแก้แค้นโจรที่สังหารลุงเบ็นหรือสังหารศัตรูตัวอื่นๆ ในมุมนี้สไปเดอร์แมนช่วยเหลือคนไม่ใช่เพราะเขาเป็น ‘คนดี’ โดยธรรมชาติ แต่เพราะเขาตอบคำถามเชิงศีลธรรมได้เสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว และรู้ว่าขอบเขตในการใช้อำนาจของเขาอยู่ตรงไหน
ในเวอร์ชั่น Homecoming นี้ คนที่มาทำหน้าที่สั่งสอนปีเตอร์แทนลุงเบ็นในเรื่องของความรับผิดชอบและอำนาจที่ยิ่งใหญ่ก็คือ โทนี่ สตาร์ค (Tony Stark) แต่สิ่งที่โทนี่สั่งสอนแก่สไปเดอร์แมนคนใหม่ดูจะเน้นหนักไปทางการเรียนรู้ความรับผิดชอบในการใช้อำนาจของเทคโนโลยีการสอดแนม (surveillance technology) มากกว่าความรับผิดชอบอันเป็นผลพวงจากการตัดสินใจเชิงศีลธรรม (moral decision)
ในเชิงการตลาดแล้ว Homecoming จะต้องเป็นหนังต้นกำเนิดซูเปอร์ฮีโรคนใหม่ของทีมอเวนเจอร์ส (The Avengers) แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าการเปิดตัวซูเปอร์ฮีโรคนใหม่กลับเป็นชุดสไปเดอร์แมน (Spider-Man Suit) ที่บริษัทของโทนี่ สตาร์ค เป็นคนออกแบบและอนุญาติให้ปีเตอร์นำไปใช้ พล็อตเรื่องของภาพยนต์วนเวียนอยู่กับประเด็นที่ว่า ปีเตอร์คู่ควรที่จะสวมใส่ชุดสไปเดอร์แมนหรือไม่ และบททดสอบของปีเตอร์นั้นดูจะเป็นการเข้าถึงเทคโนโลยีของมันที่แปลกใหม่กว่าชุดในภาคก่อนๆ มากกว่าประเด็นที่ว่าปีเตอร์ประสบปัญหาเชิงศีลธรรมในการเป็นซูเปอร์ฮีโรเสียอีก
ภาพยนต์ตอกย้ำความสำคัญอย่างยิ่งยวดของชุดในฉากที่โทนี่ขอชุดคืนจากปีเตอร์หลังจากที่สไปเดอร์แมนพลาดการเข้าจับกุมตัวร้าย คือเอเดรียน ทูมม์ (Adrian Toome) หรือมนุษย์นกแร้ง (Vulture) บนเรือข้ามเกาะจนผู้โดยสารต้องประสบอันตราย ปีเตอร์อ้อนวอนโทนี่ให้เขาเก็บชุดไว้เพราะ “ผมจะไม่มีค่าอะไรเลยถ้าผมไม่มีชุดนี้” โทนี่ในบทบาทลุงเบ็นจึงสอนปีเตอร์ว่า “ถ้าคุณไม่มีค่าอะไรเลยถ้าไม่มีชุด คุณก็ไม่คู่ควรกับมัน” เดาได้ไม่ยากว่าปีเตอร์จะทำทุกวิถีทางเพื่อพิสูจน์คุณค่าที่คู่ควรให้โทนี่เห็น ภาพยนต์จบลงด้วยการที่ปีเตอร์สามารถขัดขวางการโจรกรรมคลังอาวุธของ ดิ อเวนเจอร์จากเอเดรียน ทูมม์ แม้ว่าวีรกรรมที่เขาได้ทำลงไปจะทำให้ปีเตอร์ ‘สอบผ่าน’ และมี ‘คุณสมบัติ’ ที่ดี ที่จะใส่ชุดสไปเดอร์แมนของโทนี่เพื่อช่วยรุ่นพี่ในทีมอเวนเจอร์สกอบกู้โลก แต่ปีเตอร์กลับเลือกที่จะปฏิเสธการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในฐานะสมาชิกใหม่ของ ดิ อเวนเจอร์ส และบอกกับโทนี่ว่าเขายินดีจะทำหน้าที่ ‘มนุษย์แมงมุมที่เป็นมิตร’ (Your friendly neighborhood Spider-Man) เพื่อปกปักรักษานิวยอร์กมากกว่า ตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นได้ว่าแรงขับของปีเตอร์นั้นเกิดจากความต้องการอยาก ‘ครอบครอง’ ชุด ทุกการตัดสินใจของปีเตอร์โดนควบคุมและกำกับภายใต้ความตระหนักถึงว่าคนที่คู่ควรกับชุดควรเป็นอย่างไร จนในตอนจบ เราแทบจะบอกได้ว่าชุดสไปเดอร์แมนต่างหากที่เลือกปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ ให้เป็นซูเปอร์ฮีโร
ชุดสไปเดอร์แมนใน Homecoming ยังคงเอกลักษณ์จากการ์ตูนต้นฉบับที่ชุดทำหน้าที่ในการปกปิดตัวตนที่แท้จริงของปีเตอร์ แต่เพิ่มเทคโนโลยีทางการทหารที่อิงจากหนังสายลับแบบเจมส์ บอนด์เข้ามาให้คนดูมีความตื่นตาตื่นใจ หลายคนคงคุ้นเคยกับฉากที่คิว (Q – Quartermaster) แนะนำอาวุธและเครื่องมือใหม่ๆ ในการประกอบภารกิจให้สายลับอังกฤษ ในแง่นี้อาวุธของบอนด์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องเพราะคนดูรับรู้ได้ว่าหนังได้ดำเนินมาถึงตอนจบเมื่อบอนด์ใช้อาวุธที่คิวแนะนำมาจนหมด ซึ่งใน Homecoming นี้ก็ใช้ฟังก์ชันของชุดสไปเดอร์แมนเป็นองค์ประกอบในการดำเนินเรื่องเช่นกัน ปีเตอร์ให้เนดถอดเครื่องติดตามที่ติดมากับชุดเพื่อที่เขาจะได้สะกดรอยทูมม์ได้อย่างสะดวก แต่ทั้งสองกลับค้นพบว่าการแฮคเครื่องติดตามนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของโปรโตคอลฝึกหัด (training wheel protocol) ที่โทนี่รู้ว่าท้ายที่สุดแล้วปีเตอร์จะต้องปลดออก ดังนั้นปีเตอร์จึงไม่ได้รับโทษใดๆ ยิ่งไปกว่านั้นชุดสไปเดอร์แมนยังพูดกับเขาด้วยเสียงผู้หญิงเหมือนที่จาร์วิส (Jarvis) พูดกับไอรอนแมน ปีเตอร์ตั้งชื่อผู้ช่วยดิจิทัลนี้ว่าแคเร็น (Karen) แคเร็นชักชวนให้ปีเตอร์ชมการสาธิต (tutorial) การใช้ชุดสไปเดอร์แมนที่มีฟังก์ชันการใช้งานนับร้อย ไล่ตั้งแต่การปล่อยโดรนขนาดเล็กออกจากโลโก้บนหน้าอก การยิงใยแมงมุมติดไฟฟ้า เปิดโหมดสังหารศัตรูในทันที (instant kill) การใช้อุปกรณ์ดักฟังเสียงและอุปกรณ์ตรวจจับความร้อน โปรแกรมสแกนใบหน้าที่เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลอาชญากร และที่ขาดไม่ได้คือโปรแกรมการติดตามเป้าหมายในเวลาจริง ถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ ปีเตอร์ไม่มีโอกาสใดๆ เลยที่จะสืบเบาะแสของทูมม์ได้ถ้าขาดเทคโนโลยีสอดแนม ในมุมมองวรรณคดีศึกษาแล้วแคเร็นเปรียบได้กับ Deus Ex Machina หรือการที่ปมของเรื่องได้รับการแก้ไขโดยตัวละครนอกบท เช่น เทวดาหรือพระเจ้าที่รับรู้ทุกอย่าง เป็นต้น
ฟังก์ชันนานับประการของชุดสไปเดอร์แมนเปลี่ยนปีเตอร์จากซูเปอร์ฮีโรให้กลายเป็นหน่วยสอดแนมขนาดย่อมที่คอยปกป้องนิวยอร์กและบริษัทสตาร์ค ประเด็นที่เป็นปัญหาของ Homecoming คือการยอมรับบทบาทและวัฏจักรของเทคโนโลยีการสอดแนมโดยดุษฎีของมนุษย์ในยุคดิจิทัล สไปเดอร์แมนมุ่งมั่นที่จะรักษาความสงบของเมืองด้วยเทคโนโลยีสอดแนมที่ติดตั้งมากับชุด โดยไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังตกอยู่ภายใต้อำนาจของเทคโนโลยีการสอดแนม กล่าวคือโทนีจับตามองปีเตอร์ ปีเตอร์ใช้เทคโนโลยีการสอดแนมติดตามมนุษย์นกแร้ง ประชาชนในมหานครนิวยอร์กจึงยินยอมที่จะสละความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ได้มาซึ่งความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต โดยมีการสอดแนมจากซูเปอร์ฮีโร ดังนั้น Homecoming จึงเป็นหนังที่นำเสนอโลกที่ทั้งซูเปอร์ฮีโรและประชาชนธรรมดาใช้ชีวิตใต้เทคโนโลยีการสอดแนมอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งคนดูและปีเตอร์เองก็ไม่ตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มากับการใช้เทคโนโลยีการสอดแนมเพราะเทคโนโลยีเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภค (consumer technology) อย่างกล้องถ่ายรูปในโทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยีความจริงเสริม (Augmented Reality) และการใช้ระบบการหาตำแหน่งจีพีเอส โดยที่ผู้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ต้องแลกการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวกับสิทธิในการเข้าใช้บริการ
หากเรามองว่าสไปเดอร์แมนและซูเปอร์ฮีโรคนอื่นๆ ที่ถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นตัวแทนจิตวิญญาณแห่งยุคสมัย (zeitgeist) ของประเทศอเมริกา คำสั่งสอนของลุงเบ็นแทบจะเป็นการเตือนไอ้แมงมุมสีธงชาติสหรัฐฯให้พึงระวังการใช้อำนาจทางการทหารของตัวเองในการรักษาความมั่นคงของประเทศและแทรกแซงกิจการโลก
Homecoming ถือเป็นจุดเปลี่ยนของหนังซูเปอร์ฮีโรอเมริกันที่ปรับพันธกิจจากการแก้ไขปัญหาโลก แล้ว ‘คืนสู่เหย้า’ หันกลับมาให้ความสำคัญกับปัญหาในบ้านของตนเอง แต่ราคาค่างวดที่ต้องจ่ายให้กับการปกป้องบ้านหลังนี้ในโลกดิจิทัลคือ การเฝ้าปกป้องระวังไม่ได้ทำผ่านสายตาซูเปอร์ฮีโรอย่างปีเตอร์ที่เป็นมนุษย์อย่างเดียวแล้ว แต่ยังผ่านสายตาของแคเร็นที่ถือเป็นเทคโนโลยีสอดแนมอีกด้วย
Tags: Spider-Man: Homecoming, ซูเปอร์ฮีโร, สไปเดอร์แมน, Uncle Be, n Peter Parker, ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์, ดิ อเวนเจอร์ส