ไร้ความปรานี
นี่คือความรู้สึกแรกหลังจากอ่านนวนิยายเรื่อง บีเลิฟด์ (Beloved) ของโทนี เมอร์ริสัน (Toni Morrison) นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ ค.ศ. 1988 และเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เธอเป็นนักเขียนแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกและคนเดียวที่ได้รางวัลในสาขานี้
นวนิยายเรื่องนี้ไร้ความปรานีในแง่ของเนื้อหาที่จู่โจมเราแบบไม่ทันตั้งตัว ต่อเนื่อง และเจ็บหนัก
ไร้ความปรานีในแง่ของคนอ่าน ที่เนื้อเรื่องต่างเรียงร้อยสลับสับเปลี่ยนไปมา ผ่านความทรงจำ ความนึกคิดของตัวละคร ที่เราไม่อาจคาดเดาได้ว่าเมื่อใดที่เรื่องราวและความทรงจำที่ (อ)ยากจะลืมเหล่านี้จะถูกนึกถึง และถ่ายทอดให้ผู้อื่นร่วมจดจำและจดจาร
บีเลิฟด์สร้างขึ้นมาจากเค้าโครงเรื่องประวัติศาสตร์จริงของ มาร์กาเร็ต การ์เนอร์ ทาสวัยสาวผู้หลบหนีจากการเป็นทาสไปพร้อมกับลูกๆ ของเธอ ภายหลังถูกจับในข้อหาฆ่าลูกของเธอเอง และพยายามฆ่าลูกของคนอื่นๆ ที่ร่วมหลบหนีด้วยแต่ไม่สำเร็จ
เรื่องราวของมาร์กาเร็ตถูกนำมาถ่ายทอดผ่านตัวละครหลัก ‘เซเธอ’ ที่เรื่องราวเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1873 ช่วงหลังสงครามกลางเมืองอเมริกา (American Civil War) ในปี ค.ศ . 1861-1865 ที่เป็นจุดเปลี่ยนผ่านของประวัติศาสตร์การปลดปล่อยทาส เธอผู้เป็นทาส ผู้เป็นภรรยา และผู้เป็นแม่ของลูกๆ ได้ตัดสินใจหลบหนีจากการปกครองของนายทาส และเดินทางข้ามเส้นพรมแดน จากรัฐเคนทักกี ไปสู่รัฐโอไฮโอ รัฐทางตอนเหนือที่คนผิวสีสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเสรี เรื่องราวการหลบหนีของเธอเต็มไปด้วยบาดแผล และทิ้งร่องรอยแผลเป็นจำนวนมาก แต่ท้ายที่สุดเธอก็สามารถเดินทางมาถึงบ้าน ที่ชื่อว่า 124 ได้
ขณะกำลังเริ่มต้นใช้ชีวิตเพื่อตัวเองและลูกๆ เธอก็ถูกโซ่ตรวนแห่งกฎหมาย และคำนิยาม ‘ความเป็นมนุษย์’ ของระบบทาส ตามมาหลอกหลอน เมื่อผู้อ้างสิทธิ์ปกครองทาสในตัวเธอและลูกๆ มาถึงพร้อมกับคนจับทาส ที่จะนำตัวเธอกลับไปยังสถานที่ที่เธอหลบหนีมา เซเธอจึงตัดสินใจใช้เลื่อย จบชีวิตลูกของเธอทั้ง 4 คน มี 3 คนรอดมาได้ แต่บีเลิฟด์ ลูกสาว 1 คนของเธอเสียชีวิตไปกับเหตุการณ์ดังกล่าว เธอให้เหตุผลการ ‘ทารกฆาต’ ครั้งนั้นว่า ไม่อยากให้ลูกต้องทุกข์ระทม และใช้ชีวิตดังที่ไม่เคยเป็นชีวิตแบบที่เธอถูกกระทำมาก่อน เธอจึงเลือกการปลดปล่อยลูกให้เป็นอิสระด้วย ‘ความตาย’
นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย และตั้งคำถามต่อศีลธรรม จริยธรรมเป็นอย่างมาก ด้วยการที่เธอลงมือปลิดชีวิตลูกของตนเอง เพื่อไม่ให้ลูกต้องทุกข์ระทมเฉกเช่นที่เธอถูกกระทำมาก่อน
ทั้งการเปรียบเทียบ ลดทอนคุณค่าให้เหลือแค่สัตว์ คุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ไม่เคยหลงเหลือให้กับคนดำ การถูกเฆี่ยนตี ร่างกายที่ไม่เคยเป็นของตัวเอง ลูกที่เกิดมาจากครรภ์ก็กลายเป็นทรัพย์สินของนายจ้าง น้ำนมที่ร่างกายสร้างมาเพื่อลูก ก็ยังถูกนำไปให้คนอื่น เหล่านี้ยังไม่รวมการถูกข่มขืน และการแขวนคอ นี่เป็นเพียงเสี้ยวเศษแห่งความไม่อยากจำอันขมขื่น ที่เซเธอเคยกล่าวว่า “เธอพยายามอย่างหนักที่จะจดจำให้น้อยที่สุดเท่าที่จะปลอดภัย”
แล้วการฆ่าลูกเพื่อไม่ให้ตกเป็นทาสเป็นสิ่งที่ขัดกับศีลธรรมสากลหรือไม่? เซเธอถูกตัดสินและไม่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้คุมกฎหมาย ศาล ผู้พิพาษา พวกคนขาว หรือแม้กระทั่งเหล่าทาสผิวสีด้วยกันก็ตาม ที่ไม่อาจยอมรับการกระทำดังกล่าวได้ แล้วแท้จริงใครควรเป็นผู้ตัดสินความผิดของเซเธอ?
ตัวละคร ‘บีเลิฟด์’ ที่กลับมาในรูปแบบของวิญญาณ จึงคล้ายกับตัวแทนของความทรงจำที่ยังหลอนหลอก ‘เซเธอ’ และเหล่าทาสคนผิวสีอยู่ ที่แม้ว่าวันเวลาจะล่วงเลยผ่านมาแล้ว มีการยกเลิกระบบทาส แต่ความเจ็บปวด การถูกกระทำนั้นคือเรื่องจริง มันเกิดขึ้นจริง และยังคงตามหลอนหลอกจนยากที่จะลืม
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ทำไมคนผิวสีถึงไม่อาจหลุดพ้นจากอดีตอันขมขื่นได้ แม้ว่าเรื่องราวเหล่านี้จะผ่านมาแล้วเนิ่นนาน? Black Lives Matter อาจเป็นคำตอบของคำถามนี้ที่ชี้ให้เราเห็นว่า แนวคิดความเป็นมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยพ่อค้าทาส ยังคงฝังแน่นอยู่ในความคิดของคนอเมริกันไม่มากก็น้อย
ผ่านมาแล้วหลายศตวรรษกับการต่อสู้เพื่อเรียกร้อง สิทธิ เสรีภาพ และอิสรภาพ แต่สิ่งที่น่าตกใจและยังเป็นสิ่งที่ค้างคาในใจของเราคือ ทำไมในศตวรรษที่ 22 ถึงยังมีคนที่อยากกลับไปใช้ชีวิตภายใต้การปกครองของผู้อื่นอยู่?
สิ่งที่เซเธอ และนวนิยาย บีเลิฟด์ ได้นำเสนอให้เรารับรู้และตั้งคำถามคือ ‘บ้าน’ ที่พักอาศัยร่วมกันแต่ทำไมคนที่อาศัยใต้ร่วมชายคาเดียวกันถึงถูกปฏิบัติไม่เหมือนกัน สภาพความเป็นอยู่แตกต่างกัน อำนาจที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว ทั้งที่ความจริงแล้ว บ้านที่ดีคือบ้านที่ทุกคนควรมีความสุขเท่ากัน กินอยู่เหมือนกัน และมีสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียม
นี่คือสิ่งที่เราควรตั้งคำถามต่อไปว่า เหตุใดการต่อสู้เพื่อการเรียกร้องปลดปล่อยทาส เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม ที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจริง และเรื่องราวบาดแผลการต่อสู้เหล่านี้ยังคงสดใหม่และตามหลอกหลอนคนในสังคมเสมอ และเหตุใดหลายคนถึงยังอยากกลับไปในจุดเดิม คือ จุดที่คนไม่เท่ากัน
เหตุใดคนเหล่านั้นถึงอยากย้อนกลับไปเป็นเพียง ‘ฝุ่นธุลี’ ที่ล่องลอยในอากาศเพียงเท่านั้น
Fact Box
บีเลิฟด์ (Beloved), โทนี มอร์ริสัน (Toni Morrison) เขียน, รังสิมา ตันสกุล แปล, สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์, จำนวน 446 หน้า, ราคา 480 บาท