ล่วงมาถึงปี 2022 นี้ ก็จะเป็นขวบปีที่ 17 ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของ โคดี้ สมิต-แม็กฟี (Kodi Smit-McPhee) นักแสดงชาวออสเตรเลีย และสำหรับเด็กหนุ่มวัย 25 นั่นก็กินเวลาไปกว่าครึ่งชีวิตของเขาแล้ว
สมิต-แม็กฟี อยู่ทั้งในหนังฟอร์มเล็กจิ๋วหลากสัญชาติ ไปจนถึงหนังสตูดิโอใหญ่ยักษ์ทำเงินหลายร้อยล้านเหรียญฯ อย่างแฟรนไชส์ X-Men ในฐานะ ไนต์ครอว์เลอร์ มนุษย์กลายพันธุ์ผู้หายตัวได้ในชั่วอึดใจ ตลอดจนผลงานลำดับล่าสุดที่หลายคนหวังให้เขาได้เข้าชิงรางวัลสาขาสมทบชายยอดเยี่ยมจากเวทีใหญ่ๆ อย่างบท ‘ปีเตอร์’ เด็กหนุ่มผู้เงียบเชียบในโลกคาวบอยอันเต็มไปด้วยกลิ่นอายความเป็นชายฉกรรจ์ใน The Power of the Dog (2021) ผลงานลำดับล่าสุดของ เจน แคมเปียน (Jane Campion) คนทำหนังชาวนิวซีแลนด์
“ทั้งผมทั้งปีเตอร์เหมือนกันก็ตรงที่เราไม่จำเป็นต้องยัดตัวเองให้เข้าไปอยู่ในกรอบที่สังคมขีดไว้” สมิต-แม็กฟี เล่าถึงตัวละครที่เขารับบท กับบางเสี้ยวบางตอนที่เชื่อมโยงกันกับชีวิตจริง “พ่อผมสูงสองเมตรได้ ไว้เคราแพะ เกือบทั้งชีวิตพ่อขับมอเตอร์ไซค์ไปกับเพื่อนๆ คนเถื่อน ช่วงผมกำลังวัยรุ่น ผมก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าผมต้องโตไปแล้วมีความเป็นชายแบบนั้นไหม ต้องไปเข้ายิมหรือเปล่า ต้องพูดจาให้ต่างไปจากที่เป็นหรือไม่ จนวันหนึ่งผมก็ตระหนักได้เองว่าผมไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรแบบนั้นเลย ผมเป็นคนรูปร่างผอมบาง สนใจเรื่องปรัชญา เป็นศิลปิน และทั้งหมดทั้งมวลนี่ก็งดงามจะตายไป”
สมิต-แม็กฟี เริ่มต้นการแสดงจากหนังฟอร์มเล็กสัญชาติออสเตรเลีย บ้านเกิดของตัวเองตั้งแต่วัยสิบขวบ อีกไม่กี่ปีต่อมา เขารับบทเป็นลูกชายของ อีริก บานา ในหนังซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์ของคู่รักที่กำลังจะแหลกสลาย แต่ยังต้องประคับประคองชีวิตลูกชายของทั้งคู่ไว้จาก Romulus, My Father (2007) ที่ส่งให้เขาคว้ารางวัลนักแสดงเด็กยอดเยี่ยมจากสถาบันภาพยนตร์ออสเตรเลียในบ้านเกิด รวมทั้งชิงสาขานักแสดงยอดเยี่ยมจากเวทีเดียวกันนี้ด้วย
ในวัย 13 ปี สมิต-แม็กฟี รับบทเป็นลูกชายที่ลืมตาเกิดขึ้นมาในวันที่โลกกำลังพังทลายลงถึงขีดสุดจาก The Road (2009) หนังดิสโทเปียวันสิ้นโลกของ จอห์น ฮิลล์โคต (John Hillcoat) ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันที่คว้ารางวัลพูลิตเซอร์ของ คอร์แม็ก แม็กคาร์ธี (Cormac McCarthy) เล่าถึงโลกในอนาคตที่ล่มสลายและรอวันแตกดับอย่างเงียบเชียบ พ่อ (วิกโก มอร์เตนเซน) พยายามพาลูกชายวัยเยาว์ (สมิต-แม็กฟี) ให้รอดพ้นจากทั้งภัยธรรมชาติและภัยมนุษย์ผู้จนตรอกซึ่งมักลอบเข้ามาดักปล้น ทำร้ายหรือเข่นฆ่าเพื่อเอาไปทำเป็นอาหารอยู่บ่อยครั้ง
และในหนังที่เครียดเขม็ง ทั้งยังประกบกับนักแสดงมือต้นๆ อย่างมอร์เตนเซน (ผู้ไว้ผมเผ้าและหนวดเคราแสนกระเซิงเพื่อให้เข้ากับบทบาท จนถูกพนักงานร้านสะดวกซื้อตะเพิดออกนอกร้าน เพราะคิดว่าเขาเป็นพวกคนเร่ร่อนจะมาขโมยของในชีวิตจริง) สมิต-แม็กฟี กลับเปล่งประกายและเฉิดฉาย หาที่ทางในหนังของตัวเองได้หมดจดงดงาม กระทั่งมอร์เตนเซนเองก็กล่าวว่า “เขาเก่งมากจริงๆ เป็นนักแสดงที่พิเศษมากๆ มันไม่ใช่แค่ว่าเขามีพรสวรรค์อย่างเดียวด้วยนะ แต่เขายังมีความเป็นมนุษย์” มอร์เตนเซนเล่า “เขามาทำงานอย่างสดใสร่าเริงแบบเด็กๆ ทุกวัน แล้วพอต้องทำงาน เขาก็ตั้งอกตั้งใจ กลายเป็นตัวละครของตัวเองและสื่อในสิ่งที่ตัวละครเป็น ไม่ว่าจะความเศร้า ความสงสัย ความหวาดกลัว และมีความไร้เดียงสาแบบที่เขามีติดตัวเสมอด้วย
“ผมว่างานคงออกมาดีไม่ได้ ถ้าผมไม่มีเพื่อนร่วมงานอย่างโคดี้ ที่ช่วยรับส่งบทบาทตัวละครด้วยกันกับผม”
Let Me In (2010) หนังข้ามพ้นวัยลำดับถัดมาของ สมิต-แม็กฟี ที่กำกับโดย แม็ตต์ รีฟส์ (Matt Reeves) เล่าเรื่องราวของเด็กชายอาภัพเพราะต้องใช้ชีวิตในครอบครัวที่แตกกระเซ็น มิหนำซ้ำชีวิตที่โรงเรียนก็ย่ำแย่เพราะถูกเพื่อนๆ กลั่นแกล้งรังแกอยู่เสมอ ช่วงเวลาสุขใจสั้นๆ ของเขามีเพียงช่วงที่ได้เห็นเด็กหญิงที่เพิ่งย้ายมาพักข้างบ้านออกมาเดินเล่นยามค่ำคืนเท่านั้น ก่อนที่ในเวลาต่อมา เธอจะกลายมาเป็นเพื่อนเพียงคนเดียวของเขา และมอบความลับที่ไม่อาจแพร่งพรายได้ให้แก่เด็กชายในเวลาต่อมา
ในขวบปีแห่งความรุ่งโรจน์ทางการแสดงนั้นเอง ที่ สมิต-แม็กฟี พบว่าตาข้างซ้ายของเขาเริ่มมีปัญหาตามที่นายแพทย์นิยามว่าเขามีภาวะม่านตาอักเสบ (Iritis) ที่อาจนำมาสู่อาการตาบอดในเวลาต่อมาได้ มากไปกว่านั้น ภายหลังจากการตรวจสอบร่างกายอย่างละเอียด สมิต-แม็กฟี ในวัยสิบห้าปียังพบว่าเขามีภาวะโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด (Ankylosing Spondylitis) และอาการทั้งหมดทั้งมวลนี้เลวร้ายลงเมื่อเขาอายุเข้าขวบปีที่ยี่สิบ ยังผลให้สภาวะทางจิตใจย่ำแย่ ทรุดโทรมตามไปด้วย
“มันเจ็บปวดและเศร้าเอามากๆ นะ ตอนที่พบว่าตัวเองกำลังไปได้ดีและสนุกกับงาน ก็ต้องมาเจอกับอะไรสักอย่างที่ดูจะเป็นจุดจบเสียแล้ว” เขาบอก “ที่ผ่านมาทั้งชีวิตและการงานผมมันเหมือนกับว่า ‘ใกล้ถึงเส้นชัยแล้วพวก อีกนิดเดียว’ แต่ผมว่ามันพัง ผมไม่เคยได้ไปถึงไหนเลย”
อย่างไรก็ดี เขาประคับประคองทั้งสภาพกายและใจให้รอดพ้นมาได้ส่วนหนึ่งก็จากครอบครัวและแฟนสาว ที่หนุนให้เขา “หลุดพ้นจากการสังเวชตัวเองแล้วมองไปข้างหน้าได้เสียที” พร้อมกันกับเข้ารับการบำบัดทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ไม่ทำให้อาการต่างๆ จางหายไปโดยถาวร แต่มันก็ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมและประมาณการได้ในระดับหนึ่ง
หมุดหมายสำคัญของชีวิตสมิต-แม็กฟี มาเยือนอีกครั้ง เมื่อเขาได้ร่วมแสดงในหนังดราม่าคลุ้งกลิ่นคาวบอยของ จอห์น แม็กคลีน (John Maclean) Slow West (2015) เล่าเรื่องราวของ เจย์ (สมิต-แม็กฟี) เด็กหนุ่มไร้เดียงสาที่ออกเดินทางข้ามประเทศมายังอเมริกาเพื่อตามหาหญิงสาวผู้เป็นรักเดียวของเขา โดยมี ไซลัส (ไมเคิล ฟาสส์เบนเดอร์) ชายแปลกหน้าคอยให้การช่วยเหลือและดูแลอยู่เนืองๆ โดยเก็บซ่อนเป้าประสงค์ที่แท้จริงของเขาไว้ นั่นคือการเข้าถึงตัวหญิงสาวยอดรักของเจย์ ซึ่งถูกทางการตั้งค่าหัวไว้สูงลิ่ว!
จากนั้นแล้วจึงตามมาด้วยหนังซูเปอร์ฮีโร่ทุนสร้างหลายร้อยล้านเหรียญฯ X-Men: Apocalypse (2016), X-Men: Dark Phoenix (2019) ที่หลายคนกล่าวว่าเป็นหนังฟอร์มใหญ่ไม่กี่เรื่องของสมิต-แม็กฟี ที่ส่งเขาไปสู่สายตาของผู้ชมกลุ่มใหญ่ได้ (แม้เขาจะถูกย้อมเป็นสีน้ำเงินไปทั้งตัวก็ตาม) เรื่อยมาจน Alpha (2018) ที่พอจะพูดได้ว่าเขาแบกหนังไว้ทั้งเรื่องด้วยการรับบทเป็นเด็กหนุ่มยุคน้ำแข็ง และได้รับบาดเจ็บสาหัสขณะเรียนรู้ที่จะออกล่ากับเผ่าเป็นครั้งแรก มิหนำซ้ำยังถูกเผ่าทิ้งเพราะเข้าใจว่าเขาตายแล้ว เด็กหนุ่มจึงต้องกัดฟันดิ้นรนเอาชีวิตรอดโดยที่แทบไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือหรือทักษะใดๆ พร้อมกันนั้น เขาก็เจอหมาป่าพลัดฝูงที่ค่อยๆ แปรเปลี่ยนความเป็นศัตรูของมันมาสู่การเป็นเพื่อนคู่ใจ ช่วยให้เด็กหนุ่มหาทางกลับเข้าเผ่าอีกครั้งในดินแดนอันแสนทุรกันดารแห่งนี้
อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์หลายคนต่างลงความเห็นว่าการเดินทางอันยาวนานในฐานะนักแสดงของสมิต-แม็กฟีนั้นมีหมุดหมายที่น่าจดจำหลายครั้งหลายคราว และหนึ่งในนั้นคือการปรากฏตัวในฐานะปีเตอร์จาก The Power of the Dog ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ โธมัส ซาแวก เล่าเรื่องของ ฟิล (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์) คาวบอยและหัวหน้าคนงานผู้มั่งคั่งของสหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 20 ใช้ชีวิตป่าเถื่อนกักขฬะ แวดล้อมไปด้วยชายฉกรรจ์มากหน้าหลายตาที่คอยต้อนวัวต้อนม้าของเขาไปออกทุ่ง ฟิลมีน้องชายแท้ๆ ที่เขาดูแคลนมาทั้งชีวิตอย่าง จอร์จ (เจสซี พลีมันส์) ผู้แสนสุภาพและไปตกหลุมรักสาวม่าย โรส (คริสเตน ดันส์ ผู้เป็นภรรยาในชีวิตจริงของพลีมันส์ด้วย) โดยเขาพร้อมดูแลโรสรวมถึง ปีเตอร์ (สมิต-แม็กฟี) ลูกชายคนเดียวของเธอเป็นอย่างดี
ฟิลนั้นต่อต้านการตบแต่งโรสเข้ามาอยู่ในบ้านเพราะคิดว่าเธอหวังเข้ามาปอกลอกเงินทองจากครอบครัว มิหนำซ้ำ เขายังไม่ชอบหน้าปีเตอร์ เด็กหนุ่มรูปร่างผอมบาง เป็นนักศึกษาแพทย์ และสนใจในสิ่งละเอียดอ่อนอย่างดอกไม้หรืองานประดิษฐ์ แต่ในช่วงที่ปีเตอร์หยุดเรียนช่วงฤดูร้อนและต้องมาใช้ชีวิตในชายคาเดียวกัน ฟิลกลับค่อยๆ ถูกเจ้าเด็กหนุ่มผู้เงียบเชียบและดูจะบอบบางคนนี้ดึงดูดให้เข้าใกล้เข้าไปทุกที
สิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างสมิต-แม็กฟีกับปีเตอร์นั้น ไม่เพียงแต่พวกเขาจะมีรูปร่างผอมบางเหมือนกัน แต่ยังเป็นแวดล้อมที่ต่างเติบโตมาท่ามกลางความเป็นชายอย่างหนักหน่วงด้วย เพียงแต่ในกรณีของนักแสดงหนุ่มนั้น เขาไม่ได้รู้สึกว่ามันก่อปัญหาหรือสร้างความรุนแรงให้ชีวิตใดๆ “ทั้งปีเตอร์ทั้งผมพบว่ามันไม่เห็นจะเป็นอะไรเลยที่ไม่ได้อยู่ในกรอบของความเป็นชาย เรายังเข้มแข็งได้ไม่ว่าภายนอกเราจะดูเป็นอย่างไร วางตัวแบบไหน” เขาบอก
“ผมกับพ่อก็เหมือนกัน เราเคยเถียงกันเรื่องนี้จนวันหนึ่งผมก็บอกพ่อไปแค่ว่า ผมไม่อยากเป็นเหมือนพ่อ และพ่อก็บอกว่าเขาไม่ได้คาดหวังให้ผมโตไปเป็นเหมือนเขาเช่นกัน พ่อแค่อยากให้ผมมีไหวพริบและดูและตัวเองได้ ถึงที่สุดพ่อร้องไห้นิดหน่อยแล้วบอกว่า ‘ยังไงลูกก็คือลูกของพ่อ ลูกสมบูรณ์แบบ และลูกก็ไม่จำเป็นต้องมาเป็นแบบพ่อเลยแม้สักนิด’ ผมว่านั่นเป็นช่วงเวลาที่งดงามของเรามากๆ เลย
“แล้วในหนัง มันมีฉากหนึ่งที่ปีเตอร์เดินฝ่าไปทางกลางกลุ่มคาวบอยที่ล้อเลียนเขาโดยไม่แยแสอะไร ผมชอบฉากนั้นมาก มันแสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ทางจิตวิญญาณท่ามกลางการดูถูกเหยียดหยามต่างๆ ของปีเตอร์ได้เป็นอย่างดี เขาอยู่ในโลกของตัวเอง และไม่ได้รู้สึกว่าถูกคนอื่นๆ ที่รายล้อมอยู่กดดันอะไร ขณะที่ฟิลนั้นไม่เคยมีอิสระเช่นนี้มาก่อน ดังนั้นเขาจึงแสดงออกผ่านการไปทำร้ายคนอื่นทางอ้อมเสมอ” เขาบอก
“เบเนดิกต์ใช้การแสดงแบบเมธอด (การแสดงแบบสวมบทบาทเป็นตัวละครตลอดเวลา) สำหรับบทฟิล เพราะว่าผู้กำกับ เจน แคมเปียน ขอเขาไว้แบบนั้น เพื่อจะได้สร้างบรรยากาศและบุคลิกของตัวละครขึ้นมาไว้ตลอดเวลา แล้วบุคลิกของเบเนดิกต์กับฟิลนี่ก็ต่างกันสุดขั้วเลยด้วยนะ” (ทั้งนี้ การแสดงแบบเมธอดของเบเนดิกต์ ทำให้ทั้งเขาและคริสเตน ดันส์ ซึ่งตามเส้นเรื่องแล้วไม่ถูกกัน แทบไม่พูดคุยหรือหยอกล้อกันระหว่างกองถ่ายเลย)
และหากว่า The Power of the Dog คือหนังที่สมิต-แม็กฟีได้เปล่งประกายอย่างที่สุดแล้ว ขวบปีต่อไปของเขาก็น่าจับตาไม่แพ้กัน เมื่อเขารับบทเป็น จิมมี ร็อดเจอร์ส นักร้อง-นักแต่งเพลงคันทรี่ชื่อก้องโลกในหนังชีวประวัติ เอลวิส เพรสลีย์ ราชาเพลงร็อกของ บาซ เลอห์มานน์ (Baz Luhrmann) ผู้กำกับที่โดดเด่นเรื่องการทำหนังแสนรุ่มรวยและอลังการอันจะเห็นได้จาก Romeo + Juliet (1996), Moulin Rouge! (2001) และ The Great Gatsby (2013) และน่าสนใจอย่างยิ่งว่าบทร็อดเจอร์สภายใต้การแสดงของสมิต-แม็กฟีจะเป็นอย่างไร
แต่ที่วางใจได้คือ อนาคตทางการแสดงของเขานับแต่นี้คงอยู่ในจุดที่รุ่งโรจน์และงดงามอย่างที่เขาวาดฝันไว้เสมออย่างแน่นอน
Tags: Screen and Sound, The Power Of The Dog, โคดี้ สมิต-แม็กฟี, Kodi Smit-McPhee