บนดาวเคราะห์ที่เรียกว่าโลก มีภูเขา 14 แห่งเท่านั้นที่มีความสูงเกินกว่า 8,000 เมตร
ย้อนกลับไปในปี 1970 ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์ (Reinhold Messner) นักปีนเขาชาวอิตาลี ใช้เวลา 16 ปี ในการพิชิตยอดเขาทั้ง 14 แห่ง เขาเริ่มต้นพิชิตยอดแรกในปี 1970 และยอดสุดท้ายในปี 1986
ก่อนจะถึงปี 2019 สถิติล่าสุดของนักปีนเขาที่สามารถพิชิตยอดเขา 14 แห่ง ที่มีความสูงเกินกว่า 8,000 เมตร คือระยะเวลา 7 ปี ซึ่งน้อยกว่าที่ไรน์โฮลด์เคยทำไว้เกือบครึ่งหนึ่ง
แต่ในปี 2019 ชายชาวเนปาลผู้เป็นอดีตหน่วยรบพิเศษทางเรือของสหราชอาณาจักร ตั้งเป้าพิชิตภูเขาทั้ง 14 แห่ง ในระยะเวลาเพียง 7 เดือน แน่นอนว่านั่นคือสิ่งที่มนุษย์ยากจะจินตนาการถึง เพียงแค่นึกถึงความยากลำบากของการเดินทางบนยอดเขาสูงชันเสียดฟ้า ที่แต่ละก้าวคือเส้นแบ่งของความเป็นและความตาย อากาศที่เบาบางจนมนุษย์ทั่วไปแทบไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ สภาพภูมิอากาศอันหนาวเหน็บ และที่สำคัญคือสภาพร่างกายที่ต้องถูกฝึกซ้อม ตระเตรียมมาเป็นพิเศษ ในการจะพิชิตยอดเขาทั้งหมดภายในเวลาที่น้อยกว่า 7 เดือน จึงไม่แปลกที่ใครหลายคนจะมองว่ามัน ‘เป็นไปไม่ได้’
หลังจาก เนียร์มาล ปูร์จา (Nirmal Purja) วัย 38 ปี ได้ฟังคำพูดเหล่านั้น เขาเลือกจะปฏิเสธ และเพื่อพิสูจน์สิ่งที่ตนคิด ปูร์จาจึงลงมือทำโปรเจ็กต์สุดท้าทายที่ชื่อ ‘Project Possible’ และลงมือทำในสิ่งที่ไม่มีใครเชื่อ ในการพิชิตภารกิจดังกล่าว ซึ่งสิ่งเหล่านั้น ถูกบันทึกเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง 14 Peaks: Nothing is Impossible ทางเน็ตฟลิกซ์
เนียร์มา ปูร์จา เกิดที่หมู่บ้านเล็กๆ ในเขตมยักดี (Myagdi) ของเนปาล ซึ่งอยู่สูงกว่า 1,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เขาเข้าร่วมกองทัพทหารกุรข่า (Brigade of Gurkhas) ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเก่งกาจและต้องผ่านการฝึกอันแสนโหด ในปี 2003 ใช้เวลาในกองทัพราว 6 ปี ก่อนจะเข้าร่วมหน่วยปฏิบัติการพิเศษทางเรือสหราชอาณาจักร ในปี 2009 กลายเป็นชาวกุรข่าคนแรกที่ได้เข้าร่วมหน่วยดังกล่าว โดยทำหน้าที่ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อสู้ในอากาศหนาวเย็น
กุรข่าเป็นชนเผ่าบนภูเขาสูงในดินแดนโกข่า (Gorkha) ของประเทศเนปาล ซึ่งเคยต่อสู้กับอังกฤษในช่วงที่เข้ามาล่าอาณานิคมด้วยความยืดเยื้อถึง 2 ปี และทิ้งความทรงจำอันเลวร้ายให้ทหารอังกฤษ ด้วยความทรหด อดทน ไม่กลัวตาย กระทั่งอังกฤษต้องส่งคนมาเจรจากับกษัตริย์เนปาล เพื่อนำเหล่านักรบกุรข่ามาฝึกเป็นทหารในกองทัพของอังกฤษ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ทหารกุรข่าแห่งกองทัพอังกฤษ’ ที่มีมากว่า 200 ปี
“การเข้าร่วมกองกำลังพิเศษของสหราชอาณาจักรไม่ใช่เรื่องล้อเล่น คุณต้องมีความฟิตที่สูงมากในระดับน้ำทะเล สมองของคุณต้องทำงานเหมือนคนสิบคนในร่างเดียว ดังนั้นผมจึงสามารถสานฝันโปรเจ็กต์นี้ได้ เมื่อยามขึ้นไปสู่ระดับความสูงเหนือน้ำทะเล” ปูร์จากล่าวในการให้สัมภาษณ์
ในช่วงเวลาที่ยังอยู่กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษสหราชอาณาจักร ปูร์จาเริ่มหลงใหลในการปีนเขามากขึ้น เขาพิชิตยอดเขาโลบูเช (Lobuche) ในปี 2012 ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในฐานะนักปีนเขามาก่อน และสามารถพิชิตยอดเขาดาอูลากิรี (Dhaulagiri) ที่มีความสูงเกินแปดพันเมตรได้เป็นครั้งแรกในปี 2014 ก่อนที่จะพิชิตเอเวอเรสต์ได้ในปี 2016
ปูร์จาลาออกจากกองทัพในปี 2018 ด้วยตำแหน่งสุดท้ายคือสิบตรี เพื่อมุ่งความสนใจไปที่การปีนเขาแบบมืออาชีพ และเป็นสิ่งที่เขาชื่นชอบ ก่อนที่จะเริ่มต้นภารกิจที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้ กับการพิชิตเขาสูงเกินแปดพันเมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงที่นักปีนเขาทราบกันดีว่า เป็นการเข้าสู่พื้นที่ที่เรียกว่า ‘เขตมรณะ’ จำนวน 14 แห่ง ในระยะเวลาน้อยกว่า 7 เดือน
คำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไมเขาจึงเลือกท้าทายตนเองด้วยภารกิจโหดหินขนาดนั้น
แม้สาเหตุหลักที่ผู้คนพูดถึงคือการ ‘พิสูจน์’ สิ่งที่เขาคิดและเชื่อ แต่แท้จริงแล้วปูร์จามีเหตุผลที่มากกว่านั้น เขาต้องการให้ชุมชนนักปีนเขาชาวเนปาลซึ่งมักถูกมองข้าม ได้ถูกมองเห็นและเป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงให้ผู้คนได้ตระหนักถึงชาวกุรข่า-อันเป็นรากเหง้าของเขา
ครั้งหนึ่ง ปูร์จาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “สิ่งที่ผมมักได้ยินมาโดยตลอดจากนักปีนเขาต่างชาติคือ ‘เศรปาช่วยฉันไว้’ เพียงเท่านั้น แต่นั่นไม่ถูกต้อง เพราะเศรปาทุกคนล้วนมีชื่อของตนเอง” เศรปา (Sherpa) ที่เขากล่าวถึงคือกลุ่มชาติพันธ์ุที่อาศัยบนภูเขาสูงของเทือกเขาหิมาลัยในเนปาล และมีชื่อเสียงในการเป็นผู้นำทางและลูกหาบให้กับนักปีนเขาจากทั่วโลก ที่ต้องการพิชิตหลังคาโลก
ปูร์จาเคยออกมารณรงค์หาเสียงเพื่อพี่น้องชาวกุรข่า โดยการเรียกร้องให้รัฐบาลมอบเงินบำนาญของกองทัพอังกฤษให้ชาวกุรข่าที่เคยเข้าร่วมกองทัพอังกฤษก่อนปี 1997 อย่างเท่าเทียมกัน หลังจากทหารกุรข่ากลุ่มนี้ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว ทั้งที่ทหารกุรข่าได้รับค่าจ้างถูกกว่าการจ้างคนอังกฤษเป็นทหารถึง 10 เท่า และต้องเป็นทหารประจำการณ์อย่างน้อย 15 ปี จึงจะมีสิทธิได้รับเงินบำนาญ
“มันน่าเศร้ามาก หญิงม่ายคนหนึ่งของทหารผ่านศึกชาวกุรข่าบอกผมว่า ‘เราจะไม่มีวันได้รับเงินบำนาญที่เท่าเทียมกัน กว่าจะถึงวันนั้น ฉันคงตายไปแล้ว’ ผมไม่อยากจะเข้าหาเรื่องลบๆ หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนะ แต่ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องทำให้มันถูกต้อง แทนที่จะมาเถียงกัน เรามาหาทางแก้ไขกันดีกว่า ชาวกุรข่าไม่ใช่คนโลภ พวกเขาจะมีความสุขมาก หากเรื่องนี้ได้รับการแก้ไข แต่ถ้ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องกลับมาส่งเสียงกันอีกครั้ง”
อาจกล่าวได้ว่า นอกจากแรงผลักในการพิชิตภารกิจที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะเป็นไปได้ ปูร์จายังมีแรงผลักที่ปะทุจากข้างในใจ เป็นแรงผลักที่เข้มข้นเหนือสิ่งอื่นใด เพราะมันหมายถึงการทำให้พี่น้องชาติพันธุ์เดียวกับเขาได้ถูกมองเห็นกว่าที่เป็นอยู่
แน่นอนว่าภารกิจนี้ไม่ง่ายตั้งแต่ต้น ปูร์จามาจากครอบครัวที่ยากจน และในฐานะที่เป็นทหารกองทัพ เขาจึงเป็นเสาหลักทางการเงินของครอบครัว การลาออกจากอาชีพที่ทำมากว่า 16 ปี เพื่อมาเป็นนักปีนเขามืออาชีพ ถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญ เพราะอาจส่งผลต่อชีวิตในหลายด้าน และผู้คนรอบข้างที่เกี่ยวข้อง
พี่ชายของปูร์จาอารมณ์เสียกับเรื่องนี้มาก จนเลิกคุยกับเขาเป็นเวลาสามเดือน ขณะที่แม่ของเขาที่มีอาการป่วยก็มีความกังวลกับภารกิจนี้ ส่วนซูจี ภรรยาของเขา ดูเหมือนจะสนับสนุน หรืออย่างน้อยที่สุดคือ ‘ยินยอม’ ให้กับความคิดนี้ของปูร์จา
“สิ่งที่ผมบอกพวกเขาคือ ‘โครงการนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมาย’ การต้องเสียสละของครอบครัวเรานั้นนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น” ปูร์จา เล่าถึงความพยายามในการโน้มน้าวครอบครัว
แม้จะผ่านด่านครอบครัวมาได้ แต่ก็มีบททดสอบอื่นเข้ามาให้ต้องแก้ไข แม้เขาจะตั้งเป้าพิชิตภารกิจภายในระยะเวลา 7 เดือน หากแต่ในทีแรก เขาเคยคิดว่าตนเองสามารถพิชิตโปรเจ็กต์นี้ได้ภายในระยะเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น ซึ่งปูร์จาบอกว่า สาเหตุที่เขาต้องเพิ่มเวลาเป็น 7 เดือน เพราะเขารู้ว่าภารกิจนี้จะต้องมีเรื่องในเชิง ‘การเมือง’ มาเกี่ยวข้องให้ต้องจัดการเพิ่มเติม
หนึ่งในประเด็นเชิง ‘การเมือง’ ที่ปูร์จาอ้างถึง คือการที่จีนยังไม่อนุมัติคำขอของเขาในการขึ้นสู่ยอดเขาชิชาพังมะ (Shishapangma) ยอดเขาที่สูงที่สุดในจีน และสูงเป็นอันดับที่ 13 ของโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในยอดเขาทั้ง 14 แห่งในภารกิจนี้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องการระดมทุนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
แต่จนแล้วจนรอด โปรเจ็กต์ท้ามฤตยู ‘Possible Project 14/7’ ก็ได้เริ่มต้นขึ้น
“ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” ปูร์จากล่าว “ต้องไม่มีข้อแก้ตัว”
ปูร์จา พร้อมกับทีมเศรปา มิงมา เกียบู (Mingma Gyabu), ลักปา เดนดี (Lakpa Dendi), เกลเจน (Geljen) และเทนซี คาซัง (Tensi Kasang) ขึ้นสู่ยอดเขาแห่งแรกได้สำเร็จในวันที่ 23 เมษายน 2019 และทำสำเร็จอีกห้าแห่ง รวมเป็นหกแห่ง ได้แก่ อันนาปุรนะ (Annapurna), ดาอูลากิรี (Dhaulagiri), กันเจนชุงกา (Kanchenjunga), เอเวอเรสต์ (Mount Everest), โลตเซ (Lhotse) และมาคาลู (Makalu) ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2019 หรือเพียงเดือนเดียวหลังเริ่มโปรเจ็กต์
หลังจากนั้น ปูร์จาและทีมสามารถพิชิตยอดเขานังกาปาร์บัต (Nanga Parbat), แกเชอร์บรูม (Gasherbrum) 1 และ 2, เคทู (K2) และบรอดพีก (Broad Peak) ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2019 หรือสี่เดือนหลังเริ่มโปรเจ็กต์
ในเฟสสาม และเป็นช่วงสุดท้ายของโปรเจ็กต์ ปูร์จาและทีมเริ่มต้นกันในเดือนกันยายน 2019 และจัดการพิชิตยอดเขาโชโอยู (Cho Oyu), มานาสลู (Manaslu) ก่อนที่ทางการจีนจะอนุญาตให้ปีนสู่ยอดเขาชิชาพังมะ (Shishapangma) ยอดเขาที่สูงที่สุดในจีนได้เป็นกรณีพิเศษ ตามคำร้องขอของรัฐบาลเนปาล ทำให้ปูร์จาขึ้นสู่ยอดได้สำเร็จพร้อมเพื่อนร่วมทีมอีกห้าคน ในวันที่ 18 ตุลาคม 2019 เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจ ‘Possible Project 24/7’ ในระยะน้อยกว่าเวลาเจ็ดเดือน
หลังจบภารกิจ มีสื่อมากมายสัมภาษณ์เขา หนึ่งในนั้นถามว่า มีช่วงเวลาใดที่เขาอยากยอมแพ้บ้างไหม
“เยอะเลย” ปูร์จาตอบ “มีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมสวดอ้อนวอนขอให้หิมะถล่มครั้งใหญ่ ผมจะได้จบชีวิตไปเลยง่ายๆ”
“แต่แล้วผมมีความเชื่อที่ใหญ่กว่านั้น ผมจะพูดกับตัวเองเสมอว่าว่า ‘นายบอกว่าจะเป็นตัวแทนของกองกำลังพิเศษและชาวกุรข่าใช่ไหม นายบอกว่านายจะเป็นความหวังให้กับคนธรรมดาๆ ใช่ไหม’ ปัจจัยกระตุ้นเหล่านั้น ทำให้ผมมีพลังจะสู้ต่อไป”
“มันไม่ใช่แค่การปีนเขา แต่มันคือการทำตามเป้าหมายของคุณ”
Tags: Game On, Possible Project, Nirmal Purja, 14 Peaks, Netflix, ปีนเขา