หากย้อนกลับไป 45 ปีก่อน ‘ฝ่ายขวา’ คือผู้มีบทบาทสำคัญ ซึ่งปูเรื่องไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านการปลุกระดมผ่านสื่ออย่างสถานีวิทยุยานเกราะ หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ไปจนถึงการ ‘จัดตั้ง’ ขบวนการขวาจัดอย่างกลุ่มนวพล กระทิงแดง หรือลูกเสือชาวบ้าน ในการจัดการกับผู้ชุมนุม ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นคอมมิวนิสต์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

คำถามสำคัญก็คือ หลังจากภาพการ ‘ล้อมปราบ’ อันโหดร้ายทารุณ ไม่ว่าจะภาพของการใช้อาวุธหนักยิงถล่มเข้าไปในธรรมศาสตร์ ภาพของการที่ฝ่ายขวาใช้เชือกผูกคอแล้วลากศพไปทั่วสนามฟุตบอล หรือภาพของการจับคนมานั่งยางเผารวมกันที่ท้องสนามหลวง ใน ‘ความทรงจำ’ ของฝ่ายขวานั้นเป็นอย่างไร และพวกเขารู้สึกอะไรต่อเรื่องเหล่านี้บ้าง

The Momentum รวบรวมปฏิกิริยาของฝ่ายขวา หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพื่อให้เห็นอีกครั้งว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร พวกเขาภูมิใจกับการกระทำเหล่านี้ พวกเขา ‘เฉยๆ’ กับเรื่องที่เกิดขึ้น หรือในมุมมองของพวกเขา เกิดอะไรขึ้นบ้างจากการสังหารโหดเช้าวันนั้น

สมัคร สุนทรเวช (2478-2552)

ในบรรดาฝ่ายขวาทั้งหมด หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ สมัครดูจะเป็นคนที่อนาคตไกลมากที่สุด หลังจากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ควบคู่กับการเป็นผู้จัดรายการคนสำคัญของสถานีวิทยุยานเกราะ หลังการรัฐประหาร 6 ตุลาฯ เขาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประสบความสำเร็จทางการเมืองผ่านการตั้งพรรคเองอย่าง ‘ประชากรไทย’ ทั้งยังได้เป็นทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา และได้รับเลือกตั้งสู่จุดสูงสุด ให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2551

แน่นอน ทุกครั้งที่สมัครมีอันต้องรับตำแหน่งสำคัญทางการเมือง เรื่องราวเกี่ยวกับ ‘6 ตุลาฯ’ จะกลับมาหลอกหลอนเขาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการปลุกระดม ใส่ร้ายนักศึกษาว่ามีขบวนการคอมมิวนิสต์อยู่เบื้องหลัง การโอภาปราศรัย ชื่นชมลูกเสือชาวบ้าน-แนวร่วมอาชีวะ หรือการไปเยี่ยม จอมพล ถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สิงคโปร์ ซึ่งนำไปสู่การพาจอมพลถนอมกลับประเทศ เป็นชนวนของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในที่สุด

หลังรับตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 2551 พิธีกรรายการ 101 East ของสำนักข่าวอัลจาซีรา ถามสมัครว่า เหตุการณ์ในปี 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีนักศึกษาจำนวนมากถูกทำร้าย ถูกยิง ถูกแขวนคอ และถูกเผา เป็นผลพวงจากการปลุกระดมผ่านรายการวิทยุของเขา เรื่องนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

“คุณอายุเท่าไรตอนนั้น คุณเกิดแล้วหรือยังตอนนั้น” สมัครถามกลับอย่างมีอารมณ์

“ผมไม่กังวลเรื่องนี้ พวกเขาเขียนประวัติศาสตร์สกปรกเกี่ยวกับตัวผม ผมนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาล เหตุการณ์วันนั้นมีผู้เสียชีวิตเพียงแค่คนเดียวที่สนามหลวง มีคนแขวนคอชายคนหนึ่งแล้วตีเขา แต่นักศึกษาอีก 3,000 คน ก็ยังอยู่ในธรรมศาสตร์”

นอกจากนี้ สมัครยังให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นอีกครั้งด้วยคำตอบคล้ายกัน นั่นคือมีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียวในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

“สำหรับผม ไม่มีการตาย คนหนึ่งโชคดีแค่ถูกแทง ส่วนอีกคนถูกเผาที่ท้องสนามหลวง มีแค่คนเดียวที่ตายในวันนั้น”

ไม่มีการยืนยันชัดเจนถึงยอดผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ตัวเลขทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 45 คน มูลนิธิป๋วย อึ๊งภากรณ์ บอกว่ามีผู้เสียชีวิตเกิน 100 คน ขณะที่ตัวเลขจากมูลนิธิร่วมกตัญญู ระบุว่า อาจมีผู้เสียชีวิตเกิน 500 คน

นั่นแปลว่าเกินกว่าที่สมัครคาดการณ์ไว้เป็นอย่างมาก…

“ถ้าผมมือเปื้อนเลือดจริง ผมคงมาไม่ได้ไกลขนาดนี้” สมัครให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราและซีเอ็นเอ็น รวมถึงสื่อไทยในแบบเดียวกัน เมื่อมีใครถามถึงความเกี่ยวข้องระหว่างเขาและเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

สมัครเสียชีวิตในช่วงปลายปี 2552 หลังดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ราว 1 ปี โดยที่ไม่ได้มีโอกาสอธิบายเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในเรื่องราวที่ต่างออกไป

กิตติวุฑโฒ ภิกขุ (2479-2548)

ช่วงต้นทศวรรษที่ 2510 กิตติวุฑโฒ ภิกขุ เป็นหนึ่งในขาประจำของวิทยุยานเกราะ โดยมีรายการประจำชื่อรายการ ‘โพธิญาณ’ ออกอากาศเป็นประจำ ว่ากันว่า จอมพล ถนอม กิตติขจร และท่านผู้หญิงจงกล ภริยา ก็เป็นแฟนประจำ และในไม่นานหลังจากนั้น พระกิตติวุฑโฒก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พระอารามหลวงอันดับหนึ่งของเมืองไทย

ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ราวครึ่งปี กิตติวุฑโฒ ภิกขุ โด่งดังในฐานะพระสงฆ์ฝ่ายขวา จัตุรัส นิตยสารรายสัปดาห์ ฉบับที่ 51 ประจำวันที่ 29 มิถุนายน 2519 ได้นำเขาขึ้นปก พร้อมกับข้อความว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ ได้บุญมากกว่าบาป” กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ของคำว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ซึ่งแพร่หลายในหมู่ฝ่ายขวา ทั้งกระทิงแดง นวพล และลูกเสือชาวบ้าน ทั้งยังถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของการล้อมปราบและสังหารในหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันนั้น

จัตุรัส: การฆ่าฝ่ายซ้ายหรือคอมมิวนิสต์บาปไหม

กิตติวุฑโฒ: อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้นับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ใช่ถือว่าเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ เราไม่ได้ฆ่าคน แต่ฆ่ามาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน

จัตุรัส: ผิดศีลไหม

กิตติวุฑโฒ: ผิดน่ะมันผิดแน่ แต่ว่าผิดนั้นมันผิดน้อย ถูกมากกว่า ไอ้การฆ่าคนคนหนึ่งเพื่อรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ ไอ้สิ่งที่เรารักษาปกป้องไว้ มันถูกต้องมากกว่า แล้วจิตใจของทหารที่ทำหน้าที่ อย่างนี้ไม่ได้มุ่งฆ่าคนหรอก เจตนาที่มุ่งไว้เดิมคือมุ่งรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ การที่เขาอุทิศชีวิตไปรักษาสิ่งดังกล่าวก็ถือว่าเป็นบุญกุศล ถึงแม้จะฆ่าคนก็บาปเล็กน้อย แต่บุญกุศลได้มากกว่าเหมือน เราฆ่าปลา แกงใส่บาตรพระ ไอ้บาปมันก็มีอยู่หรอกที่ฆ่าปลา แต่เราใส่บาตรพระได้บุญมากกว่า

จัตุรัส: คนฆ่าฝ่ายซ้ายที่ไม่ถูกจับมาลงโทษ ก็คงเป็นเพราะบุญกุศลช่วย

กิตติวุฑโฒ: อาจจะเป็นได้ ด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติ (หัวเราะ)

กระนั้นเอง หลังคำสัมภาษณ์ดังกล่าวเผยแพร่ไปไม่นาน กิตติวุฑโฒได้ออกมาชี้แจงว่า การฆ่าคอมมิวนิสต์นั้นคือการฆ่าลัทธิคอมมิวนิสม์ที่อยู่ในใจ ไม่ใช่การฆ่าคน

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กิตติวุฑโฒก่อตั้งสำนักจิตตภาวันวิทยาลัยขึ้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี หวังให้เป็นวิทยาลัยสำหรับฝึกอาชีพสงฆ์ อย่างไรก็ตาม จิตตภาวันกลับไปเกี่ยวข้องกับกรณีอื้อฉาวหลายเรื่อง ทั้งกรณีรถติดตราจิตตภาวันในการขนอาวุธ ทั้งกรณีครอบครองรถยนต์วอลโวเถื่อนเป็นยานพาหนะส่วนตัว หรือกรณีขายที่ป่าสงวน 2,500 ไร่ ที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรีให้กับญาติโยม

ทั้งนี้ เมื่อรายการ ‘ย้อนรอย’ ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ไปสัมภาษณ์พระกิตติวุฑโฒอีกครั้ง ในปี 2542 ในโอกาสครบรอบ 23 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ถึงเรื่อง ‘ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป’ กิตติวุฑโฒยังคงยืนยันคำเดิมว่า ‘คอมมิวนิสต์’ ที่หมายถึงคือลัทธิ ไม่ใช่ตัวบุคคล

“ถ้าเราไม่ฆ่าคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์จะยุให้คนไทยฆ่ากันเอง อาตมาขอยกตัวอย่าง ลัทธิคอมมิวนิสม์เข้าประเทศจีน คนจีนฆ่ากันเองเกือบร้อยล้านคน”

กิตติวุฑโฒมรณภาพเมื่อปี 2548 ด้วยอายุ 68 ปี จากโรคหัวใจ ในสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดคือเป็นพระราชาคณะชั้นเทพ

ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ (2466-2525)

ในบรรดานักจัดรายการของสถานีวิทยุยานเกราะ ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้าน ‘ดนตรีไทย’ คือหนึ่งในผู้จัดรายการที่โดดเด่นที่สุด อุทิศมีบทบาทสำคัญในการปลุกใจฝ่ายขวา ทั้งนวพล กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน ข้อมูลของอุทิศคือการยืนยันว่ามีอิทธิพลของต่างชาติทั้งชาวเวียดนามและชาวจีนอยู่เบื้องหลังกลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุมต่อต้าน พระถนอม กิตติขจร และต้องการ ‘ล้มล้างสถาบันฯ’ ขณะเดียวกัน ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เขาก็อยู่ในพื้นที่การชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พื้นที่สำคัญในการระดมพลฝ่ายขวา ในการจัดการกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่นาน ดร.อุทิศได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มี ‘อุโมงค์’ ทั้งสิ้น 3 แห่ง ซึ่งใช้สำหรับหลบหนี และสำหรับซ่องสุมอาวุธปืน-อาวุธหนัก เพื่อโจมตีเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกัน เขายังระบุว่า ผู้ที่ขุดอุโมงค์ต้องไม่ใช่คนไทยแน่นอน นอกจากนี้ การที่นักศึกษาจำนวนมากสวมรองเท้าแตะ ก็แสดงว่าทั้งหมดเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ และมีแต่ญวนเท่านั้นที่สวมรองเท้าแตะ

“ในธรรมศาสตร์มีอุโมงค์ถึง 3 แห่ง ซึ่งแห่งที่ออกไปพิพิธภัณฑสถานยังหาไม่พบ ซึ่งอุโมงค์เหล่านี้ ต้องญวณเท่านั้น จึงจะมีความสามารถขุดได้ เพราะพวกนี้มีความชำนาญ ส่วนห้องลึกลับบนเพดาน ซึ่งมีแอร์และห้องน้ำพร้อมนั้น ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดี ต้องรู้เรื่องแน่” คำให้สัมภาษณ์ของดร.อุทิศ ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับเช้าวันที่ 9 ตุลาคม 2519

หลังเกิดเหตุไม่นาน ดร.ป๋วยได้เขียนบันทึกตอบโต้ดร.อุทิศ ตอนหนึ่งว่า เรื่อง ‘อุโมงค์’ เป็นการปั้นน้ำเป็นตัว และเป็นการสร้างข่าวทั้งสิ้น โดย ดำรง ชลวิจารณ์ อธิบดีกรมโยธาธิการและประธานกรรมการสำรวจความเสียหายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ชี้แจงเมื่อกลางเดือนตุลาคมว่า ไม่พบอุโมงค์ในธรรมศาสตร์เลย ส่วนที่อุทิศกล่าวในโทรทัศน์ถึงห้องแอร์และส้วมที่อยู่บนเพดานตึก คงจะหมายถึงชั้นบนสุดของตึกโดม ซึ่งก็ไม่มีอะไรเร้นลับประการใด และใครเล่านอกจาก อุทิศ นาคสวัสดิ์ จะไปใช้ส้วมเพดานตึก

ดร.ป๋วยยังบอกด้วยว่า ที่อุทิศพูดว่าบรรดาผู้ที่ไปชุมนุมในธรรมศาสตร์นั้นใช้รองเท้าแตะเป็นจำนวนมาก แสดงว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะผู้ก่อการร้ายใช้รองเท้าแตะ ถ้าเป็นเช่นนี้ คนในเมืองไทย 40 ล้านคน ซึ่งใช้รองเท้าแตะ ก็เป็นผู้ก่อการร้ายหมด

“ที่กล่าวถึงอุทิศ นาคสวัสดิ์นั้น เป็นตัวอย่างของโฆษกฝ่ายยานเกราะเพียงคนเดียวคนอื่นและข้อใส่ร้ายอย่างอื่นทำนองเดียวกันยังมีอีกมาก ที่ใช้ความเท็จกล่าวหาปรปักษ์อย่างไม่มีความละอาย” ดร.ป๋วยสรุปในบันทึก

ดร.อุทิศลาออกจากราชการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี 2523 จากการป่วยด้วยโรคต่อมไทรอยด์ จากนั้นได้ถึงแก่กรรมในปี 2525 ด้วยโรคมะเร็งลุกลามขึ้นสมอง ในวัย 59 ปี

ธานินทร์ กรัยวิเชียร์ (2470-)

ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา อายุเพียง 49 ปีเท่านั้น ในหนังสือ ‘บันทึกการปฏิวัติ 1-3 เมษายน 2524 กับข้าพเจ้า’ ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2525 บุญชนะ อัตถากร ระบุว่า พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ผู้นำการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นคนเชิญธานินทร์เป็นนายกรัฐมนตรี บอกกับเขาว่า ได้เข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ และได้กราบบังคมทูลชื่อไปประมาณ 15 ชื่อ ว่าใครเหมาะจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี หากมีการยึดอำนาจ เพื่อขอพระราชทานความเห็น แต่ก็มิได้ทรงรับสั่งสนับสนุนผู้ใด

“เมื่อไม่ได้ชื่อบุคคลที่น่าจะเป็นนายกได้ และเวลาก็ล่วงไปมากแล้ว คุณสงัดก็เตรียมตัวจะกราบบังคมทูลลากลับ แต่ก่อนจะออกจากที่เฝ้า ในหลวงได้รับสั่งว่า จะทำอะไรลงไปก็ควรจะปรึกษานักกฎหมาย คือ คุณธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฎีกา เสียด้วย คุณสงัดบอกว่าไม่เคยรู้จักคุณธานินทร์มาก่อนเลย พอมาถึงกรุงเทพฯ ก็ได้บอกพรรคพวกทางทหารให้ทราบแล้วเชิญคุณธานินทร์มาพบ”

ในเวลานั้น ธานินทร์เป็นที่รู้จักดีในหมู่ฝ่ายอนุรักษนิยม จากการเคลื่อนไหวต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสม์อย่างเข้มข้นช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยจัดรายการ ‘สนทนาประชาธิปไตย’ ทางโทรทัศน์ร่วมกับ ดุสิต ศิริวรรณ ภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายทหาร ทั้งยังเข้าร่วมรายการของสถานีวิทยุยานเกราะเป็นบางครั้ง

คืนวันที่ 13 ตุลาคม 2519 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 1 สัปดาห์ ธานินทร์ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ออกโทรทัศน์ปราศรัยกับประชาชนตอนหนึ่ง โดยพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ว่า

“จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เราก็ได้เป็นที่แจ้งประจักษ์แก่พี่น้องชาวไทยแล้ว เราปรารถนาแรงกล้าที่จะรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเอกรัฐแห่งความเป็นไทยของเรา การแสดงออกซึ่งความปรารถนาแรงกล้าของประชาชนชาวไทยทั้งชาตินี้ แจ้งประจักษ์ไม่เฉพาะแต่พวกเรากันเอง แต่แจ้งประจักษ์ไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศใกล้บ้านเรือนเคียง ซึ่งเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย ก็รู้สึกยินดีและอบอุ่นใจในความมั่นคงของประเทศเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายในแถบนี้ด้วยกัน”

หลังจากนั้น ธานินทร์ได้ประกาศจะวางรากฐานประชาธิปไตยของประเทศ โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 12 ปี พร้อมกับใช้นโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด ทำให้มีนักศึกษา-ประชาชนจำนวนมากเข้าป่า เป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

กระนั้นเอง หลังเขาดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้เพียงปีเดียว ก็ถูกรัฐประหารซ้อนโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ซึ่งเป็นผู้ตั้งเขาเป็นนายกฯ โดยมีเหตุผลเบื้องหลังว่า นโยบายของธานินทร์นั้นขวาจัดและแข็งกร้าวมากเกินไป

ธานินทร์ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรีนับตั้งแต่ปี 2520 เรื่อยมา จนกระทั้งสิ้นรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9

พลตำรวจเอก สล้าง บุนนาค (2479-2561)

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เกิดขึ้นหมาดๆ พันตำรวจโท สล้าง บุนนาค รองผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม (ยศและตำแหน่งในเวลานั้น) ได้ให้สัมภาษณ์กับวิทยุยานเกราะว่า เขาได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมตำรวจ ให้นำกำลังตำรวจปราบจลาจลไป ‘รักษาความสงบ’ ที่บริเวณท้องสนามหลวงและหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้นำกำลังไปได้ราว 200 คน ในเวลา 03.00 น.

เรื่องเล่าจากพลตำรวจเอกสล้างระบุว่า มีเสียงจากประชาชนในเวลานั้น ต่างก็ยั่วยุให้เขาบุกเข้าไปตั้งแต่เช้ามืด แต่ตำรวจได้พยายามรักษาความสงบไม่ให้ประชาชนบุกเข้าไปด้านใน กระนั้นเอง ในเวลาเดียวกัน กลับมีเสียงปืนที่ยิงออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังออกมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เมื่อพยายามเข้าไป ‘เจรจา’ กับนักศึกษา เขาก็ถูกยิงสวน โดยมีตำรวจนายหนึ่งถูกยิงเสียชีวิต พลตำรวจโทสล้างบอกว่า อาวุธปืนดังกล่าวที่ฝ่ายนักศึกษายิงออกมาจากมหาวิทยาลัย น่าจะเป็นปืนกล ชนิดเอ็ม 60 หรือปืนกลแบบอัตโนมัติ ซึ่งทำให้มีตำรวจบาดเจ็บและเสียชีวิต

ขณะที่ในเอกสารคำให้การพยานฝ่ายโจทก์ถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ พลตำรวจโทสล้างให้การต่อศาลว่า ในเวลา 7.00 น. จึงได้รับคำสั่งจากอธิบดีกรมตำรวจว่าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปืนป้องกันตัวได้ตามความจำเป็น เพื่อป้องกันชีวิต แต่ฝ่ายนักศึกษาก็ยังระดมยิงออกมาอย่างต่อเนื่อง

“นักศึกษาได้ยิงต่อสู้อยู่ตลอดเวลา และเจ้าหน้าที่ก็ได้ยิงป้องกันตัวเกิดความบาดเจ็บและเสียชีวิตด้วยกันทั้งสองฝ่าย จนถึงเวลาประมาณ 12.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสามารถเข้าทำการยึดตึกได้ทุกตึก” พลตำรวจเอกสล้างให้การต่อศาล

เรื่องทั้งหมดตรงกันข้ามกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง… โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มยิงปืนเอ็ม 79 เข้าไปในมหาวิทยาลัยตั้งแต่เวลา 5.30 น. ตกกลางสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนมีผู้เสียชีวิตทันที 4 คน หลังจากนั้น ฝูงชนได้ใช้รถบัสพุ่งชนประตู และมีการระดมใช้อาวุธหนักจากฝ่ายตำรวจถล่มเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ตั้งแต่เวลา 7.00 น. โดยกำลังตำรวจที่เข้าไป มีทั้งหน่วยคอมมานโดที่พลตำรวจเอกสล้างดูแล และตำรวจตระเวนชายแดน

ถึงเวลา 10.30 น. ตำรวจก็ควบคุมสถานการณ์ภายในมหาวิทยาลัยได้ ไม่ปรากฏว่ามี ‘ปืนกล’ จากฝ่ายนักศึกษาอย่างที่พลตำรวจเอกสล้างกล่าวอ้าง กลับเป็นฝ่ายนักศึกษาที่เสียชีวิตจากอาวุธหนักของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะลูกระเบิดเอ็ม 79 และกระสุนจากปืนกล ขณะเดียวกัน แม้จะมีฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายตำรวจเสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ รวมทั้งสิ้น 5 คน จากกระสุนปืน ก็ไม่ใช่จาก ‘ปืนกล’

หลังจากเหตุการณ์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จบลง พลตำรวจโทสล้างยังได้ตาม ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปที่สนามบินดอนเมือง พร้อมกับ ‘ตบ’ ดร.ป๋วย ซึ่งกำลังคุยโทรศัพท์อยู่ พร้อมทั้งก่นด่าด้วยท่าทางหยาบคาย

“เวลาประมาณ 18.15 น. ได้มีตำรวจชั้นนายพันโทตรงเข้ามาจับผู้เขียน โดยที่กำลังพูดโทรศัพท์อยู่ ได้ใช้กิริยาหยาบคาย ตบหูโทรศัพท์ร่วงไป และบริภาษผู้เขียนต่างๆนานา บอกว่าจะจับไปหาอธิบดีกรมตำรวจ ผู้เขียนก็มิได้ตอบโต้ประการใด เดินตามนายตำรวจนั้นออกมา” คือข้อความที่อยู่ในบันทึกของ ดร.ป๋วย

พลตำรวจเอกสล้างก้าวหน้าในเส้นทางข้าราชการตำรวจเรื่อยมา และแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในคดีวิสามัญฆาตกรรม ‘โจ ด่านช้าง’ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ก็เกษียณอายุด้วยตำแหน่งสุดท้ายคือ ‘รองอธิบดีกรมตำรวจ’ โดยได้รับเสียงชื่นชมจากบรรดาตำรวจด้วยกันว่าเป็นสุดยอด ‘มือปราบ’

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561 พลตำรวจเอกสล้าง ในวัย 81 ปี เสียชีวิตจากการกระโดดจากชั้น 7 ของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง พร้อมกับเขียนจดหมายลาตาย ระบุว่า คงมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน 2 ปี และขอให้ทุกคนร่วมกันคัดค้านการสร้างทางรถไฟขนาดความกว้าง 1.000 เมตร

.

อ้างอิงข้อมูลจาก

Tags: , , , , , , ,