‘การ์ตูนเล่มละบาท’ นั้นล้มหายไปจากสังคมไทยตั้งแต่ก่อนปี 2560 พร้อมๆ กับที่นิตยสารหลายหัวทยอยกันปิดตัว กระแสออนไลน์ไหลบ่าเข้ามาแทนที่ สื่อหลายแห่งอาจหาที่มั่นได้ใหม่ในรูปแบบนิตยสารออนไลน์ แต่กับการ์ตูนเล่มละบาทหรือ ‘วรรณกรรมชั้นต่ำ’ ศิลปะอันไร้ที่ไปย่อมถูกกาลเวลาฝังลืม

สันติ แต้พานิช เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นจากงานสารคดีสะท้อนชีวิตจริงของชนชั้นกรรมาชีพ เขาผูกพันกับศิลปะไทยสายป๊อปอาร์ตจากการอ่านการ์ตูนเล่มละบาท แรกเริ่มเดิมทีเขาเข้าไปคลุกคลีกับนักเขียนการ์ตูนชั้นครูเพื่อทำภาพยนตร์สารคดี แต่เมื่อสัมผัสกับงานศิลปะมากเข้า ก็พบว่า ‘การขุดผีจากหลุม’ น่าจะมีสีสันขึ้น หากได้ตั้งคำถามกับสังคมโดยตรงว่าความสูงต่ำของศิลปะนั้นวัดจากตรงไหน และจะเป็นอย่างไรถ้านำศิลปะแบกะดินมาจัดแสดงในหอศิลป์ใจกลางเมือง

นิทรรศการ ‘ไอ้ผีเล่มละบาท’ ประกอบไปด้วยภาพยนตร์สารคดีและผลงานการ์ตูนอีกหลายร้อยภาพ ภายใต้ลายเส้นคมกริบและสีสันจัดจ้านนั้นเผยให้เห็นภูตผีปีศาจ ความเชื่อ ความดี-ความชั่ว เพื่อพาผู้ชมไปค้นหานิยามที่แท้จริงของคำว่า ‘มนุษย์’

นานๆ ครั้ง พื้นที่โอ่โถงอย่างหอศิลป์จะได้จัดแสดงศิลปะแบกะดิน และยิ่งไม่บ่อยเลยที่จะได้เห็นผลงานวางเรียงรายเต็มพื้นเหมือนย้อนไปสู่ยุคขายของบนพื้นสนามหลวง

อภิชาต รอดวัฒนกุล หรือนักเขียนการ์ตูนนามปากกา ‘ลุงอร’ นิยามผลงานของตัวเองว่า “วรรณกรรมชั้นต่ำ” วรรรณกรรมชั้นต่ำนี้แพร่หลายในกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ เฟื่องฟูช่วงเดียวกับโรงหนังสแตนด์อโลน วางขายตามร้านโชห่วยหน้าปากซอย และมีติดร้านเสริมสวยของทุกชุมชนทั่วประเทศ ใครที่เติบโตระหว่างปี 2520-2540 ก็จะคุ้นเคยกันดี ด้วยเนื้อหาและราคาที่เข้าถึงกลุ่มคนทุกชนชั้น การ์ตูนเล่มละบาทจึงครองใจคนไทยอยู่นานหลายสิบปี

ภาพ: ผีกระสือของครูโต๊ด โกสุมพิสัย

ยุคทองของการ์ตูนเล่มละบาทอยู่ประมาณปี 2520 จนถึงก่อนปี 2540 โดยนางเอกดาวค้างฟ้าย่อมหนีไม่พ้น ‘ผีกระสือ’ จากบทสัมภาษณ์สามบรมครูแห่งวงการการ์ตูนผี ได้แก่ ‘โต๊ด โกสุมพิสัย’ ‘ลุงอร” และ ‘แดน สุดสาคร’  ล้วนแล้วแต่เคยวาดผีกระสือกันทุกคน แม้แตกต่างกันในรายละเอียด แต่ยังคงความสยดสยองและลีลาการถอดหัวได้อย่างมีเสน่ห์ตราตรึง

ผลงานในช่วงหลังของ ‘ลุงอร’ นำผีกระสือมาเล่าเป็นโรแมนติกคอมเมดี้ เมื่อ ‘กระสือยุ้ย’ กระสือสาวร่างอวบได้ตกหลุมรักชายหนุ่มคนหนึ่ง เธอจะก้าวข้ามปมในใจไปสู่การยอมรับตัวเองและให้คนรักยอมรับในตัวเธอแบบที่เธอเป็นได้หรือไม่?

เรื่องนี้ถามคำถามง่ายๆ กับผู้อ่าน อาจตีความไปในเชิงการยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน ก้าวข้ามกำแพงของความหลากหลาย สร้างมิตรภาพอันไร้พรมแดน ไม่ว่ากระสือจะมาจากกลุ่ม minority เช่น ผู้พิการ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชาติพันธุ์ ฯลฯ

กระสือก็คือคนไม่ใช่หรือ? เส้นแบ่งใดกันที่จะชี้ชัดว่าอะไรคือผี อะไรคือคน

ความอมตะ

ภาพการ์ตูนเก่าๆ ยังมีความเป็นอมตะ แม้จะวาดภาพผี มีองค์ประกอบคุณไสย แต่ก็ยังคงเล่นแร่แปรธาตุกับกิเลสมนุษย์อยู่เสมอ ผลงานชิ้นนี้สะท้อนความฝันซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มเจนวาย นั่นคือทางลัดสู่ความสำเร็จ และโลกขายฝันที่มีปีศาจเดินดินหลอกล่อคนธรรมดาให้มาติดกับอย่างไม่รู้จบ

ประโยคง่ายๆ สั้นๆ และสีหน้าแววตาจากตัวการ์ตูน สื่อความอึดอัดเดือดร้อน พร้อมจะเปิดโปงปะทะได้ทุกเมื่อ …

คุณค่าของการ์ตูน

โต๊ด โกสุมพิสัย เชื่อว่าการ์ตูนผีที่ดีต้องสอนเรื่องคุณธรรม สะท้อนสังคม และบอกคนอ่านให้ได้ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หรืออย่างน้อยถ้าไม่กลัวความชั่ว ก็ให้กลัวผีมาหักคอ… บรื๊อออส์

ด้าน แดน สุดสาคร เชื่อว่าการ์ตูนสอนให้คนอ่านออกเขียนได้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบอ่านหนังสือเรียน

ขณะที่ ลุงอร เชื่อว่าการ์ตูนคือศิลปะบำบัดและให้ความเพลิดเพลินกับผู้อ่าน

อวสานการ์ตูนเล่มละบาท

สถานการณ์ของการ์ตูนไทยนั้นย่ำแย่ลงเรื่อยๆ เริ่มจากยุคที่การ์ตูนญี่ปุ่นค่อยๆ กินส่วนแบ่งตลาดจนกลายมาเป็นกระแสหลัก ยอดขายเริ่มตกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2540- 2549 และลดลงฮวบทันทีที่สมาร์ทโฟนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคน

กระทั่งปี 2559 เมื่อนักเขียนการ์ตูนแต่ละท่านเข้าไปส่งต้นฉบับ ต่างก็ได้รับแจ้งจากสำนักพิมพ์ว่า “นี่จะเป็นต้นฉบับเล่มสุดท้าย” และต่อไปไม่ต้องมาส่งงานอีก วินาทีนั้นนับเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของนักเขียนจำนวนมาก

โต๊ด โกสุมพิสัย เป็นคนหนึ่งที่ถึงกับเข่าอ่อนจากจุดหักเหนี้ แต่ด้วยความรักในงานศิลปะ เขายังคงรับวาดการ์ตูนและรับปั้นประติมากรรมผี โดยโต๊ดถึงกับยื่นคำขาดว่า “ผมจะตายคาพู่กันนี่แหละ ผมจะไม่ไปทำอย่างอื่น”

จุดจบที่เปิดประตูบานใหม่

สันติ แต้พานิช หรือที่พวกเราเรียกว่า ‘พี่แต้’  ในฐานะแฟนการ์ตูน อยากขุดผีเหล่านี้ขึ้นมาตีความใหม่ จึงได้นำผลงานขาวดำที่เขาชื่นชอบมาขยาย ลงสีเอง รวมถึงใส่แคปชั่นสนุกๆ เข้าไป

หลายต่อหลายชิ้น สันติได้จ้างบรรดาครูนักเขียนการ์ตูนวาดขึ้นตามจินตนาการของเขา เมื่อลายเส้นคมกริบและสีสันแสบๆ ตัดกันจึงเกิดผลงานสดใส เหมาะกับการตกแต่งอาคารอยางที่เห็น

แนวคิดของสันติในการจัดแสดงงานครั้งนี้ คือนำโต๊ะทำงานของนักเขียนการ์ตูนและโต๊ะทำงานของเขาเองมาวางให้คนทั่วไปได้สัมผัส บนโต๊ะมีการ์ตูนและโปสเตอร์วางไว้ให้อ่านเป็นปึกๆ (มีเจลแอลกอฮอล์วางไว้ข้างโต๊ะด้วยนะจ๊ะ)

ในช่วงโควิดที่สื่อทุกแขนงประกาศการ ‘รักษาระยะห่าง’ สันติกลับมองว่าศิลปะในหอศิลป์จำเป็นต้องย่นระยะห่างกับคนดู ระยะห่างที่ว่าคือระยะห่างทางความรู้สึก ศิลปะต้องเข้าถึงคนดูให้มากที่สุด ทำให้คนดูเข้าใจ เล่นสนุกกับงานศิลปะได้ งานนี้จึงมีโพสต์อิทให้คนดูเขียนข้อความถึงผี แล้วนำไปแปะเล่นตามใจชอบ

ระหว่างเดินชมผลงาน พร้อมกับสแกนคิวอาร์ชมภาพยนตร์ ก็มีเสียงโต๊ด โกสุมพิสัยก้องดังในหัว “สิ่งใดก็แล้วแต่ไม่มีใครพูดถึง ไม่มีการสานต่อ มันก็หมดยุคไป” โต๊ดย้ำว่า “ผียังคงอยู่ แต่นักเขียนการ์ตูนไม่อยู่แล้ว” ราวกับเป็นหน้าที่ของคนรุ่นหลังที่จะปลุกการ์ตูนผีเล่มละบาทให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

สันติ แต้พานิช ฝากบอกว่าอย่าลืมกดชมสารคดีที่ลิ้งก์ด้านล่างจะได้ดื่มด่ำกับนิทรรศการนี้อย่างเต็มอิ่ม

Fact Box

Fact Box 

  • นิทรรศการ “ไอ้ผีเล่มละบาท” นำเสนอภาพผลงานศิลปะ กว่า 90 ภาพ และภาพยนตร์สารคดี “ไอ้ผีเล่มละบาท” โดย สันติ แต้พานิช จัดแสดงระหว่างวันที่ 1 – 18 กรกฎาคม 2564 ณ U Gallery ชั้น 2 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน สนับสนุนโดย กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
  • นิทรรศการนี้จะจัดแสดงอีกครั้งที่ 6060 Arts Space ถนนประดิพัทธ์ ในวันที่ 1-31 สิงหาคม 2564
  • ลิงก์สำหรับชมภาพยนตร์ https://www.youtube.com/watch?v=lOo37_j0HZM
Tags: