หากคุณกระดูกสันหลังหัก 2 แห่ง มีสภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม และกล้ามเนื้อฉีกขาดบริเวณคอ 4 แห่ง คุณจะทำอย่างไรต่อ
แน่นอนว่าหลายคนคงเลือกรักษาตัวที่โรงพยาบาลชั้นนำ พยายามทำทุกวิธีทางเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ ทั้งผ่าตัด กินยา กายภาพบำบัด และที่สำคัญคือต้องพยายามหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลัง และกล้ามเนื้อคอมากยิ่งขึ้น
แต่สำหรับเคิร์ต แองเกิล (Kurt Angle) เขากลับเลือกที่จะแข่งขันมวยปล้ำสมัครเล่นนัดชิงชนะเลิศในโอลิมปิคปี 1996 ต่อ
คอลัมน์ Game On สัปดาห์นี้ พาผู้อ่านทุกท่านย้อนรอยกลับไปจุดกำเนิดของเคิร์ต แองเกิล นักมวยปล้ำชื่อดังประจำค่าย WWE ขวัญใจชาวอเมริกัน ว่าอะไรที่ทำให้เขายอมแลกความเป็นความตายของชีวิต เพื่อวัดดวงว่าในอนาคตต้นคอของเขาจะได้ห้อยเหรียญทองหรือประคองไว้ในเฝือกตลอดชีวิตแทน
“แต่กูเคยได้เหรียญทองโอลิมปิกในสภาพที่คอเกือบหักมาแล้วนะเว้ย” คำพูดของเคิร์ต แองเกิลต่อวินซ์ แม็กแมน ผู้ก่อตั้งสมาคม WWF ในวันที่เขาถูกทาบทามมาเป็นหนึ่งในนักมวยปล้ำอาชีพ หลังจากที่วินซ์ได้ยื่นข้อเสนอให้เขากลายเป็นผู้ร้ายในเนื้อเรื่องของ WWF
อะไรที่ทำให้เขาต้องพูดเช่นนั้น แล้วข้อเสนอในการเป็น ‘ตัวร้าย’ ใน WWE คืออะไร ก่อนอื่นเราคงต้องย้อนกลับไปเล่าถึงเส้นทางมวยปล้ำของเขากันสักเล็กน้อย
Olympic 1996
ย้อนไปในวัยเด็ก เคิร์ต แองเกิลสนใจและล้มลุกอยู่กับกีฬามวยปล้ำมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ผลงานของเขามีทั้งแพ้และชนะสลับกันไปตลอดช่วงระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัย ก่อนที่เขาจะสร้างชื่อให้ตัวเองด้วยการคว้าแชมป์ของสมาคมกีฬาระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ National Collegiate Athletic Association ทั้งในรุ่น NCAA Division I All-American (1990–1992) และ NCAA Division I Heavyweight Champion (1990, 1992)
หมุดหมายสำคัญที่ทำให้เขากลายเป็น ‘แชมป์โลก’ ไปโดยปริยาย คือการคว้าเหรียญทองการแข่งขัน FILA World Championships ประเภทฟรีสไตล์ รุ่นไม่เกิน 100 กิโลกรัม ความสำเร็จนี้ทำให้เขาได้กลายมาเป็นนักมวยปล้ำสังกัด Pennsylvanian Foxcatcher Club และเป็นตัวแทนทีมชาติสหรัฐอเมริกาไปแข่งมวยปล้ำในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกประจำปี 1996 ที่จัดขึ้นในสหรัฐอเมริกา บ้านเกิดของเขา
แต่ก่อนหน้านั้น การแข่งขันชิงแชมป์โลกมีเหตุการณ์บางอย่างที่น่าสนใจ ในขณะที่เคิร์ตสามารถโชว์ฝีไม้ลายมือได้อย่างยอดเยี่ยมตามที่ชาวอเมริกันทุกคนฝากความหวัง ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในรอบรองชนะเลิศ เมื่อร่างกายของเขาได้รับการกระแทกอย่างหนักจนแทบยกคอไม่ขึ้น แต่เนื่องจากเกมการแข่งขันยังไม่จบ และคะแนนเขายังเป็นต่อ 3-0 สุดท้ายเคิร์ตใช้แรงฮึดสุดท้าย กลับมาชนะได้ด้วยคะแนน 4-3 ในท้ายที่สุด
แม้เขาจะได้กลายเป็นแชมป์โลก และได้รับตั๋วไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในนามทีมชาติสหรัฐอเมริกา เขาก็จำเป็นต้องพักฟื้นร่างกายให้พร้อมเสียก่อน โดยเฉพาะอาการบาดเจ็บบริเวณคอที่ดูน่ากังวลอย่างมาก สำหรับกีฬาที่มีการล็อกและรัดอวัยวะเช่นนี้อยู่เสมอ
ผลเป็นไปตามคาด หลังจากพบแพทย์ เคิร์ตมีกระดูกสันหลังหัก 2 แห่ง มีสภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม และกล้ามเนื้อฉีกขาดบริเวณคอ 4 แห่ง แน่นอนว่าอาการหนักขนาดนี้แพทย์ได้ออกปากเตือนทันทีว่า จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยด่วนซึ่งต้องทำการพักผ่อนเป็นเวลา 6 เดือน ไม่เช่นนั้นอาจทำให้คอและกระดูกสันหลังมีอาการบาดเจ็บแบบถาวรในไม่ช้า
แต่ในเมื่อโอลิมปิกกำลังจะจัดขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า คำเตือนของแพทย์จึงใช้กับนักกีฬาหัวรั้นแบบเคิร์ตไม่ได้ สุดท้ายเคิร์ตได้ขอให้แพทย์ใช้ยา Novocaine ซึ่งเป็นยาระงับประสาทเฉพาะแห่งขนานหนึ่ง เพื่อประคองความเจ็บปวดให้สามารถยังแข่งขันในเวทีโอลิมปิกต่อไปได้
“ผมจำได้ว่าวันนั้นผมร้องไห้กลางห้องทำงานของหมอที่ดูแลไข้ผมเลย เราคุยกันถึงความสัมคัญระหว่างร่างกายและความฝัน ว่าผมควรเลือกอะไรกันแน่ แม้สุดท้ายแพทย์จะยืนยันให้ผมเข้ารับการรักษาและปฏิเสธการฉีดยาแก้ปวดเพื่อประคองอาการ แต่ในเมื่อเป็นร่างกายของผม ผมเลยขอเลือกเส้นทางที่ตัวผมควรจะเลือกเองดีกว่า ซึ่งก็คือความฝัน
“จนถึงวันนี้ ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าหมอที่รักษาผมเขาฉลาดหรือโง่กันแน่ ที่ยอมปล่อยให้ผู้ป่วยคอจะหักแหล่ไม่หักแหล่มาแข่งมวยปล้ำ” เคิร์ตกล่าวติดตลกในตอนท้าย
แต่การตัดสินใจเพื่อล่าความฝันก็ดูเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง นัดชิงชนะเลิศการแข่งขันมวยปล้ำในกีฬาโอลิมปิก เคิร์ต แองเกิลต้องเจอกับ อัลบาส จาดีดี (Abbas Jadidi) คู่แข่งทีมชาติอิหร่าน ทั้งคู่สู้กันอย่างดุเดือดชนิดที่ลืมอาการเจ็บบริเวณคอและสันหลัง จนสกอร์ออกมาเสมอ 1-1 ในเวลาแข่งขัน ก่อนที่เคิร์ตจะได้รับชัยชนะจากการให้คะแนนของคณะกรรมการในภายหลัง
“ผมคิดว่าตัวเองจะแพ้แล้วด้วยซ้ำ ตอนแรกผมมองภาพตัวเองที่ต้องทรมานกับการฝึกฝนและความเจ็บปวดของร่างกายอีก 4 ปี กว่าจะได้มาลงสนามคว้าเหรียญโอลิมปิกอีกครั้ง แต่พอวันนี้ที่ผมชนะ เหมือนทุกอย่างมันจบแล้ว” เคิร์ตกล่าวแสดงความดีใจ โดยที่ยังไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าตัวเองชนะเพราะอะไร
WWE-Man in the medal
ความสำเร็จของตัวแทนนักกีฬามวยปล้ำที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาได้นั้น ย่อมได้รับการสรรเสริญไปทุกหย่อมหญ้าบนผืนแผ่นดินอเมริกา โดยเฉพาะการคว้าเหรียญทองในงานโอลิมปิกที่จัดบนประเทศตัวเองด้วยแล้วนั้น ยิ่งไปกันใหญ่ ในตอนนั้นชื่อของเคิร์ต แองเกิล ดังกระฉ่อนไปทั่วประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย
ชื่อเสียงของเขาดังจนกระฉ่อนไปถึงวงการมวยปล้ำอาชีพ ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ วินซ์ แม็กแมน ประธานของ WWF (ในขณะนั้น) ตัดสินใจทันทีว่าสมาคมจะพลาดตัวนักสู้คนนี้ไม่ได้เด็ดขาด พวกเขาจึงยื่นข้อเสนอให้กับเคิร์ตแทบจะทันที โดยที่ไม่สนใจเลยว่าแชมป์เปี้ยนคนนี้จะเข้าใจศาสตร์ของมวยปล้ำอาชีพหรือไม่
“ผมไม่เคยดูมวยปล้ำเลย ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครคือสตีฟ ออสติน (Steve Austin)” ความเห็นของเคิร์ตหลังมีคนถามถึงช่วงที่ข้อเสนอในการเป็นนักกีฬามวยปล้ำอาชีพมาถึงตน “ผมเคยเห็นมาโชแมน (Macho Man) อยู่บ้างจากโฆษณา สลิม จิม (Slim Jim) และฮัลค์ โฮแกน (Hulk Hogan) ในการ์ตูนช่วงเช้าสมัยที่ผมยังเด็กเท่านั้น”
โดยในข้อเสนอ วินซ์ต้องการปั้นเคิร์ตให้เป็น ‘ขวัญใขของอเมริกันชน’ อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งถือเป็นบทบาทที่คล้ายคลึงกับเดอะ ร็อก (The Rock) นักมวยปล้ำรุ่นพี่ที่แสดงความยิ่งใหญ่เอาไว้ในยุค 90s ดังนั้นการเป็นขวัญใจในครั้งนี้จึงต้องมีความแตกต่างออกไปอยู่เล็กน้อย
เพราะวินซ์ต้องการคือให้ ‘อเมริกันฮีโร่’ รับบทเป็น ‘คนเลว’
“แต่กูเคยได้เหรียญทองโอลิมปิกในสภาพที่คอเกือบหักมาแล้วนะเว้ย” เคิร์ตโต้เถียงโดยใช้ความพยายามในการคว้าแชมป์โอลิมปิกมาให้ชาวอเมริกันขึ้นอ้าง เพราะเพียงแค่นี้แฟนมวยปล้ำก็น่าจะเห็นถึงความดีงามในตัวจนยกย่องเขาเป็นฮีโร่ฝ่ายธรรมะได้ไม่ยาก แต่วินซ์กลับมองว่าในยุคที่วงการมวยปล้ำเน้นความ ‘แปลกใหม่สุดโต่ง’ เราจะเห็นตัวละครฝ่ายร้ายมักมีคาแรกเตอร์โดดเด่นและถูกจดจำกว่ามาก ยกตัวอย่างเช่น สโตน โคลด์ สตีฟ ออสติน ที่มีภาพลักษณ์นักเลง ชอบชูนิ้วกลาง ดื่มเบียร์ เขาจึงอยากสร้างตัวร้ายในคราบฮีโร่ของชาวอเมริกาอย่างเคิร์ต แองเกิล ให้กลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่สุดของเขาชิ้นหนึ่ง
แน่นอนว่าในบทบาท เหรียญโอลิมปิกคือสัญลักษณ์ที่ใช้ในการตอกย้ำถึงการเป็นตัวร้ายชั้นดี โดยวินซ์ได้เปลี่ยนจากเหรียญทองที่เคิร์ตควรจะมอบให้ชาวอเมริกันทุกคนบนผืนแผ่นดินอเมริกา กลายเป็นเหรียญทองที่เกิดจากความโอ้อวดของตนเพียงลำพัง ที่มาพร้อมกับวลีสุดเจ็บแสบ สร้างความหมั่นไส้ให้กับแฟนคลับได้ไม่ยาก เมื่อเขาเอ่ยปากขึ้นมาว่า “แล้วเหรียญทองของพวกคุณอยู่ที่ไหน”
จนถึงจุดนี้ ผมอยากให้ทุกคนได้เปิดเพลง Medal ดนตรีเปิดตัวเวลาขึ้นสังเวียนของเขา เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงเรื่องราวชีวิตของเคิร์ต แองเกิลในช่วงนี้ของชีวิต
เป็นที่ทราบกันดีว่าผลงานในวงการมวยปล้ำของเคิร์ต ‘กระฉ่อนโลก’ อย่างไม่ต้องสงสัย คาแรกเตอร์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ดนตรีเปิดตัวที่ได้ยินก็ต้องนึกถึง รวมไปถึงท่า Ankle Lock ที่ลูกเด็กเล็กแดงลอกเลียนแบบเอาไปทำตามทั่วบ้านทั่วเมือง เหล่านี้คือความสำเร็จของเขาในฐานะนักมวยปล้ำยิ่งกว่าเข็มขัดแชมป์หลากเส้นที่เขาได้มาตลอดการปล้ำอาชีพเด้วยซ้ำ เพราะสำหรับอาชีพนี้ ความสำเร็จคือเรตติ้งหรือความนิยมของแฟนมวยปล้ำมากกว่า
สุดท้าย เคิร์ตแยกทางกับ WWE ในปี 2006 หลังจากนั้นเขาจึงไปปล้ำให้กับค่าย ECW แล้วก็ออกไปปล้ำให้สมาคมอื่นๆ ทั้ง TNA, NJPW และ Lucha Libre AAA Worldwide โดยในช่วงนั้นเขาประสบปัญหาเกี่ยวกับการบาดเจ็บที่คอเรื้อรังอย่างหนัก เขาเล่าว่าหากวันไหนไม่ได้กินยาแก้ปวด เขาแทบจะลุกไม่ขึ้นหรือแม้กระทั่งจะหมุนคอก็ทำไม่ได้ด้วยซ้ำ
ทุกวันนี้เคิร์ตมีสุขภาพที่ดีขึ้นมาก อาการบาดเจ็บของเขาได้รับการรักษาตามลำดับ และที่สำคัญคือได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ เมื่อไม่ต้องมีคำว่า ‘ความฝันและโอกาส’ มาเป็นตัวเลือกในเส้นทางชีวิตของเขาอีกต่อไป
อ้างอิง
Espn:How Kurt Angle won an Olympic gold medal ‘with a broken freakin’ neck’
Essentiallysports: How Did Kurt Angle Win the Olympic Gold Medal with a “Broken Freakin’ Neck?
Nbcsports: Kurt Angle recalls devastation, exultation of Olympic wrestling gold medal
Tags: Olympics1996, มวยปล้ำ, เคิร์ตแองเกิล, KurtAngle, WWE, ProfessionalWrestling