ปี 2020 คือปีที่มนุษยชาติต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสครั้งใหญ่ที่บังคับให้ทุกคนต้องตีตัวออกห่างกันอย่างไร้ทางเลือก วิถีชีวิตหยุดนิ่งราวกับมีใครบางคนมากดปุ่ม pause เอาไว้ การปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบของคนหมู่มากต้องล้มเลิกไปอย่างน่าเสียดาย ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังในโรงภาพยนตร์ งานคอนเสิร์ต หรือแม้กระทั่งการเล่นสงกรานต์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยมายาวนาน
ธุรกิจอีเวนต์คือธุรกิจที่มีความสำคัญกับอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยว ดนตรี บันเทิง เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหน เราจะพบเจอกับป้ายโฆษณาจนถึงเทศกาลที่ชักชวนให้ผู้คนมารวมตัวกันสร้างประสบการณ์พิเศษ จนกระทั่งวันที่การพบหน้ากันกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายขึ้นมา
The Momentum พูดคุยกับ เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท Index Creative Village ว่า เขาสามารถขับเคลื่อนพาบริษัทผ่านช่วงเวลาที่ไร้ความปรานีต่อธุรกิจอีเวนต์ครั้งนี้ไปได้อย่างไร รวมถึงการปรับตัวสู่ Kill&Klean แฟรนไชส์ที่ให้บริการฆ่าเชื้อทำความสะอาดแบบพรีเมียม
ต่อไปนี้คือบทสนทนาถึงอดีต การปรับตัวในวันนี้ และอนาคตของวงการอีเวนต์ ในมุมมองของนักธุรกิจผู้มีวิธีคิดแบบ ‘หมาข้างถนน’ ที่ไม่เคยหยุดมองหาสิ่งใหม่ และนำกรอบธุรกิจของตัวเองมาครอบล้อมความความคิดสร้างสรรค์
เหตุการณ์ในรอบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไวรัส และการเมือง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจงานอีเวนต์อย่างไรบ้าง
ต้องบอกว่ายิ่งใหญ่ยิ่งเจ็บ มันมีผลกระทบทำให้ทุกคนต้องลดไซซ์ธุรกิจของตัวเองลงมา บริษัทต่างๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกับ Index ก็ต้องเอาคนออกเป็นหลักร้อย บริษัทเล็กก็ต้องลดสเกลตัวเองลงมาอีก เพราะมันอยู่ไม่ได้
ประเทศไทยเริ่มสั่งล็อกดาวน์เมื่อประมาณ 26 มีนาคม 2563 แต่ว่าธุรกิจมันได้รับผลกระทบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แล้วก็โดนยาวมากว่า 6 เดือน ธุรกิจต่างๆ ต้องปิดตัวลง บ้างก็ปิดชั่วคราว 3-6 เดือน เพราะฉะนั้น มันเพิ่งมาฟื้นได้จริงๆ ก็ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม แต่ว่าก็ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางอย่างอยู่ เช่น จำกัดจำนวนคนที่ 4 ตารางเมตรต่อคน หรือ 3 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งมันจัดงานไม่ได้อยู่แล้ว ไม่คุ้ม แม้แต่พวกมอเตอร์โชว์ที่มีการจ่ายเงิน ดีลอะไรไปเสร็จเรียบร้อย แล้วดิ้นรนให้จัดจนได้ สุดท้ายผลตอบรับมันก็ไม่เหมือนเดิม
ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อธุรกิจอีเวนต์มันสูงมาก และมันก็ยังมีผลกระทบอยู่
แล้ว Index ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
สำหรับโมเดลธุรกิจของเราค่อนข้างมีการวางแผนรองรับ impact ไว้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ว่าครั้งนี้มันต่างออกไป ทุกอย่างมันหยุดชะงักไปทั่วโลก สิ่งที่เราเตรียมตัวไว้ว่าจะแตกแขนงออกไปยังต่างประเทศก็ไม่ได้ผล แต่ว่าเราก็ยังไม่ได้รับผลกระทบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเรายังพอมีพอร์ตที่อยู่ในธุรกิจต่างๆ
อย่างเช่น งานถาวร งานนิทรรศการต่างๆ หรือ World Expo ซึ่งเราก็จะกระจายออกไปเพื่อบาลานซ์ว่า เมื่อธุรกิจอีเวนต์มันถูกระงับไว้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้ สิ่งที่เราทำตรงนี้คือการกระจายความเสี่ยงไปยังหลากหลายธุรกิจมากขึ้น
ผมว่าสิ่งนี้มันเป็นแค่อีกหนึ่งเรื่องที่เรายังไม่เคยเจอ เพราะแม้ว่าเราจะพยายามวางแผนเตรียมตัวกันมาสิบกว่าปี ก็ยังไม่พอกับผลกระทบที่มันเกิดขึ้น
ธุรกิจอีเวนต์เป็นธุรกิจที่มีความอ่อนไหวสูงมาก ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต หรือความขัดแย้งทางการเมือง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ต้องเข้าใจว่ามันเป็นธุรกิจที่มีความอ่อนไหวสูงมาก
Index เองก็มองเห็นปัญหานี้มานานแล้ว เราถึงเลือกที่จะแตกแขนงไปยังธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อที่จะให้เราอยู่กับมันได้ ตัวอย่างเช่นตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ธุรกิจบันเทิงก็ต้องหยุดไปนานกว่าปีครึ่ง จัดคอนเสิร์ตอะไรไม่ได้เลย แต่เรามีงานแฟร์ หรืองานคอนเวนชันที่ไม่มีการบันเทิงมันก็ยังทำได้ นอกจากนี้เราก็ขยายตัวไปต่างประเทศด้วย
สิ่งใดบ้างที่คนไม่ได้ตระหนักว่าสูญเสียไปกับธุรกิจอีเวนต์
“อีเวนต์คือการต้องไปเจอกับ ‘ประสบการณ์จริง’ ด้วยตัวเอง มันสั่ง Grab ไปซื้อให้ไม่ได้”
ธุรกิจอีเวนต์ อุตสาหกรรมนี้คนยังมองไม่เห็นภาพใหญ่ของมัน ต้องลองวินิจฉัยคำว่าอีเวนต์ก่อน ว่าพอนึกถึงอีเวนต์แล้วเรานึกถึงอะไรบ้าง
ยกตัวอย่างรัฐบาลสั่งห้ามจัดงานสงกรานต์ ถามว่าสงกรานต์คืออีเวนต์ไหม มันคือเทศกาล มันคือวัฒนธรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ อีเวนต์มันคือไลฟ์สไตล์ มันคือ culture เพราะฉะนั้น ธุรกิจอีเวนต์มันใหญ่กว่าที่หลายคนคิด
อีกอย่างมันยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวเนื่องเยอะมาก อย่างเทศกาลสงกรานต์จะเห็นภาพชัด มันมีเรื่องของการเดินทาง จองที่พัก จ้างศิลปิน ดนตรี เวที อาหาร เครื่องดื่ม อะไรต่างๆ แม้กระทั่งวิถีชีวิตคน ทุกอย่างมันเปลี่ยนหมด
สมมติมีอีเวนต์จัดขึ้น แล้วเราโทร.ไปบอกให้ Grab ไปดูมาให้หน่อย ถามว่ามันใช่ไหม ซื้อกาแฟอะไรอาจจะไปได้ แต่ว่าอีเวนต์มันต้องเจอไปด้วยตัวเอง แม้จะบอกว่าเราออนไลน์กันมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่ทุกคนโหยหามันไม่ใช่แค่การกดหน้าจอ
แล้วไม่คิดหรือว่ายุคนี้ผู้บริโภคอาจจะคุ้นชินกับการอยู่ที่หน้าจอมากกว่าการออกไปข้างนอก
ไม่ ไม่เลย เพราะมนุษย์คือสัตว์สังคม ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่ต้องเที่ยวแล้วสิ ไม่ต้องเดินทาง ดูสารคดีเอาก็ได้ จริงไหม เรายังอยากที่จะเจอเพื่อนตัวเป็นๆ อยู่ เพราะฉะนั้นไม่มีวันที่โลกนี้จะไม่มีอีเวนต์ เพราะว่าคนต้องการ ‘ประสบการณ์จริง’ และมันเป็นสิ่งที่ดิจิทัลมาทดแทนไม่ได้ จะไม่มีทางโดน A.I. มาแทนที่แน่นอน
อีเวนต์มันเป็นปัจจัยที่บอกถึงสถานะทางสังคมของเราด้วย ในวันที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลในชีวิตประจำวันของผู้คนมากๆ มันทำให้เราต้องการคอนเทนต์ อีเวนต์กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เพราะคนไปเพื่อที่จะหาคอนเทนต์ด้วย ถ้าถามว่าในโซเชียลมีเดียคนเราโพสต์อะไรลงไปบ้าง ก็เที่ยว กิน ไปงานไหน งานอะไรเขาก็ถ่ายโชว์ ถ่ายรูปตัวเองลง เพื่อนเห็นก็อยากไปบ้าง อีเวนต์มันเป็นมากกว่าประสบการณ์ มันคือสถานะทางสังคมที่เราแชร์อะไรบางอย่างออกไป และบอกกับคนอื่นว่า “ฉันได้ไปงานนี้แล้วนะ”
“อีเวนต์ที่ดีมันก็กลายมาเป็นแบรนดิ้งของตัวเราด้วย”
แล้วคุณมีวิธีรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่โถมเข้ามาอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการนำบริษัทไปข้างหน้า การหาความครีเอทีฟอยู่ตลอดเวลา หรือการรักษาขวัญกำลังใจของทีม
ช่วงล็อกดาวน์ เราก็ทำงานที่บ้านกันได้ไม่ถึงเดือน เพราะผมยังมีความรู้สึกว่าการได้เจอกันตัวเป็นๆ มันสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้ดีกว่า
การทำงานที่บ้านทางออนไลน์ก็ดีนะ มันสะดวก ผมยังจำได้ว่าประชุมทีก็เรื่อยเปื่อย มันสร้างวัฒนธรรมไม่ได้ ปัจจุบันนี้เราก็ทำงานที่บ้าน 2 วัน และเจอกันตัวเป็นๆ 3 วัน มันคือการปรับตัว การอยู่บ้านมันทำให้คนไม่ตื่นตัว เวลาเจอกันตัวเป็นๆ คนมักจะตื่นตัวมากกว่า
ช่วงวิกฤตหนักๆ เคยรู้สึกมืดแปดด้านบ้างไหม
เราก็เสียหายเยอะมากนะในปีที่ผ่านมา แต่ผมรู้สึกว่า อะไรที่เสียแล้วก็เสียไป ต้องมองว่าเราจะเอาคืนมาได้ยังไงมากกว่า หรือเราจะปรับตัวเรายังไง ถ้าย้อนดูไทม์ไลน์ของเรา เราเป็นองค์กรที่ปรับตัวได้เร็วมากนะ
ยกตัวอย่าง Kill&Klean พอเราเริ่มได้รับผลกระทบเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ปีที่แล้ว สิ่งที่เราปรับตัวคือ เราออกแฟรนไชส์ Kill&Klean ซึ่งถือเป็น hygenic solution จนตอนนี้เรามี 26 แฟรนไชส์ ใน 6 ประเทศ 30 เมืองทั่วโลก แล้วอย่างรวดเร็ว เราเปิดตัววันที่ 21 เมษายน นั่นแปลว่าเราคิดโมเดลธุรกิจภายใน 2 อาทิตย์ ในขณะที่ทุกคนยังล็อกดาวน์อยู่ เราเลือกที่จะแถลงข่าวว่าจะเปิดตัวธุรกิจที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับธุรกิจดั้งเดิมของเราเลย ผลิตเครื่องทำความสะอาดออกมาส่งขายต่างประเทศ อยู่ในบาห์เรน ยูเออี เมียนมา จนปัจจุบันธุรกิจบริการทำความสะอาดของเราก็ออกไปเซอร์วิสถึง 1.5 ล้านตารางเมตรแล้ว เครื่อง Lower Area Disinfecting Passage ก็กลายมาเป็นธุรกิจใหม่ของเรา พอสถานที่ต่างๆ กลับมาเปิด ก็ต้องมาใช้เครื่องของเรา เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างมันสะอาดจริงๆ
แสดงว่า Kill&Klean คือการคืนชีพของ Index
ผมว่ามันบอกได้ถึงความเร็วที่เราสามารถปรับตัวได้ขนาดไหนมากกว่า เพราะว่าเราสามารถทำแฟรนไชส์ ขายแฟรนไชส์ในสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน และเราก็ขายได้จริงๆ แถมขายได้ในหลายประเทศด้วย
ผมว่ามันบ่งบอกถึงอะไรบางอย่างในตัวเรา ซึ่งจริงๆ แล้วเราคือ Creative Business Solution ในวันที่กำลังมีปัญหาในธุรกิจเดิม เราก็สามารถสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ขึ้นมาได้เลยเพื่อตอบโจทย์ แต่ถ้าถามว่ามันคือระยะยาวไหม ผมคิดว่าโควิด-19 น่าจะอยู่กับเราอีกหนึ่งปี และเราก็ปรับตัวเองได้ดีมาก
ในช่วงที่ทุกอย่างพังทลาย ทุกคนได้รับบาดเจ็บกันหมด คุณยังมองธุรกิจคู่แข่งเป็นคู่แข่งอยู่อีกไหม
ตอนที่รัฐบาลบอกว่าสามารถจัดอีเวนต์ จัดคอนเสิร์ตได้แล้ว แต่ว่าต้องจำกัดอยู่ที่ 4 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งไม่มีใครจัดหรอก เพราะว่ามันไม่คุ้ม
วิธีหนึ่งก็คือจ้างทุกคนและขายบัตรแพงๆ แล้วใครจะมีกำลังซื้อไหว เราเลยเกิดสิ่งหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า Friendship Economy คือไม่มี cost เลย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ศิลปิน ค่ายเพลง ซัพพลายเออร์ โปรดักชันทั้งหมด ทุกคนมาเป็นเพื่อนกัน ได้เงินกำไรเท่าไหร่ก็แบ่งกัน เสียเท่าไหร่ก็หารเท่าหมด มันคือปรากฏการณ์ใหม่ จึงกลายมาเป็นคอนเสิร์ตแบบไฮบริดที่มีทั้งออนไลน์และออฟไลน์เป็นครั้งแรก เริ่มที่ เจ เจตริน กับ คริสติน่า อากีล่าร์ จากนั้นก็ตามด้วยเครสเชนโด้ บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์
เคยเอะใจไหมว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่มันอาจจะเป็นการส่งเสริมการระบาดครั้งใหม่โดยไม่รู้ตัว
เราอยู่ในกติกาของ ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) หมด เราต้องส่งแบบแผนให้ตรวจอย่างละเอียด วันจัดงานก็มีคนมาตรวจตลอด ที่ทำแบบนี้ก็เพราะว่าเราต้องการส่งสัญญาณ และต้องการบอกว่ามันสามารถจัดอีเวนต์ได้ เราจะทำให้ดูก่อน เพราะเรากล้าที่จะเสี่ยง
ตอนวันจัดงาน ศบค. ส่งคนมาตรวจ 5 รอบ เห็นจะได้ และเราก็อยู่ในกติกาได้ จนเขารู้สึกว่ามันก็สามารถจัดอีเวนต์ได้ แล้วทุกคนก็เริ่มทำ ต้องบอกว่าเราเป็นผู้นำในธุรกิจนี้จริงๆ และเราก็สามารถที่จะทำแบบที่มีกำไรแบ่งให้ทุกคนได้ด้วย
หลังจากทำคอนเสิร์ตแบบไฮบริดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เคยคิดไหมว่าธุรกิจอีเวนต์จะโดนเทคโนโลยีมาดิสรัปต์
ต้องบอกก่อนว่า อีเวนต์กับดิจิทัลมันกำลังเดินไปด้วยกัน และเชื่อมกันได้ดี หลายคนก็อาจจะมองว่าดิจิทัลจะมาดิสรัปต์อีเวนต์เหมือนกับที่มันได้ทำกับทีวี และสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงอะไรหลายๆ อย่าง
แต่สำหรับผม ก็เหมือนที่พูดมานานแล้วว่าทุกอย่างมันซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน มันเป็นไฮบริด โลกมันจะเชื่อมอีเวนต์ออนไลน์กับออฟไลน์ให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ ซึ่งอีเวนต์ก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ทำยังไงให้ตอบโจทย์คนที่ต้องการให้อีเวนต์กลายมาเป็นคอนเทนต์ในชีวิตของคนที่อยู่บนโลกโซเชียลฯ ได้ มันต้องสวย มันคือการดีไซน์อีเวนต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตคน
แล้วโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้อีเวนต์ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นจากเมื่อก่อนไหม
ไม่ มันดึงลงมากกว่า เพราะว่ามันเป็นตัวที่ไปลดการเดินทางของคนไม่ให้มางานต่างๆ ทั้งที่รัฐบาลเขาก็พยายามช่วยเยอะนะ ทั้งโครงการเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง แต่โจทย์ของเราก็คือ ทำยังไงให้เขาอยากมางานเรามากกว่า
ปี 2020 สอนอะไรให้คุณบ้าง
ในโลกที่ไม่มีความแน่นอน มีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ มันก็กลับมาสอนเราว่า แม้สิ่งที่เราพยายามเตรียมตัวมาเป็นสิบปีก็ยังไม่เพียงพอ เพราะสุดท้ายก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สิ่งที่เราต้องทำคือ การทำอะไรก็ได้เพื่อลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด นั่นคือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และปรับตัว องค์กรที่จะอยู่ได้ต่อไปคือองค์กรที่เรียนรู้ที่จะปรับตัวได้เร็ว
ความเร็วเป็นเรื่องสำคัญ ความคิดสร้างสรรค์ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เราพยายามหาช่องทางใหม่ๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราได้เรียนรู้ในปี 2020 ที่ผ่านมาก็คือ เราต้องเพิ่มความหลากหลายในช่องทางของธุรกิจของเราให้มากขึ้น ต้องหาไอเดียใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ๆ ที่สำคัญที่สุดก็คือต้องเร็ว
ทั้งหมดนี้แสดงถึงบทบาทที่เปลี่ยนไปของธุรกิจในยุคใหม่ไหม ที่ต้องเป็นฝ่ายวิ่งเข้าหาผู้บริโภคเองมากกว่าการรอให้ผู้บริโภคเข้ามาหา
ไม่ครับ ผมเชื่อว่าธุรกิจมันต้องหาไอเดียใหม่ๆ หาช่องว่างใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น
ยกตัวอย่างปลายปีที่แล้ว เราเปิดตัว Anya ภายใต้หลักการ ‘Bring Hospital to Hotel’ เพราะเรามองว่าทำไมคนเราต้องไปโรงพยาบาลสำหรับหลายๆ การปฏิบัติทางการแพทย์
พอเห็นอย่างนั้น เราก็เลยเปิดตัว Sleep Test ที่สามารถมาทำได้ที่โรงแรม ถ้าจำได้ กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ ก็มาใช้บริการของเรา ซึ่งเขาก็ไปทำ Sleep Test ที่โรงแรมเพนนินซูลา จริงๆ แล้วกอล์ฟก็รู้ตั้งนานแล้วว่าเขามีปัญหา แต่ว่าไม่อยากไปทำที่โรงพยาบาล เขาก็เลยเลือกมาทำกับเรา แล้วมันก็ได้ผลมาก
Sleep Test มันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เราแค่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการหาโอกาสใหม่ๆ เพราะเห็นว่าโรงแรมมันว่างอยู่ และโรงพยาบาลก็มีปัญหา ทำไมเราไม่จับมันมาเจอกัน ซึ่งพอเราเสียบเข้าไปตรงกลาง เราทำการตลาด มันก็ได้ผล
แสดง creativity สำคัญกว่าผลลัพธ์
เราทำคอนเซ็ปต์ให้ดี คนก็วิ่งมาหาเราเอง ลูกค้าก็ติดต่อเข้ามา เพราะว่าเมื่อก่อนธุรกิจเราคือ B2B (Business to Business) แต่ตอนนี้ธุรกิจของเราก้าวข้ามมาเป็น B2C (Business-to-Consumer) หมดเลย แล้วทำสินค้าหรือบริการของเราให้น่าสนใจก็พอ ผมถึงบอกว่า creativity นั้นสำคัญ และเราต้องหาว่าตลาดกำลังขาดอะไร
คุณมองภาพธุรกิจอีเวนต์ในปี 2021 เป็นอย่างไร
ผมว่าคนก็ยังปรับตัวกันไม่ค่อยได้ เพราะหลายๆ คนก็เพิ่งกลับมาเริ่มเดินหน้าธุรกิจอีกครั้ง ซึ่งพอมาเจอระลอกที่สองอีกก็คงจะเหนื่อยอีก แล้วไม่รู้ว่ามันจะหายไปเร็วแค่ไหน
ส่วนตัวผมคิดว่า ธุรกิจอีเวนต์จะกลับมาเต็มรูปแบบจริงๆ ก็คงปีหน้าเลย ปี 2022 เพราะการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมา คนก็เดินทางกันได้มากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าวัคซีนจะได้ผลแค่ไหนด้วย
คุณเคยบอกว่ามีคติการบริหารธุรกิจแบบ ‘หมาข้างถนน’ ทุกวันนี้ทุกคนโดนผลกระทบจนมีสภาพเหมือนหมาข้างถนนกันหมด วิธีคิดแบบนี้ยังคงใช้ได้ผลอยู่หรือเปล่า
หมาข้างถนนมันคือการดูแลธุรกิจแบบระมัดระวังตัวเองตลอดเวลา หลายคนเป็นหมาข้างถนน แต่ก็ยังไม่ได้ใช้ชีวิตแบบหมาข้างถนนจริงๆ
ถ้าเอาคำจำกัดความของหมาข้างถนน คนก็คงจะมองได้ 2 แบบ คือทำธุรกิจอยู่ดีๆ แล้วก็เจ๊งไป แต่มิติของผมไม่ใช้แบบนี้ สำหรับผมคือการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และมองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ บางคนเคยมีธุรกิจพันล้าน ตอนนี้เหลือแค่ร้อยล้าน เป็นหมาข้างถนน แต่ยังใช้ชีวิตแบบหมาคุณหนูอยู่ ยังคุ้ยขยะไม่เป็น หาอะไรใหม่ๆ ไม่ได้ ก็อยู่ไม่ได้
Tags: 2021, ธุรกิจ, Business, อีเวนต์“ความเร็ว และความคิดสร้างสรรค์ คือสิ่งที่สำคัญที่สุดของยุคนี้ และผมมั่นใจว่าผมเร็วพอ”