หรือภาพรวมเสรีภาพสื่อของโลกกำลังสั่นคลอน เมื่อนักข่าวในประเทศจีนถูกรัฐบาลรวบตัวอีกครั้ง ในข้อหาต้องสงสัยเป็นภัยต่อความมั่นคง

หลังจากสำนักข่าวชื่อดังอย่าง บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รับทราบถึงการขาดการติดต่อกับนักข่าวสาวคนหนึ่งที่อยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนไปนานหลายวัน จนท้ายที่สุดก็ทราบข่าวว่านักข่าวที่หายตัวไปถูกทางการจีนควบคุมตัวในข้อหาว่าอาจเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ  จนถึงเวลานี้นักข่าวคนดังกล่าวก็ยังไม่ได้ถูกปล่อยตัว ท่ามกลางความกังวลของสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่าสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อที่อาจจะถูกลิดรอนไปเรียบร้อยแล้ว

ฮาเจ๋อ ฟ่าน หรือ เฮซ ฟ่าน (Haze Fan) คือนักข่าวหญิงชาวจีนที่ทำงานให้กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กประจำประเทศจีน ก่อนจะย้ายมาทำข่าวกับบลูมเบิร์ก เธอเคยเป็นนักข่าวให้กับสำนักข่าวชื่อดังหลายเจ้า อาทิ รอยเตอร์ (Reuters) อัลจาซีรา (Aljazeera) ซีเอ็นบีซี (CNBC) ปัจจุบันอาศัยอยู่ในกรุงปักกิ่งและทำข่าวเศรษฐกิจเป็นหลัก ทว่าในวันที่ 7 ธันวาคม 2020 อยู่ ๆ ฟ่านก็ขาดการติดต่อกับบรรณาธิการตั้งแต่ช่วงบ่าย ก่อนจะทราบเบาะแสว่ามีพยานพบเห็นหญิงสาวลักษณะคล้ายฟ่านถูกกลุ่มชายฉกรรจ์พาตัวออกจากที่พัก ทางสำนักข่าวจึงไปแจ้งความกับตำรวจ ก่อนจะพบว่ากลุ่มชายที่พาตัวเธอไปคือเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ และพวกเขาจำเป็นต้องควบคุมตัวเธอ เพราะเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อหาใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง

ไม่กี่วันหลังจากฟ่านถูกจับกุม โฆษกของสำนักข่าวบลูมเบิร์กออกแถลงการณ์แสดงความกังวล และระบุว่าอยู่ระหว่างเร่งเจรจากับรัฐบาลปักกิ่งเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และหวังอย่างยิ่งว่าฟ่านที่ถูกควบคุมตัวอยู่จะได้รับการดูแลตามหลักการคุ้มครองสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย

หลังบลูมเบิร์กตีข่าวการถูกจับของนักข่าว วันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ ระบุว่าเจ้าหน้าที่ของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะได้ควบคุมตัวฟ่านจริง เนื่องจากเธอมีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับกิจกรรมที่บ่อนทำลายชาติ  แต่ยืนยันว่าฟ่านจะได้รับการดูแลอย่างดีจากรัฐบาลตามหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนตลอดการสอบสวน พร้อมกับทิ้งท้ายตักเตือนสหภาพยุโรป (EU) ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปักกิ่งปล่อยตัวฟ่าน ควรให้เกียรติต่อกระบวนการยุติธรรมและอำนาจอธิปไตยของจีน เพราะรัฐบาลจะปกป้องพลเมืองจีนทุกคน และขอให้สื่อต่างประเทศยุติการเผยแพร่ข่าวที่ขาดความรับผิดชอบ

กฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อของจีนระบุไว้ชัดเจนว่า ประชาชนชาวจีนที่เกิดในประเทศจีนหรือมีสัญชาติจีน จะได้รับอนุญาตให้ทำงานเป็นผู้ช่วยของสำนักข่าวต่างประเทศที่มีฐานที่ตั้งอยู่ในประเทศจีนเท่านั้น และจะไม่ได้รับอนุญาตให้รายงานข่าวอย่างอิสระ ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน รัฐบาลปักกิ่งออกมายืนยันว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ควบคุมตัวนักข่าวหญิงชาวออสเตรเลียเชื้อสายจีน เฉิง เล่ย (Cheng Lei) นักข่าวสายเศรษฐกิจของสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางภาคภาษาอังกฤษ (CGTN) ฐานต้องสงสัยว่ามีการกระทำที่ส่งผลต่อความมั่นคง และโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ออกแถลงการณ์ตักเตือนสื่อมวลชนต่างชาติให้ปฏิบัติตามกฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีน

การจับกุมตัวผู้สื่อข่าวเชื้อสายจีนที่ทำงานให้สำนักข่าวต่างประเทศแต่อาศัยอยู่ในประเทศจีนยังคงมีต่อไปเรื่อย ๆ ท่ามกลางความสงสัยใคร่รู้ของชาวต่างชาติว่าเพราะเหตุใด นักข่าวที่ถูกจับกุมตัวในข้อหาต้องสงสัยเป็นภัยต่อความมั่นคงส่วนใหญ่ถึงได้มีแต่นักข่าวสายเศรษฐกิจ ท่ามกลางการจัดอันดับเสรีภาพสื่อที่จัดโดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders – RSF) ที่ในปีนี้จัดให้จีนอยู่ในอันดับที่ 177 จากทั้งหมด 180 อันดับ เป็นประเทศที่ถูกมองว่ามีเสรีภาพสื่อมากกว่าดินแเดนอีกเพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ เอริเทรียในทวีปแอฟริกา เติร์กเมนิสถาน และเกาหลีเหนือ ตามลำดับ

 

ที่มา

https://rsf.org/en/ranking

https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-12-11/chinese-authorities-detain-bloomberg-news-beijing-staff-member?utm_campaign=socialflow-organic&utm_medium=social&utm_content=business&cmpid=socialflow-twitter-business&utm_source=twitter

https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-12-11/chinese-authorities-detain-bloomberg-news-beijing-staff-member

https://www.scmp.com/news/china/politics/article/3113602/chinese-authorities-detain-bloomberg-news-employee-suspicion

https://www.bbc.com/news/world-asia-china-54070709

https://www.bbc.com/news/world-asia-china-55298328

Tags: , , , , , , , , ,