“วันนี้ครบ 100 วันที่แม่ผมเสีย ผมตั้งใจจะทำบุญในวัดชนะสงคราม เจอกันในวัดแล้วกัน”
ข้อความของ ‘เอกชัย หงส์กังวาน’ เด้งขึ้นมาในไลน์ หลังจากเราโทรขอนัดสัมภาษณ์
เวลานัดหมายคือ 14.30 นาฬิกา ของวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน ตรงกับวันที่ ‘คณะราษฎร’ ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีภารกิจเขียน ‘จดหมายถึงพระมหากษัตริย์วชิราลงกรณ์’ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พร้อมกับเตรียมเคลื่อนขบวนไปยังพระบรมมหาราชวัง
เอกชัยมาตรงเวลานัด เขาตัดผมสั้นเกรียนเหมือนเด็กนักเรียน สวมเสื้อยืดสีขาวลายการ์ตูนนายพลชื่อดังที่ใส่ ‘นาฬิกาเพื่อน’ นุ่งกางเกงขาสั้น สวมรองเท้าแตะ สะพายย่ามเก่า ๆ หนึ่งใบ เดินพาร่างสูงเก้งก้างเข้ามา แววตาแข็งกระด้างเหมือนไม่ไว้ใจคนแปลกหน้า
บรรยากาศยามบ่ายในอุโบสถวัดชนะสงครามนั้นเงียบสงบ หลังจากถวายสังฆทาน รับพร แล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แม่ เอกชัยก็ดูผ่อนคลายขึ้น
“ฉันเป็นคนไม่มีศาสนา ปกติไม่เข้าวงเข้าวัดหรอก แต่นี่ม้า (แม่) แกขอไว้ก่อนจะเสีย วันนี้ไหนๆ ก็มาแล้ว ครบ 100 วันพอดี ก็รู้สึกว่า การที่ได้ออกจากคุกรอบนี้ในคดี 110 อาจจะเป็นป๊ากับม้าที่เสียไปมาดลใจให้ได้ออก เพราะมันเหลือเชื่อมากนะ ออกมาโดยที่ไม่ต้องประกันตัวด้วย”
เสียงหัวเราะดังลั่น รอยยิ้มเต็มใบหน้าจนเห็นตีนกาของชายวัย 45 ที่เพิ่งออกจากคุกหลังถูกคุมขังนานกว่า 17 วัน ในคดีประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 คดีอุกฉกรรจ์ที่มีโทษจำคุกสูงสุด 16-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 14 ตุลาคม 2563 วันแรกของการชุมนุมของคณะราษฎร เอกชัยไป ‘สังเกตการณ์’ เพียงลำพัง ท่ามกลางผู้ชุมนุมมากมายที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนขบวนจะเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาลในช่วงเย็น แต่ถูกสกัดไว้ที่แยกนางเลิ้ง ผู้ชุมนุมบางส่วนรวมทั้งเอกชัย จึงเดินล่วงหน้ามายังสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล
ตอนนั้นเองรถยนต์พระที่นั่งแล่นผ่านกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างช้าๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจถวายการอารักขา ตั้งแถวเปิดเส้นทางและวิ่งเหยาะๆ ประกบขณะขบวนเสด็จฯ จากคลิปวีดีโอที่โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ประทับอยู่ในรถยนต์พระที่นั่ง ซึ่งตามหมายกำหนดการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ แทนพระองค์ไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชโอรสวรารามและวัดอรุณราชวรารามในเวลา 17.50 น.
“วันนั้นไม่รู้เลยว่ามีขบวนเสด็จฯ ตอนแรกมาม็อบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พอบ่ายสองก็เคลื่อนมาทำเนียบ ปรากฏว่าโดนสกัดที่แยกนางเลิ้ง ฉันก็พยายามหาทางเลาะออกมาจากตรงนั้นให้ได้ เจอซอยแคบ ๆ ทะลุมาถนนพิษณุโลก ก็เลยเดินไปทำเนียบพร้อมผู้ชุมนุมคนอื่นๆ
“ตอนนั้นเห็นแล้วว่า มีตำรวจตระเวนชายแดนสองกองร้อยมายืนตั้งแถว เอาแขนเกี่ยวเป็นกำแพง ก็คิดในใจแล้วว่าสงสัยจะเตรียมมาไล่คน พอตั้งแถวเสร็จก็เดินเรียงกันเข้ามา ฉันยืนอยู่กลางถนนพอดี เลยติดอยู่ตรงนั้น คนก็แห่กันลงมาช่วยดันตำรวจ ดันกันไปดันกันมา ตรงตีนสะพานชมัยมรุเชษฐ จู่ๆ ขบวนเสด็จฯ ก็โผล่มาจากไหนไม่รู้ มาจากด้านหลังแนวของตำรวจ ตชด.”
เอกชัยย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ขบวนเสด็จฯ เคลื่อนผ่านผู้ชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม จนกลายเป็นข่าวใหญ่ทั่วประเทศ และทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในสามบุคคลที่ถูกออกหมายจับในคดีประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110
“5 โมงเย็นวันต่อมา มีข่าวว่าออกหมายจับฉันแล้ว ทุ่มนึง ตำรวจ สน. ลาดพร้าวโทรมาเลย เอาไง จะให้ไปคืนนี้หรือพรุ่งนี้ ตำรวจเขาจะมาหาที่บ้าน ก็เลยบอกว่าขอเป็นพรุ่งนี้แล้วกัน 9 โมงเช้า วันนี้มันฉุกละหุกไปหน่อย ขอปรึกษาทนายก่อน
“รุ่งขึ้นประมาณ 8 โมง คุณสมยศ (พฤกษาเกษมสุข) ขับรถมาหาที่บ้าน เขาเป็นห่วง บอกว่าไม่ต้องไป สน. ลาดพร้าวแล้ว ไป สน. ดุสิตเลย คดีมันอยู่ที่ สน. ดุสิต จะเสียเวลาทำไม ฉันก็โพสต์เฟซบุ๊กว่าจะไป สน. ดุสิต ปรากฎว่าตำรวจมาดักจับดักกลางทางเลย ผู้กำกับมาเอง โวยวายใหญ่ ชี้หน้าด่า ‘คุณรู้ไหม คดีของคุณมันร้ายแรงแค่ไหน’ แล้วก็ชี้ไปที่เพื่อนฉันอีกคนกับคุณสมยศ หาว่าพาฉันหลบหนี สุดท้ายโดนจับไป สน. ลาดพร้าวกันหมด เช็กไปเช็กมา คุณสมยศมีหมายจับคดี 116 ยุยงปลุกปั่นที่สนามหลวง เลยซวยไปด้วย”
เอกชัยยืนยันว่าไม่รู้มาก่อนว่าจะมีขบวนเสด็จฯ ในวันที่ 14 ตุลาคม ตำรวจก็ไม่ได้ประกาศว่าจะมีขบวนเสด็จฯ เขาเชื่อว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นถูก ‘วางแผน’ ไว้ล่วงหน้า
“ตอนที่ข่าวออกว่าโดนหมายจับคดีประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี ยังคุยกับทนายเลยว่ามีข้อหานี้ด้วยหรือวะ ไม่เคยได้ยินมาตรา 110 มาก่อน ปกติจะรู้จักแต่ 112 แล้ว 110 คือข้อหาอะไรวะ พอไปดูโทษ โอ้โหหหห (ลากเสียงยาว) จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 16-20 ปี หนักกว่า 112 เสียอีก ทนายบอกว่ายังไม่เคยมีใครโดนข้อหานี้มาก่อน เราก็คิดในใจเป็นเกียรติประวัติกูรึเปล่า ตอนรัชกาลที่ 9 กูโดน 112 พอรัชกาลที่ 10 โดน 110 เป็นคนแรก และอาจจะเป็นคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่โดนขนาดนี้
“จริงๆ ฉันแค่ไปร่วมม็อบเท่านั้นเอง ไม่ได้ทำอะไรเลย คดีขบวนเสด็จฯ ข้อกล่าวหานี่ชื่อฉันคนแรก เอกชัยกับพวก งงเลย เหมือนเขาจะให้เราเป็นแกนนำทุกครั้ง เหมือนตั้งใจเล่นงาน เหมือนมีธงไว้แล้ว ก่อนหน้านี้มีเอกสารบุคคลที่ต้องจับตามองหลุดออกมา เป็นรายชื่อของพวกแกนนำ แล้วก็เป็นรายชื่อของพวกที่ไม่ใช่แกนนำแต่ถูกจับตา ฉันก็จะติดอยู่ในโผทุกครั้ง
“เป็นความซวยของฉันแล้วกันที่เดินเข้าไปอยู่ตรงนั้น ฉันไม่รู้จักใครสักคน ทั้งฟรานซิส (บุญเกื้อหนุน) ทั้งสุรนาถ (แป้นประเสริฐ) ตอนแรกดูรูปฟรานซิส ใครวะ พอมาเจอที่ ตชด. ก็อ๋อ คนนี้เองที่วันนั้นเขาถือโทรโข่ง ส่วนสุรนาถนี่โดนทีหลัง ไม่รู้จักกันเลย
“ตอนถูกควบคุมตัวไปที่ ตชด. เขาเอาใบข้อกล่าวหามาให้อ่าน โมโหมาก มันบรรยายซะแบบ โห ฉันพาคนลงถนน กูไม่ได้ทำอะไรเลย กูยืนอยู่เฉยๆ คนมันลงไปเอง ไอ้ที่เขียนมันไม่ตรงกับความจริง แล้วจำได้ว่าโดนจับ ฉันได้ยินตำรวจพูดถึงนายที่ชื่อ ‘ป.’ เรารู้ว่า ป. คือใคร เลยมั่นใจว่านี่คือการวางแผนเล่นงาน ฉันโมโหเลยบอกฟรานซิสว่าออกไปได้เมื่อไหร่ กูล่อพวกนี้แน่”
เอกชัยถูกควบคุมตัวไว้ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นเวลา 1 คืน จากนั้นถูกส่งตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครอีก 17 คืน รวมเป็น 18 วันที่สูญสิ้นอิสรภาพ สุดท้ายเขาถูกปล่อยตัว พร้อมกับสมยศ พฤกษาเกษมสุข สุรนาถ แป้นประเสริฐ และอานนท์ นำภา หลังจากศาลยกคำร้องฝากขัง
สิ่งแรกที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนนี้ทำ คือ เดินขึ้นโรงพัก แจ้งความดำเนินคดีกับพลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพลตำรวจโท ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ด้วยความผิดตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หลังจากปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ขบวนเสด็จฯ เคลื่อนผ่านผู้ชุมนุม
“ฉันเชื่อว่าเป็นการจงใจให้ขบวนเสด็จฯ เคลื่อนผ่านผู้ชุมนุม เพื่อนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ในฐานะ ผบ.ตร. และ ผบช.น. ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบครั้งนี้ได้”
ในบ่ายคล้อยของต้นฤดูหนาวเช่นนี้ อากาศเย็นสบาย แต่ถนนรามบุตรีกลับเปล่าเปลี่ยวไร้ผู้คน ทั้งที่เป็นวันหยุด ทั้งที่เป็นช่วงไฮซีซัน แต่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านมาให้เห็นเลย เอกชัยเดินทอดน่องไปเรื่อยเปื่อย บางจังหวะหยุดโบกไม้โบกมือทักทายชาวบ้านที่ตะโกนเรียกชื่อส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจ
“คนจำฉันได้ก็มีเยอะนะ เขาก็มาทักว่าใช่คุณเอกชัยไหม ผมให้กำลังใจนะครับ ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายเรานี่แหละ แต่จะมีอีกพวกที่ไม่ชอบเรา เวลาขึ้นรถเมล์ เขาก็หันมาจ้องเรา คงรู้ว่าเราเป็นใคร ดูจากสายตาก็รู้ แต่ไม่อยากด่าเท่านั้นเอง”
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เอกชัยถือเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองสไตล์ ‘ฉายเดี่ยว’ ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องและเรียกเสียงฮือฮาแทบทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการมอบ ‘นาฬิกา’ ให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงที่มีกระแสข่าวครอบครองนาฬิกาหรู อยู่ในชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ร้องเรียนนายแพทย์เหรียญทอง แน่นหนา ต่อแพทยสภา รณรงค์เข้าชื่อถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือบุกสาดน้ำมนต์หน้ากองทัพบก
แต่ขณะเดียวกัน รางวัลที่เอกชัยได้รับกลับมาคือการถูก ‘ลอบกัด’ จากผู้ไม่หวังดี ทั้งโทรศัพท์ขู่เอาชีวิต ถูกปาแก้วน้ำใส่ขณะลงจากรถเมล์ ถูกสาดน้ำปลาร้าใส่ ถูกดักชกจนปากแตก ถูกดักตีหัวแตก ถูกชายฉกรรจ์สามคนรุมใช้ไม้หน้าสามตีจนกระดูกนิ้วมือแตก จนถึงขั้นทุบกระจกและเผารถยนต์ที่จอดไว้หน้าบ้านจนเสียหาย รวมกว่า 7 ครั้งภายในปีเดียว
“ตั้งแต่ออกจากคุกรอบนี้ ตำรวจตามประกบติดเลย มาที่บ้านทุกวัน วันละ 5 รอบ ฉันตื่นเช้ามาเปิดประตูบ้าน เขาก็เดินมาถามเลยว่า วันนี้พี่จะไปไหนรึเปล่า พี่จะไปม็อบไหม บางทีไปส่งด้วย นี่ก็ให้เขาขับรถมาส่ง จะกลับค่อยโทรบอก เขาก็รับกลับบ้าน (หัวเราะ) ฉันผ่านอะไรมาเยอะแล้ว เป็นคนที่คุ้นชินกับกับตำรวจ โรงพัก ศาล คุก ก็เลยเฉยๆ เรื่องโดนตำรวจตาม เหมือนกับเขามาเฝ้า ไม่ได้มองว่าเขาคุกคาม
“เมื่อก่อนก็ใช้ชีวิตธรรมดา ชอบขึ้นรถเมล์ไปไหนมาไหน แต่พอโดนดักตีดักต่อยหลายหนก็นั่งรถเมล์ไม่ได้แล้ว เปลี่ยนมาขับรถ พอขับรถ มันก็มาดักตีตอนเราจะขึ้นรถอีก หลังๆ มันเผารถเลย เดี๋ยวนี้ต้องระวังตัว บ้านฉันติดลูกกรงมากว่าร้านขายทองเสียอีก กล้องวงจรปิดก็มี แต่ที่โดนมักโดนนอกบ้าน ฉันไม่กลัวนะ แต่โกรธ โกรธตรงไอ้ที่ตีเรา เผารถเรา รวมถึงไอ้คดีต่างๆ ที่โดนเนี่ย ฉันไม่ได้ทำอะไรร้ายแรงเลย”
ปัจจุบัน เอกชัยตกเป็นจำเลยรวม 9 คดี (จบไปแล้ว 3 คดี) แบ่งเป็น ความผิด พ.ร.บ. การชุมนุม 3 คดี จากกิจกรรมคนอยากเลือกตั้ง ผิด พ.ร.บ. การชุมนุม 1 คดี จากกิจกรรมเปิดเพลง ‘ประเทศกูมี’ หน้ากองทัพบก คดีแจ้งความเท็จ 1 คดี หลังแจ้งความว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ทำผิดมาตรา 113 คดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา 1 คดี หลังประท้วงหน้ากองทัพบกแล้วไลฟ์สดว่า “ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา กองทัพไม่เคยรบชนะเลย” ผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2 คดี จากการโพสต์เรื่องกองทัพไม่เคยรบชนะและการโพสต์เรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ ถูกกล่าวหาว่าข้อความที่โพสต์เป็นข้อความลามกอนาจาร และล่าสุด ผิดกฏหมายอาญามาตรา 110 จากเหตุการณ์ขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
“ชีวิตฉันไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว ฉันเรียนจบบริหารธุรกิจ เคยทำงานขายหวยบนดิน พอมาโดนคดี 112 ก็ต้องเอากฎหมายอาญามาอ่าน สงสัยอะไรก็ถามทนาย ตอนนี้ก็เลยรู้เรื่องข้อกฎหมายพอสมควร ไม่ค่อยห่วงเท่าไร เรารู้ว่าทำอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย แต่มันก็พยายามจะหาอะไรมายัดให้ตลอด แต่ถึงมายัด เราก็ไม่ได้กลัว เพราะเรามั่นใจว่าสู้ไปก็รอดอยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้ทำผิดตามที่เขากล่าวอ้าง”
ในมุมมองอดีตนักโทษคดีหมิ่นสถาบัน ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการจำหน่ายวีซีดีสารคดีเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของไทย ซึ่งจัดทำเผยแพร่โดยสถานีโทรทัศน์แห่งชาติออสเตรเลีย (ABC) และเอกสารวิกิลีกส์ จนต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน
เอกชัยมองว่า การเคลื่อนไหวของม็อบคนรุ่นใหม่ในขณะนี้ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ถูกเรียกว่าเป็นการ ‘ขยับเพดาน’ ครั้งสำคัญของสังคมไทย ถือเป็นความกล้าหาญมากๆ
“เด็กยุคนี้มันกล้า เป็นครั้งแรกที่ได้ยินว่ามีการพูดถึงการปฏิรูปสถาบัน เมื่อก่อนไม่เคยมีใครกล้าพูด สมัยก่อนคดี 112 เงียบกริบ แทบจะไม่เป็นข่าว คนไม่พูดถึง แม้แต่อยู่ในคุกก็แทบไม่มีใครรู้จักเลยว่าคดี 112 คืออะไร มาตอนนี้เพดานมันขยับอย่างที่เราเห็น ในโซเชียลฯ คนก็กล้าพูดถึงชัดๆ นักวิชาการกับสื่อก็รายงาน ฉันต่อสู้มาเป็น 10 ปี แต่วันหนึ่งมันขยับขึ้นในช่วงระยะเวลาแค่ 2-3 เดือน โอ้โห แตกต่างราวฟ้ากับดินเลย
“ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ทุกอย่างต้องเปลี่ยนตาม คุณไม่สามารถฝืนกระแสโลกได้ แต่สถาบันกษัตริย์เป็นอย่างเดียวที่แทบจะไม่เคยเปลี่ยนเลย อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น สวนทางกับยุคสมัย อย่างน้อยก็ขอให้เป็นเหมือนต่างประเทศ วิจารณ์ได้ ตรวจสอบได้ ควบคุมการใช้จ่ายได้ ไม่ใช่ว่าตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย วิจารณ์อะไรไม่ได้เลย พูดถึงไม่ได้เลย เอะอะก็ถูกแจ้งความดำเนินคดี ถูกจับติดคุก ยุคนี้มันไม่ใช่แล้ว”
เวลาล่วงเลยเข้าสี่โมงเย็น บรรยากาศรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเกิดความเคลื่อนไหวคึกคัก ขบวนรถตู้ติดสัญลักษณ์โล่เขนแล่นผ่านเป็นขบวนยาว เจ้าหน้าที่ตำรวจกั้นแนวรั้วปิดถนนในหลายจุด
เอกชัยเหม่อมองไปบนท้องถนนที่คลาคล่ำไปด้วยคนหนุ่มสาวสวมหน้ากากอนามัย บ้างถือหมวกนิรภัย มีแว่นตากันน้ำห้อยคอ มุ่งหน้าไปยังสถานชุมนุมที่อยู่ไม่ไกล
“ม็อบนี้มาไกลกว่าที่ฉันคิดเยอะ ตอนแรกประเมินว่าประเดี๋ยวก็คงจบ แต่นี่ลากยาวเกือบสี่เดือนเข้าไปแล้ว ไม่เคยเจอม็อบในลักษณะนี้ ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นฝ่ายแดงฝ่ายเหลืองมันจะเป็นม็อบที่จัดตั้ง มีแกนนำ แต่คราวนี้ชัดเจนว่าไม่มีการจัดตั้ง ไม่มีแกนนำ
“ฉันไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้เห็นม็อบแบบนี้ แถมคนที่ทำนั้นเป็นเด็กทั้งนั้นเลย สมัยก่อนเวลาไปม็อบเห็นแต่ผู้ใหญ่ มีแต่คนแก่ ๆ พวกหน้าเดิม ๆ ยังคิดเลยว่า ถ้าพวกรุ่นนี้ตายกันไปหมดจะมีใครมาเคลื่อนไหววะ ปรากฎว่าเด็กมาเยอะกว่าอีก ก็รู้สึกใจชื้น รู้สึกเหมือนกับว่าที่ผ่านมาไอ้ที่เราทำคงไม่มีใครสานต่อแล้วนะ กลายเป็นว่ามีคนมาสานต่อเยอะกว่าที่เราคิดเสียอีก
“ตราบใดที่เขามีปืน เรายังมีแค่กระดาษ เราก็ทำได้แค่นี้ มีแค่กระดาษ แล้วจะเอาอะไรไปสู้กับเขา แต่ก็ถือว่ามาไกลพอสมควรนะ อย่างน้อยชูประเด็นเรื่องการต่อสู้พวกนี้ไว้ แม้ว่าเขาจะไม่ปฏิบัติตาม แต่ก็ดูเหมือนเป็นครั้งแรกที่เขาฟัง ซึ่งก็โอเค ถือว่ามาไกล อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง”
ใบหน้าของเอกชัย หงส์กังวาน เมื่อพูดถึงม็อบคนรุ่นใหม่ ดูเยือกเย็น ไม่ร้อนแรงกราดเกรี้ยวอย่างที่เคยเห็นในสื่อ ยามต่อสู้บนท้องถนน ชายผู้มีคดีติดตัวเป็นหางว่าว ถูกตำรวจจับนับครั้งไม่ถ้วน ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นว่าเล่น ถูกข่มขู่คุกคามทำร้ายร่างกาย แม้กระทั่งถูกพรากอิสรภาพจากการคุมขังในเรือนจำ แต่วันนี้เขามั่นใจว่าสังคมไทยยังมีความหวัง
Fact Box
เอกชัย หงส์กังวาน วัย 45 ปี เป็นคนกรุงเทพฯ จบปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เคยประกอบอาชีพขายหวยบนดิน ในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ก่อนถูกยกเลิกหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จากนั้นจึงเริ่มสนใจการเมืองอย่างจริงจัง และถูกจับกุมในคดีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลฎีกาตัดสินให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน ก่อนพ้นโทษออกมาในปี 2558 ปัจจุบันเขายังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง