ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ตัวเลขของผู้หญิงที่ทำงานเบื้องหลังในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังคงไม่ขยับไปไหน ผลการสำรวจจาก San Diego State University ฉบับ Center for the Study of Women in Television and Film เผยว่า เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่ทำงานเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุด 250 เรื่อง ลดลงจาก 11% ในปี 2017 เป็น 8% ในปี 2018 แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าพลังของพวกเธอจะยังคงส่งสะท้อนออกมาเป็นผลงานใหม่ๆ ให้เราได้ชมกันต่อไป
สำหรับ The List ตอนนี้ ขอชวนชม 5 ผลงานโดดเด่นจาก 5 ผู้กำกับฯ หญิงในโลกภาพยนตร์
Zero Dark Thirty (2012) – Kathryn Bigelow
แคทริน บิเกโลว์ เติบโตมาในแคลิฟอเนียร์ ในช่วงมัธยมฯ เธอให้ความสนใจในงานศิลปะและมุ่งมั่นในการวาดภาพ แต่พอเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เธอก็เบนเข็มมาสู่เส้นทางภาพยนตร์ “ฉันรักศิลปะ ฉันชอบที่ได้วาดภาพ…แต่ศิลปะเหล่านี้มีอยู่ในโลกที่เงียบสงบ สิ่งที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับภาพยนตร์คือการก้าวข้ามขอบเขตทางชนชั้น พวกเขานำเสนอประสบการณ์ร่วมกันที่สามารถ่ายทอดประเด็นต่างๆ ได้ หรือแม้แต่การทำให้คนดูรู้สึกนึกคิดตาม นั่นคือความสวยงามของภาพยนตร์”
แคทรินเป็นผู้กำกับฯ หญิงคนแรกที่ชนะรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ จากเรื่อง The Hurt Locker (2008) สำหรับเรื่อง Zero Dark Thirty เดิมทีจะต้องว่าด้วยการไล่ล่าตามหาโอซามา บินลาเดน แต่ขณะนั้นมีข่าวออกมาพอดีว่าบินลาเดนถูกสังหารแล้ว บทภาพยนตร์จึงเขียนขึ้นใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ปรากฎอยู่ในเนื้อหาจะเป็นจริง 100%
ปฏิบัติการไล่ล่าครั้งนี้เป็นที่จับตามองทั่วโลก เพราะมันคือการจับกุมคนร้ายที่ขึ้นชื่อว่าอันตรายที่สุดคนหนึ่ง การทำงานของหน่วยสืบสวนราชการลับจึงต้องรัดกุมและเด็ดขาด ภาพยนตร์เริ่มต้นด้วยการสืบข้อมูลของผู้เกี่ยวของกับบินลาเดนให้ได้มากที่สุด โดยคนที่มีบทบาทสำคัญได้แก่ มายา เจ้าหน้าที่ซีไอเอหญิง เธอเดินทางไปยังปากีสถาน ลงมือค้นคว้าและสืบสาวทุกเรื่องราว ซึ่งบางครั้งวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะมันคือการทรมานนักโทษ เพื่อให้ยอมจำนนเพราะความเจ็บปวด
เรื่องดำเนินไปอย่างกดดัน ตึงเครียด ชวนลุ้นระทึกอยู่ตลอดเวลา แทบทุกตัวละครต่างได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการครั้งนี้กันถ้วนหน้า สุดท้าย ภารกิจสำเร็จลุล่วงก็จริงอยู่ แต่มันกลับทิ้งความกระอักกระอ่วนใจเกินกว่าจะสรุปได้ว่า เราควรรู้สึกอย่างไรกันแน่กับเรื่องทั้งหมดนี้?
Can You Ever Forgive Me? (2018) – Marielle Heller
แมเรียลล์ เฮลเลอร์เคยเป็นนักแสดงมาก่อน จากนั้นจึงกระโดดมาเขียนบทและกำกับฯ ในภาพยนตร์เรื่องแรก The Diary of a Teenage Girl (2015) ซึ่งมีพื้นฐานมาจากนิยายภาพที่เธอได้รับเป็นของขวัญมาจากพี่สาว ผลงานการกำกับฯ ครั้งต่อมาก็คือเรื่องนี้ที่สร้างมาจากเรื่องจริงของ ลี อิสราเอล นักเขียนชีวประวัติรุ่นใหญ่ที่ชีวิตกำลังตกต่ำย่ำแย่ถึงขีดสุด
ช่วงปี 1991 ลีประสบกับความล้มเหลวอย่างรุนแรงในชีวิต เธอต้องดิ้นรนกับปัญหาทางการเงิน ทั้งค้างจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่ารักษาแมว แม้แต่ค่าอาหารการกินก็แทบจะไม่มี ไหนจะเป็นโรคติดสุราเรื้อรังอีก ความสำเร็จในอดีตของลีแทบไม่หลงเหลือ แม้เธอจะบากหน้าไปขอให้เอเยนต์ช่วยเจรจากับสำนักพิมพ์ เพื่อเบิกค่าเขียนหนังสือเล่มใหม่ล่วงหน้า ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือแต่อย่างใด หนำซ้ำยังถูกสบประมาทอย่างไร้เยื่อใย
ลีเริ่มทยอยขายทรัพย์สินต่างๆ เท่าที่มีเพื่อเป็นค่าครองชีพ เธอขายกระทั่งจดหมายส่วนตัวที่ได้รับจาก แคทเธอรีน เฮพเบิร์น ดาราชื่อดัง เงินที่ได้รับจึงพอจะจ่ายเป็นค่าอาหารและค่าเหล้า ขณะนั้นเองที่เธอได้พบกับเพื่อนใหม่อย่าง แจ็ค ฮ็อค ผู้มีสภาพไม่ต่างกัน ทั้งคู่ต่างแปลกแยก เปลี่ยวเหงา และยากไร้ —ทั้งไร้เงิน ไร้เพื่อน ไร้คนรัก ลียังคงหมายมั่นจะเขียนงานต่อไป นั่นทำให้เธอพบจดหมายของ แฟนนี ไบรซ์ (นักแสดงตลกชาวอเมริกัน) สองฉบับระหว่างหาข้อมูล เหมือนเคย—เธอนำจดหมายฉบับหนึ่งไปขาย ส่วนอีกฉบับนั้นเธอเก็บไว้ก่อน ด้วยจับทางได้แล้วว่าจดหมายแบบใดที่จะมีมูลค่าเพิ่ม ลีเลยต่อเติมข้อความบางอย่างลงไปในจดหมายด้วยมุ่งหวังจะได้เงินมากขึ้น
ลีใช้ทักษะการเขียนที่มี ใช้ชื่อเสียงจากคนที่ตายไปแล้ว เขียนจดหมายปลอมๆ ขึ้นมา แล้วนำไปขายให้นักสะสม เธอทำได้ดีเสียยิ่งกว่าดี แต่นั่นหาใช่ความดีงามที่จะพาชีวิตเธอไปสู่ความสำเร็จไม่…แม้ตอนจบจะไม่ยากเกินคาดเดา แต่มันก็ทำให้เราได้มองเห็นความเป็นปุถุชนคนธรรมดา คนที่มีชีวิตอยู่อย่างเย้ยหยันโลก หัวเราะ และทุกข์ทนไปพร้อมๆ กัน
You Were Never Really Here (2018) – Lynne Ramsay
ลินน์ แรมเซย์ ผู้กำกับฯ ชาวสก็อตแลนด์ที่ผลิตหนังยาวออกมาเพียงสี่เรื่องในระยะเวลาการทำงานยี่สิบปี แต่แต่ละเรื่องล้วนมีลายเซ็นเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าด้านภาพ การเล่าเรื่อง หรือมุมมองต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นที่เกิดขึ้นซ้ำซากเกี่ยวกับความเศร้า ความผิด ความตาย และผลพวงของมัน
ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากนวนิยายในชื่อเดียวกัน ภายในเรื่องมีฉากรุนแรงเพียงเล็กน้อย แต่กลับเต็มไปด้วยผลพวงของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ลินน์บอกว่าข้อจำกัดด้านงบประมาณทำให้ไม่สามารถถ่ายทำฉากแอ็คชั่นที่ซับซ้อนได้ เธอเลยเกิดความคิดที่จะแสดงให้เห็นถึงฉากของ ‘ความโกรธคลั่ง’ แทนความรุนแรง ซึ่งเธอสารภาพว่ามันเสี่ยงมากที่จะใช้วิธีนี้ เพราะถ้าไม่ได้ผล เธอจะไม่สามารถย้อนกลับมาถ่ายทำใหม่ได้อีก
มันคือเรื่องราวของโจ อดีตทหารผ่านศึกและเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ ชีวิตของเขากำลังอยู่ท่ามกลางความเครียดและความบอบช้ำทางใจ แต่ก็ไม่สามารทำอะไรได้มากนัก นอกจากรับงานแล้วหาเงินมาเลี้ยงชีวิต อาชีพในปัจจุบันของโจคือมือปืนรับจ้าง และภารกิจในครั้งนี้ คือการไปช่วยเด็กสาวลูกนักการเมืองที่ถูกแก๊งโสเภณีเด็กจับตัวไป ซึ่งมันก็ไม่ได้เกินความสามารถของเขาแน่นอน
แต่เมื่อภารกิจสำเร็จ เหตุการณ์กลับไม่เป็นไปตามคาด นายจ้างฆ่าตัวตาย และคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ตายหมด ใครบางคนกำลังพยายามเข้าถึงตัวโจ พวกนั้นฆ่าไม่เว้นแม้แต่แม่เขา แต่ที่สุดโจก็คาดคั้นเอาคำตอบมาได้จากเจ้าหน้าที่คนหนึ่งว่าทำไมเขาถึงโดนหมายหัว อันที่จริงเขาไม่ได้กังวลว่าตัวเองจะต้องตาย เพราะเขาพร้อมตายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ ‘บางอย่าง’ ได้ยื้อเขาไว้ และตอนนี้มันก็ยังยื้อลมหายใจของโจไว้อีกเช่นกัน
Leave No Trace (2018) – Debra Granik
เดบรา กรานิค ผู้กำกับฯ หญิงที่เคยส่งบทบาทให้ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ จากภาพยนตร์เรื่อง Winter’s Bone (2010) กลายเป็นที่กล่าวขวัญอย่างมาก สำหรับเรื่องนี้แก่นกลางของเรื่องยังคงอยู่ที่เด็กสาวและพ่อของเธอ เนื้อหามาจากหนังสือ My Abandonment ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริงอีกทอดหนึ่ง
หนังสือเล่มนี้สร้างจากบทความเล็กๆ ที่ปีเตอร์ ร็อก —นักเขียน เคยอ่านผ่านตา มันกล่าวถึงสวนในพอร์ตแลนด์ว่าเจ้าหน้าที่พบเจอพ่อลูกคู่หนึ่ง พวกเขาอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหลายปีโดยที่ไม่มีใครสังเกตเห็น มันทำให้เดบรานึกสงสัยอย่างจริงจังว่า ชีวิตประจำวันของพวกเขานั้นเป็นอย่างไร? จากนั้นเดบราก็ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้กับ แอนน์ รอเซลลินี เรื่องในครึ่งแรกเป็นไปตามสิ่งที่ปีเตอร์เขียนไว้ ในหนังสือ แต่ครึ่งหลัง บทภาพยนตร์แตกต่างไปจากหนังสือพอสมควร ซึ่งเป็นสิ่งที่เดบราตั้งใจให้เกิดขึ้น
ภาพยนตร์จะพาเราไปยังเขตป่าสงวนของเมืองพอร์ตแลนด์ สถานที่ที่ไม่ควรมีใครอาศัยอยู่ เพราะเป็นพื้นที่ของรัฐ แต่กลับมีสองพ่อลูก วิลล์และทอม แอบใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น พวกเขาดูไม่ทุกข์ร้อนนักกับการเป็นคนไม่มีหลักแหล่ง ไม่ข้องเกี่ยวกับสังคม ไม่เดือดร้อนที่จะอยู่กันเองตามลำพัง แต่หลายครั้งวิลล์ก็ยอมเข้าเมืองบ้างเพื่อซื้ออาหารและของใช้จำเป็น
แต่ในที่สุดการอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ก็ถูกเปิดเผย ทั้งสองคนถูกจับกุมแล้วส่งตัวไปยังหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ ทางรัฐพยายามเข้ามาดูแลวิลล์กับทอมอย่างดีที่สุด ทั้งหาบ้านให้อยู่ หางานให้ทำ หาโรงเรียนให้ลูก แต่มันอาจไม่ใช่สิ่งที่ทั้งคู่ต้องการ? เมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ เราก็จะรู้พื้นเพของวิลล์เพิ่มขึ้น เขาไม่ใช่คนจรจัด แต่เป็นคนที่ทุกข์ทรมานจากอดีต ดังนั้น เขาจึงหนีมาอยู่ในป่า มันคือความต้องการของเขา ซึ่งตอนนี้เขาอาจต้องถามทอม ลูกสาวของตัวเองด้วยว่า นี่ใช่ความต้องการในชีวิตของเธอด้วยหรือเปล่า?
The Souvenir (2019) – Joanna Hogg
“ฉันพยายามจะจดจำเรื่องราวของมันให้มากที่สุด” เสียงจากบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งของ โจแอนนา ฮ็อกก์ ที่กำลังพูดถึงภาพยนตร์ที่สร้างจากช่วงชีวิตหนึ่งของเธอ มันเป็นช่วงชีวิตที่เธอต้องเผชิญหน้ากับความสัมพันธ์ที่เป็นพิษร้ายมากกว่าจะเป็นสิ่งเยียวยา มันเกือบจะฉุดทั้งความฝันและช่วงเวลาที่สดใสในชีวิตของเธอให้พังทลายลง
โจแอนนา ฮ็อกก์ บอกเล่าอัตชีวประวัติที่แสนขมขื่นในวัย 20 ต้น โดยได้ออเนอร์ สวินตัน เบิร์น (ลูกสาวของนักแสดง — ทิลดา สวินตัน) มารับบทเป็นตัวเธอ ภาพยนตร์คว้ารางวัล Grand Jury Prize จากเทศกาลหนังซันดานซ์ ในปี 2019 และกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งกับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีจาก Sight and Sound นิตยสารภาพยนตร์รายเดือนของอังกฤษ ซึ่งเฉือนชนะเรื่อง Parasite (2019) ไปอย่างเฉียดฉิว
เรื่องเกิดขึ้นในยุคปี ’80 จูลี — นักศึกษาสาขาภาพยนตร์วาดฝันว่าจะสร้างผลงานของตัวเองสักเรื่อง ในวัย 20 ต้นๆ เธอมีทุกอย่างพร้อม มีไลฟ์สไตล์แบบคนเมือง มีบ้านในลอนดอน และมิตรสหายรายรอบ แต่แล้ววันหนึ่งก็มีผู้ชายลึกลับเข้ามาในชีวิตของเธอ แอนโทนี ชายวัย 40 ที่บอกกับเธอว่าเขาทำงานอยู่กระทรวงการต่างประเทศ ในยุคนั้นอังกฤษต้องพบกับเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่หลายครั้ง เธอจึงเลือกที่จะไม่ถามลงลึกถึงการงานของเขา และเขาก็เลือกที่จะบอกว่า ไม่อาจเผยถึงรายละเอียดงานของตัวเองได้
แอนโทนีเข้ามาอยู่ร่วมบ้านกับเธอ นอนร่วมเตียงเดียวกับเธอ แม้จะยังมีการเย้าหยอกเรื่องอาณาเขตเส้นแบ่งของเตียง วันหนึ่งขณะที่เขากลับจากปารีส เขานำของขวัญกล่องสีชมพูวางบนเตียงแล้วบอกเธอว่า “ลองใส่ดูสิ” จูลีทำตามอย่างว่าง่าย เธอเดินเข้าไปในห้องน้ำ แกะกล่องของขวัญและเดินออกมาที่หน้าประตูในชุดชั้นในสีดำที่เขาซื้อให้ แล้วความสุขและความทุกข์ของหญิงสาวเดียงสาอย่างเธอก็เริ่มต้นขึ้น ถึงแม้คนรอบข้างจูลีจะไม่เห็นด้วยกับความสัมพันธ์นี้ แต่เธอก็ยังเลือกที่จะปล่อยให้ตัวเองทำตามหัวใจ ถลำลึกลงไปเรื่อยๆ ด้วยความลุ่มหลง โดยไม่รู้ว่ามันจะนำสิ่งใดมาสู่ชีวิตเธอบ้าง
ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องไปอย่างช้าๆ ให้เราค่อยๆ สัมผัสถึงความรู้สึกของตัวละคร รวมไปถึงความทรงจำที่ครั้งหนึ่งในชีวิตหญิงสาวคนหนึ่ง — ยากจะลืมเลือน
Tags: Leave No Trace, Zero Dark Thirty, Can You Ever Forgive Me?, You Were Never Really Here, The Souvenir