เราต่างรับรู้อยู่แล้วว่ายาเสพติดให้โทษอย่างไร สามารถทำให้ชีวิตเราผุพังได้ขนาดไหน และมีผลกระทบเช่นไร เพราะมันไม่ได้ส่งผลต่อเพียงคนคนเดียว แต่ยังลุกลามความเดือดร้อนไปถึงผู้คนรอบข้าง
แต่ด้วยหลากหลายเหตุผลในชีวิตแต่ละคน จะด้วยความเศร้า ความกดดัน หรือความอยากรู้อยากลอง ฯลฯ มันผลักบางคนให้ไปอยู่ตรงไหล่ทางที่เบี่ยงเข้าสู่อีกเส้นทางหนึ่ง พาคุณไปสัมผัสโลกอีกใบ ที่เป็นเหมือนความสุขในแบบที่ต่างออกไป แต่แท้แล้วมันกลับพาคุณดำดิ่งจมปลักความเจ็บปวดในท้ายที่สุด กว่าจะหลุดพ้นออกมานั้นไม่ได้ง่ายดายเหมือนแรกเริ่ม- -ดังนั้น จงอย่าได้ริลอง หากไม่อยากพบกับความพินาศของชีวิต
The Panic in Needle Park (1971)
The Panic in Needle Park ดัดแปลงมาจากนวนิยายของเจมส์ มิลส์ นักเขียนที่มีผลงานขายดีอย่าง Report to the Commissioner และ The Underground Empire ซึ่งทั้งสองเรื่องต่างเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
มือเขียนบทในเรื่องนี้ ได้แก่ สองสามีภรรยา จอห์น เกรเกอรี่ ดันน์—นักขียนนักวิจารณ์ และจน ดิเดียน—นักเขียนสารคดีคนสำคัญของอเมริกา โดดเด่นด้วยผลงานที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุค’60 เธอเป็นผู้สังเกตการณ์ชั้นยอด และสามารถถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ออกมาได้อย่างคมคาย บทที่ออกมาจึงกลมกล่อม จนอาจเป็นส่วนที่ช่วยส่งผลให้นักแสดงอย่าง อัล ปาชิโน ที่มีผลงานการแสดงเรื่องแรกเข้าตาฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา จนเขาชักชวนให้มาแสดงในภาพยนตร์เรื่อง The Godfather (1972)
เรื่องราวเกิดขึ้นในมหานครนิวยอร์ก เมืองแห่งความวุ่นวายที่ทุกคนต่างดิ้นรนในการมีชีวิตอยู่ เฮเลนเป็นหญิงสาวที่เพิ่งประสบกับเรื่องร้ายๆ จนต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่คนที่โผล่หน้ามาเยี่ยมเธอนั้นไม่ใช่แฟนหนุ่ม กลับกลายเป็นชายนามว่าบ๊อบบี้ เฮเลนกับเขาถูกดึงดูดเข้าหากันทันที และหลังออกจากโรงพยาบาล เธอก็ย้ายเข้าไปอยู่กับเขา
บ๊อบบี้ไม่ได้มีวิถีชีวิตแบบคนทั่วๆ ไป เขาเป็นพ่อค้าขายยารายย่อย และใช้ ยาเสพติดเองในบางครั้ง แต่ถึงรู้อย่างนั้น เฮเลนก็พร้อมจะติดตามบ๊อบบี้ไปทุกหนแห่ง ซึ่งในไม่ช้ายาเสพติดก็ครอบงำชีวิตของพวกเขาไว้ ทั้งคู่ไม่สามารถรักษาอะไรไว้ได้เลย มีแต่จะถลำไปไกลยิ่งกว่าเดิม ชีวิตตกต่ำพาให้บ๊อบบี้จนตรอก เฮเลนต้องค้าประเวณี จนเกิดการทรยศหักหลัง ความรักพังทลาย สุดท้ายทั้งสองต่างต้องยอมจำนนต่อโชคชะตา
The Basketball Diaries (1995)
ภาพยนตร์อัตชีวประวัติของ จิม แคร์รอล เด็กหนุ่มจากครอบครัวคาทอลิกเชื้อสายไอริชที่เริ่มเข้าสู่วงจรของยาเสพติดตั้งแต่อายุ 13 ปี จิมมีความสนใจหลากหลาย ทั้งกีฬา การเขียน และดนตรี เขาเริ่มตีพิมพ์บทกวีของตัวเองตั้งแต่สมัยเรียน และในช่วงต้นทศวรรษ 1970 เขามีโอกาสทำงานอยู่กับแอนดี้ วอร์ฮอล
ตอนที่มีคนบอกกับจิม—ผู้เขียนเรื่องนี้ว่า ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ จะมาเล่นภาพยนตร์เรื่องนี้ จิมบอกว่าเขาไม่รู้ว่าลีโอนาร์โดเป็นใคร แต่ถ้าบอกว่าเด็กจากเรื่อง Growing Pains (1985) จิมจะจำเขาได้ทันที
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่ถูกฟ้องร้องหลังจากเข้าฉาย เพราะทำให้เกิดอิทธิพลที่ไม่ดีโดยตรง ซึ่งเด็กสามารถเอาเยี่ยงอย่างได้ แต่คดีก็ถูกปัดทิ้งไปในปี 2001
กว่าที่จิม แคร์รอล จะมีชื่อเสียง เขาเคยผ่านช่วงเวลายากลำบากและต้องติดคุกมาก่อน ครั้งที่จิมยังเรียนมัธยมฯ เขาอยู่ในทีมบาสเกตบอลของโรงเรียน อาศัยบาสเกตบอลเป็นช่องทางการปลดปล่อยพลัง จิมมีเพื่อนสนิทที่ร่วมหัวจมท้ายกับเขาทุกเรื่อง มีอนาคตสดใสรออยู่ แต่เมื่อเพื่อนสนิทคนหนึ่งตายจากไป มันคล้ายเป็นชนวนเริ่มต้นเรื่องร้ายที่ลุกลามในเวลาต่อมา
เห็นได้ชัดว่ายาเสพติดมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับเขา จิมกับเพื่อนจึงใช้มันอย่างต่อเนื่อง แล้วเมื่อเริ่มติด หายนะต่างๆ ก็ตามมา เปโดรกับมิคกี้โดนไล่ออก และหันไปก่ออาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ได้เงินสดมาซื้อยา จิมโดนไล่ออกจากบ้าน เพราะแม่ทนเห็นเขาไม่ไหว ทุกอย่างเลวร้ายและรุนแรงเกินควบคุม ยาเสพติดทำลายล้างทั้งมิตรภาพ ความฝัน และครอบครัว บทสรุปชีวิตของจิมและผองเพื่อนในในช่วงเวลานั้นจึงไม่ต่างอะไรจากความพังทลาย ที่ต้องประกอบสร้างขึ้นใหม่ในภายภาคหน้า—ซึ่งถือว่าจิมกอบกู้ชีวิตตัวเอง
Trainspotting (1996)
Trainspotting ภาพยนตร์สุดฮอตจากเกาะอังกฤษที่เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมของยุค’90 หวือหวาทั้งภาพและดนตรี สดใหม่ทั้งผู้กำกับฯ และนักแสดง โดยดัดแปลงเนื้อหามาจากนิยายดังของ เออร์วิน เวลซ์ ซึ่งเขาก็ปรากฎตัวสั้นๆ ในภาพยนตร์ โดยรับบทดีลเลอร์ขายยา
“Choose Life” วลีในเรื่องนี้ที่กลายเป็นวลีโด่งดัง เดิมทีมีการวางบทพูดไว้กลางเรื่อง แต่แดนนี่ บอยล์ ผู้กำกับฯ กับจอห์น ฮอดจ์ ผู้เขียนบท กำลังมีปัญหากับการเปิดเรื่องที่น่าสนใจ พวกเขาเลยตัดสินใจย้ายบทพูดดังกล่าวมาไว้ในตอนต้นแทน แล้วมันก็กลายเป็นช็อตที่ดีมากๆ
ถ้าเลือกได้ ไม่ว่าใครก็อยากมีชีวิตที่ดีทั้งนั้น แต่กับกลุ่มเพื่อนพ้องใน Trainspotting พวกเขาเลือกบางอย่างอย่างไร้เหตุผล “ใครต้องการเหตุผล เมื่อมีเฮโรอีน” นี่คือคำพูดของเรนตัน หนุ่มขี้ยาที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ในชานเมืองเอดินบะระของสกอตแลนด์ เขาใช้ชีวิตไปวันๆ อย่างไร้แก่นสารกับเพื่อนในแก๊งที่ติดยาไม่ต่างกัน ได้แก่ ซิคบอย, สปั๊ด, ทอมมี และเบ็กบี้ ซึ่งแต่ละคนก็มีนิสัยใจคอและเอกลักษณ์แตกต่างกัน
หลังจากใช้ชีวิตล่องลอยไปวันๆ เรนตันก็นึกอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองขึ้นมาบ้าง โดยตั้งใจว่าจะเลิกเสพยา แล้วความพยายามนั้นก็มีเหตุผลอยู่—ในช่วงแรก เขาสามารถหลุดพ้นมาได้ และพบกับไดแอน ผู้หญิงที่เขาตามจีบจนได้สานสัมพันธ์ด้วย แต่ความบัดซบไม่มีทางจะผละจากเรนตันไปง่ายๆ เขายังคงวกวนกลับไปกลับมา ส่วนหนึ่งก็เพราะบรรดาเพื่อนพาซวย ซึ่งถ้าเขาอยากจะปลดปล่อยตัวเองจากวิถีชีวิตแบบนี้ บางทีทางออกอาจเป็นการหนีไปไกลๆ แล้วไปตายเอาดาบหน้าคงดีกว่า
ภาพยนตร์ไม่ได้ชี้ชัดว่า สิ่งที่เรนตันและผองเพื่อนทำนั้นถูกหรือผิด เพียงแต่ฉายให้เราเห็นความเป็นไปของแต่ละตัวละคร ไม่มีรางวัล ไม่มีบทลงโทษ ไม่สั่งสอน ไม่ชี้หน้าด่า ใครอยากจะทำอะไรก็ทำ ก้าวต่อไปในชีวิต ใครคิดจะเลือกอะไร ถึงที่สุดเราก็ต้องตัดสินใจเองอยู่วันยังค่ำ และเราย่อมต้องรับผลของมัน
Requiem for a Dream (2000)
Requiem for a Dream ผลงานจากฝีมือผู้กำกับฯ ดาร์เรน อโรนอฟสกี เจ้าของความสำเร็จอย่าง Pi, Black Swan และ Mother! งานชิ้นนี้อิงกับนวนิยายในชื่อเดียวกันของ ฮูเบิร์ต เซลบี จูเนียร์ แรกเริ่มในการสร้างภาพยนตร์นั้น ดาร์เรนต้องการให้ตัวละครที่ข้องเกี่ยวกับยาเสพติดมีอายุน้อยกว่านี้ เขามองไว้ที่อายุ 14-16 ปี เพราะมันจะยิ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่ร้ายแรงของยาเสพติด และนำไปสู่อารมณ์ที่บีบคั้นสำหรับผู้ชม แต่ผู้ผลิตเห็นว่าผู้ชมส่วนใหญ่อาจมองว่ามันน่ากลัวเกินไป และแย้งว่าอาจมีปัญหาในการเข้าฉาย
เมื่อเอลเลน เบอร์สติน อ่านบทครั้งแรก เธอรู้สึกตกใจและปฏิเสธการรับบท จนกระทั่งเมื่อได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Pi เธอจึงเปลี่ยนใจและยอมรับบทที่ดาร์เรนนำเสนอ
ภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องราวของคนสี่คนที่เข้ามาพัวพันกับการเสพติด ซึ่งไม่ได้หมายความแค่ ‘ยา’ เท่านั้น ซาร่า—หญิงม่ายที่อาศัยอยู่คนเดียวในอพาร์ตเมนต์ เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการแช่ดูโทรทัศน์ ชีวิตของเธอไร้ความหมาย ไร้ตัวตน ไร้คุณค่า แม้แต่แฮร์รี่—ลูกชายก็ยังไม่เคยเหลียวมาแล แต่อยู่ๆ วันหนึ่งซาร่าก็ได้รับเชิญไปออกรายการ ชีวิตเธอเหมือนมีจุดมุ่งหมายขึ้นมา ทว่ามันก็พังลงอย่างสิ้นซาก เพราะการกินยาลดความอ้วน โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ต้องจ่ายคืออะไรบ้าง
ทางฝั่งแฮร์รี่ก็เลวร้ายพอกัน เขาคบหากับเมเรียน และมีเพื่อนร่วมก๊วนชื่อไทรอน ทั้งสามคนมีความฝันที่อยากจะหลุดพ้นจากฐานะความเป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ดันเลือกเดินทางลัด และตกลงไปในหล่มของวงจรอุบาทว์ ช่วงแรกกิจการขายยาก็นำพาความร่ำรวยมาให้อยู่หรอก แต่เมื่อมันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่ว่าอย่างไรมันก็ไปไม่รอด ชะตากรรมจึงซัดให้พวกเขาล้มระเนระนาด และดิ่งลงเหวทันทีที่ทั้งเงินและยาขาดมือ ความสัมพันธ์เริ่มผิดร่องผิดรอย พวกเขามีแต่ผลักไส ทำร้ายกัน จนสุดท้ายชีวิตก็แหลกเหลวไม่เหลือชิ้นดี อาการเสพติดของทุกคนได้พรากความฝันไปหมดสิ้น
Beautiful Boy (2018)
Beautiful Boy ดัดแปลงมาจากหนังสืออัตชีวประวัติของสองพ่อลูก เดวิด เชฟ กับนิค เชฟ ที่ต่างถ่ายทอดมุมมองของตัวเองออกมาผ่านหนังสือคนละเล่ม คือ Beautiful Boy: A Father’s Journey Through His Son’s Addiction และ Tweak: Growing Up on Methamphetamines ซึ่งชื่อของหนังสือและภาพยนตเรื่องนี้ มาจากเพลงของจอห์น เลนนอน
บทบาทนิค เชฟ ที่นำแสดงโดยทิโมธี ชาลาเมต์ ทำให้เจ้าตัวต้องลดน้ำหนักลงราว 25 ปอนด์ พร้อมกับมีที่ปรึกษาและแพทย์คอยดูแลให้แน่ใจว่าการแสดงของเขาในฐานะผู้ติดยาเสพติดนั้นสมจริง ลุค เดวีส์ ผู้ร่วมเขียนบท—ก็เป็นคนหนึ่งที่เคยหลงอยู่ในวังวนยาเสพติด แต่เขาผ่านพ้นมาได้ (และถ่ายทอดออกมาเป็นนวนิยายเรื่อง Candy ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในปี 1998 และสร้างเป็นภาพยนตร์ปี 2006)
Beautiful Boy เป็นการถักทอให้เห็นสายใยของครอบครัวผ่านเส้นทางชีวิตของนิค เด็กหนุ่มที่พ่อแม่แยกทางกัน แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีครอบครัวใหม่ที่อบอุ่น นิคเป็นเด็กฉลาด รักศิลปะ ชอบอ่านหนังสือ ฟังเพลง และมีพ่อที่คอยสนับสนุนทุกเรื่อง เมื่อนิคย้ายไปอยู่มหาวิทยาลัย บางครั้งเขาพบว่าตัวเองมีส่วนเสี้ยวบางอย่างขาดหายไป แล้วยาเสพติดดันเป็นช่องทางหนึ่งให้เขาได้หลบหนีจากความจริง
ทันทีที่เดวิดรู้ว่าลูกชายกำลังหลงทาง เขาพยายามสุดแรงที่จะพานิคออกมาจากจุดนั้น การเห็นลูกชายที่ร่าเริงในวัยเด็กกลับกลายมาเป็นคนที่ไม่สามารถควบคุมภาวะต่างๆ ของตัวเองได้นั้นแสนเจ็บปวด
แต่พลังสนับสนุนของคนรอบตัวเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เหมือนแสงสว่างนำทางให้พ้นจากความมืดมนบนเส้นทางชีวิต
Tags: Requiem for a Dream, Trainspotting, Beautiful Boy, The Panic in Needle Park, The Basketball Diaries