อย่างที่หลายๆคนทราบกันดีว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และธุรกิจหลากหลายประเภท โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบิน ดังนั้นเมืองที่สุดแสนจะโรแมนติก และเคยมีรายได้ล้นหลามจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างเมืองปราก ( Prague) จะเปลี่ยนไปเป็นอย่างไรในวันที่ไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้

บรรยากาศความเงียบของกรุงปรากในช่วงแรกของโควิด-19

เราเป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในปรากเมืองหลวงของสาธารณรัฐเช็ก ชีวิตความเป็นอยู่ก่อนวิกฤตโควิด-19 จะมาเยือนนั้น เรียกได้ว่าค่อนข้างสะดวกสบาย เพราะปรากเป็นเมืองที่มีความคึกคักตลอดเวลา ในทุกเช้าเมื่อเรานั่งรถรางผ่านบริเวณสะพานชาลส์ ( Charles Bridge ) หนึ่งในสะพานประวัติศาสตร์อันโด่งดังของยุโรป สิ่งที่เราเห็นจนชินตาคือ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่พูดคุย เดินชมวิว และแวะถ่ายรูปคู่กับสะพานกันอย่างคึกคัก เรียกได้ว่าการใช้ชีวิตอยู่ในกรุงปราก เราจะได้เห็นและพบเจอนักท่องเที่ยวตลอดเวลา จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันไปเลยก็ว่าได้

 ในวันที่ปรากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ

แต่เมื่อวิกฤตโควิด-19 มาถึง เมืองที่เคยคึกคักจากนักท่องเที่ยว ก็เงียบสงัดลงอย่างรวดเร็ว สะพานชาลส์ ( Charles Bridge ) ที่เคยเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวจีนที่มักโพสท่าถ่ายรูปสุดเก๋ ได้หายไปอย่างฉับพลัน นักดนตรีที่เคยเล่นดนตรีเปิดหมวกต่างก็หนีกลับบ้านเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ ร้านค้าที่เคยขายขนม ลูกอม ลูกกวาดและของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว ต่างก็ต้องปิดตัวลง เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาล ทำให้เมืองที่เต็มไปด้วยสีสัน และเสียงดนตรีที่มีชีวิตชีวาตลอดเวลา กลับกลายเป็นเมืองร้างอย่างรวดเร็ว 

ในทางกลับกัน รูปแบบการดำรงชีวิต และสภาพความเป็นอยู่ของเราเอง กลับไม่ได้เศร้าหมองหรือหดหู่อย่างที่หลายคนคาดคิด เนื่องจากเมืองปรากถูกออกแบบผังเมืองให้มีการผสมผสานกันระหว่างธรรมชาติและตัวเมืองได้อย่างลงตัว การปิดตัวลงของห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่างๆ ในตัวเมือง จึงไม่ได้มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนมากนัก กลับกลายเป็นแรงกระตุ้นชั้นดี ที่ทำให้ผู้คนออกไปใช้เวลาว่างกับธรรมชาติมากขึ้น 

เมื่อกลุ่มนักท่องเที่ยวเปลี่ยน จากต่างชาติมาเป็นคนเช็ก

เนื่องจากมาตรการของรัฐบาลอนุญาตให้ร้านค้าที่มีรูปแบบการจำหน่ายสินค้าและบริการแบบ take away ยังสามารถเปิดทำการได้ตามปกติ ความเงียบเหงาของเมืองนี้จึงอยู่กับเราได้ไม่นาน เมืองกลับมาคึกคักและมีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพราะนักท่องเที่ยวชาวเช็กเริ่มท่องเที่ยวภายในประเทศของตนเอง เพื่อใช้ช่วงเวลานี้ในการชื่นชมกับความงามของประเทศตัวเองอย่างที่ไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสมาก่อน Tomas Prochazka ชาวเช็กที่เกิดและโตในกรุงปรากบอกกับเราว่า ถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลเสียมากมาย แต่หนึ่งในความสวยงามที่ซ่อนอยู่ในวิกฤตนี้คือ เขาได้มีโอกาสชื่นชม และสัมผัสความงามของเมืองเกิดของเขาอย่างเต็มที่อย่างที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน เนื่องจากเขาสามารถกลับมาใช้เวลากับสถานที่ท่องเที่ยวในการพักผ่อน และซึมซับความสวยงามอย่างเต็มที่อีกครั้ง

เมื่อกลุ่มนักท่องเที่ยวถูกเปลี่ยนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาเป็นนักท่องเที่ยวชาวเช็กเกือบทั้งหมด สิ่งที่มักจะอยู่คู่สถานที่ท่องเที่ยว เช่น ร้านค้า นักดนตรี นักกายกรรม หรือแม้กระทั่งขอทาน ต่างก็ปรับตัวกันอย่างรวดเร็วเพื่อต้อนรับ และสื่อสารกับกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่นี้ 

โดยสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในการปรับตัวครั้งนี้คือ ร้านค้าปลีกต่างพากันลดราคาสินค้าและบริการกว่าเท่าตัว เพราะแน่นอนว่า ชาวเช็กเองคงไม่มีใครอยากซื้อเครื่องดื่ม หรืออาหารในราคานักท่องเที่ยว หรือเป็นราคาที่แพงกว่าที่เขาเคยบริโภคในชีวิตประจำวัน สินค้าที่ลดราคาและเห็นได้ชัดเจนคือเบียร์สด จากราคาแก้วละ 60 – 120 เช็กคราวน์ ลดลงเหลือ 29 – 35 เช็กคราวน์ หรือประมาณแก้วละ 38 – 46 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ ขนมขวัญใจนักท่องเที่ยว ที่เรามักจะเห็นบ่อยๆ ในอินสตาแกรมของเพื่อนที่ไปเที่ยวยุโรปอย่าง Trdelnik ราคาขายปกติของร้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณชิ้นละ 70 – 130 เช็กคราวน์ หรือประมาณ 90 – 170 บาท แต่วันนี้เราสามารถซื้อ Trdelnik มาทานเล่นได้ในราคา 50 – 70 เช็กคราวน์ หรือประมาณ 65 – 90 บาทเท่านั้นเอง 

คนท้องถิ่นจึงกลับมาใช้ชีวิตกับธรรมชาติ

ร้านค้าที่เคยเปิดเพลงเรียกลูกค้าด้วยเพลงภาษาอังกฤษสุดฮิตอินเทรนด์ ก็เปลี่ยนเป็นเพลงภาษาเช็กที่ทำให้เพื่อนชาวเช็กของเราบางคน รู้สึกรักชาติขึ้นมาทันทีที่เดินผ่านเลยแหละ ในบริเวณสะพานชาลส์และแถบเมืองเก่า ที่มักจะมีนักแสดง นักกายกรรม รวมถึงขอทาน ต่างก็มีการปรับตัวให้เข้ากับนักท่องเที่ยวชาวเช็กมากขึ้น โดยเฉพาะขอทานที่เรามักจะเห็นบ่อยๆ ในรูปแบบของการนั่งริมสะพานด้วยหน้าตาที่น่าสงสารกับสุนัขตัวโปรดที่ขาพิการ และถือป้ายเป็นภาษาอังกฤษว่า I am hungery หรือฉันหิว แต่เมื่อนักท่องเที่ยวเปลี่ยนเป็นชาวเช็ก ใครจะไปคาดคิดว่าขอทานก็ยังปรับตัวเปลี่ยนป้ายข้อความเป็นภาษาเช็กซะอย่างนั้นแหละ เรียกได้ว่ากลยุทธ์การปรับตัวไม่น้อยหน้าร้านค้าธุรกิจใหญ่ๆ เลยทีเดียว

เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็กลายเป็นคนเช็กเองที่ออกเดินเล่น

ปรับตัวให้ไว กลยุทธ์ร้านค้าเพื่อการอยู่รอด

เรามีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยกับเจ้าของร้านอาหารบางร้านในกรุงปราก ต่างให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า ในระยะแรกที่โควิด-19 เข้ามาระบาดในสาธารณรัฐเช็ก เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด เพราะยอดขายที่มาจากนักท่องเที่ยวลดลงจนกลายเป็นศูนย์ Mr.Stanek เจ้าของร้าน Lemon Left ร้านอาหารไทยและอาหารเอเชียที่ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวกลางเมือง บอกว่าก่อนวิกฤตโควิด-19 เขามีลูกค้าต่างชาติคิดเป็นร้อยละ 65 – 75 ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด เรียกได้ว่าเป็นแหล่งรายได้หลักของธุรกิจร้านอาหารของเขาเลยก็ว่าได้ แต่เมื่อรัฐบาลสั่งปิดร้านค้าตามมาตรการควบคุมโรค เขาได้พูดต่อด้วยสีหน้าที่ซึมเศร้าว่า ลูกค้าหายหมดเกลี้ยง และสิ่งที่หายตามคือรายได้มหาศาล เขาจึงจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง เนื่องจากรายได้ไม่พอเลี้ยงบริษัท 

ร้านค้าปรับตัว ลดราคาเพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวเช็ก

ในขณะที่ Mr. Zak ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน NOI อีกหนึ่งร้านอาหารไทย ได้ให้ข้อมูลที่คล้ายกันว่า รายได้ของร้านเขาลดลงเป็นอย่างมากในระยะแรก แต่เนื่องจากเขาคอยเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จึงพร้อมปรับตัว เปลี่ยนแนวทางการบริหารธุรกิจอย่างรวดเร็ว โดยสิ่งแรกที่เขาปรับเปลี่ยนในด้านกลยุทธ์ทางการขายคือ การเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นให้บริการลูกค้าต่างชาติ มาเป็นลูกค้าในประเทศ หรือชาวเช็กด้วยกันเอง จนทำให้ปัจจุบันร้านอาหารของเขา มีลูกค้ากลับมาหนาแน่นแทบเหมือนเดิม ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวเช็กที่อาศัยและทำงานอยู่ในกรุง ปรากเกือบทั้งสิ้น เขายังเล่าอีกว่า ตัวอย่างแนวทางการปฎิบัติที่เขาเลือกนำมาใช้ในช่วงเวลานี้คือ เขาได้เพิ่ม Lunch Menu หรือเมนูราคาพิเศษสำหรับมื้อกลางวัน เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มพนักงานออฟฟิศโดยเฉพาะ รวมถึงการเพิ่มบริการเดลิเวอรี่ส่งอาหารถึงบ้านและที่ทำงาน เพราะกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้มีเวลาในการรับประทานอาหารกลางวันจำกัด แต่ยังคงต้องการบริโภคอาหารรสชาติดี มีประโยชน์และราคาย่อมเยาว์ กลยุทธ์ดังกล่าวเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ร้านของเขาได้ลูกค้ากลับมาเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น ปัจจุบันเมื่อรัฐบาลได้อนุญาตให้ร้านอาหารเปิดทำการตามปกติ ผู้คนที่ติดใจในรสชาติอาหาร และบริการของร้านในช่วงล็อกดาวน์ต่างก็ยังเข้ามาอุดหนุน บ้างก็กลายเป็นลูกค้าประจำของร้านเขาเป็นที่เรียบร้อย

สถานที่ท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคัก เพราะคนเช็ก

เตรียมรับมือพฤติกรรมผู้บริโภค ที่กำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ในมุมของพฤติกรรมผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าในชีวิตประจำวัน หากเปรียบเทียบเหตุการณ์ระหว่างก่อน และช่วงวิกฤต Covid-19 นี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนคือ ผู้คนต่างเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าจากออฟไลน์สู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ร้านค้าหลายร้านผันตัวเองจากการขายสินค้าผ่านหน้าร้าน มาจำหน่ายทางออนไลน์เกือบทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังแข่งกันเสนอโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า โดยเฉพาะ Free Shipping หรือการนำส่งสินค้าโดยไม่คิดเงินค่าส่งในช่วงเวลานี้อีกด้วย ถือว่าเป็นการปรับตัวที่เกิดประโยชน์กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขายกันเลยทีเดียว

จริงอยู่ที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19  ได้ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจองค์รวม ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการบริโภค และรูปแบบการทำธุรกิจ อย่างไรก็ดี วิกฤตดังกล่าวอาจถูกเปลี่ยนเป็นโอกาสที่ดีได้ หากเราสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วบนพื้นฐานความต้องการของกลุ่มลูกค้าของตนเอง ใครจะไปคิดล่ะว่า ฝันร้ายที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ อาจกลายเป็นโอกาสใหม่ที่ผลักดันศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา ให้ออกมาเฉิดฉายอย่างมีประสิทธิภาพได้อีกครั้งหนึ่ง

Tags: ,