“โลกกำลังเคลื่อนไปภายหลังการตายอันยิ่งใหญ่ มันเป็นปีแห่งความเปลี่ยนแปลง บนโลกคนตายลงโดยไม่มีสาเหตุ ในขณะเดียวกันบนดาวอังคาร มีความร่วมมือในการสร้างอาณานิคมใหม่”— หน้า 17
ประโยคเริ่มต้นสำหรับนิยายขนาดสั้น แปดสิบสี่ย่อหน้าของการปลอบประโลม ของ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา ที่บอกหมุดหมายของพื้นที่ เส้นแบ่งของกาลเวลา และโลกดิสโทเปีย หากแต่โลกดิสโทเปียที่กำลังถูกสร้างบนอาณานิคมใหม่อย่างดาวอังคารนั้น เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เราไม่สามารถตัดขาดจากบางสิ่งบางอย่างที่ตกค้างยามเมื่อเราใช้ชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์ได้
การเป็นสัตว์โลกในความหมายของเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ ราวกับการแบกความสิ้นหวัง ความตรอมตรมเอาไว้บนบ่า ร่างกายหนาหนักไปด้วยความทุกข์ยาก ความเศร้าสร้อยลอยวนอยู่ภายในร่างกายและดูไร้ทางออก จะมีแต่เพียงการร่วมรักเท่านั้น ที่เป็นเครื่องมือที่ปลดเปลื้องความรู้สึกที่ไม่มีความสุขให้ระเหยหายออกไปได้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม และการเดินทางไปบนดาวอังคารในนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้ ในทางหนึ่ง คือการยอมรับว่าโลกที่เป็นอยู่ไม่ต่างอะไรกับความรู้สึกของการตายทั้งเป็น เป็นความรู้สึกของการบรรจบกันระหว่างร่างกายที่มีชีวิตแต่ตายซากทางจิตวิญญาณ การยอมรับและกลืนกลายเพื่อไปยังพื้นที่อื่นอาจเป็นคำตอบของการทำให้ร่างกายที่มีเลือดเนื้อได้รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองขึ้นแม้เพียงน้อยนิด
‘ผม’ และ ‘คุณ’ ตัวละครที่กั้นแบ่ง
เรื่องราวที่ดำเนินไปกว่าหนึ่งร้อยหน้ากระดาษ มีตัวละครสองตัว ที่ผู้เขียนนำออกมาให้ผู้อ่านได้รับรู้ ผ่านตัวละครที่ใช้สรรพนามที่เรียกว่า ‘ผม’ และ ‘คุณ’ เราไม่มีทางได้รู้ว่าภายใต้สรรพนามที่ถูกเรียกขาน เขาทั้งสองคน หรือมากกว่าสอง มีชื่อจริงนามสกุลจริงอะไร แต่ท่ามกลางงานวรรณกรรมมากมาย ชื่อของบรรดาตัวละครในเรื่องเล่า ก็ผสมผสานทั้งชื่อจริงและชื่อสมมติ แนบสนิทไปกับเรื่องราวที่ทั้งเป็นความจริงและเรื่องราวในจินตนาการ การที่ แปดสิบสี่ย่อหน้าของการปลอบประโลม ไม่ได้บอกว่าตัวละครที่เป็น ‘ผม’ และ ‘คุณ’ ชื่ออะไร ในทางหนึ่งมันคือการสร้างจินตนาการและเรียกร้องให้ผู้อ่านสร้างความรู้สึกร่วมที่ถูกขีดคั่นระหว่างบรรทัดได้อย่างน่าสนใจเป็นอย่างมาก
ภายใต้ความสัมพันธ์ การร่วมรัก อากัปกริยาระหว่าง ‘ผม’ และ ‘คุณ’ เหมือนเราถูกผู้เขียนเอาตัวเราออกไปนอกพื้นที่ และทำได้เพียงเฝ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่กึ่งไกลแต่ไม่ได้ชิดใกล้จนเป็นส่วนหนึ่งอย่างประชิด แม้คำว่า ‘ผม’ จะเป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 หากแต่ในแง่ของการอ่าน มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็น ‘ผม’ หรือคำว่า ‘คุณ’ จะเป็นสรรพนามบุรุษที่ 2 แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าผู้เขียนกำลังเรียกเราว่า ‘คุณ’ เมื่อกระดาษหน้าสุดท้ายถูกอ่านจบลง ความเป็น ‘ผม’ และ ‘คุณ’ สร้างพื้นที่ที่ทำให้เราในฐานะผู้อ่านเป็นเพียงแค่คนที่เฝ้าดูที่ตื่นเต้นไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า วูบไหวไปกับอากัปกริยา และจมดิ่งไปกับความพังทลายที่สังคมหยิบยื่นให้แก่ ‘ผม’ และ ‘คุณ’ มันเกิดรสชาติระหว่างที่สายตาจดจำถ้อยคำในตัวอักษร ราวกับเรากำลังดูภาพยนตร์สักเรื่อง ที่จำกัดการรับรู้ของการเฝ้ามอง มันให้ผลลัพธ์ในแง่ของความรู้สึกหลังจากที่การอ่านจบลงอย่างมากมาย
วันเสาร์ วันสำหรับการปลดปล่อย
“ผมชอบคิดถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงเวลาที่เราน่าจะได้อยู่ด้วยกัน เปลี่ยนทุกคืนเป็นคืนวันเสาร์และสาปแช่งเมื่อทุกวันคือเช้าวันจันทร์ เฝ้ารอคืนวันศุกร์ แต่คุณรู้ เรารู้ ทุกคืนคือคืนวันพุธ สิ้นหวัง ถูกทิ้งกลางทาง ลูกไม่มีพี่น้อง พ่อแม่ก็ไม่รัก” —หน้า 28
วันเสาร์กลายเป็นตัวละครที่สำคัญของนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้ เมื่อ ‘ผม’ และ ‘คุณ’ ต่างใช้เวลาร่วมกันในคืนวันเสาร์เป็นส่วนมาก ราวกับเป็นค่ำคืนแห่งการปลดปล่อย ในทางหนึ่ง มันแสดงออกว่าในวันอื่นๆ ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ผม’ และ ‘คุณ’ ถูกความเป็นชีวิตแย่งความสำคัญลงไป คืนวันเสาร์ได้กลายเป็นพื้นที่ของการนิ่งฟัง สำรวจตัวตน เฝ้ามองอีกฝ่าย เปิดเผยบางอย่างที่เข้ามาในชีวิต กอดก่ายความเดียวดายระหว่างกันโดยที่ยังมีบางสิ่งเฝ้ามองและทำให้ตัวตนไม่สูญสลายหายไปกับความเข้มข้นจากการใช้ชีวิตในคืนวันก่อนหน้านี้ ไม่ระแวงเฉกเช่นตอนที่ตื่นขึ้นมาในวันอาทิตย์เพื่อจะรู้สึกกลัวเมื่อวันจันทร์มาถึง ราวกับคืนวันเสาร์ คือ ความจำเพาะอันแสนพิเศษ และทำให้เราได้ทำตัวอย่างไม่รู้สึกอินังขังขอบต่อสิ่งใดที่ไหลเวียนท่ามกลางกาลเวลาที่เคลื่อนคล้อยไปในแต่ละโมงยาม
ความเป็น ‘ดรอยด์’ และการกลับตาลปัตร
เมื่อใดก็ตามที่เราพูดถึงโลกแห่งจักรกล ผ่านบทความวิชาการ งานวรรณกรรม สื่อภาพยนตร์ มิวสิกวีดีโอหรือซีรีส์มากมาย เราจะพบสิ่งหนึ่งที่กลายเป็นคำถามสำคัญ คือ ความเป็นจักรกลจะเป็นอย่างไรเมื่อถูกใส่ความมีหัวใจเข้าไปข้างใน ท่ามกลางการย้ำเตือนบางอย่างในนิยายเรื่องนี้ ว่าความเป็นดรอยด์ จะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด ความรัก ความเกลียด ความหิวโหย แต่โลกของความเป็นจักรกลใน แปดสิบสี่ย่อหน้าของการปลอบประโลม ได้สร้างการรับรู้แบบใหม่ขึ้นมา
“ข่าวคราวสุดท้ายที่ผมรู้คือคุณอยู่ร่วมในการจลาจลบนดาวอังคาร มันเป็นปีเดียวกับที่หุ่นยนต์บนดาวโลกได้รับรางวัลทางวรรณกรรม เขียนได้ดีกว่าผมมาก ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ผู้คนไร้ความรู้สึกเพื่อเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ หุ่นยนต์มีความรู้สึกเพื่อเป็นหุ่นยนต์ที่สมบูรณ์…” —หน้า 81
นี่คือการกลับหัวกลับหางอย่างน่าสนใจ เมื่อความเป็นมนุษย์ถูกตั้งคำถามในยามที่ไร้ความรู้สึก และความไม่เป็นมนุษย์จะกลายเป็นความสมบูรณ์เมื่อมีความรู้สึก นั่นกลายเป็นหมัดเด็ดสำหรับนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้ ท่ามกลางบรรยากาศทางเพศ ความรู้สึกอ้างว้าง ความเปลือยเปล่า เส้นแบ่งระหว่างโลกยุคเก่าและโลกยุคใหม่ ความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงคืออะไร และความไม่เป็นมนุษย์ที่แท้จริงจะต้องกลายร่างไปสู่จุดไหน
นอกจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ระหว่างการอ่านตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายจบลง ภาพบรรยากาศของ แปดสิบสี่ย่อหน้าของการปลอบประโลม ให้ความรู้สึกราวกับกำลังชมภาพยนตร์เรื่อง Blade Runner 2049 ที่แสดงให้เห็นภาพของโลกที่ความเป็นมนุษย์และมนุษย์ดัดแปลงถูกตั้งคำถามอย่างเข้มข้นไม่ต่างจากนิยายขนาดสั้นของวิวัฒน์ เล่มนี้
แปดสิบสี่ย่อหน้าของการปลอบประโลม จึงเป็นงานเขียนที่นำพาตัวเราไปสู่การคิดแบบกลับตาลปัตร ภายใต้สังคมที่กำลังจะล่มสลาย ภายใต้ภาษาอันผาดโผน เนื้อเรื่องที่เล่นอยู่กับตัวละครที่น้อยนิดแต่ท่วมท้น ความเป็นมนุษย์ที่ถูกนิยามแบบใหม่ การกลายร่างเป็นอื่น คือ ตัวเลือกที่เด่นชัด ตรงไปตรงมา และไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป บางทีการเป็นมนุษย์ภายใต้สภาพสังคมที่ไร้ความหวังอาจเป็นความสิ้นหวังกว่าการยอมเป็นเพียงแรงงานจักรกลในดาวดวงอื่น การถูกฝังบางสิ่งบางอย่างเข้ามาในร่างกายอาจเป็นสิ่งที่ดีกว่าการอยู่ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีความฝัน และยังต้องแบกความทุกข์อันแสนสาหัสจนร่างกายที่เป็นมนุษย์ต่างผุพังจนกลายสภาพไม่ต่างอะไรกับภูตผีที่ไม่มีตัวตน