ดูเหมือนโควิด-19 ทำให้เทคโนโลยีก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะในความสัมพันธ์ของมนุษย์ เช่น วีดีโอคอล หรือภาคธุรกิจอย่าง การประชุมบริษัทผ่านระบบการสนทนาออนไลน์ และคงอีกไม่นานที่เราจะได้เห็น ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาทำงานประสานกับเรามากขึ้นเรื่อยๆ จนเหมือนในหนังไซไฟหลายเรื่องวาดภาพกันไว้
ชวนให้ตั้งคำถามว่า ถ้าวันหนึ่ง AI เข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์อย่างจริงจัง ใกล้ชิด เคียงบ่าเคียงไหล่ ศักยภาพของมนุษย์เราจะมีประโยชน์อย่างไร เมื่อพวกมันอ่านหนังสือหลายล้านเล่มทั่วโลกในเวลาชั่วพริบตา ฟังเพลงครบแล้วในคลังยูทูบ และพูดได้ทุกภาษาที่นิยมใช้กันทั่วโลก ดังนั้น มนุษย์ควรย้ายไปมีตำแหน่งแห่งที่ตรงไหนในโลกสมัยใหม่ แล้วเราควรเป็นคนอย่างไร ต้องมีทักษะอะไรติดตัวบ้าง ต่อไปถึงคำถามสำคัญเช่นกันว่าระบบการศึกษาควรเป็นแบบไหน เพื่อสร้างให้คนและงานสอดรับต่อกันมากทีสุด
The Momentum ชวนมองปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ทั้งในระบบการศึกษาและทักษะแรงงานที่ต้องมี ด้วยการสนทนากับ ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ผู้ทำเรื่องการศึกษามาอย่างยาวนาน กล่าวคือ เป็นครูที่ศึกษาเรื่องครูอีกทีหนึ่ง และเจ้าของหนังสือ ครุเศรษฐศาสตร์ ว่าด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างที่ครูต้องพบ 10 ประการ
อยากชวนพูดคุยจากสถานการณ์การศึกษาตอนนี้ก่อน มองว่าการเรียนการสอนออนไลน์เป็นอย่างไรบ้าง
ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหา อันที่จริงไทยเรามีการเรียนและเนื้อหาต่างๆ รูปแบบออนไลน์มานานแล้ว ถ้าจำได้สมัยเด็กๆ จะมีทีวีดาวเทียมของรัชกาลที่ 9 ประกอบกับเทคโนโลยีการศึกษา อย่างระบบซูม หรือกูเกิลคลาสรูม ที่พัฒนาขึ้นมาก
แต่มันก็มีอุปสรรคหลายด้าน เรื่องแรกสัดส่วนของเด็กที่เข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือสัดส่วนในการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตของเด็กไทยไม่เท่าเทียมกัน เด็กบางคนอาศัยอยู่ในห้องเช่าไม่มีห้องส่วนตัว สำหรับครอบครัวที่ฐานะดี อากาศร้อนก็เปิดแอร์ได้ แต่บางครอบครัวห้องส่วนตัวที่เด็กจะเรียนเงียบๆ เขายังไม่มีเลย
ในฝั่งของครู หลายคนทั้งชีวิตไม่เคยสอนออนไลน์ อยู่ดีๆ ให้มาพูดหน้าคอมพิวเตอร์ก็คงลำบาก ผมเลยคิดว่าจะมีความตะกุกตะกักพอสมควร นอกจากนี้ กลุ่มผู้ปกครองจากที่ต้องทำงานก็ต้องมาหาข้าวให้ลูกกินวันละ 3 มื้อ ต้องมาช่วยลูกเรียน ซึ่งเป็นภาระที่หนักมากกับผู้ปกครองหลายๆ คน
ถ้าหากเราลองมองเด็กในโรงเรียนนานาชาติซึ่งมีความพร้อมสูงสุด และกำลังเรียนออนไลน์มาได้สองเดือนกว่าแล้วจะพบว่า เหนื่อยหนักสาหัสมาก และถ้าเด็กที่มีความพร้อมที่สุดของประเทศยังไม่ไหว ก็ไม่ต้องหวังเลยว่าเด็กคนอื่นจะพร้อม
เพราะฉะนั้น ผมมองว่าการเรียนออนไลน์เป็นแค่ ‘เครื่องมือหนึ่ง’ ของระบบการศึกษา นอกเหนือไปจากเนื้อหาที่สอนตามปกติ หรือการที่เด็กจะไปโรงเรียน เจอครู พบเพื่อน ได้พูดคุยถกเถียง ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญกว่า ผมเลยมองว่าการเลื่อนเปิดเทอมเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม เป็นการตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอนของข้อมูล ไม่ว่าจะความพร้อมของครูและเด็ก การสอนจะเป็นอย่างไร พูดง่ายๆ คือให้โรงเรียนลองๆ ไปก่อน
ช่วงอายุไหนที่จะได้รับผลกระทบกับการเรียนออนไลน์มากที่สุด
ช่วงอายุเด็กเล็ก เพราะการเรียนออนไลน์ต้องใช้สมาธิค่อนข้างมาก การเรียนในห้องเรียนยังมีครูคอยดุว่ากล่าวให้อยู่ในระเบียบ และถึงแม้ครูที่สอนออนไลน์จะใช้วิธีสั่งงานให้เด็กมาส่งภายใต้กรอบเวลา แต่พอไม่มีแรงกดดันจากครู เขาก็จะไม่ค่อยได้ประโยชน์เท่าไร
อย่างผมสอนระดับปริญญาโท-เอก ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA สอนอยู่เด็กเผลอหลับไปก็มี ดังนั้น ผมเชื่อว่าถ้าเป็นเด็กเล็กจะยิ่งยากมากขึ้น ถ้าให้พ่อแม่ประกบก็เสียเวลาพ่อแม่อีก
นอกจากนี้ การเรียนออนไลน์ทำให้การมีส่วนร่วมถกเถียงในห้องเรียนหายไป เพราะครูไม่สามารถจี้เด็กหรือให้เด็กมารวมกลุ่มพูดคุยได้ มันจึงทดแทนการเรียนในห้องเรียนไม่ได้ แต่สามารถเป็นตัวเสริมได้ ซึ่งประเทศไทยควรจะไปทางนั้นมากกว่า ยกตัวอย่าง ช่วงต้นปีที่มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 อาจต้องให้เด็กหยุกอยู่บ้าน ก็สามารถจัดการเรียน ออนไลน์ทดแทนได้ หรือสิงคโปร์ เขาก็เริ่มลดระยะเวลาการไปโรงเรียน เช่น ไป 4 วัน แล้วให้มีการเรียนออนไลน์อีกหนึ่งวัน ผมคิดว่าลักษณะแบบนี้จะทำให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เด็กไม่ต้องเดินทางไปโรงเรียน แต่ได้องค์ความรู้เหมือนเดิม ครูไม่ต้องไปสอนทุกวัน และยังสามารถเสนอรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ได้ด้วย
การเรียนออนไลน์ทำให้การมีส่วนร่วมถกเถียงในห้องเรียนหายไป เพราะครูไม่สามารถจี้เด็กหรือให้เด็กมารวมกลุ่มพูดคุยได้ มันจึงทดแทนการเรียนในห้องเรียนไม่ได้ แต่สามารถเป็นตัวเสริมได้ ซึ่งประเทศไทยควรจะไปทางนั้นมากกว่า
มีข้อเสนออย่างไรบ้าง
ถ้าการไปโรงเรียนปลอดภัย มีการเว้นระยะห่างทางสังคม เราสามารถใช้การไปโรงเรียนผสมกับการเรียนออนไลน์ได้ มันมีรูปแบบวิธีมากมาย เช่น การสลับวันไปเรียน จัดกลุ่มเด็กที่ให้ไปเรียนที่โรงเรียนได้ หรือไม่ต้องเรียนในห้องเรียน เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัส
ผมอยากเสนอว่า ถ้าโรงเรียนนานาชาติเริ่มจัดให้มีการเรียนการสอนออนไลน์แล้ว กระทรวงศึกษาธิการควรใช้โอกาสนี้เก็บข้อมูล โดยให้โรงเรียนนานาชาติทดลองจัดการเรียนออนไลน์ผสมกับการไปโรงเรียนอย่างเหมาะสม เพื่อให้รู้ว่าการเรียนการสอนที่ผสมผสานสองรูปแบบควรทำอย่างไร หรือติดขัดตรงไหน
นอกจากนี้ ความพร้อมของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องให้เปิดโรงเรียนพร้อมกัน อย่างกลุ่มโรงเรียนในเมืองหลายโรงเรียนบอกว่าพร้อมกับการสอนออนไลน์แล้ว ไม่ต้องเลื่อนเปิดเทอมออกไปเป็นกรกฎาคมก็ได้
แต่โรงเรียนอื่นก็ควรปรับตามพื้นที่อีกทีหนึ่ง เช่น โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อต่ำมาก และยังมีนักเรียนไม่มาก ผมคิดว่าก็ควรเปิดให้เขาไปโรงเรียนและค่อยจัดมาตรการระวังในระดับชุมชน แต่ตอนนี้กระทรวงศึกษาให้ทุกโรงเรียนทั้งประเทศทำเหมือนกันหมด ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะดี
ใกล้ถึงฤดูกาลสำเร็จการศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัย และเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงการระบาดของโควิด-19 มองว่ามีความท้าทายรอคอยพวกเขาอย่างไรบ้าง
ถึงแม้ไม่มีโรคโควิด-19 แต่ถ้าเราดูข้อมูลอัตราการว่างงาน เราจะทราบดีว่าเด็กจบใหม่ตกงานค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว ซึ่งมันมาจากปัญหาหลักๆ ว่า ทักษะที่ได้รับจากการเรียนกับทักษะที่ต้องใช้ทำงานมันไม่ตรงกัน หรือที่เรียกว่า Skill Mismatch
โควิด-19 เหมือนเป็นตัวเร่งที่ทำให้จำนวนเด็กจบใหม่ตกงานเพิ่มขึ้น สมมติจากเดิม 300,000 คน ก็เพิ่มเป็น 500,000 คน จากเดิมที่ไม่จ้างงานเพราะทักษะไม่ตรงกับที่ต้องการ ตอนนี้ไม่การจ้างงานเพราะอุตสาหกรรมปิดตัว เพราะฉะนั้น แง่หนึ่งมันคือปัญหาเดิมอยู่แล้ว
แต่ธุรกิจปัจจุบันกำลังปรับตัวเพื่อเข้าสู่ดิจิทัล ทักษะที่เขาต้องการจากเด็กจบใหม่ก็จะไม่เหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป เขาต้องการคนที่เรียกว่า ‘ทำงานเป็น’ เช่น สื่อสารกับคนอื่นได้ ทำงานเป็นทีมได้ มีความคิดสร้างสรรค์ ทักษะอื่นที่ยังไม่มี องค์กรเขาสามารถฝึกอบรมเองได้ อย่างไรก็ตาม โรคโควิด-19 ยิ่งย้ำให้เห็นว่าทักษะที่เด็กจบใหม่มีกับทักษะที่ต้องใช้ในการทำงานยิ่งแตกต่างกันมากขึ้นไปใหญ่
นอกจากนี้ ผมคิดว่าโควิด-19 น่าจะทำให้เด็กจบใหม่เปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความมั่นคงและการทำงานประจำ จากแต่เดิมที่พวกเขามองว่าอยากประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย อยากเป็นเจ้าของธุรกิจหรือทำงานฟรีแลนซ์ แต่โควิด-19 ทำให้เห็นว่าการทำงานประจำอาจจะไม่ได้แย่นัก อย่างน้อยก็มีเงินเข้ามาทุกเดือนอาจไม่เยอะ แต่มีความแน่นอนมั่นคงและไม่ต้องลำบากอะไร
คนรุ่นใหม่น่าจะได้เรียนรู้ว่าทักษะที่สำคัญกับพวกเขาคือ การปรับตัวเพื่อเอาตัวรอด เพราะตอนนี้ แม้แต่อาชีพเฉพาะที่หาคนทดแทนยาก อย่าง นักบินก็ตกงานได้ ดังนั้น ต้องมีทักษะในการปรับตัวเองในการดำรงชีวิตและสามารถปรับไปประกอบอาชีพอื่นจึงสำคัญมาก
ซึ่งสิ่งที่คนยุคปัจจุบันต้องมีก็คือ GROWTH MINDSET หรือทักษะการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นทักษะของ ‘คนที่มีความเข้มแข็ง’ คนที่มองว่าทุกอย่างมีความเป็นไปได้ การตกงานไม่ใช่เรื่องแย่ แล้วเมื่อถูกท้าทายต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อให้อยู่รอด ตรงนี้สำคัญมากเพราะมันเป็นทักษะที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ไม่สามารถทดแทนได้ เช่นเดียวกับเวลาที่เราฟังไลฟ์โค้ช หรือคนอย่าง แจ็ค หม่า ที่ชอบเล่าว่าพวกเขาล้มเหลวอย่างไร และลุกขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้การเรียนการสอนอย่างเดียวสร้างไม่ได้ ต้องสร้างตั้งแต่สถาบันครอบครัวและประสบการณ์ชีวิตของเขาเอง ซึ่งสามารถสร้างได้ตั้งแต่วัยเยาว์
นอกจากนี้ สิ่งที่รออยู่ในอนาคตเข้าหลักการ ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน ดังนั้น ทุกคนต้องมีความสามารถในการที่จะทำสามอย่างคือ เรียนรู้ (Learn) ลืม (unlearn) และเรียนรู้ใหม่ (re-learn) โชคดีที่เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้เราเรียนรู้ใหม่ได้ง่ายขึ้น มันมีคอร์สออนไลน์ อบรมฟรีอะไรต่างๆ เต็มไปหมด
แต่ปัญหาที่สำคัญคือคนไม่ค่อยอยากจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพราะว่าขาดความคิดแบบ Growth Mindset ฉะนั้นการศึกษาควรทำอย่างไรเพื่อสร้างคนพร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา ตรงนี้สำคัญมาก เพราะสิ่งที่การศึกษาสอนตอนนี้ ในอีกห้าปีอาจจะใช้ไม่ได้แล้ว แต่ว่าความสามารถในการ learn unlearn re-learn จะใช้ได้ตลอดชีวิต
ความคิดนี้ตรงข้ามกับ FIXED MINDSET คือทักษะที่หยุดนิ่งไม่มีการเจริญเติบโต และคิดว่าทุกอย่างมันยาก มันล้มเหลวไปหมด ซึ่งพอเกิดปัญหาโควิด-19 คนที่มีความคิดแบบนี้จะลำบากมาก
การศึกษาควรทำอย่างไรเพื่อสร้างคนพร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา ตรงนี้สำคัญมาก เพราะสิ่งที่การศึกษาสอนตอนนี้ ในอีกห้าปีอาจจะใช้ไม่ได้แล้ว แต่ว่าความสามารถในการ learn unlearn re-learn จะใช้ได้ตลอดชีวิต
อาจารย์เคยเสนอไว้ว่า ในยุค AI มนุษย์ควรจะกลับไปสู่ความเป็นมนุษย์ให้มากขึ้น ช่วยขยายความหน่อย
AI เก่งกว่าเราหมดแล้ว คิดเลขเร็วกว่า แปลได้ทุกภาษาทั่วโลก เขาทำงานขยันกว่าและไม่ต้องมีวันหยุด เมื่อทักษะในเชิงวิชาการ AI เก่งกว่าเราทุกด้าน ดังนั้น AI จึงสามารถมาทดแทนงานจำนวนมากในปัจจุบันได้อย่างที่เห็นกันอยู่ คำถามคือมนุษย์จะอยู่กับ AI ได้อย่างไร
แน่นอนว่าทักษะที่ AI ไม่มีคือ ทักษะความเป็นมนุษย์ เช่น ทักษะในการพูดคุย ความเห็นอกเห็นใจ การทำงานเป็นทีม หรือทักษะในการให้ความรัก ความเอื้ออาทร ซึ่งล้วนเป็นทักษะพื้นฐานของคนที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน
ระบบการศึกษาแบบเดิมที่เคยยึดเรื่องคิดเลขเร็ว เก่งภาษาไม่เพียงพออีกแล้ว การศึกษาต้องมีด้านศิลปะ หรือ Artistic เข้าไปด้วย ไม่ใช่แค่ด้านการวาดรูป แต่หมายถึงการเข้าใจปรัชญาเพื่อให้เข้าใจมนุษย์ อย่างตอนนี้ ในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนหมอที่ประเทศอังกฤษ เขาจะดูว่าเด็กคนนั้นเก่งด้านปรัชญาด้วยหรือไม่ เพราะถ้าเราเข้าใจปรัชญาเราจะเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้เป็นหมอที่เข้าใจคนไข้ และดูแลคนไข้ได้ดีขึ้น เป็นต้น
ดังนั้น ทักษะความเข้าใจมนุษย์ของผมคือ ทักษะการบูรณาการข้ามศาสตร์ ที่จะนำองค์ความรู้ทางเทคนิคมาเข้าใจการทำงานและปัญหาสังคมให้มากขึ้น สมมติ คุณเก่งคอมพิวเตอร์เขียนโค้ดดิง (Coding) ได้ก็ควรรู้ว่าจะเขียนไปทำไม ใช้ภาษาคอมพิวเตอร์กับอะไร สินค้าชิ้นไหน หรือกับงานแบบไหน เพื่อจะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า หรือตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ตรงนี้สำคัญกว่า
แบบนั้นแล้ว ระบบการศึกษาควรจะเป็นแบบไหน
ผมคิดว่าประเทศไทยควรจะมีการศึกษาที่ไม่มองให้คนออกมาเป็นรูปแบบเดียว แต่เป็นการศึกษาที่พร้อมสอนให้เด็ก ‘เกิดการบูรณาการ’ อย่างในปัจจุบันเราจะเห็นแผนการเรียนที่แบ่งออกเป็นสายวิทย์ สายศิลป์ ซึ่งแปลว่าเด็กที่เลือกเรียนแต่ละสายให้ความสนใจกับด้านนั้น แต่การทำงานจริงเราต้องใช้มันด้วยกัน เพราะฉะนั้น ข้อแรกคือการศึกษาต้องไม่มีการแบ่งสาย
ข้อสองการศึกษาต้องสร้างทักษะที่เรียกว่า 4C (Creativity, Collaboration, Communication, Critical Thinking) ให้มากขึ้นคือ ความคิดสร้างสรรค์, การทำงานเป็นทีม, การสื่อสาร และการคิดวิเคราะห์ การศึกษาแบบเดิมที่ให้เด็กเรียนและไปสอบ ไม่ได้วัด 4C ตรงนี้ มันวัดความสามารถส่วนบุคคล แต่ความสามารถการคิดวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีมไม่มีเลย
เพราะฉะนั้น ถ้าจะสร้างคนที่มี 4C ขึ้นมา ข้อแรกระบบการประเมินผลของเด็กไม่ว่าจะในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไม่ควรประเมินแบบ One-Size Fit All เช่น ที่ผ่านมาเราประเมินแบบสอบ สอบ และสอบ แต่สมมติว่าผมเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์สูง ทำงานกับเพื่อนได้ดี เป็นที่รักของเพื่อน แต่เรียนไม่เก่ง ถ้าใช้วิธีแบบเดิมผมก็จะสอบตกทันที เพราะฉะนั้นการประเมินควรเน้นความสามารถของเด็กในการทำงานจริงๆ เพื่อให้ได้ทักษะการบูรณาการที่ครบ
หมายความว่าการสอบของเด็กแต่ละคนควรจะไม่เหมือนกัน
ควรจะเป็นแบบนั้น ยกตัวอย่าง วิชาพละศึกษา ถ้าข้อสอบคือให้เด็กกระโดดเชือกได้ 10 ทีแล้วจะผ่าน แต่ทุกคนมีความสามารถด้านกีฬาไม่เท่ากัน ตรงนี้ครูควรดูเด็กให้ออกและให้ข้อสอบที่แตกต่างกัน เช่น สำหรับเด็กที่กระโดดผ่านอยู่แล้ว ให้มีหน้าที่ไปช่วยเพื่อนที่โดดไม่ผ่าน ส่วนเด็กที่โดดไม่ผ่านก็ต้องโดดปกติ เห็นได้ว่าการวัดผลแบบนี้มันได้ทั้งสองฝ่าย เด็กที่เก่งอยู่แล้วจะได้ทักษะในการทำงานจริงคือ การร่วมมือและการช่วยเหลือเพื่อน ส่วนเพื่อนอีกคนที่มีเพื่อนมาเชื่อใจ มาช่วยเหลือ ก็จะมีความพยายามมากขึ้นในการที่จะโดดให้ผ่าน
ซึ่งการทำงานจริงก็เป็นแบบนี้ใช่ไหมครับ ไม่ใช่แต่ละคนทำงานและแยกกันวัดคุณภาพ แต่มันคือการทำงานที่มีการผสมผสานทักษะต่างกันเยอะมาก
เมื่อพูดถึงตรงนี้ ก็ต้องถามถึงบุคลากรครูในระบบการศึกษาไทย มองว่าอย่างไรบ้าง
เรามีปัญหาเรื่องแรกคือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัจจุบันอายุเฉลี่ยครูเกินครึ่งอยู่ที่ประมาณ 50 ปี แปลว่าเขาสอนแบบเดิมมา 30 ปีแล้ว ดังนั้น ถ้าจะให้เขาเริ่มสอนแบบออนไลน์ หรือเปลี่ยนเป็นการสอนแบบใช้ปัญหาของเด็กเป็นพื้นฐาน (Problem Based) แทบเป็นไปได้ยากมาก
และถ้าครูรุ่นใหม่เข้าไปสู่ในระบบที่มีโครงสร้างเดิม มีการประเมินแบบเดิม พวกเขาก็ต้องทำแบบเดิม เพราะระบบการประเมินขึ้นเงินเดือนเป็นแบบนั้น เขาอาจจะทำอะไรที่แหวกแนวมากขึ้นได้ แต่จะไม่ได้รับการประเมินที่ถูกต้อง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ศักยภาพของครู แต่อยู่ที่ระบบ
ถ้าเราดูตัวอย่าง โรงเรียนนานาชาติของไทย เขาจะไม่มีการให้เกรด แต่จะเขียนลงไปว่า เด็กคนนี้อยู่ในค่าเฉลี่ยประมาณเท่าไร มีข้อดี-เสียอย่างไร ครูแต่ละวิชาก็จะเขียนถึงเด็กแต่ละคนไป ซึ่งพอผู้ปกครองได้รับใบประเมินก็จะไม่รู้หรอกว่าลูกเรียนเป็นอย่างไร แต่รู้ว่าควรพัฒนาลูกตัวเองอย่างไรและลูกมีจุดแข็ง-อ่อนตรงไหน
เพราะฉะนั้น ผมเลยมองว่าระบบที่ครูต้องเผชิญเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าระบบบังคับว่าครูต้องให้คะแนนเป็นเกรด มันก็จบที่การสอบ สั่งการบ้านและทำรายงาน แต่ถ้าระบบไม่มีการประเมินแบบ One Size Fit All เด็กแต่ละคนก็จะได้รับการส่งเสริมให้มีความสามารถแตกต่างกัน เด็กคนนี้มุ่งมั่นเป็นนักกีฬา เขาก็อาจจะไม่ได้เรียนได้ดีแบบคนอื่น แต่ว่าครูอาจจะมองเห็นด้านดีอื่นๆ ของเขา เช่น เข้ากับเพื่อนได้ดี รู้จักช่วยเหลือครู ซึ่งในปัจจุบันมหาวิทยาลัยเมืองนอกก็จะดูเรื่องบุคลิกภาพ เรื่องต่างๆ ของเด็กเป็นสำคัญ
ครูรุ่นใหม่เข้าไปสู่ในระบบที่มีโครงสร้างเดิม มีการประเมินแบบเดิม พวกเขาก็ต้องทำแบบเดิม เพราะระบบการประเมินขึ้นเงินเดือนเป็นแบบนั้น เขาอาจจะทำอะไรที่แหวกแนวมากขึ้นได้ แต่จะไม่ได้รับการประเมินที่ถูกต้อง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ศักยภาพของครู แต่อยู่ที่ระบบ
ทำไมอายุเฉลี่ยของครูถึงสูงถึง 50 ปี ไม่มีครูรุ่นใหม่เข้ามาในระบบหรือ
ตอนนี้ความต้องการรับครูรุ่นใหม่มีน้อยลง เพราะจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง แต่คนที่เรียนครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์กลับยังเยอะมาก บวกกับคนที่จะมาเป็นครูคือ คนที่มุ่งหวังในเรื่องความมั่นคง หรืออยากเป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ของชาติ ไม่ได้เป็นกลุ่มที่อยากประสบความสำเร็จเร็วๆ ซึ่งตอนนี้น่าจะมีไม่ถึงร้อยละ 10 ที่จบออกมาแล้วเป็นครู ส่วนใหญ่ไปทำอาชีพอื่น
แต่ก่อนเรื่องเงินเดือนทำให้ไม่มีใครอยากเป็นครู แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐเพิ่มงบประมาณทางการศึกษาขึ้นประมาณสามเท่า ซึ่งก็คือเงินเดือนของครู นอกจากนี้ ครูยังทำงานแค่ 9 เดือน มีเว้นว่างช่วงปิดเทอมและยังมีบำนาญให้อีก เมื่อเราเพิ่มเงินเดือนให้ครูแล้ว แต่ทำไมผลการศึกษายังออกมาไม่ดี ผมเลยมองว่าเป็นเพราะระบบโครงสร้าง แรงจูงใจต่างๆ ค่อนข้างที่จะบิดเบี้ยว ไม่นำพาสู่คุณภาพการศึกษาที่ดีพอ
มีหลายประเทศที่เราใช้เป็นกรณีศึกษาได้ อย่างเช่น เกาหลีใต้ เขาให้ความสำคัญกับการศึกษาของเด็กเล็ก ดังนั้น ถ้าจะเป็นครูประถมศึกษาในเกาหลีใต้ คุณต้องจบจาก 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำเท่านั้น ที่สำคัญเงินเดือนครูเกาหลีใต้สูงมาก ฉะนั้นคนที่มุ่งมั่นเป็นครู เขาจะตั้งใจตั้งแต่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยทั้งสิบแห่งดังกล่าว
หรือกรณีของประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศกึ่งคอมมิวนิสต์ เขาจึงวางว่าถ้าอยากจะเป็นครูโรงเรียนประถมในปักกิ่ง ต้องไปรับใช้สังคมก่อน ไปเป็นครูที่ชนบทก่อนกี่ปี ถึงจะมาสู่ตรงนี้ได้ ระบบการคัดกรองของเขาเข้มข้นตั้งแต่ก่อนคุณจะมาเป็นครูด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเขาจะได้คนที่มีคุณภาพและอยากเป็นครูจริงๆ เข้ามา แต่ของไทยใช้วิธีการขึ้นเงินเดือนเป็นตัวล่อ
มีข้อเสนอถึงการพัฒนาครูอย่างไรบ้าง
จริงๆ ผมเคยเสนอไว้ทั้งหมด 10 ข้อด้วยกัน แต่ประเด็นที่ผมมองว่าสำคัญที่สุด คือระบบการรับครูของเราที่บิดเบี้ยวไปหมด การสอบครูของเราไม่ได้วัดคนที่ความสามารถหรือว่าจิตใจ นอกจากนี้ยังมีการรับแบบฝากฝัง ซึ่งพอรับมาก็ไม่ตรงสาย เช่น รับครูพละมาสอนภาษาอังกฤษ
พอเข้ามาแล้วก็พบปัญหา เรื่องระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ที่ทำให้ครูต้องประเมินผลงาน เช่น ครูต้องสอนและวัดศักยภาพเด็กตามที่กำหนดมา หรือถ้าอยากได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นก็ต้องทำเอกสารการสอน สังเกตดูว่าครูจะหมดเวลาไปกับเรื่องพวกนี้เยอะมาก
อีกปัญหาหนึ่งคือ ครูไม่ได้ประกอบอาชีพเดียว เช่น ขายประกันไปด้วยบ้าง ปล่อยสินเชื่อบ้าง ทำธุรกิจบ้าง ซึ่งมันทำให้ครูถูกดึงตัวเวลาที่ควรมอบให้กับเด็กออกไป นอกจากนั้นยังพบว่าครูมากกว่าครึ่งดำเนินกิจกรรมการกวดวิชานอกห้องเรียนเป็นรายได้เสริมหลัก และเหมือนกับบังคับกลายๆ ให้เด็กต้องเรียนเสริม สุดท้ายครอบครัวก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนนี้ ซึ่งประเด็นนี้สามารถแก้ไขได้โดยการยกเลิกการให้เกรดในโรงเรียน เพราะถ้าไม่มีเกรด เด็กก็ไม่รู้จะกวดวิชาเพื่อเอาเกรด 4.00 ไปทำไม
อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ว่าขอให้เราเรียนอะไรที่รัก ทำอะไรที่ถนัด แล้วหันมาคิดถึงตัวเองกับโลก แต่ว่าระบบโรงเรียนบางทีก็ไม่ช่วยให้เราค้นพบความชอบของตัวเองเลย เลยอาจารย์มองว่าอย่างไรบ้าง
ผมมองว่าปัญหาตรงนี้ค่อนข้างจะตรงไปทางพ่อแม่มากกว่า อย่าลืมว่าโรงเรียนก็เป็นแค่เศษเสี้ยวนึงของชีวิตของเด็ก สิ่งสำคัญจริงๆ คือเด็กใช้เวลาอยู่บ้านมากกว่าโรงเรียน ดังนั้น บทบาทครอบครัวสำคัญกว่า
ผมขอยกตัวอย่างกรณีของครอบครัวผม ทั้งผมและภรรยาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งคู่ ก็เป็นธรรมดาที่อยากให้ลูกเรียนเก่งๆ แต่ปรากฏว่าลูกผมอยากเล่นกีฬามากกว่า สุดท้ายผมจึงเลือกให้ลูกไปซ้อมกีฬามากกว่าไปกวดวิชา และถึงแม้เกรดที่โรงเรียนจะไม่ดี แต่ผมและภรรยาก็เชื่อว่าเขาจะไปได้ดี เพราะกีฬาทำให้เขาได้ฝึกทักษะการเจริญเติบโต ช่วยสอนเรื่องน้ำใจนักกีฬา การแพ้-ชนะ ความอดทน การทำงานเป็นทีม เขาได้สิ่งที่สำคัญครบเลยในโลกยุคนี้ และถ้าคนเรามีความคิดแบบนี้โควิด-19 มากี่รอบ เขาก็เอาตัวรอดได้
ดังนั้น ถ้าเวลาสองในสามของเด็กอยู่กับครอบครัว ผมจึงให้ครอบครัวสำคัญมากกว่า เพราะสุดท้ายคุณเปลี่ยนการศึกษาไม่ได้ การศึกษาให้ความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ และตัวเด็กแต่ละคนเองว่ามุ่งมั่นพาตัวเองไปอย่างไร
แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่ละครอบครัวมีความเหลื่อมล้ำแตกต่างกันมากมาย ผมกังวลมากเกี่ยวกับเรื่องความเหลื่อมล้ำ และผมไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเลยจริงๆ สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ไม่ใช่แค่ในเชิงเศรษฐกิจ แต่เด็กเกิดมาก็มีพ่อแม่ไม่เหมือนกันแล้ว ฐานะไม่เท่ากัน โอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาก็ไม่เหมือนกัน บางคนฐานะดีก็เข้าถึงระบบการศึกษาที่ดี ได้ไปเรียนต่อในระดับสูง คนที่ฐานะยากจนเลือกอะไรไม่ได้เลยกับชีวิต
เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาหลายๆ อย่างของประเทศได้เลย ถ้าความเหลื่อมล้ำมันยังคงกว้างอย่างเช่นทุกวันนี้ และน่าจะกว้างมากขึ้นด้วย ไม่มีแนวโน้มที่ดูแล้วจะแคบลงเท่าไหร่
ผมและภรรยาก็เชื่อว่าเขาจะไปได้ดี เพราะกีฬาทำให้เขาได้ฝึกทักษะการเจริญเติบโต ช่วยสอนเรื่องน้ำใจนักกีฬา การแพ้-ชนะ ความอดทน การทำงานเป็นทีม เขาได้สิ่งที่สำคัญครบเลยในโลกยุคนี้ และถ้าคนเรามีความคิดแบบนี้โควิด-19 มากี่รอบ เขาก็เอาตัวรอดได้
ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งที่ประเทศไทยกำลังจะเจอคือเรื่องของ สังคมผู้สูงอายุ มองมันว่าอย่างไร
ในอีกไม่ช้า ผู้สูงอายุจะคิดเป็นร้อยละ 25 ของโครงสร้างประชากรทั้งประเทศ ขณะที่เด็กเกิดใหม่ก็ลดลง เพราะคนทำงานยุคใหม่มองว่าการมีลูกลำบากมาก ซึ่งแปลว่าคนที่จะทำงานหาเลี้ยงคนแก่จะน้อยลง ดังนั้น คนที่ทำงานได้ต้องทำงานหนักขึ้นแน่ๆ ด้านภาครัฐก็ต้องจัดสวัสดิการสังคมมากขึ้น ก็ต้องเก็บภาษีให้สูงขึ้น
สุดท้ายลำบากกับคนรุ่นใหม่ถูกคาดหวังให้ทำงานได้เก่งและหาเงินได้เยอะ เพื่อจะเลี้ยงผู้สูงวัยที่มีจำนวนมากขึ้น ก็ต้องให้พวกเขาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เต็มประสิทธิภาพเพื่อจะเพิ่มผลิตภาพของเขา นี่คือโจทย์ในการแก้ไขตรงนั้น
แน่นอนถ้าใช้ AI มันมีทั้งด้านบวกและด้านลบ AI เข้ามาแย่งงานและช่วยทำงาน แต่เหมือนการเรียนออนไลน์คือต้องทำให้มันเกิดประโยชน์มากขึ้น ไม่ใช่เพื่อมาทดแทน
หรือเราไม่จำเป็นต้องทำงานหนักขนาดนั้น แต่รัฐควรมีระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมเมื่อเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
การจัดสวัสดิการของไทยต้องใช้เงินให้คุ้มค่ามากกว่านี้ ทุกวันนี้การจัดสวัสดิการของบ้านเราเป็นการให้ในลักษณะที่มอบแก่ทุกคนเป็นหลัก เรียนฟรี รักษาฟรี แต่สิ่งเหล่านี้หลายบ้านเขาไม่ต้องใช้ เพราะเขามีเงิน ดังนั้น เราต้องกำหนดกลุ่มให้ตรงจุด เพื่อใช้เงินน้อยแต่เกิดประสิทธิผลมาก
เช่นที่ผ่านมา ภาครัฐก็มีความพยายามกำหนดกลุ่ม อย่างเช่น บัตรสวัสดิการคนจน แต่ก็ยังมีปัญหาในการสวมรอยค่องข้างเยอะ คนจนอยากรวย คนรวยอยากจน ซึ่งจากการวิเคราะห์ในเชิงวิชาการก็พบว่าคนมาสวมรอยเยอะจริงๆ เกินครึ่งคือไม่ใช่จนจริง
ถามว่ามีวิธีการแก้ไขไหม คำตอบคือมี แต่มันต้องใช้เวลาพอสมควรมันต้องมีเชิงเทคนิคหลายๆ อย่าง ที่สามารถจะแก้ได้ตอนนี้ก็คือ ประการแรก ต้องเรียนรู้ในการกำหนดกลุ่มให้แม่นยำขึ้น สองคือจัดเก็บภาษีบนฐานของทรัพย์สิน (แทนที่ฐานรายได้) ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อย่างภาษีมรดก ซึ่งผลักดันมานานมากแต่ไม่เกิดขึ้นเลย และภาษีที่ดินคือเก็บภาษีในฐานทรัพย์สินไม่ใช่ฐานรายได้ ทุกวันเราเก็บในฐานรายได้คือหาเงินเดือนได้เยอะก็จ่ายภาษีเยอะ
แต่จริงแล้ว คนที่รวยจริงๆ คือคนที่มีทรัพย์สินเยอะไม่ใช่คนเงินเดือนเยอะ แต่นโยบายนี้ก็ผ่านยาก เพราะว่านักการเมืองเขาก็มีที่ดินเยอะทุกคน
Fact Box
ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ชอบหยิบเอาแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบายเนื้อหาที่อยู่รอบตัวมากกว่าแค่เรื่องระบบเศรษฐกิจ อาทิ หนังสือเศรษฐศาสตร์นักคิด ครุเศรษฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ภาคบริการ รวมถึง งานวิจัยที่มีชื่อว่า Behavioral Economics of Death and Dying Decision: Both Rational and Irrational Approach ว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การมีชีวิตอยู่และความตายมนุษย์ และยังเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์มากว่า 200 บทความ โดยเนื้อหาดังกล่าวสามารถอ่านได้จาก http://piriya-pholphirul.blogspot.com/