มีศิลปินไม่กี่คนในโลกที่มี ‘สี’ ตั้งตามชื่อของตัวเอง อีฟว์ ไคลน์ (Yves Klein) คือหนึ่งในนั้น เขาเลือกสีน้ำเงินแบบอัลตรามารีนมาจดสิทธิบัตรชื่อ International Klein Blue (IKB) เมื่อปี 1960 โดยเขาทำงานกับนักเคมีเพื่อลดทอนการเปล่งแสง (luminescence) ในเนื้อสีและให้กาวผสม (Binder) ที่ถอยตัวออกไปขณะที่แห้ง ทำให้สีของเขาไร้สิ่งรบกวนและสะท้อนความฟ้าที่ศิลปินกล่าวว่า “บริสุทธิ์ที่สุดที่รับรู้ได้ในภาพ” (“the purest form of pictorial sensibility”)
เขาช็อกโลกด้วยการเพนท์สีน้ำเงินนี้สีเดียวทั่วพื้นผิวแคนวาสขนาดยักษ์ ผสมค็อกเทลที่ทำให้ฉี่เป็นสีน้ำเงิน ปล่อยลูกโป่งสีน้ำเงินกว่าพันลูกขึ้นฟ้า รวมไปถึงการใช้มันบนเรือนร่างมนุษย์เพื่อสร้างงานแบบที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน ในวาระครบรอบวันเกิดวันที่ 28 เมษายนนี้ เราจึงขอเชิญชวนทุกคนมาระลึกถึงอัจฉริยะผู้เปลี่ยนวงการศิลปะท่านนี้กันสักหน่อย
จะว่าไป สีฟ้านั้นอยู่ในชีวิตของเด็กชายไคลน์ตั้งแต่แรกเริ่ม เขาเกิดเมื่อปี 1928 และโตขึ้นมากับสีฟ้าสดของท้องฟ้าและมหาสมุทรเมดิเตอเรเนียนในเมืองนิช (Nice) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ทั้งพ่อและแม่ของเขาเป็นจิตรกร พ่อของเขานิยมเพนท์ในแบบรูปธรรม (figurative) ส่วนแม่ของเขาสนใจทำงานสไตล์ตัดทอน (abstract) ซึ่งงานไคลน์เหมือนว่าจะเป็นลูกผสมของทั้งสองสไตล์นี้ในเวลาต่อมา
ในช่วงวัยรุ่นเขารับการศึกษาที่ École Nationale des Langues Orientales และได้พบกับอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของชีวิต นั่นคือกีฬายูโด การฝึกฝนยูโดของไคลน์ดำเนินไปทั้งในและนอกโรงเรียน จน ปี 1953 ไคลน์ผู้อายุ 25 ปี เดินทางไปญี่ปุ่นและเรียนรู้ยูโดจนได้รับสายดำ จากสถาบัน Kodokan ถือเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่รับยศระดับดังกล่าว ทำให้เขาได้ไปเป็นที่ปรึกษาพิเศษด้านเทคนิคให้กับทีมยูโดสเปน และ ต่อมาในปี 1954 เขาได้เขียนหนังสือว่าด้วยพื้นฐานของกีฬาชนิดนี้ (Les Fondements du judo) และปีนี้เดียวกันนี้เองที่เขาตัดสินใจย้ายมาเป็นศิลปินในปารีสอย่างเต็มตัว
มาถึงตรงนี้ประวัติด้านกีฬาอาจจะฟังดูไม่เกี่ยวกับการทำงานศิลปะเท่าไร แต่ต้องเล่าต่อไปว่า ไคล์นโด่งดังเป็นพลุแตกจากคอนเซปท์ ‘Anthropométrie’ ซึ่งมาจาก ‘Anthropo’ ที่หมายถึง อันเกี่ยวเนื่องกับมนุษย์ และ ‘Metrie’ คือการวัด ซึ่งว่ากันว่าไคลน์ได้ไอเดียนี้มาจากตอนที่เขาฝึกยูโด แล้วไปสะดุดตากับรูปทรงบางส่วนของร่างกายที่ปรากฏจากรอยเหงื่อบนเสื่อ หลังจากที่นักกีฬาถูกทุ่มลงบนพื้น (บ้างก็เชื่อมโยงงานของเขาเข้ากับวิถีแอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ ซึ่งมีศิลปินอย่าง แจ็คสัน พอลล็อค ผู้ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นปัจจัยสำคัญในการสื่อถึงพลังงานและการเคลื่อนไหวในภาพของเขาด้วย)
หลักฐานแรกๆ ในการทดลองใช้ร่างกายเพื่อสร้างงานศิลปะของไคลน์ มีบันทึกไว้ตั้งแต่เดือน มิถุนายน ปีค.ศ.1958 ไคลน์ไปที่แฟล็ตเพื่อนของเขา แล้วเอาสีน้ำเงินทาตัวนางแบบ จากนั้นจึงนัดแนะให้เธอกลิ้งเกลือกลงใส่กระดาษของเขาบนพื้น อย่างไรก็ดี ไคลน์รู้สึกไม่พอใจนักกับปฐมบทนั้น เนื่องจากเขารู้สึกว่าภาพที่ออกมาขึ้นอยู่กับความบังเอิญ ทำให้ไม่เที่ยงตรงและชัดเจนเท่าที่ควร
แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้และทดลองต่อไปเรื่อยๆ จนในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1960 เขาจัดการแสดงลักษณะนี้ที่เปิดให้คนเข้าดูเป็นครั้งแรกที่ในอพาร์ทเมนต์ของเขา ศิลปินหนุ่มในชุดสูท ส่งสัญญาณให้นางแบบหญิงถอดเสื้อผ้าออก จากนั้นถึงละเลงสีน้ำเงินบนบริเวณหน้าอก ท้อง และต้นขาของเธอ แล้วเธอจึงกดประทับร่างของเธอลงบนกระดาษ ตามคำสั่งของเขาอย่างละเอียด เมื่อเธอเดินออกไป รูปที่ปรากฏเหลือไว้บนผนังจึงเป็นภาพพิมพ์สีน้ำเงินของส่วนโค้งเว้าตามแม่แบบ โดยไคลน์บอกว่ามันคือการแสดงถึงพลังแห่งชีวิตที่อันแน่นมากที่สุดเท่าที่เขาคิดฝันได้ งาน Anthropométrie ยังถูกจัดแสดงขึ้นอีกหลายครั้งในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์หลายที่ บางครั้งศิลปินจ้างวงแจ๊สมาเล่นสดประกอบการแสดงด้วย หรือ บางครั้งให้เล่นบทประพันธ์ของไคลน์เองที่ชื่อว่า ‘Monotone Symphony’ ที่เล่นโน้ตเดียวไป 20 นาที แล้วต่อด้วยความเงียบอีก 20 นาที
นักวิจารณ์ศิลปะปิแอร์ เรสตานี (Pierre Restany) ยกย่องให้งานของไคลน์เป็นจุดเริ่มของศิลปะนูโวเรียลลิสซึม (Nouveau realism) อีกหลายคนจัดให้งานของไคลน์เป็นต้นแบบของศิลปะแสดงสด (Performance art) เป็นจุดเปลี่ยนของความเป็นจิตรกรรมจากแค่ภาพที่เสร็จสมบูรณ์ ให้ครอบคลุมห้วงขณะการสร้างงานชิ้นนั้นๆ ด้วย ในทางกลับกันนักวิจารณ์กลุ่มสตรีนิยม (feminist) กลับมองว่าการทำงานของเขาเป็นการลดทอนคุณค่าของผู้หญิงให้เหลือเป็นเพียง ‘แปรงสีที่มีชีวิต’ และการรับคำสั่งจากศิลปินผู้ใส่ชุดสูท ถือเป็นการสร้างและทำซ้ำภาวะสมยอมต่อร่างกายสตรีใต้อำนาจแบบปิตาธิปไตย
อย่างไรก็ดี ในปี 2016 เอเลนา พาลัมโบ-มอสกา (Elena Palumbo-Mosca) หนึ่งในนางแบบผู้ร่วมสร้างงานกับไคลน์หลายชิ้น ออกมาให้สัมภาษณ์กับบีบีซี ว่าเธอไม่รู้สึกว่าถูกละเมิดหรือลดทอนคุณค่าในงานของไคลน์แต่อย่างใด เอเลน่าปฏิเสธคำนิยามที่ว่าตนเป็น ‘แปรงสี’ ของไคลน์ โดยเธอเปรียบตัวเองเหมือนนักแสดงในบทภาพยนตร์ และบอกอีกว่า เหนืออื่นใด เธอต้องใช้สมองในการกำกับร่างกายในพื้นที่นั้นๆ ขณะทำงาน แถมเขาก็ให้เกียรติเธอรวมถึงสตรีคนอื่นๆ ในฐานะ ‘ผู้ร่วมสร้างงาน’ เสมอ
“เขาทำงานด้วยความละเอียด มันอาจจะดูน่าขำขัน แต่มันเป็นงานที่ต้องใช้พละกำลังมากทีเดียว” เธอกล่าว “ฉันคิดว่าฉันทำมันได้ดีนะ และฉันภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลงานกับเขา”
ไคลน์เกิดอาการหัวใจวายขณะชมภาพยนตร์เรื่อง Mondo Cane (ซึ่งมีเขาไปเล่นเป็นตัวประกอบด้วย) ที่เทศกาลภาพยนตร์ คานส์ วันที่ 11 พฤษภาคม 1962 จากนั้นอาการกำเริบอีกสองครั้ง ทำให้เขาถึงแก่กรรมวันที่ 6 มิถุนายน 1962 ด้วยอายุเพียง 34 ปี ถือเป็นเวลาไม่นานหลังจากความสำเร็จของ Anthropométrie เขาจึงไม่ได้อยู่ชมกระแสนิยมของบอดี้อาร์ต (Body Art) ซึ่งเชื่อมโยงและต่อยอดมาจากงานของเขา ที่น่าสนใจคือในจำนวนนั้นมีศิลปินหญิงที่หันมาใช้ร่างกายของเธอเป็นสื่อศิลปะอย่างทรงพลัง เข้าร่วมไปกับกระแสการเรียกร้องสิทธิสตรี และประท้วงต้านสงครามเวียดนามด้วย
ไม่ว่าจะเป็น ยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama) ที่หันมาเปลือยกายแล้วแต้มจุดนับไม่ถ้วนลงบนตัวเองเพื่อสื่อถึงความว่างเปล่าและภาวะอนันต์ แคโรลี ชนีมันน์ (Carolee Schneemann) ทำหนัง Meat Joy (1964) ออกมาโดยมีตัวเองและอีก 7 ร่างนู้ดที่เกลือกกลิ้งบนสีเปียก กับอาหารทั้งไก่สดถอนขน ปลาดิบ ไส้กรอก ฯลฯ โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono) ผู้แสดงงานชื่อ Cut Piece (1964) ที่มีเธอนั่งบนเวทีและอนุญาตให้ผู้ชมค่อยๆ ขึ้นมาตัดเสื้อผ้าของเธอจนเปลือยเปล่า จวบจน มารินา อบราโมวิค (Marina Abramović) ในงาน Rhythm 0 ที่เธอให้ผู้ชมทำอะไรกับร่างกายเธอก็ได้ด้วยของ 72 อย่างในเวลา 6ชั่วโมง พวกเธอทั้งหลายนี้ ล้วนใช้ร่างกายของตนตั้งประเด็นกับ กายภาพ ความเป็นเจ้าของ ไปจนถึง การเลือกที่จะกระทำ และ ถูกกระทำ บนบริบทแห่งร่างกายสตรีเพศ และเป็นตัวแม่ที่ทลายกรอบข้อจำกัดของศิลปะมาจวบจนปัจจุบัน
หากย้อนกลับไปในแง่ของภาพจิตรกรรม แน่นอนว่าการตีความงานของไคลน์นั้นทำได้หลายแง่มุม สำหรับเรา งานของเขามีความดิบดึกดำบรรพ์อยู่ รูปมวลทรงกลมชวนย้อนกลับคิดไปถึง Venus of Willendorf และกระดาษของเขาไม่ต่างไปมากจากผนังถ้ำที่มนุษย์โบราณตั้งใจป้ายปาดร่องรอยจารึกของร่างตัวเองลงไป ในความเรียบง่ายนั้นประกอบไปด้วยพลังการสื่อสารที่ไร้กาลเวลา มันเล่าเรื่องการมีอยู่ของเรา ไม่ใช่เพื่อยั่วยวนหรือปรุงแต่ง
และสิ่งที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าศิลปินเชิญชูร่างกายผู้หญิงมากกว่าแค่เป็นเครื่องมือหรือวัตถุทางเพศในงานของเขา ก็คือการเลือกใช้สีน้ำเงิน สีที่มีความหมายยิ่งในด้านปรัชญาสำหรับไคลน์ เพราะมันเชื่อมโยงร่างกายมนุษย์เข้ากับแห่งความไม่รู้จบของท้องฟ้าและทะเล สะท้อนทั้งความว่างเปล่าและแหล่งกำเนิดของสรรพชีวิต
ภาพจาก: http://www.yvesklein.com/
Tags: Yves Klein, International Klein Blue, Anthropometrie