“เป็นอีกครั้งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า กลไกของรัฐที่จะตอบสนองต่อภาวะวิกฤตของประเทศมักจะตามหลังสถานการณ์จริงอย่างน้อยหนึ่งก้าวเสมอ” นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ เคยออกแถลงการณ์เรื่อง “แด่นักรบในเสื้อกาวน์ ที่จะต้องรับมือผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 อาการรุนแรง” เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของ ‘ผู้บริหาร’ ในการดูแลผู้ป่วยและอุปกรณ์ป้องกันตัวของบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ทันท่วงทีในมุมมองของ ‘ผู้ปฏิบัติงาน’
ผมนึกถึงประโยคนี้อีกครั้งเมื่อมีข่าวประชาชนจำนวนมากรอรับสิ่งของบริจาคในเขตดอนเมือง เมื่อวันที่ 17 เมษายน เพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทางอ้อมจากมาตรการควบคุมและป้องกันโรคอีกทอดหนึ่ง ทำให้ขาดรายได้ ซึ่งในมุมมองของ ‘รัฐ’ การมารับของบริจาคนี้ไม่เป็นไปตามหลักการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (physical distancing) คือคนยืนแออัดในพื้นที่จำกัด ทำให้มีโอกาสติดเชื้อและเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ อย่างที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธินกล่าวในการแถลงข่าว เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 63 ว่า
“เมื่อวานนี้ ผมเห็นข่าวก็ตกใจนะครับ ในส่วนตัวเองตกใจมากๆ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เราสื่อสารพูดกันทุกวันว่าการอยู่ในที่ชุมนุมชุมชนกันมากๆ เป็นความเสี่ยง นี่คนจำนวนเท่าไร เข้ามายืนแออัดยืนรอคอยใช้เวลากันพอสมควรอย่างนี้ … นับเลยว่าจากวันนี้ไปอีก 14 วัน ผมอยากให้ทุกคนที่อยู่ในภาพ (ภาพข่าว) เฝ้าระวังตัวเองอย่างดี ถ้าท่านมีไข้ ไอ เจ็บคอให้รีบมาพบแพทย์โดยด่วน เพราะท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงแล้ว ตรงนี้เป็นหน้าที่ของพี่น้องสาธารณสุขเรานะครับ … ท่านชุมนุมกันไปแล้ว สิ่งที่จะบอกก็คือต้องเตือนกันต่อให้เฝ้าระวังตัวเองให้ดี”
นอกจากความไม่เหมาะสมทาง ‘การแพทย์’ แล้ว นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวถึงความผิดทาง ‘กฎหมาย’ ด้วยว่า “ถ้าผู้ที่จะมีใจเป็นกุศล มีใจเป็นบุญอยากจะบริจาคให้กับพี่น้องประชาชน ท่านต้องมีระบบที่ดีด้วย เพราะถือว่าการทำให้เป็นแบบนี้ ด้านหนึ่งถ้าเป็นข้อกำหนดกฎหมาย ท่านก็ไม่ได้ทำตามข้อกำหนดกฎหมาย เพราะเป็นการชุมนุมกันจำนวนมากกว่ากี่คนๆ ขึ้นไปก็เป็นเรื่องไม่ตรงกับกฎหมายอยู่แล้ว” ซึ่งหมายถึงประกาศ เรื่อง การห้ามการชุมนุมฯ เมื่อวันที่ 3 เมษายน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ความไม่เหมาะสมทางการแพทย์
เหตุผลที่ทำให้ผมนึกถึงประโยคของ นพ.นิธิพัฒน์ก็คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์การรวมตัวกันของประชาชนในการรับของบริจาคอย่างที่ปรากฏเป็นข่าว ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) ถึงเพิ่งรู้ตัวว่าจะต้องมีการบริหารจัดการไม่ให้ประชาชนออกมายืนเบียดเสียดกันเช่นนี้ ทั้งที่ ศบค. น่าจะรับรู้ได้ถึงความเดือดร้อนของประชาชนมาก่อนล่วงหน้า และในขณะเดียวกันประชาชนอีกส่วนหนึ่งก็มีความต้องการที่จะบริจาคสิ่งของให้กับผู้ที่เดือดร้อนเหล่านี้ด้วย แต่ก็ไม่ได้มีการเตรียมการรองรับปัญหานี้แต่อย่างใด
ทั้งนี้กรมอนามัยเคยออกคำแนะนำที่สามารถนำมาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการบริจาคสิ่งของได้คือ “คำแนะนำสำหรับการจัดโรงทานสำหรับสถานการณ์การะบาดของโควิด-19” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม หลังจากนั้นศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขก็ได้นำมาจัดทำเป็นอินโฟกราฟิกดังภาพที่ 1 และเพจกรมอนามัยได้นำมาโพสต์ซ้ำอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา (หลังเกิดกรณีที่เขตดอนเมืองแล้ว) โดยผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ สถานที่ ผู้สัมผัสอาหาร และผู้บริโภค จะต้องเตรียมตัวดังนี้
(1) สถานที่ เป็นพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก มีอ่างล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์สำหรับให้ล้างมือก่อนหยิบอาหาร และมีการกำหนดจุดให้เว้นระยะห่างระหว่างยืนรอรับอาหาร 1-2 เมตร
(2) ผู้สัมผัสอาหาร หมายถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาหารตั้งแต่แม่ครัว ผู้ตักหรือแจกอาหาร และผู้ที่ล้างเก็บภาชนะและอุปกรณ์ หากมีอาการเจ็บป่วยควรหยุดปฏิบัติงาน สวมผ้ากันเปื้อน ถุงมือ หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะหลังสัมผัสเนื้อสัตว์และหลังเข้าส้วม แยกภาชนะและอุปกรณ์ระหว่างอาหารสุกและอาหารดิบ ไม่ปรุงอาหารบริเวณพื้น จัดเมนูอาหารที่ปรุงสุกสะอาด หลีกเลี่ยงอาหารที่บูดเสียง่าย จัดอาหารเป็นชุดพร้อมแจกจ่ายให้นำกลับไปรับประทานที่บ้าน มีการปกปิดอาหาร และอุ่นอาหารทุกๆ 2 ชั่วโมง
(3) ผู้บริโภค สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยร่วมกับเว้นระยะห่างระหว่างยืนรอรับอาหาร หากมีอาการป่วยไข้ควรพักอยู่ที่พักอาศัยแล้วให้ผู้อื่นมารับอาหารแทน และเมื่อรับอาหารกลับไปควรรับประทานทันที
คำแนะนำฉบับนี้ถือว่ามีความครอบคลุมทุกฝ่ายและทุกขั้นตอนของการแจกอาหาร ดังนั้นสำหรับความไม่เหมาะสมทางการแพทย์ ลำพัง ‘ผู้บริจาค’ ฝ่ายเดียวคงไม่สามารถแก้ไขได้ ส่วน ‘ผู้รับบริจาค’ ก็เป็นผู้ที่ขาดแคลนอยู่ก่อนแล้ว อาจไม่มีหน้ากากผ้าหรือไม่ได้พกเจลแอลกอฮอล์มา หน่วยงานรัฐในพื้นที่จึงควรเป็นผู้อำนวยความสะดวก เช่น จัดเตรียมสถานที่ และกำกับดูแลให้ทั้งคู่ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อมีการมารวมตัวกันของคนจำนวนมาก
ความผิดทางกฎหมาย
ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่ในฐานะประชาชนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเห็นว่า ประกาศเรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมฉบับนี้น่าจะมีเจตนาเพื่อห้ามการรวมตัวกันของคนจำนวนมากโดยไม่จำเป็น เช่น การสังสรรค์ การพนัน ซึ่งต่างจากการแจก-รับสิ่งของบริจาคที่เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต และถ้าหากการรวมตัวกันนั้นมีการมาตรการป้องกันโรคก็สามารถทำได้ เพราะแม้แต่ในประกาศเองก็ได้ ‘เว้นแต่’ เป็นกิจกรรมของทางราชการที่มีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่ปลอดภัย
ดังนั้นการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในกรณีนี้ จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะสาเหตุของการบริจาคเป็นผลมาจากความขาดแคลนอาหารและรายได้ของประชาชน หาก ศบค. ต้องการแก้ไขปัญหานี้อย่างมากสุดก็ควรเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมและป้องกันโรคอย่างทั่วถึง (อาจคาดหวังมากเกินไป) หรืออย่างน้อยก็ต้องเข้าไปกำกับดูแลการแจก-รับสิ่งของบริจาคอย่างที่ผมกล่าวไปแล้วข้างต้น เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามาช่วยเหลือด้วยกันเองโดยไม่ผิดกฎหมาย
กรณีโจ๊กที่จ.นครปฐม
คล้อยหลังข่าวที่ในกรุงเทพฯ ไม่นาน เย็นวันที่ 20 เมษายน ก็มีข่าวเจ้าหน้าที่ยึดโจ๊กหมู 250 ถุงที่มีผู้มาบริจาคบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม เพราะในขณะนั้นมีประชาชนจำนวนหลายร้อยคนมายืนรอรับโจ๊กอยู่ แต่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงได้เข้าไปเจรจากับผู้บริจาคเพื่อนำโจ๊กไปแจกตามชุมชนแออัดในเขตเทศบาลแทน ทั้งที่ถ้าเข้าไปติดตามในเฟซบุ๊กของผู้บริจาคแล้วจะพบว่าเขาแจกมาเป็นวันที่ 7 แล้ว และแทนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปช่วยจัดแถวให้ประชาชนที่มายืนรออยู่แล้วมีความปลอดภัย กลับอ้างกฎหมายแล้วนำโจ๊กไปแจกประชาชนที่อื่น
วันต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมได้ออกประกาศจังหวัดนครปฐม เรื่อง มาตรการควบคุมการแพร่ของโรคติดต่ออันตราย กรณีการบริจาคสิ่งของอุปโภคบริโภค โดยมีใจความว่า (1) ให้ผู้ที่จะบริจาคแจ้งศูนย์ดำรงธรรมหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกในการดำเนินการ (2) ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย มีสถานที่สำหรับล้างมือ เว้นระยะห่าง และควบคุมความแออัด และ (3) ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐนำของของผู้บริจาคมาดำเนินการแจกจ่ายด้วยตนเอง
ซึ่งคาดเดาได้ไม่ยากว่าเป็นประกาศที่ออกตามมาหลังจากเกิดเหตุการณ์ในวันก่อนหน้า “เป็นอีกครั้งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า กลไกของรัฐที่จะตอบสนองต่อภาวะวิกฤตของประเทศมักจะตามหลังสถานการณ์จริงอย่างน้อยหนึ่งก้าวเสมอ” เมื่อนำประโยคนี้มาต่อท้ายก็อาจเป็นอคติของการมองย้อนกลับไปว่าเหตุการณ์นั้นๆ สามารถป้องกันได้ก่อนที่จะเกิดขึ้นจริง แต่ถ้ารัฐบาลมีความใส่ใจต่อความเดือดร้อนของประชาชนก็ควรมีมาตรการการบริจาคอย่างเป็นรูปธรรมมาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น การจัดการ (?) ขณะแจกหน้ากากอนามัย เมื่อต้นเดือนมีนาคม
และถ้ามีประชาชนบริจาคสิ่งของเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนกันเอง สิ่งที่รัฐ ซึ่งมักเป็น ‘ผู้ปฏิบัติงาน’ ในพื้นที่ควรทำคือการแก้ไข ‘ความไม่เหมาะสมทางการแพทย์’ โดยทันทีเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วน ‘ความผิดทางกฎหมาย’ นั้นไม่ควรเกิดขึ้น ซึ่ง ‘ผู้บริหาร’ จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน และถ้าจะแสดงให้เห็นว่าการตอบสนองของรัฐนั้นก้าวทันหรือก้าวหน้าต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 หรือไม่ การผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์หรือการเปิดเมือง (exit strategy) ในเร็วๆ นี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์
Tags: โควิด-19, การบริจาค