จนถึงตอนนี้ทั่วโลกต่างรู้จักกับคำว่า ‘การเว้นระยะห่างทางสังคม’ (social distancing) แล้ว จากการรณรงค์ของทั้งรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุข ไปจนถึงองค์การอนามัยโลกเพื่อให้การแพร่ระบาดของไวรัสโรคโควิด-19 ช้าลง ก่อนที่ระบบสาธารณสุขจะล่มสลายเพราะจำนวนผู้ป่วยมากเกินรับมือ
แต่แดเนียล อัลดริช ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์นเสนอว่า ควรใช้คำว่าระยะห่างทางกายภาพ (physical distancing) แทน โดยบอกว่า ความพยายามที่จะทำให้การแพร่ระบาดของไวรัสช้าลงนั้น ควรจะสนับสนุนให้สังคมแน่นแฟ้นกันมากขึ้น แต่ต้องรักษาระยะห่างทางกาย โดยเมื่อวันที่ 17 มีนาคมเขาทวีตข้อความชมคนหนุ่มสาวที่ช่วยเพื่อนบ้านผู้สูงอายุทำธุระต่างๆ ว่าเป็น ‘การเชื่อมโยงทางสังคมด้วยการรักษาระยะห่างทางกายภาพ’
องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ก็เห็นตรงกัน สัปดาห์ที่แล้ว ก็ได้เริ่มใช้คำที่อัลดริชเสนอว่า ‘ระยะห่างทางกายภาพ’ ส่วนแคนาดา ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและอาจารย์มหาวิทยาลัยโตรอนโตก็แสดงความเห็นว่า เราเริ่มจากคำว่า ‘รักษาระยะห่างทางสังคม’ แต่ก็คิดว่าคนส่วนหนึ่งไม่เข้าใจความหมาย กังวลว่าจะทำให้เกิดการแยกตัวทางสังคม เขาจึงเห็นว่า อาจจะเปลี่ยนมาใช้คำว่าห่างกันทางกายภาพ เพราะจริงๆ แล้วมันก็คือห่างกันทางกาย และในทางสังคมเราเชื่อมโยงกัน
คำว่ารักษาระยะห่างทางสังคมเป็นคำที่ใช้ในระบาดวิทยาและวงการสาธารณสุข เพื่อหมายถึงการสร้างพื้นที่ทางกายภาพระหว่างคน 2 คนและหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก อัลดริชกล่าวว่า การใช้คำว่า ระยะห่างทางสังคม (social distancing) อาจทำให้คนเข้าใจผิดและทำให้ได้ผลออกมาตรงข้ามกับที่ต้องการ
อัลดริชอธิบายจากงานวิจัยของตัวเองที่ศึกษาว่าชุมชนแสดงความสามารถในการฟื้นคืนสู่ปกติภายใต้ความกระทบกระเทือนครั้งใหญ่ เช่น สงคราม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และโรคระบาดร้ายแรงไปได้อย่างไร โดยเน้นไปที่บทบาทของเครือข่ายและความเกาะเกี่ยวทางสังคม ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์คลื่นความร้อนชิคาโก 1995 ไฟไหม้ป่าแคลิฟอร์เนีย 2018 และแผ่นดินไหวใหญ่ที่ญี่ปุ่นปี 2011 อัลดริชสรุปว่า การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผ่านช่วงเวลาภัยพิบัติไปได้
งานวิจัยของเขาแสดงให้เห็นว่า ชุมชนที่รอดและสามารถฟื้นคืนกลับมาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด หลังจากผ่านภัยพิบัติคือ ชุมชนที่มีเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นชุมชนที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเอาตัวรอดให้แก่กัน ส่วนชุมชนที่อยู่ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุดเป็นชุมชนที่มีประชากรเปราะบาง ซึ่งมีความเกี่ยวพันทางสังคมน้อยและขาดความไว้วางใจกัน
ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ไฟป่าที่รัฐแคลิฟอร์เนียปี 2018 อัลดริชพบว่า ผู้ที่รอดชีวิตนั้นมีคนที่บอกให้พวกเขาออกมาจากพื้นที่ได้ทันเวลา ก่อนที่ไฟจะลามมาถึง ส่วนผู้ที่เสียชีวิตเป็นผู้ที่ไม่มีสายสัมพันธ์ทางสังคมที่เหนียวแน่น ส่วนเหตุแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นปี 2011 ที่ทำให้เตาปฏิกรณ์ในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วไหลออกมา เขาพบว่า ชุมชนตามแนวชายฝั่งที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเลยมีความเกี่ยวพันทางสังคมที่เหนียวแน่น พวกเขาสามารถอพยพและช่วยทุกคนให้ออกมาจากพื้นที่ได้
นอกจากนี้ อัลดริชแสดงความกังวลต่อ กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทำให้พวกเขายังคงรักษาความเชื่อมโยงทางสังคมดังเช่นในกลุ่มวัยรุ่นไว้ได้ เขาขอร้องให้คนใกล้ชิดรอบข้างคนสูงอายุส่งข้อความ คุยโทรศัพท์ หรือวางอาหารและของใช้ไว้ให้
ขณะที่นักสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยโคโลราโด อย่างลอรี พีค ไม่เห็นด้วยว่าต้องเปลี่ยนการใช้คำ เธอบอกว่า คนรู้แล้วว่ามันหมายความว่าอะไร และปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ ในช่วงเวลานี้ควรจะรักษาความชัดเจนและความสม่ำเสมอของสารที่ต้องการสื่อ การสร้างความสับสนต่อสังคมอันตรายอย่างยิ่ง ตอนนี้เป็นช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย
ที่มา:
https://globalnews.ca/news/6717166/what-is-physical-distancing/
https://www.salon.com/2020/03/15/why-social-distancing-if-done-wrong-can-make-you-more-vulnerable/
ภาพ : PAUL FAITH / AFP
Tags: โคโรนาไวรัส, โควิด-19, social distancing, ระยะห่างทางสังคม, ระยะห่างทางกาย