แม้ผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้จะออกมาว่า ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้รับการโหวตไว้วางใจด้วยเสียงส่วนมากในสภา แต่ตลอดการอภิปรายไม่ไว้วางรัฐบาลใจในครั้งนี้ แม้จบลงด้วยการแตกคอกันของพรรคร่วมฝ่ายค้านและข่าวลืองูเห่าตัวใหญ่จากพรรคร่วมฝ่ายค้านเอง แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจมากมายที่น่าจับตามองต่อไปว่าในอนาคตประเด็นเหล่านี้จะเคลื่อนไปอย่างไรบ้าง
ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส. จากพรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่วางใจ 3 บุคคลทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และ นายดอน ปรมัตวินัย รมว.ต่างประเทศ ทั้งกรณีการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรและสำแดงเท็จของบริษัท ฟิลลิปมอร์ริส ซึ่งมีความเสียหาย 84,000 ล้านบาท แต่เตะถ่วงจนค่าปรับเหลือเพียง 1,224 ล้านบาท, การแปรรูปโรงงานยาสูบให้เป็นนิติบุคคล โอนทรัพย์สินจากที่พัสดุมาเป็นของการยาสูบ ให้เอกชนเข้ามาร่วมตั้งบริษัท เพื่อใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของยาสูบได้ ที่อาจจะถือว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนายทุนใหญ่ และกรณีการจัดซื้อรถถังจากประเทศยูเครนด้วยเงินงบประมาณ 8,000 ล้านบาท มีกำหนดส่งมอบปี 2558 แต่กลับมีการส่งมอบจริงปี 2561 แต่ไม่มีการจ่ายค่าปรับ และยังพบว่าการจัดซื้อครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปในลักษณะรัฐต่อรัฐ แต่มีการดำเนินการผ่านบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งมีจ่ายผ่านคนกลางเป็นเงินจำนวน 1,400 ล้านบาท
สุทิน คลังแสง ส.ส. จากพรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและการบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยกล่าวว่าส่วนหนึ่งของปัญหามาจากตัวนายกฯ เอง ที่เข้าสู่อำนาจโดยการยึดอำนาจ ทำให้ทั่วโลกบอยคอต ส่งผลให้ไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศได้ ในขณะที่ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำนั้น นายกฯ เองก็โทษปัญหาต่างๆ แต่อันที่จริงปัญหาอยู่ที่ตัวนายกฯ เองด้วย ทั้งเรื่องทัศนคติและความสามารถ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงประเด็นเรื่อง ‘โครงการประชารัฐ’ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเป็นการเอื้อต่อกลุ่มทุนประชารัฐ 24 ทุน ที่ได้งานและโครงการมากมายมหาศาล รวมไปถึงการบริหารงานด้านเศรษฐกิจที่เป็นการเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ ร้านค้ารายใหญ่ขยายสาขาครอบคลุมทุกชุมชน ทำให้เศรษฐกิจชุมชนพังพินาศ สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมมากยิ่งขึ้น
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจรายบุคคล โดยเป็นการอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งในประเด็นการยึดกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ของบุคลากรทางการศึกษา จำนวนกว่า 20,237 ล้านบาทเป็นของรัฐโดยใช้มาตรา 44 เช่นเดียวกันกับประเด็นเรื่องเหมืองทองคำชาตรีของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทคิงส์เกต โดยมีการออกคำสั่งมาตรา 44 เข้ายึดกิจการจนนำไปสู่การฟ้องร้อง และในขณะนี้เรื่องถึงอนุญาโตตุลาการแล้ว
วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นโครงการจัดซื้อเครื่องไบโอแมทริกซ์ ระบบอุปกรณ์พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ซึ่งใช้ตรวจลายนิ้วมือและภาพถ่ายใบหน้า ว่ามีความผิดปกติส่อการทุริต เพราะแพงกว่าราคาตลาด โดยจากการตรวจสอบราคาหน้าเว็บไซต์สามารถซื้อได้ในราคา 113 ล้านบาท แต่กลับมีการตั้งราคาสูงถึง 714 ล้านบาท เท่ากับว่าเกิดส่วนต่างของการจัดซื้ออุปการณ์การจัดเก็บข้อมูกว่า 600 ล้านบาท และในสัญญาหากยกเลิกไม่ต้องมีการค้ำประกัน ไม่ต้องมีเงินประกัน แม้เครื่องมีข้อบกพร่องก็ยังให้ต่อสัญญา และที่สำคัญก็คือเครื่องมือไบโอแมทริกซ์นี้ใช้ได้จริงหรือไม่
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เริ่มต้นโดยกล่าวว่า เขาจะขออภิปรายแบบผู้แทนราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร ใช้สามัญสำนึกให้มาก ใช้วิชาการให้น้อย เขาชี้ว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่รัฐบาลยกมา ไม่สะท้อนถึงสภาพชีวิตที่ประชาชนประสบโดยแท้จริง ก่อนจะตั้งคำถามถึงวิสัยทัศน์หลักที่อยู่ในทุกแผนงานของรัฐบาลว่า ‘ใครมั่นคง ใครมั่งคั่ง และใครยั่งยืน’
พิธาชี้ว่าสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันแย่กว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เคยผ่านมาทั้งหมด เพราะในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพ ‘แข็งบนอ่อนล่าง’ กล่าวคือ นายทุนใหญ่ 1 เปอร์เซ็นต์ครอบครองส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจมหาศาล ทั้งยังเข้มแข็งและร่ำรวยมากขึ้น สวนทางกับประชาชนคนรากหญ้าที่มีรายได้น้อยลง อ่อนแอและมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น
เขาชี้ว่าไม่ว่าภาคการเกษตร แรงงาน หรือความเชื่อมั่นของนักลงทุนล้วนกำลังน่าเป็นห่วง GDP ในภาคเกษตรเติบโตไม่ถึงร้อยละ 2 ขณะที่มีคนขอใช้สิทธิประกันสังคมสำหรับแรงงานว่างงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ต่ำสุดในรอบ 68 ปี
นั่นคือคำตอบของคำถามที่ว่า ‘ใครมั่งคั่ง และใครมั่นคง’
ทางด้านความยั่งยืน พิธาชี้ว่าประเทศไทยนำเข้าขยะมากขึ้นถึง 8.5 เท่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านา ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนในเรื่องกลิ่น และสะท้อนปัญหาการจัดการขยะของรัฐบาล นอกจากนี้พิธายังชี้ว่า ปัญหา PM2.5 ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายเกษตรประชารัฐของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยแทนข้าวเป็นพื้นที่ 6 ล้านไร่ทั่วประเทศ (ตอนนี้ทำไปแล้ว 3 ล้านไร่) รวมถึงมีการป้อนโรงงานน้ำตาลสู่ภาคอีสานอีก 29 โรง อันทำให้เกิดการเผาพื้นที่ทางการเกษตร ทั้งนี้ พิธาชี้ว่าปีหนึ่งมีคนไทยตายเพราะมลพิษทางอากาศประมาณปีละ 50,000คน หมื่น นอกจากนี้ พ.ร.บ. เหมืองแร่ 2560 ที่ไม่รัดกุมและคำนึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกำหนดว่าเหมืองที่มีพื้นที่ต่ำกว่า 100 ไร่ ไม่จำเป็นต้องทำรายงานประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ทำให้เกิดเหมืองแร่เพิ่มขึ้น 970 เหมืองทั่วประเทศ
พิธาทิ้งท้ายว่า ประเทศต้องการการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างโดยด่วน เพื่อกระจายความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืนออกไปอย่างเท่าเทียมทั้งประเทศ
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยระบุว่า กองทัพบกมีการจัดตั้งขบวนการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) เพื่อยุยง ปลุกปั่น โจมตีฝ่ายเห็นต่างของรัฐบาลไทย พร้อมเปิดหลักฐานที่อ้างว่าเป็นเอกสารลับ งบ กอ.รมน ที่จัดสรรงบประมาณประจำปี 2560-2562 ให้แก่เว็บไซต์ poluny.blogspot.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่คอยโจมตีนักสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสามจังหวัดชายแดนใต้ และยังมีการสร้างบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กปลอม จัดคิวกันเพื่อตอบโต้และ “พลีชีพ” ทางออนไลน์เพื่อปลุกปั่นฝ่ายเห็นต่าง หรือสนับสนุนฝ่ายตนเอง
โดยเป้าหมายมีอยู่ด้วยกัน 4 ภารกิจหลัก คือ
- พยายามคุกคามประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งกลุ่ม IO จะทำการขุดประวัติของประชาชนคนนั้นมาโพสต์ประจาน จากนั้นให้ IO อีกคนมารุมด่าเป็นการชักชวนให้ประชาชนอื่นร่วมด้วยคล้ายพฤติกรรมการล่าแม่มด
- ประชาชนคนไหนที่แสดงความคิดเห็นเป็นที่ถูกใจจนมียอดไลก์เยอะ IO จะเข้าไปด่าทอต่อว่าด้วยถ้อยคำที่รุนแรง
- เข้าไปโพสต์ ด่าทอ นักการเมือง นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชนจนทำให้เกิดการแบ่งแยกออกเป็น 2 ฝ่าย
- เลือกเอาข้อมูลเพียงด้านเดียว มิติเดียว โพสต์เพื่ออวยรัฐบาล อวยกองทัพ บิดเบือนปิดบังข้อเท็จจริงและกันไม่ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่แท้จริงทั้งหมด
โดยมีเอกสารทางราชการ ‘สรุปการเข้าอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมกับคณะทำงานปฏิบัติการข่าวสาร กองทัพภาค ๒’ ฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2562 เนื้อหาระบุไว้เป็นข้อๆ ทั้งนี้ นายวิโรจน์ ยกตัวอย่างของแต่ละข้อที่สำคัญเพื่ออภิปรายดังนี้
1.1 มีการซักซ้อม การปฏิบัติการข่าวสารที่หน่วยเหนือมอบหมายในแต่ละวัน มีการสอนโพสต์ ว่าไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับหัวข้อตามภารกิจที่มอบให้ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกจับได้ว่าเป็นบัญชีผู้ใช้ปลอม (อวตาร)
1.3.2-1.3.3 มีการแนะนำให้เจ้าหน้าที่มีบัญชีผู้ใช้หลายเฟสอวตาร เพื่อตอบโต้และพลีชีพ ซึ่งต้องไม่เกี่ยวพันกับบัญชีผู้ใช้จริงของตนเองเพื่อป้องกันการถูกจับได้
1.4.1 ให้เจ้าหน้าที่รับทราบภารกิจและรายงานทางกลุ่ม Line ภายใน 17.00 น. ของแต่ละวัน
2.2 มีการสนับสนุนค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตทุกสิ้นเดือน เดือนละ 2,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีเอกสารฉบับที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นวันที่คณะรัฐมนตรีชุดนี้ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในเอกสารระบุว่ามีการประชุมทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00 น. มีการสนับสนุนค่าโทรศัพท์รายเดือนให้เดือนละ 300 บาทแต่มีผู้ให้ข้อมูลว่าได้รับเงินเพียง 100 บาท พร้อมทั้งมีเงินรางวัลและประกาศนียบัตร สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีผู้ติดตามสูงสุดในสื่อโซเชียลในทุกเดือน รางวัลละ 3,000 บาท 2 รางวัล
อดีตนักเคลื่อนไหว และ ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ รังสิมันต์ โรม ออกมาอภิปรายนอกสภาเนื่องจากเวลาในสถามีไม่เพียงพอ อีกทั้ง รู้สึกว่ามีความพยายามไม่ให้เกิดการอภิปราย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากทั้งฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านเสียงเอง
รังสิมันต์ มองว่า มูลนิธิป่า 5 รอยต่อ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ หรือ พล.1รอ. อันเป็นพื้นที่ที่กองทัพบกตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงพื้นที่ป่าไม้ในบริเวณ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, สระแก้ว และจันทบุรี นั้นแท้จริงแล้ว ถูกใช้เพื่อเป็นที่สร้างเครือข่ายที่เรียกว่า ‘อาณาจักรประวิตร’
รังสิมันต์ ชี้ว่า พล.อ.ประวิตร ใช้พื้นที่ดังกล่าวในการซ่องสุมผู้อำนาจที่เกี่ยวข้องกับทหารสายบูรพาพยัคฆ์ เพราะรายชื่อคณะกรรมการในมูลนิธิดังกล่าว ล้วนเป็นผู้มีตำแหน่งระดับนายพลที่มีความเกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหารปี 2557 ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ชิดอย่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, พล.อ.พัฑฒะนะ พุธานานนท์ อดีตรอง ผบ.ทบ. และปัจจุบันเป็นผู้บริหารบริษัทไทย เบฟเวอเรจ พล.อ.นพดล อินทปัญญา สนช. ที่ปรึกษา คสช. และเพื่อนรัก พล.อ.ประวิตร นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายธุรกิจและระบบราชการที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายดังกล่าว
ทั้งนี้ อาณาจักรประวิตรคือกลุ่มอำนาจกลางที่คอยจัดสรรผลประโยชน์ให้กลุ่มผลประโยชน์อื่น
ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. จากอดีตพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสภาฯ ในประเด็นความไม่เหมาะสมและมีคุณสมบัติต้องห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 เนื่องจากเคยถูกศาลประเทศออสเตรเลียพิพากษาให้จำคุก 6 ปี และ 4 ปี พร้อมกับเนรเทศกลับประเทศฐานความผิดฐานนำเข้าและค้ายาเสพติด ซึ่งก่อนหน้านี้มีการรายงานข่าวและเปิดเผยข้อมูลจากสื่อในประเทศออสเตรเลียมาแล้ว พร้อมยกคำวินิจฉัยกฤษฎีกา 276/2525 ยืนยันว่า กรณีคนทำผิดต่างประเทศต้องห้ามสมัคร ส.ส.ในไทยด้วย และโต้กลับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในกรณีการอ้างพ.ร.บ. การล้างมลทิน ว่าแตกต่างจากการนิรโทษกรรม เพราะความผิดยังคงอยู่
หากใครได้ยินชื่อ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ คงไม่มีใครกล้าเถียงถึงฝีมือ ชั้นเชิง รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เขาเริ่มต้นด้วยไสลด์พื้นหลังเรียบ ง่าย ที่มีข้อความสั้นๆ ว่า ‘เศรษฐกิจไม่ดี’
เขาชี้ว่า ปี 2562 คนไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 3.4 แสนบาทต่อครัวเรือน และหากตรวจบัญชีธนาคารทั้งหมด 80.2 ล้านบัญชี คนไทยเกินครึ่งมีเงินติดในบัญชีไม่ถึง 3,000 บาท อีกทั้ง กล่าวถึงข้อมูลที่สื่อต่างประเทศรายงานเรื่อง 5 ตระกูลเจ้าสัวใหญ่ในไทย รวมถึงการที่ประเทศไทยขยับอันดับเรื่องความเหลื่มอล้ำจากอันดับ 11 ในปี 2558 ขึ้นมาเป็นอันดัน 1 ในปี 2560 สะท้อนว่ารัฐบาลไม่ควรโกหกตัวเอง ว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต
เขามองว่ารัฐบาลต้องรีบออกมาตรการเพื่อควบคุมการค้าออนไลน์ให้รัดกุมกว่านี้ เพราะในปี 2562 การค้าออนไลน์มูลค่ามากถึง 3.8 ล้านล้านบาท ขณะที่งบประมาณแผ่นดินอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท แต่ในตอนนี้รัฐบาลยังไม่สามารถเก็บภาษี หรือควบคุมการนำเข้า-ส่งออกจากการสั่งซื้อออนไลน์ได้เลย
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวที่เป็นรายได้อันดับหนึ่งของประเทศก็กำลังได้ผลกระทบกับการเปลี่นแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายผ่านแอปพลิเคชัน Alipay การซื้อทัวร์จากประเทศบ้านเกิด ซึ่งมาพร้อมรูทการท่องเที่ยวที่ไม่ป้อนเม็ดเงินเข้าสู่ภายในประเทศ
เขาเสนอให้ ประเทศไทยเปลี่ยนเป็นเมืองสินค้าปลอดภาษี โดยเขายกตัวอย่าง สิงคโปร์ หรือดูไบ ที่เป็นเมืองเล็กๆ และมีทรัพยากรน้อย แต่กลับกลายเป็นเมืองที่มั่งคั่งและหรูหราจากการเปลี่ยนตัวเองเป็นเมืองปลอดภาษี ทั้งนี้ เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนเป็นเมืองสินค้าปลอดภาษีจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวโตกว่าเดิมอีกถึง 5 เท่าตัว
นอกจากนี้ เขาเห็นด้วยกับการจัดระเบียบทางเท้า แต่ไม่เห็นด้วยกับการจัดระเบียบที่ทำให้ ‘ร้านค้าสตรีทฟู้ด’ กว่า 8 แสนร้านได้รับผลกระทบ ซึ่งกระทบไปอีกต่อถึงชีวิตประชาชนอีกราว 4 ล้านคน อีกทั้งทำลายเสน่ห์และโอกาสของประเทศไทยในด้านเศรษฐกิจ และที่สำคัญทำลายโอกาสและวิถีชีวิตที่สำคัญของเกษตรกรในต่างจังหวัด ที่พอพ้นหน้านาแล้วมักจะเข้ามาเพื่อขายอาหารในกรุงเทพฯ
เขาเสนอให้ภาครัฐออกกฎหมายรับรองไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นจากผู้ประกอบการรายย่อย โดยให้รับซื้อทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ จากแต่เดิมที่รับเพียงแค่ 60 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ การรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากผู้ประกอบการภายในประเทศจะลดค่าใช้จ่ายที่เราต้องซื้อจากประเทศอื่น และสามารถลดค่าไฟฟ้าของประเทศลงไปได้ราว 25-30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจะส่งผลต่อค่าครองชีพด้านอื่นๆ ด้วย
เขายังกล่าวถึง นโยบายชิม ช้อป ใช้ ของรัฐบาลด้วยว่า โครงการดังกล่าวนำเงินไปมอบให้กับทุนใหญ่เท่านั้น ไม่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนฐานราก
Tags: ธีรัจชัย พันธุมาศ, วิสาร เตชะธีราวัฒน์, อภิปรายไม่ไว้วางใจ, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, รังสิมันต์ โรม, ชลน่าน ศรีแก้ว, ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ, สุทิน คลังแสง