เมื่อพูดถึงการอนุรักษ์และปัญหาการสูญพันธุ์ องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มักหยิบยกสัตว์ป่าหน้าตาน่ารัก ลวดลายสวยงาม หรือท่วงท่าเกรงขามมาเป็นพรีเซนเตอร์ เราอาจเห็นโปสเตอร์รณรงค์ที่ใช้ภาพเสือ พะยูน วาฬ แพนด้า ชิมแปนซี หรือที่เผยแพร่มากมายในช่วงที่ผ่านมาคือภาพจิงโจ้และโคอาล่าซึ่งบาดเจ็บจากไฟไหม้ป่าที่ออสเตรเลีย
แต่สิ่งมีชีวิตสำคัญที่ได้รับการกล่าวถึงน้อยมากคือแมลง
แมลง สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน (และอาจก่อความรำคาญในบางครั้ง) มดที่ลอบกินขนมที่วางทิ้งไว้ ยุงที่มาดูดเลือดตอนเราเผลอ ผึ้งที่ส่งเสียงหึ่งน่ากังวลตอนออกจากบ้าน ปลวกที่แทะทำลายโครงสร้าง แมงมุมที่ซ่อนตัวอยู่ตามมุมห้อง และแมลงสาบตัวจ้อยที่หลายคนแค่นึกถึงก็ขนลุก
แม้ว่าแมลงจะเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด แต่เรากลับรู้จักมันน้อยมากหากเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และแม้นักวิทยาศาสตร์จะค้นพบและตั้งชื่อชนิดพันธุ์แมลงกว่าล้านชนิดพันธุ์ แต่นั่นก็ถือเป็นเพียงหยิบมือของแมลงที่มีอยู่บนโลก แม้แต่แมลงที่เราคิดว่ารู้จักดี เราอาจแทบไม่รู้จักวงศาคณาญาติของมัน เช่น มดที่อาจมีถึง 12,000 ชนิดพันธุ์ ผึ้ง 20,000 ชนิดพันธุ์ และแมลงเปลือกแข็ง 400,000 ชนิดพันธุ์
ความยุ่งยากในการสำรวจประชากรของแมลง ทำให้หายนะครั้งใหญ่อาจเกิดขึ้นเงียบๆ โดยไม่ทันสังเกตเห็น
งานวิจัยซึ่งเผยแพร่เมื่อปีที่ผ่านมา ได้วิเคราะห์รายงานประชากรแมลง 73 ชิ้นซึ่งส่วนใหญ่จัดทำในสหภาพยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ โดยได้ข้อสรุปว่าประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของชนิดพันธุ์แมลงทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ ซึ่งนับเป็นอัตราการสูญพันธุ์ที่รวดเร็วกว่าที่สัตว์มีกระดูกสันหลังอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก และสัตว์เลื้อยคลาน เผชิญถึง 2 เท่า
จะเกิดอะไรถ้าแมลงหายไปจากโลก?
เดวิด แมคนีล (David MacNeal) ผู้ลุ่มหลงในแมลงและผู้เขียนหนังสือชื่อว่า ‘Bugged’ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร National Geographic ว่า “หากไม่มีแมลง พวกเราทุกคนก็อาจไม่มีชีวิตรอด” ส่วนฟรานซิสโก ซานเชส-บาโย (Francisco Sánchez-Bayo) นักวิจัยด้านแมลงระบุว่า “หากเรายังไม่หยุดการสูญพันธุ์ของแมลง ระบบนิเวศจะล่มสลายเนื่องจากความหิวโหย” เพราะแมลงเปรียบเสมือนต้นทางของห่วงโซ่อาหารในแทบทุกระบบนิเวศ
สองนักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลประมาณการว่า แมลงในสหรัฐอเมริกาสร้างนิเวศบริการ (ecosystem services – การมองระบบนิเวศเปรียบเสมือนเครื่องจักรสลับซับซ้อนซึ่งสามารถผลิตสินค้าและบริการให้กับมนุษย์) คิดเป็นมูลค่า 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ตั้งแต่การเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์ป่าซึ่งนำไปสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ช่วยควบคุมศัตรูพืช ช่วยผสมเกสรในภาคการเกษตร รวมถึงการกำจัดของเสียในทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นการประมาณแบบ ‘อนุรักษนิยม’ โดยยังไม่ได้รวมบทบาทสำคัญของแมลงตามธรรมชาติ อาทิ การย่อยสลายซากสัตว์และซากพืช ซึ่งเป็นการลดโอกาสการเกิดไฟป่า แมลงที่อยู่ใต้ดินช่วยพรวนดินด้วยการขุดโพรงเป็นทางน้ำให้กับพืช แมลงบางชนิดยังถูกใช้เพื่อการผลิตยา และการอุปโภคผลผลิตทางตรงจากแมลง เช่น ไหม สีย้อม และครั่ง รวมถึงการเก็บเกี่ยวอาหารอย่างน้ำผึ้ง จะเห็นได้ว่าแมลงได้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่การผลิตอาหารไปจนถึงการกำจัดสิ่งสกปรก
นอกจากงานวิจัยข้างต้น ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่เน้นบริการผสมเกสรของเหล่าแมลงต่อพืชเศรษฐกิจทั่วโลก โดยประมาณการว่ามีมูลค่าสูงถึง 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หากใครคิดว่ามูลค่าดังกล่าวสูงเกินจริง ผู้เขียนขอยกตัวอย่างหุบเขาเหมาเจียน (Maoxian Valley) ในประเทศจีนซึ่งเผชิญภาวะขาดแคลนแมลงจนต้องจ้างคนผสมเกสรวันละราว 19 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อผสมเกสรต้นแอปเปิลวันละ 5 – 10 ต้นด้วยมือ
แมลงยังเป็นแหล่งอาหารทางตรงของมนุษย์ มีแมลงกว่าสองพันชนิดที่เป็นอาหารของกลุ่มคนท้องถิ่นกว่าสองพันล้านคนใน 130 ประเทศ และกลายเป็นเทรนด์อาหารใหม่เพื่อบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์เนื่องจากมีการปล่อยแก๊สเรือนกระจกและใช้พื้นที่น้อยกว่ามาก นอกจากนี้ แมลงมีโปรตีนเทียบเท่าเนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อไก่ ในขณะที่ให้แคลอรีต่ำกว่า แถมยังไม่ต้องกังวลเรื่องโรควัวบ้า ไข้หวัดหมู หรือไข้หวัดนก (อ่านเพิ่มเติมใน กินอะไรในอนาคต?)
หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ แมลงคือโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานทางชีววิทยาที่หากพังทลายย่อมกลายเป็นปัญหา รอยร้าวชำรุดในโครงสร้างดังกล่าวก็ควรจะได้รับการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน ไม่ต่างจากโครงการซ่อมแซมถนนหนทาง หรือซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้า แต่น่าเสียดายที่ผู้นำหลายประเทศยังมองโครงการคุ้มครองและฟื้นฟูธรรมชาติเป็นค่าใช้จ่ายไม่ใช่การลงทุน
การสูญพันธุ์ของแมลง สาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาวิจัยแมลงทำได้ค่อนข้างยากและไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักหากเทียบกับการศึกษาสัตว์มีกระดูกสันหลัง รายงานส่วนใหญ่ศึกษาวิจัยในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ อย่างไรก็ดี นักวิจัยคาดว่าสถานการณ์การลดลงของจำนวนประชากรแมลงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยงานวิจัยชิ้นดังกล่าวระบุ 4 สาเหตุสำคัญที่ทำให้แมลงลดจำนวนลงดังนี้
ประการแรกคือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และการแปลงสภาพพื้นที่ป่าให้กลายเป็นพื้นที่การเกษตรเข้มข้นหรือพื้นที่เมือง ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับสาเหตุประการที่สองคือมลภาวะจากยาฆ่าแมลง เช่น นีโอนิโคตินอยด์ (neonicotinoids) และไฟโพรนิล (fipronil) เป็นหนึ่งในสารพิษที่ใช้อย่างสม่ำเสมอ ตกค้างในดิน และทำลายตัวอ่อนแมลงในดิน รวมถึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรผึ้งลดลงทั่วโลก เกษตรกรรมสมัยใหม่ยังได้หักร้างทำลายต้นไม้และพุ่มไม้ที่เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงอีกด้วย
ประการที่สามคือปัจจัยด้านชีวภาพ ทั้งการปนเปื้อนของเชื้อโรคและชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามารุกรานแมลงท้องถิ่น ส่วนประการสุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งนำไปสู่ภัยทางธรรมชาติที่รุนแรง อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังทำให้แมลงหลายชนิดไม่สามารถปรับตัวได้และสูญพันธุ์ โดยเฉพาะแมลงซึ่งอยู่ในเขตร้อนชื้น ขณะที่แมลงในเขตหนาวและอบอุ่นยังมีที่ทางในการอพยพเพื่อหาแหล่งที่อยู่อาศัยซึ่งมีอุณหภูมิที่เหมาะสมได้
ทางเลือกหนึ่งที่ทุกคนสามารถช่วยบรรเทาวิกฤตินี้ได้คือการ ‘ฟื้นคืนธรรมชาติ (rewilding)’ โดยเราสามารถสร้างพื้นที่เล็กๆ เช่น สวนหลังบ้าน ให้เป็นแหล่งที่พักพิงของแมลงตัวน้อย หากมีมากพอก็จะสามารถสร้างเป็นโครงข่ายให้แมลงดำรงชีวิตอยู่ได้
แต่แนวทางแก้ไขปัญหาที่โหดหินคือลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในภาคการเกษตรซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการลดลงของประชากรแมลง โดยอาจเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรสู่เกษตรอินทรีย์ซึ่งมีการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่ามีแมลงจำนวนมากกว่าหากเทียบกับแปลงเกษตรเคมี หรือการปรับใช้สารเคมีในปริมาณที่เหมาะสมที่นอกจากจะบรรเทาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรมีกำไรมากขึ้นอีกด้วย
ผู้เขียนขอหมายเหตุว่าผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มได้โจมตีงานวิจัยสถานการณ์การสูญพันธุ์และการลดลงของประชากรแมลงว่ายังออกแบบได้ไม่ดีนักและอาจทำให้ตื่นตระหนกเกินไป โดยพวกเขาไม่ปฏิเสธว่าประชากรแมลงทั่วโลกนั้นลดลงจริง แต่สิ่งที่ชวนตั้งคำถามคือ ‘อัตราเร็ว’ ของการสูญพันธุ์ซึ่งเป็นข้อสรุปของงานวิจัยดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลประชากรของแมลงทั่วโลกนั้นมีจำกัดอย่างมากโดยเฉพาะในเขตร้อนชื้นซึ่งแทบไม่มีการสำรวจเรื่องประชากร
อย่างไรก็ดี แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะสูงเกินจริง แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนที่เราควรตระหนักแต่อาจไม่ต้องถึงขั้นตระหนก ว่ายังมีสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ แสนสำคัญที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และต้องการความช่วยเหลือก่อนที่จะสายเกินไป
เอกสารประกอบการเขียน
A New Mass Extinction Has Started, And Its First Victims Are Disappearing Fast
Worldwide decline of the entomofauna: A review of its drivers
Why insect populations are plummeting—and why it matters
The Insect Apocalypse Is Here: What does it mean for the rest of life on Earth?
Tags: แมลง, สัตว์ป่า, การสูญพันธุ์