องค์การอาหารโลกหรือ FAO เปิดเผยเมื่อวันที่ 24 มกราคมว่า แอฟริกาตะวันออกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ตั๊กแตนทะเลทรายบุกขั้นเลวร้ายที่สุดในรอบ 25 ปี เรื่องนี้สร้างความกังวลว่าภูมิภาคนี้ที่มีประชากรมากกว่า 19 ล้านคนจะต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ขณะที่เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารในระดับรุนแรงมาสักพักแล้ว
ในประเทศเคนยา นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปีที่ตั๊กแตนทะเลทรายหลายร้อยล้านตัวบุกฟาร์ม รัฐบาลต้องใช้งบประมาณกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อจัดการและป้องกันการแพร่กระจาย
ตั๊กแตนทะเลทรายเป็นตั๊กแตนสายพันธุ์ที่เป็นอันตรายที่สุดในบรรดาตั๊กแตนสายพันธุ์ที่กินอาหาร เพราะความเร็วและความสามารถในการเพิ่มจำนวนของมัน ข้อมูลของ FAO ระบุว่ามันไม่ทำร้ายคนหรือสัตว์ และยังไม่มีหลักฐานว่ามันเป็นพาหะของโรคที่ถ่ายทอดมายังมนุษย์ได้ ตั๊กแตนทะเลทรายตัวเล็กๆ นี้สามารถกินอาหารเท่ากับคน 35,000 คนในวันเดียว
ตอนนี้เกษตรกรต่างกังวลว่าวัวและพืชที่เพาะปลูกไว้จะเสียหายมหาศาล โดยที่พวกเขาทำอะไรไม่ได้ ที่เคนยาพื้นที่การเกษตรถูกแมลงบุกรุกแล้ว 70,000 เฮกเตอร์
ผู้อำนวยการองค์กรควบคุมตั๊กแตนทะเลทราย สตีเฟน โจหา กล่าวว่า การบุกรุกของตั๊กแตนทะเลทรายเป็นเรื่องผิดปกติของภูมิภาคนี้ เหตุการณ์คล้ายกันที่เคยเกิดขึ้นในปี 2007 มีขนาดเล็กกว่านี้มาก “สถานการณ์การบุกรุกของตั๊กแตนทะเลทรายในตอนนี้ขนาดใหญ่กว่าเหตุการณ์อื่นๆ ที่เคนยาและประเทศอื่นๆ ในแถบนี้เคยเจอ”
ทั้งนี้ คาดว่าสาเหตุของการแพร่กระจายของตั๊กแตนทะเลทรายน่าจะมาจากสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติในปี 2019 ซึ่งรวมถึงฝนที่ตกหนักในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม พายุไซโคลนที่พัดเข้าโซมาเลียและเอธิโอเปีย เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาทำให้ฝนตกหนักมาก ซึ่งมีผลต่อการผสมพันธุ์ของแมลงในอีก 6 เดือนข้างหน้า
ฝูงแมลงขนาดใหญ่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของโซมาเลียและทางตะวันออกของเอธิโอเปียไม่ได้รับการตรวจสอบหรือจัดการ พวกมันออกจากพื้นที่ซึ่งเปราะบางสำหรับตั๊กแตนทะเลทรายรุ่นใหม่ ตั๊กแตนทะเลทรายที่ไม่ถูกจัดการหรือควบคุมสามารถเพิ่มจำนวนได้มากกว่าเดิมถึง 400 เท่า
ทางภาคเหนือของเคนยามีฝนตกหนักมากจนถึงเดือนมกราคม ซึ่งเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย ก็ยิ่งเพิ่มสภาพแวดล้อมให้แมลงเพาะพันธุ์มากขึ้น ฝูงแมลงมุ่งมาที่เคนยาอย่างต่อเนื่องและทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ
FAO ระบุว่ากรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ การบุกรุกของฝูงตั๊กแตนทะเลทรายอาจกลายเป็นโรคระบาดรุนแรงได้ ถ้าไม่มีการควบคุมอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ FAO ได้ยกระดับสถานการณ์ให้เป็นภัยพิบัติระดับสูงสุด จัดทำแผนปฏิบัติการ 6 เดือน ซึ่งจะได้ใช้เงิน 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับยาฆ่าแมลงเพื่อแก้ปัญหานี้
จนถึงตอนนี้ฝูงตั๊กแตนทะเลทรายเข้าทำลายอาหารและวัวในภูมิภาคเป็นวงกว้างนี้ แต่ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ เนื่องจากมีการแพร่กระจายเข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้นทุกวัน แม้ยาฆ่าแมลงยังคงได้ผล แต่การเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วของตั๊กแตนทะเลทรายก็ทำให้ยากที่จะประเมินว่า ยาฆ่าแมลงได้ผลมากน้อยแค่ไหน
ที่มา:
https://edition.cnn.com/2020/01/24/africa/kenya-locust-swarms/index.html
https://time.com/5771621/locust-swarms-africa/
ภาพ: REUTERS/Njeri Mwangi
Tags: เคนยา, ตั๊กแตนทะเลทราย