หลังเกิดกระแสภาษีผ้าอนามัย ซึ่งมีโฆษกพรรคเพื่อชาติเป็นผู้จุดประเด็นว่ารัฐบาลจะจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในฐานะสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งมีเพดานภาษีสูงถึง 40% จนขึ้นแฮชแท็กอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ แม้ต่อมาอธิบดีกรมสรรพสามิตได้ออกมาให้ข้อมูลว่าผ้าอนามัยเป็นสินค้าควบคุมตั้งแต่ปี 2551 และไม่อยู่ในฐานการจัดเก็บภาษีอื่นนอกจากภาษีมูลค่าเพิ่ม  

อย่างไรก็ดี ก็ยังคงมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องเกี่ยวกับราคาผ้าอนามัยในประเทศไทย ว่ายังคงมีราคาสูงและทำให้ผู้หญิงที่มีรายได้น้อยต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากในการซื้อมาใช้ทั้งๆ ที่สิ่งนี้เป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานของผู้หญิง

ความเคลื่อนไหวในการพยายามให้รัฐลดภาษีผ้าอนามัยนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก ที่ประสบความสำเร็จล่าสุดก็คือประเทศเยอรมนี ก่อนหน้านี้ประเทศเยอรมนีจัดกลุ่มการเก็บภาษีของผ้าอนามัยแบบสอดไว้ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย’ (luxury goods) เช่นเดียวกันกับบุหรี่ และเป็นประเทศที่มีอัตราภาษีผ้าอนามัยสูงเป็นอันดับ 11 ในแถบยุโรป จากทั้งหมด 28 ประเทศ 

แต่จากการสร้างแคมเปญรณรงค์ของสองนักกิจกรรม นานน่า โจเซฟีน โรลอฟฟ์และยาสมิน โคตรา ซึ่งใช้แพลตฟอร์ม change.org ในการสร้างแคมเปญ โดยมีผู้มาลงรายชื่อสนับสนุนทั้งผู้ชายและผู้หญิงกว่า 2 แสนคน ทำให้ที่สุดแล้วรัฐสภาเยอรมันโหวตผ่านการลดภาษีผ้าอนามัยทั้งแบบสอดและแบบแผ่นไปเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยยกเลิกการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยจากภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย 19% มาเป็นสินค้าจำเป็นที่มีอัตราภาษีเพียง 7% โดยจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2020 เป็นต้นไป

การมีประจำเดือนไม่ใช่เรื่องหรูหรา มันมีราคาที่ผู้หญิงต้องจ่ายเป็นประจำ เพราะฉะนั้นผ้าอนามัยก็ไม่ควรเป็นสินค้าที่ถูกเก็บภาษีในหมวดหมู่สินค้าฟุ่มเฟือยหรูหรานานน่า โจเซฟีน โรลอฟฟ์ กล่าว

ฮังการีเป็นประเทศที่มีภาษีผ้าอนามัยสูงที่สุดในยุโรปและสูงที่สุดในโลกอีกด้วย อยู่ที่ 27% ตามมาด้วยประเทศสวีเดน เดนมาร์ก และโครเอเชีย อยู่ที่ 25% อีกหนึ่งประเทศที่มีภาษีผ้าอนามัยสูงก็คืออาร์เจนตินา อยู่ที่ 21% เยอรมนี 19% แต่จะลดเหลือ 7% ในปีหน้า เม็กซิโก 16% สเปนและสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 10% อิหร่าน 9% สวิตเซอร์แลนด์ 7.7% เนเธอร์แลนด์ 6% ฝรั่งเศส 5.5% โคลอมเบียและสหราชอาณาจักร 5% ในขณะที่ประเทศกรีซมีการเพิ่มภาษีผ้าอนามัยจาก 13% เป็น 23% อันเป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจภายในประเทศ 

สำหรับประเทศที่ไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัย เพราะถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการบริโภคก็คือ แคนาดา อินเดีย เคนยา ไอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย มาเลเซีย นิคารากัว อูกันดา แทนซาเนีย ไนจีเรีย จาไมกา เลบานอน และหลายๆ รัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา และคาดว่าอาจจะมีประเทศอื่นๆ ตามมาในอนาคต เช่น ออสเตรเลีย ที่มีการรณรงค์อย่างเข้มข้นในประเด็นนี้ 

อย่างไรก็ตาม แม้ในบางประเทศในยุโรปจะมีการเก็บภาษีผ้าอนามัยที่ยังคงอยู่ แต่ราคาผ้าอนามัยนั้นไม่ได้สูงมาก เช่น ประเทศเยอรมนี แม้ยังคงเก็บภาษีผ้าอนามัย 19% อยู่ แต่ผ้าอนามัยแพ็กหนึ่งจำนวน 60 ชิ้น มีราคาประมาณ 2.50-3 ยูโร หรือประมาณ 85-100 บาท ซึ่งประเทศเยอรมนีเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าผ้าอนามัยมีราคาถูกที่สุดในโลก ตามมาด้วยประเทศเคนย่า ในขณะที่หากเปรียบเทียบราคาผ้าอนามัยกับจีดีพีต่อจำนวนประชากรจะพบว่า ประเทศที่มีราคาผ้าอนามัยถูกที่สุดคือเวียดนาม ตามมาด้วยเยอรมนีและเคนยา 

การเคลื่อนไหวในเรื่องราคาผ้าอนามัยนั้นมีทั่วโลก อย่างอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีการเก็บภาษีผ้าอนามัย แต่ด้วยรายได้ประชากรต่อหัวที่ต่ำ มีประชากรที่อยู่ในฐานะยากจนจำนวนมาก ก็มีการเคลื่อนไหวในประเด็นนี้นำโดยพระเอกขวัญใจมหาชนชาวบอลลีวูด อัคเชย์ คูมาร์ ที่พยายามผลักดันให้บริษัทที่ผลิตผ้าอนามัยในรัฐอุตตรประเทศ ผลิตผ้าอนามัยในราคาที่ต่ำและจำนวนที่มากขึ้นเพื่อผู้มีรายได้น้อย หรือแม้แต่ในประเทศเกาหลีใต้ ที่มีความพยายามผลักดันให้รัฐบาลแจกจ่ายผ้าอนามัยฟรีให้กับเด็กหญิงที่ยังไม่มีรายได้ 

เช่นเดียวกันกับผู้ประกาศข่าวสาวในประเทศแอฟริกาใต้ โบนัง มาทีบา ที่ขึ้นกล่าวในงาน ACTIVATE: The Global Citizen Movement ที่จัดขึ้นในเมืองโยฮันเนสเบิร์ก เมื่อเดือนกันายนที่ผ่านมาว่า “เด็กผู้หญิงหลายคนในประเทศนี้และประเทศในแถบทวีปแอฟริกานี้ ต้องหยุดเรียนเวลาที่พวกเธอมีประจำเดือน” 

จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยสเตลเลนบอสช์ พบว่าเด็กผู้หญิง 30% ในแอฟริกาใต้มักจะหยุดเรียนในช่วงที่พวกเธอมีประจำเดือน ซึ่งเกิดจากทั้งเรื่องค่านิยม ความอับอาย การเข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์การดูแลในช่วงที่มีประจำเดือนเนื่องด้วยราคาที่สูงและรายได้ของครอบครัวที่ต่ำ รวมไปถึงความสะอาดของห้องน้ำที่โรงเรียน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการได้รับการศึกษาของเด็กผู้หญิงในแถบแอฟริกา และสืบเนื่องจากการผลักดันและรณรงค์ในประเด็นนี้ทำให้ประเทศแอฟริกาใต้เพิ่งจะประกาศการเก็บภาษีผ้าอนามัยเป็นศูนย์ในปีนี้นั่นเอง

อ้างอิง

https://www.globalcitizen.org/en/content/bonang-matheba-activate-johannesburg-period-school/ 

https://www.thehindubusinessline.com/companies/sanitary-napkins-niine-movement-to-more-than-double-production-capacity-in-uttar-pradesh/article24778708.ece 

https://www.statista.com/chart/18194/sales-tax-rate-on-feminine-hygiene-products-in-selected-countries/ 

https://rubycup.com/blogs/news/would-your-period-be-cheaper-if-you-lived-in-another-country 

https://edition.cnn.com/2019/11/08/europe/tampon-tax-germany-luxury-item-grm-intl/index.html 

ภาพ : gettyimages

Tags: ,