ในฐานะพ่อลูกเล็ก สิ่งหนึ่งที่กังวลในตอนนี้คือผลกระทบจากมลภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องยาวนานมาร่วมเดือนและไม่มีทีท่าว่าจะจางหายไปจากน่านฟ้ากรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมถึงอีกหลายจังหวัด ในขณะเดียวกัน มาตรการภาครัฐที่พยายามออกมาอย่าง ‘เร่งด่วน’ และคาดหวังว่าจะบรรเทาปัญหาฝุ่นก็ยังไม่เห็นผล
ผู้เขียนขอเสนออีกหนึ่งแนวทางบรรเทาปัญหาฝุ่น ในวาระครบรอบ 100 ปีของหนังสือ ‘เศรษฐศาสตร์ของสวัสดิการ (The Economics of Welfare)’ โดยอาเธอร์ พิกู (Arthur Pigou) นักเศรษฐศาสตร์ดาวเด่นซึ่งรับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในวัยเพียง 30 ปี
แม้ว่าเราอาจไม่คุ้นชื่อของอาเธอร์ พิกู หรือภาษีพิกูเวียน (Pigouvian Tax) แต่ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินแนวคิดอย่างหลักผู้ปล่อยมลภาวะเป็นคนจ่าย (Polluter Pays Principle) การเก็บภาษีคาร์บอนและค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก หรือที่บางคนอาจคุ้นเคยกันดีคือการเก็บภาษีเหล้า เบียร์ และบุหรี่ แนวคิดเหล่านี้มีที่มาจากพิกูทั้งสิ้น
ย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีก่อน สิ่งที่พิกูและชาวกรุงลอนดอนเผชิญคือมลภาวะจากปล่องควันโรงงานซึ่งสร้างผลกระทบภายนอก (externalities) ซึ่งหมายถึงผลกระทบที่เกิดต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ท้องฟ้าขมุกขมัว แหล่งน้ำสกปรก เสื้อผ้าเปื้อนเขม่า ฯลฯ โดยที่ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ก่อผลกระทบเหล่านั้นไม่ต้องควักกระเป๋าสตางค์จ่ายเพื่อแก้ไขปัญหา พิกูมองว่า หากปล่อยให้กลไกตลาดทำงานไปตามปกติ ภาคเอกชนจะฉวยประโยชน์โดยไม่ต้องแบกรับต้นทุน ผลิตสินค้าหรือบริการที่สร้างผลกระทบภายนอกต่อสังคมในระดับที่สูงกว่าระดับที่เหมาะสม แนวทางที่เขาเสนอก็คือจัดเก็บภาษีกิจกรรมที่สร้างผลกระทบภายนอกนั่นเอง
อยากปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์? อยากดื่มเหล้าสูบบุหรี่? อยากขับรถยนต์เข้าในเมือง? อยากปล่อยฝุ่นละออง?
ก็ได้นะ แต่ต้องจ่ายสตางค์ให้เท่ากับต้นทุนทางสังคมที่คุณทำให้เกิดขึ้น!
ตามแบบจำลองของพิกู เมื่อมีการเก็บภาษีซึ่งสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง กลไกตลาดก็จะกลับมาทำงานได้อย่างถูกต้องอีกครั้ง และนำไปสู่สวัสดิการสูงสุดของสังคม
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะหยิบยกตัวอย่างแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นละอองด้วยการจัดเก็บภาษีหรือการให้เงินอุดหนุนตามแนวคิดของพิกูกับบริบทประเทศไทย แต่ก่อนที่จะไปถึงแนวทางแก้ไขปัญหา เราควรตอบคำถามพื้นฐานก่อนว่าฝุ่นมาจากไหน?
ฝุ่นในไทยมาจากไหน?
ฝุ่นละออง PM 2.5 ถือเป็นฝุ่นละเอียดซึ่งมีแหล่งที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจนเกิดเป็นฝุ่นควัน เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงปิโตรเลียม หรือการเผาไหม้เชื้อเพลิงชีวมวลในภาคการเกษตร ฝุ่นเหล่านี้จะเรียกว่าฝุ่นปฐมภูมิ (primary particle) ส่วนฝุ่นทุติยภูมิ (secondary particle) จะเกิดจากปฏิกิริยาเคมีบนชั้นบรรยากาศ เช่น แอมโมเนียมไนเตรต เป็นต้น แนวทางหนึ่งในการวิเคราะห์ว่าฝุ่นมาจากไหน คือการพิจารณาองค์ประกอบของฝุ่นซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด
การศึกษาโดยเอไอที (Asian Institute of Technology) เมื่อ พ.ศ. 2560 เก็บตัวอย่างฝุ่น PM 2.5 ในฤดูแล้งสำหรับพิจารณาองค์ประกอบเพื่อระบุแหล่งที่มาของฝุ่น PM2.5 ในฤดูแล้ง โดยเก็บจาก 2 จุดคือกรมควบคุมมลพิษและเอไอทีซึ่งตั้งอยู่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต พบว่าแหล่งที่มาของฝุ่นอันดับหนึ่งคือการเผาชีวมวล รองลงมาคือเครื่องยนต์ดีเซล และฝุ่นอนินทรีย์ทุติยภูมิ
อีกแนวทางหนึ่งคือการหาความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ที่น่าจะส่งผลกับค่าฝุ่นและปริมาณฝุ่นที่วัดได้จากสถานีวัดต่างๆ โดยมีบทความโดยนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลชาวไทยซึ่งรวบรวมข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ เช่น สภาพภูมิอากาศ (ความเร็วลม ความชื้น และอุณหภูมิ) การจราจร การเกิดไฟบริเวณกรุงเทพฯ รวมถึงพื้นที่ซึ่งห่างไกลออกไป โดยนำมาหาความสัมพันธ์กับระดับ PM2.5 ที่วัดได้โดยใช้เทคนิคการเรียนรู้โดยเครื่องจักร (Machine Learning)
ผลปรากฏว่า ปริมาณการเกิดไฟในรัศมี 240 กิโลเมตรรอบกรุงเทพฯ ซึ่งอิงจากภาพถ่ายดาวเทียมโดยองค์การนาซามีรูปแบบที่ใกล้เคียงกับปริมาณฝุ่น PM2.5 ที่วัดได้ในอากาศ ส่วนปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศมีผลบ้างเล็กน้อย แต่ที่น่าประหลาดใจคือความคับคั่งของการจราจรนั้นไม่สัมพันธ์กับระดับ PM2.5 ในอากาศแต่อย่างใด เธอยังได้สรุปอีกว่าปัจจัยเรื่องการเกิดไฟมีความสัมพันธ์ต่อระดับการเกิดฝุ่นอย่างยิ่ง โดยกรุงเทพฯ อาจได้รับผลกระทบจากการเผาในพื้นที่ห่างไกลถึง 720 กิโลเมตรเลยทีเดียว
จากการศึกษาทั้งสองชิ้น เราก็จะพอมองเห็นภาพว่าฝุ่น PM2.5 ในหน้าแล้งมีสาเหตุหลักมาจากการเผาชีวมวล ส่วนสาเหตุรองลงมาคือเกิดจากเครื่องยนต์ดีเซล ลำดับถัดไปคือการออกแบบนโยบายเพื่อ ‘จัดการ’ กับต้นตอของฝุ่นควันดังกล่าว
มาตรการขจัดฝุ่นตามแนวคิดของพิกู
แนวคิดของพิกูมีสองด้าน คือการเก็บภาษีเพื่อลดทอนพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ หรือการเพิ่มแรงจูงใจทางการเงินเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ สำหรับประเด็นเรื่องการเผาชีวมวลในภาคเกษตร ผู้เขียนขอหยิบยกตัวอย่างการสร้างแรงจูงใจในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของอินโดนีเซียซึ่งสร้างมลภาวะหมอกควันกว้างไกลในระดับภูมิภาคจากการเผาไร่ ผ่านการรับรองปาล์มน้ำมันยั่งยืน โดยภาคีปาล์มน้ำมันยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil: RSPO) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาคประชาสังคม
มาตรฐานดังกล่าวจะกำหนดว่าผู้ที่ได้รับการรับรองจะต้องไม่เผาและไม่ทำลายป่า ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจะสามารถขายได้ในราคาสูงกว่าตลาด มีการศึกษาระหว่าง พ.ศ. 2555 – 2558 พบว่าแปลงปาล์มน้ำมันที่ได้รับการรับรองจะพบการเผาน้อยกว่าแปลงที่ไม่ได้รับการรับรองสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ กระบวนการรับรองดังกล่าวยังสัมพันธ์กับอัตราการตัดไม้ทำลายป่าที่ลดลงอีกด้วย อย่างไรก็ดี RSPO เผชิญกับความท้าทายทางกฎหมายกับรัฐบาลของอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง
ข้อดีของการรับรอง RSPO คือทุกคนในระบบตลาดสามารถมีส่วนร่วมผลักดันผ่านกลไกตลาด โดยเฉพาะบริษัทคู่ค้าและผู้บริโภคที่สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองเพื่อเป็นการ ‘สนับสนุน’ เกษตรกรที่ไม่เผาแปลงโดยอาจจ่ายราคาแพงขึ้นเล็กแต่ก็ทำให้มั่นใจว่าเราได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสาธารณะ
สำหรับประเทศไทย เท่าที่ผู้เขียนทราบมีความพยายามเก็บ ‘ภาษี’ จากชาวไร่อ้อย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดว่าหากเกษตรกรส่งอ้อยที่เก็บเกี่ยวจากการเผาหรืออ้อยไฟไหม้ โรงงานจะต้องหักเงินไว้ตันละ 30 บาทแล้วนำมา ‘คืนกำไร’ ให้กับเกษตรกรที่ปลูกอ้อยสด อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวมีมาตั้งแต่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว 61/62 แล้ว โดยเหตุผลส่วนหนึ่งคืออ้อยที่เผาจะมีคุณภาพน้ำตาลต่ำกว่าอ้อยสด ซึ่งน่าสังเกตว่าราคา 30 บาทที่หักไปนั้นเป็นมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการเผาอ้อย หรือเพียงต้องการเพิ่มคุณภาพอ้อยที่เข้าโรงงานกันแน่
ส่วนมาตรการลดฝุ่นจากเครื่องยนต์ดีเซล รัฐบาลไทยก็ได้ประกาศให้มีการลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลพรีเมียมที่ได้มาตรฐานยูโร 5 ซึ่งปล่อยฝุ่นละอองน้อยกว่า โดยผู้ประกอบการน้ำมันเตรียมประกาศลดราคาลิตรละ 1 บาท อย่างไรก็ดีน้ำมันดังกล่าวก็ยังราคาแพงว่าน้ำมันดีเซลทั่วไปซึ่งสามารถทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์ จึงชวนสงสัยว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาฝุ่นควันได้จริง หรือต้องเพิ่มมาตรการภาษีสำหรับน้ำมันดีเซลที่สร้างมลภาวะเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงที่สังคมต้องแบกรับ
นอกจากนี้ ภาครัฐยังสามารถออกแบบเครื่องมือการจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมในจุดที่คิดว่าก่อให้เกิดมลภาวะ เช่น การเก็บภาษีรถยนต์อัตราก้าวหน้าตามอายุการใช้งานหรือระดับการปล่อยควันพิษ การเก็บค่าธรรมเนียมในการขับรถยนต์เข้าสู่ในกลางเมืองในช่วงเวลาเร่งด่วน ในทางกลับกัน ภาครัฐก็สามารถออกแบบแรงจูงใจให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ลง เช่น การอุดหนุนขนส่งสาธารณะให้ใช้ฟรี หรือลดครึ่งราคาในช่วงเวลาเร่งด่วน
หลายคนอาจสงสัยว่ามาตรการเหล่านี้ รัฐบาลไทยคิดไม่ได้หรือ?
คำตอบคือคิดได้ครับ ในเอกสาร “โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล” เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2561 โดยกรมควบคุมมลพิษ มีการศึกษาที่ได้ผลสรุปว่าฝุ่นละอองดังกล่าวส่งผลต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และการบังคับใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมีความคุ้มค่าคุ้มทุนอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ยังมีการเสนอสารพัดมาตรการแก้ไขปัญหา เช่น ยกระดับมาตรฐานเครื่องยนต์ ส่งเสริมพัฒนาขนส่งมวลชน ระบบขนส่งมวลชนโดยรัฐเป็นผู้จ่าย กำหนดเขตเก็บค่าจราจรหนาแน่น ส่วนมาตรการในช่วงวิกฤตก็คือการขยายเวลาห้ามรถบรรทุกเข้าเป็นตลอด 24 ชั่วโมง ฯลฯ
ผู้เขียนเข้าใจว่ามาตรการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบเยอะและไม่สามารถบังคับใช้ได้เพียงชั่วข้ามวัน แต่รายงานข้างต้นเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2561 นี่ก็ปี 2563 แล้วแต่ทำไมภาครัฐถึงยัง ‘ลุกลี้ลุกลน’ ราวกับไม่เคยเจอปัญหาฝุ่น PM2.5 มาก่อน สำหรับผม ก็เพียงมีความหวังเล็กๆ ว่า ฝุ่นฤดูกาลหน้าภาครัฐจะมีมาตรการที่ไปไกลกว่า ‘ขอความร่วมมือจากประชาชน’
เอกสารประกอบการเขียน
A Study in Urban Air Pollution Improvement in Asia
Identifying the Sources of Winter Air Pollution in Bangkok Part II
โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล
ASEAN Smoke Haze and Hidden Solutions
Tags: PM2.5, ฝุ่น, อาเธอร์ พิกู