ผ่านมามากกว่า 1 เดือนแล้วที่วิกฤติฝุ่นควันในกรุงเทพฯ อยู่ในระดับที่อันตรายและส่งผลกระทบกินวงกว้างไปถึงทุกคน บางคนอยู่ในขั้นแสบตา เจ็บคอ หายใจไม่สะดวก บางคนเริ่มเลือดกำเดาไหล ไอเป็นเลือด  อาการเหล่านี้สอดคล้องกับงานศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM2.5 ขององค์การอนามัยโลก สหภาพยุโรป และองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ปัญหามลพิษทางอากาศไม่ได้จำกัดเฉพาะพื้นที่ในกทม. เมื่อดูคุณภาพอากาศทั่วทั้งประเทศแล้ว อากาศที่เราสูดเข้าไปเกือบทุกที่ ไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่หลายคนเคยคิดอีกต่อไป

[ปัญหามลพิษของฝุ่นละออกขนาดเล็กครอบคลุมแทบทุกส่วนของประเทศไทย ภาพจาก Application AQI, 2 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 20.57น.]

วิกฤตินี้ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติลงโทษหรือความโชคร้าย แต่มันเกิดจากการพัฒนาที่ผิดทิศทาง และไม่มีมาตรการป้องกันทางสิ่งแวดล้อมรองรับก่อนการตัดสินใจอย่างเพียงพอ หลังเกิดแรงกดดันจากคนในสังคม รัฐบาลประกาศมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวออกมาอย่างต่อเนื่อง ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับร่วมกันคือ หนทางในการแก้วิกฤตินี้ต้องอาศัยการทำงานในระยะยาว และเครื่องมือที่สำคัญคือ ‘กฏหมาย’

ความสำเร็จของประเทศอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐอเมริกาในการควบคุมปริมาณ PM2.5 จนมีค่าเฉลี่ยทั้งประเทศต่อปีต่ำกว่า 10 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรได้ ไม่ได้เป็นเพราะเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือคนมีจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม แต่เพราะมีการออกแบบระบบกฏหมายอากาศมาอย่างยาวนานและพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ต่อยอดจากฐานทางกฏหมายที่เข้มแข็งนั้นต่อมาเรื่อยๆ เรื่องนี้สะท้อนว่า หากประเทศไทยเริ่มนับหนึ่งได้ไวและถูกทิศทาง ก็สามารถผ่านปัญหามลพิษทางอากาศได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือมุ่งแต่สร้างจิตสำนึกเพียงอย่างเดียว

และนี่คือกฏหมายสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนควรต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อให้เราสูดอากาศได้เต็มปอดอีกครั้ง

[แนวโน้มการลดลงของฝุ่น PM2.5 ในประเทศสหรัฐอเมริกา]

1.ค่ามาตรฐานจากแหล่งกำเนิด

ปัจจุบันเริ่มมีการเรียกร้องมากขึ้นเรื่อย ๆ ให้ประเทศไทย โดยกรมควบคุมมลพิษปรับลดค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM2.5 ในสิ่งแวดล้อมจากเดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้ลดลงเหลือ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพื่อสะท้อนพิษต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นจริงจากฝุ่นขนาดเล็ก และเป็นไปตามค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกและหลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม เราจะลดปริมาณ PM2.5 ในสิ่งแวดล้อมไม่ได้เลย หากไม่ควบคุมการปล่อยฝุ่นขนาดเล็กจากแหล่งกำเนิดมลพิษ จนตอนนี้ ประเทศไทยยังไม่เคยมีกฎหมายกำหนดค่ามาตรฐานการปลดปล่อย PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก (Emission standard) ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม หรือกระทั่งรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมยังถูกควบคุมด้วยค่ามาตรฐานของ ‘ฝุ่นละอองรวม’ ทั้งที่ความเป็นพิษของฝุ่นแต่ละขนาดมีไม่เท่ากัน และการตรวจวัดก็ไม่เหมือนกัน

ขณะที่ค่ามาตรฐานการระบายมลพิษจากยานพาหนะ ยังคงถูกควบคุมมาตรฐานในระดับ Euro4 ทั้งที่ในปัจจุบันมีการพัฒนาถึงขั้น Euro 5 และ 6 ซึ่งควบคุมมลพิษได้เข้มกว่าแล้ว จึงไม่แปลกที่หน่วยงานรัฐจะไม่เคยมีการควบคุมการปลดปล่อยฝุ่นขนาดเล็กจากแหล่งเหล่านั้นมาก่อน และแม้จะมีวิกฤติหนักอย่างในปัจจุบันแล้ว ก็ย้อนกลับไปตรวจสอบควบคุมแหล่งกำเนิดเหล่านั้นไม่ได้

แน่นอน เมื่อไม่มีค่ามาตรฐานตั้งแต่ต้น จะตรวจพบแหล่งกำเนิดที่ปล่อย PM2.5 เกินค่ามาตรฐานได้อย่างไร

[กราฟแสดงปริมาณการปล่อยมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะในแต่ละมาตรฐาน ภาพจากบทความ Environmental Analysis of Petrol, Diesel and Electric Passenger Cars in a Belgian Urban Setting (2016)]

 

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นจริงๆ ที่ประเทศไทยต้องมีค่ามาตรฐาน PM2.5 จากแหล่งกำเนิด ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีทางควบคุมคุณภาพของสิ่งแวดล้อมได้เลย

2. กฎหมายว่าด้วยทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ

เมื่อการแก้ปัญหา PM2.5 ที่แท้จริง คือ การจัดการที่แหล่งกำเนิดมลพิษ คำถามคือ ในตอนนี้เรารู้หรือไม่ว่ามีแหล่งกำเนิดมลพิษอยู่ตรงไหนบ้าง ปล่อย PM2.5 ในปริมาณเท่าใด และมลพิษที่ปล่อยออกมาไปตกที่พื้นที่ไหนหรือกระทบใครบ้าง คำถามเหล่านี้นำมาสู่มาตรการทางกฎหมายอันต่อมา คือ การจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) หรือในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า ทำเนียบการปล่อยมลพิษระดับประเทศ (National Emission Inventory)

PRTR คือ ระบบฐานข้อมูลที่บ่งบอกชนิด และปริมาณของมลพิษที่มีการปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ แหล่งน้ำ และดิน อีกทั้งระบุรายละเอียดของแหล่งกำเนิดมลพิษและประเภทกิจกรรม กฏหมาย PRTR มีจุดเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกาและถูกใช้เป็นต้นแบบใน 37 ประเทศทั่วโลก  การมีกฎหมายที่ชัดเจนนี้ทำให้มีการบังคับให้เจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษตามประเภทที่กฏหมายกำหนดต้องส่งรายงานชนิดและปริมาณมลพิษที่ปล่อย และหน่วยงานรัฐมีหน้าที่ต้องนำข้อมูลนั้นมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลและเปิดเผยต่อสาธารณะ

การบังคับใช้กฎหมายนี้ทั้ง 50 มลรัฐในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2530 ทำให้ลดมลพิษจาก 1,500 ตันในปี 2531 ให้เหลือเพียง 500 ตันในปี 2551

[ตัวอย่างการแสดงข้อมูลทำเนียบการปล่อยมลพิษของสหรัฐอเมริกาโดยสามารถเลือกประเภทของแหล่งกำเนิด หรือเมือง เพื่อดูปริมาณที่ปลดปล่อย PM2.5 ได้]

[ตัวอย่างการแสดงข้อมูล PRTR ของสหภาพยุโรป ซึ่งสามารถเลือกเจาะเฉพาะบางประเทศ บางประเภทของแหล่งกำเนิดมลพิษ หรือประเภทของมลพิษก็ได้]

 

นอกจากแหล่งกำเนิดอย่างโรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงไฟฟ้าแล้ว ประเทศไทยอาจนำกฏหมายนี้มาขยายไปสู่การจัดทำฐานข้อมูลการปล่อยมลพิษทางอากาศของรถยนต์ในถนน หรือตำแหน่งการเผาในที่โล่ง เพื่อทำให้เห็นภาพรวมการพัฒนาทั้งหมดว่าก่อมลพิษไปแล้วเพียงใด และพิจารณาได้ว่า ควรอนุมัติโครงการใดให้เข้ามาตั้งในพื้นที่เพิ่มเติมได้อีกหรือไม่ รวมทั้ง หากเกิดวิกฤติมลพิษขึ้นอย่างในปัจจุบัน จะเข้าไปควบคุมแหล่งกำเนิดตรงจุดไหนเป็นพิเศษ ส่วนประชาชนเองจะได้ตรวจสอบและเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเหล่านี้ได้มากขึ้น

3. กฏหมายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

เมื่อมีค่ามาตรฐานควบคุมการปลดปล่อย PM2.5 ที่แหล่งกำเนิด และรู้รายละเอียดแหล่งกำเนิดทั้งหมดจากกฏหมาย PRTR แล้ว สิ่งสำคัญต่อมา คือ การพิจารณาว่าแหล่งกำเนิดมลพิษใหม่จะสามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศหรือไม่ หรือควรเกิดขึ้นได้เมื่อไร เพียงใด อันนำมาสู่กฏหมายว่าด้วยการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment – EIA)

ที่ผ่านมา กฏหมายอีไอเอของเราถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าไม่สามารถป้องกันปัญหามลพิษที่เกิดจากโครงการต่างๆ ได้จริง จุดอ่อนหนึ่งที่สำคัญของระบบอีไอเอคือ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นรายโครงการ โดยไม่ดูว่าในบริเวณที่จะเริ่มโครงการนี้ มีแหล่งกำเนิดมลพิษใดที่อยู่มาก่อนแล้วหรือไม่ และการเข้ามาของโครงการใหม่จะก่อมลพิษเพิ่มเติมจนเกินกว่าศักยภาพของสิ่งแวดล้อมจะรองรับไว้ได้หรือไม่ (Carrying capacity)

กรณีนี้รวมถึงโครงการที่ก่อมลพิษด้วยตัวเอง เช่น โรงงาน และโครงการที่เข้ามาแล้วจะส่งผลกระทบทางอ้อม เช่น อาคารสูง คอนโดมีเนียม ปัญหานี้ทำให้แหล่งกำเนิดมลพิษทบทวีคูณไปเรื่อย ๆ จนเกิดวิกฤติหนักอย่างที่เราตั้งรับไม่ทัน

แม้ปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จะออกคู่มือแนวทางในการจัดทำอีไอเอโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่กำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบที่มีอยู่แล้วในพื้นที่รวมกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการใหม่ แต่นอกจากเนื้อหาคู่มือนี้จะมีปัญหาในทางวิชาการแล้ว การมีสถานะเป็นเพียงคู่มือ-ไม่ใช่กฏหมาย ทำให้ในทางปฏิบัติจึงพบรายงานอีไอเอของหลายโครงการที่ไม่ได้ศึกษาประเด็นดังกล่าว แต่ก็ผ่านความเห็นชอบจากสผ.อยู่ดี ปัญหานี้ยังไม่นับรวมเนื้อหาของคู่มือและการตรวจสอบรายงานของสผ.ที่ไม่เคยคำนึงถึงผลกระทบจาก PM2.5 มาก่อน

4. กฏหมายกำหนด ‘ระยะแนวกันชน’ ระหว่างแหล่งกำเนิดมลพิษกับแหล่งชุมชน (Buffer zone)

นอกจากแหล่งกำเนิด PM2.5 จะมีมากเกินกว่าธรรมชาติจะรองรับไหวแล้ว อีกหนึ่งปัญหาคือ มันอยู่ ‘ใกล้’ เราเกินไป เพราะสิ่งสำคัญที่เรายังขาด คือการนำหลักการคำนวนระยะแนวกันชนระหว่างแหล่งกำเนิดมลพิษกับสถานที่อยู่อาศัย (Buffer zone) มาเป็นฐานในการออกกฏหมายเพื่อควบคุมสถานที่ตั้งของแหล่งกำเนิดมลพิษ

ตัวอย่างเช่น กฎกระทรวงฉบับที่ 2 ออกตามพ.ร.บ.โรงงาน ห้ามไม่ให้โรงงานอุตสาหกรรมซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิด PM2.5 ที่สำคัญ ตั้งใกล้สาธารณสถานเช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ในระยะ 50 หรือ 100 เมตรเท่านั้น และไม่ได้มีหลักเกณฑ์กำหนดระยะห่างระหว่างโรงงานกับที่อยู่อาศัย

เรื่องนี้ แม้กฎกระทรวงจะเปิดช่องให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาเป็นกรณีตามความเหมาะสมได้ แต่ก็ไม่เคยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา จึงไม่แปลกที่เราได้เห็นภาพบ้านเรือนมีรั้วติดโรงงานอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่ นั่นหมายความว่าชุมชนต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางสุขภาพที่ไม่มีใครเต็มใจรับ

นี่ยังไม่นับรวมว่าเราไม่เคยมีกฎหมายควบคุมมลพิษจากริมฝั่งถนน (Near-road pollution) ที่ชัดเจนเพื่อควบคุมตำแหน่ง ขนาด และเส้นทางถนนที่จะไม่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในบริเวณนั้นมากเกินไป หรือหากติดชิดกันไปแล้ว จะกำหนดแนวกั้นระหว่างถนนกับโรงเรียนหรือโรงพยาบาลด้วยกำแพงหรือแนวต้นไม้สูงอย่างไร

หลักการจัดทำแนวระยะกันชนเช่นนี้ สามารถทำได้ในกฏหมายหลายฉบับ ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นกรอบการพิจารณาอนุมัติอนุญาตโครงการต่างๆ เช่น กฏหมายอีไอเอ กฏหมายลูกตามพ.ร.บ.โรงงาน กฏหมายผังเมืองในพื้นที่ต่างๆ หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นตามพ.ร.บ.สาธารณสุข และอาจกำหนดรายละเอียดวิธีการคำนวนระยะห่างในคู่มือของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ได้

การมีกฎหมายที่ชัดเจนจะทำให้ตำแหน่งแห่งที่ของโครงการต่างๆ อยู่บนฐานของการประเมินทิศทางและระยะทางที่มลพิษจะถูกปล่อยออกสู่คนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนอ่อนไหว เช่น เด็กนักเรียน ผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุ

แน่นอนว่า เมื่อคำนวนระยะกันชนที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อสุขภาพแล้ว บางโครงการอาจจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ส่งผลกระทบต่อคนในบริเวณนั้นจนเกินสมควร

5. กฏหมายส่งเสริมมาตรการทางเศรษฐศาสตร์

อีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญคือ การดึงหลักเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้เพื่อจัดการปัญหามลพิษ เช่นมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อม ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ การประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม การซื้อขายสิทธิในการปล่อยมลพิษ เพื่อเสริมกับมาตรการเชิงบังคับควบคุมที่ต้องใช้งบประมาณมากแต่ไม่เพียงพอในการจูงใจให้ผู้ก่อมลพิษเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้

ประเทศไทยเคยยกร่างพ.ร.บ.มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อมที่บรรจุมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ทั้งหมดเอาไว้มายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ออกมาเป็นกฎหมาย อย่างไรก็ตาม มีความพยายามนำมาตรการบางอย่างมาใส่ไว้ในกฏหมายที่มีอยู่แล้วบ้าง เช่น การประกันความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันบรรจุอยู่ในพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ แต่ร่างพ.ร.บ.โรงงานที่เคยใส่มาตรการนี้ไว้ในขั้นยกร่างกลับถูกตัดออกในชั้นกฤษฎีกา

การเกิดวิกฤติ PM2.5 รวมทั้งมลพิษทางอากาศอื่นๆ ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการนำร่างพ.ร.บ.มาตรการการคลังฯ กลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง เนื่องจากค่าใช้จ่ายทั้งหลายที่เกิดจากผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของคนในสังคม ทั้งค่าหน้ากาก ค่าเครื่องฟอกอากาศ ค่ารักษาพยาบาลให้ตัวเองและครอบครัว ค่าเสียโอกาสออกกำลังกายกลางแจ้ง ค่าเสียโอกาสที่เด็กขาดเรียน ค่าบั่นทอนกำลังในการทำงาน ฯลฯ ได้ถูกผลักภาระไปให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการฉีดน้ำ ก็ตกเป็นภาระของภาษีประชาชนอีก

ดังนั้น หากประเทศไทยมีระบบการจัดเก็บภาษีจากการปล่อยมลพิษ หรือระบบการประกันความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม เงินที่จะนำมาใช้เพื่อป้องกันเยียวยาชีวิตผู้คนจากฝุ่นพิษ (Adaptation) หรือ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการจัดการมลพิษที่แหล่งกำเนิด (Mitigation) (เช่น การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ หรือสร้างสถานีเติมไฟให้รถยนต์ไฟฟ้า) ก็สามารถดึงมาจากผู้ที่มีส่วนสำคัญในการก่อมลพิษได้โดยตรง

นอกจากนี้ ในกรณีของผู้ก่อมลพิษที่ยังมีข้อจำกัดในการปรับตัว โดยเฉพาะเกษตรกรที่เผาพื้นที่เพื่อเพาะปลูก มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ยิ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา ไม่จำกัดเฉพาะการบังคับและลงโทษเพียงอย่างเดียว เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถปรับแก้กฏระเบียบในการเบิกจ่ายเงินในกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร กลุ่มชุมชน หรือกระทั่งนักวิจัย ศึกษาวิธีการนำวัสดุที่มักจะถูกเผาจนก่อมลพิษมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งของใหม่ ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมและอาชีพใหม่ในชุมชนได้ ดังมีตัวอย่างในบางชุมชนแล้ว

อ้างอิง:

Fact Box

  • ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีงานศึกษาที่ทันสมัยและชี้ชัดได้ว่า PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเกิดจากแหล่งกำเนิดใด รายงานการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษที่ถูกใช้เป็นฐานในการยืนยันว่าฝุ่นมาจากดีเซลเป็นส่วนใหญ่นั้นยังมีจุดอ่อนอย่างมากในทางวิชาการ เนื่องจาก เป็นข้อมูลที่ได้มาจากการเก็บตัวอย่างฝุ่นเพียง 3 จุด คือ ดินแดง ตึกกรมควบคุมมลพิษ และตึกสถาบัน AIT แต่กรมควบคุมมลพิษกลับสรุปออกมาให้เป็นผลของทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล
  • เคยมีโครงการนำร่อง PRTR ในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อแก้ปัญหามลพิษอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐไทยและองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากเอกชนมากนัก อีกทั้งรายละเอียดการจัดทำไม่ได้เป็นไปตามหลักสากลของ PRTR
  • ปัจจุบัน สผ.พัฒนาระบบการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment) เพื่อแก้ไขจุดอ่อนของอีไอเอ แต่ยังมีความท้าทายว่าจะนำมาปรับใช้คู่กับอีไอเออย่างไร และจะแก้ปัญหาเดิมของอีไอเอได้จริงหรือไม่
  • เคยมีงานวิจัยว่าด้วยการคำนวนระยะแนวกันชนระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชน ซึ่งจัดทำขึ้นโดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ และคณะ ภายใต้โครงการของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2560 แต่ยังไม่แน่ชัดว่าได้ถูกผลักดันออกมาเป็นคู่มือ หรือมาตรการทางกฏหมายแล้วหรือไม่
  • งานวิจัยไทบ้านเกษตรพันธสัญญา โดยไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ในปี 2554 พบว่า การเผาไร่อ้อยในพื้นที่ดงมูล อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์เกิดจากผู้ที่ได้รับโควต้ารายใหญ่ในการส่งอ้อยไปยังโรงงานน้ำตาลจ้างวานให้คนไปลักลอบเผาอ้อยในแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรที่ปลูกอ้อยเสรี (ไม่ได้อยู่ในระบบโควต้า) เพื่อบีบให้เกษตรกรต้องขายอ้อยในราคาถูก เนื่องจากอ้อยเมื่อถูกเผา น้ำหนักจะลดลงอย่างรวดเร็ว และหากไม่ขายภายใน 15 วัน ก็จะขายไม่ได้ การปลูกอ้อยภายใต้ระบบโควต้าจึงเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในชนบทของภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน