“ตอนนี้เกย์ฝรั่งเศสฮิตอ่านอะไรกัน?” คือคำถามที่ฉันถามพนักงานขายที่ เลส์ โมส์ อา ลา บูช (Les Mots à la bouche) แปลว่า ‘คำที่ติดอยู่ที่ปาก (ที่ต้องพูดออกมา)’ ซึ่งเป็นร้านหนังสือธีม LGBTQ ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในประเทศฝรั่งเศสที่อยู่คู่กับย่านเลอ มาเรส์ (Le Marais) ย่านเกย์ที่ใหญ่ที่สุดในปารีสมากว่า 36 ปีแล้ว เล่มแรกที่พนักงานเดินไปหยิบให้ อย่างไม่มีท่าทีจะลังเลเลยคือ En finir avec Eddy Bellegueule (The End of Eddy) นวนิยายกึ่งอัตชีวิตประวัติของ เอดูอาร์ด หลุยส์ (Édouard Louis) ที่บอกเล่าเรื่องราวความทรงวัยเด็กของเขา ด้วยภาษาที่ทั้งดิบ เถื่อน และท้าทายเส้นแบ่งของความเป็นวรรณกรรมกับหนังสือโป๊ งานชิ้นนี้ได้ถูกนำไปดัดแปลงเป็นบทละครเวทีและเคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Marvin ou la belle éducation หรือ Reinventing Marvin ด้วย
เมื่อความรุนแรงแทนที่ความสุขในของความทรงจำ
Bellegeule ตัวละครเอกที่เกิดและโตในครอบครัวที่ยากจน เขามีปัญหากับครอบครัวโดยเฉพาะกับพ่อ ที่มีลักษณะที่ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า ‘un dur’ ซึ่งนักเขียนเคยอธิบายไว้ว่าเป็นผู้ชายรู้สึกว่าตัวเองเป็นใหญ่ที่สุด เจ๋งที่สุด พูดจาห้วนๆ กินเหล้า หาเรื่องชกต่อย ชอบพูดเรื่องผู้หญิง รวมถึงทำลายเมียตัวเอง ฯลฯ และแน่นอนว่าผู้ชายลักษณะนี้ย่อมไม่มีทางที่จะเปิดใจยอมรับความหลากหลายทางเพศแม้ว่าจะเป็นลูกชายของเขาเองก็ตาม รวมถึงแม่ที่ชอบตำหนิพฤติกรรมท่าทางตุ้งติ้งและจริตจะก้านของความเป็นตุ๊ดเด็กของ Bellegueule และสาเหตุที่ทำให้เรื่องการยอมรับจากพ่อแม่มันยากขึ้นไปอีกคือฐานะของครอบครัวที่สุดแสนจะยากจน บ้านที่สภาพผุพัง ฐานะทางการเงินที่บางวันไม่มีแม้กระทั่งค่ากับข้าวจนต้องไปติดเงินร้านขายของชำเอาไว้ ซึ่งแทนที่ Bellegeule จะโตมาเป็นผู้ชายและทำมาหาเลี้ยงครอบครัวได้ อาจกลับกลายเป็นภาระหากพ่อแม่ของเขาจะปล่อยให้เขาเป็นตุ๊ดที่มองไม่เห็นอนาคต
เพื่อที่จะเป็นลูกที่ไม่สร้างปัญหาให้พ่อแม่ เขาจึงทำทุกอย่างเพื่อที่จะ ‘ไม่เป็น’ หรือ ‘หาย’ จากสิ่งที่พ่อแม่กังวัล ไม่ว่าจะเป็นเตะฟุตบอล กินเหล้า คบหากลุ่มแก๊งเด็กผู้ชายเกเร หรือพยายามคบและมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง แต่เขาก็ต้องพ่ายแพ้ต่อแรงขับที่เกิดขึ้นในจิตใจ ตอนหนึ่งเขาเคยบอกว่า “ฉันถูกครอบงำโดยจริตจะก้านการออกสาวแบบนั้น ฉันไม่ได้เลือกเสียงแหลมๆ นี้ ไม่ได้เลือกที่บิดตูดซ้ายขวาตอนเดิน” มันคือพลังงานบางอย่างที่กำกับเขาไว้ไม่ไหวเขาเป็นไปในแบบที่พ่อแม่ต้องการได้ จนสุดท้ายเขาก็รู้ตัวว่าเขาปฏิเสธตัวตนของตัวเองไม่ได้ แม้ว่าจะต้องทำเพื่อครอบครัว เขาก็ทำไม่ได้ เขาจึงไม่เคยถูกผนวกเขาไปส่วนหนึ่งของครอบครัว
พ่อไม่เคยแสดงความรัก แม่ไม่เคยแสดงความห่วงใย ไม่เคยมีความผูกพันธ์กับพี่น้อง ในท่ามกลางช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตในวิกฤติความเป็นวัยรุ่นที่อาจจะต้องการที่พึ่งมากที่สุด กลับเป็นช่วงที่ตัวละครรู้สึกโดดเดี่ยวมากที่สุด คนที่ควรจะอยู่ใกล้ที่สุด กลับอยู่ห่างไกล เพียงเพราะเพศวิถีของเขาไม่เป็นไปตามอุดมคติสังคม วัยที่ต้องการคำปรึกษากลับพบเจอแต่คำด่าทอและคำดูถูก ความรุนแรงในเชิงโครงสร้างนี้ ฉันเองก็ประสบพบเจอมาเช่นกัน แม้ว่าเราจะอยู่คนละฝั่งโลก แต่มันคือปัญหาเรื่องเดียวกัน และรับประกันได้ว่ามันสาหัสสากรรจ์เลยทีเดียวกับการรู้สึกแปลกแยกแม้กระทั่งกับคนที่รักมากที่สุด
สิ่งเดียวที่ทำให้ Bellegueule พอจะมีความภูมิใจในชีวิตเขาอยู่บ้างคือความสามารถด้านการแสดง เป็นที่รู้กันของครูและเพื่อนๆ ในโรงเรียนว่าเขาโดดเด่นเรื่องนี้มากจนใช้ความสามารถนี้สอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในเมืองใหญ่ได้ และแม้ว่าปัจจัยเรื่องทุนทรัพย์หรือความปรารถนาของพ่อแม่ที่อยากจะให้ออกมาทำงานเลยจะเป็นอุปสรรค แต่ในตอนท้ายเรื่องฉากที่ดูเหมือนจะทำให้เรายิ้มได้คือพ่อได้รับจดหมายตอบรับเข้าศึกษาจากมหาวิทยาลัย แต่ซ่อนไม่ให้ Bellegueule รู้เพราะหวังว่าจะเซอร์ไพรส์
นั่นคือหนึ่งเพียงไม่กี่ตอนที่พ่อแสดงอารมณ์ความรู้สึกกับเขา แต่กลับกัน ความรู้สึกของ Bellegueule คือ “ฉันไม่อยากอยู่ข้างๆ พวกเขา(พ่อและแม่) เพื่อแชร์ช่วงเวลาดีดีๆนี้ เราห่างกัน และจากนี้ไปก็จะไม่ก็อยู่ในโลกของพวกเขาอีกแล้ว (…) ฉันใช้เวลาตลอดทั้งคืนไปกับความยินดีที่จะมีชีวิตใหม่ที่ห่างไกลจากที่นี่” ซึ่งกลายเป็นว่าเรื่องไม่ได้จบแบบซาบซึ้งที่พ่อแม่ยอมรับในตัวลูกและกลายเป็นครอบครัวที่อบอุ่นตามที่เราอาจจะคาดหวังไว้
ในทางตรงข้ามหัวใจของ Bellegueule กลับชินชากับความรุนแรงจนไม่สามารถสัมผัสกับความสวยงามของความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวอีกต่อไปแล้ว เหมือนกับประโยคแรกของหนังสือ “ตั้งแต่วัยเด็ก ฉันไม่เคยมีความทรงจำที่มีความสุขเลย” คำถามคือหัวใจของเราในฐานะมนุษย์สมควรที่จะเคยชินกับความรุนแรงหรือไม่? เรายังจะต้องทนกับมันไปอีกถึงเมื่อไหร่ และจะต้องมีเหยื่อความรุนแรงในเชิงโครงสร้างนี้จากการผลิตซ้ำอคติทางเพศนี้ไปอีกจำนวนเท่าไหร่? ประสบการณ์ความรู้สึกนี้จะต้องเกิดขึ้นกับคนอีกกี่รุ่น? และแน่นอนว่าไม่ใช่เพียงความรุนแรงในเชิงโครงสร้างเพียงอย่างเดียวที่หนังสือเล่มนี้พูดถึง แต่ยังมีความรุนแรงทางกายภาพที่สังคมโฮโมโฟเบียกระทำต่อปัจเจกบุคคลด้วย
ความอุจาดกับอำนาจและแฟนตาซีทางเพศ
หนังสือเปิดมาเรื่องมาด้วยฉากที่ Bellegueule ถูกแกล้งโดยเด็กผู้ชายสองคนที่เป็นลูกพี่ลูกน้องของเขา ‘อีตุ๊ด’ ‘กะหรี่’ เป็นคำที่พวกเขาใช้เรียก Bellegueule แต่มันไม่ใช่การแกล้งในลักษณะของเด็กที่เล่นกันทั่วไป Bellegueule ถูกจับตัว ชกเข้าที่ท้องน้อยของเขา และถุยเสลดที่มีลักษณะ “เหลือง หนา เหมือนเสลดก้อนหนาที่ติดในลำคอของคนแก่หรือคนป่วย กลิ่นแรงและชวนคลื่นไส้ “ดูสิ! เต็มปากไอ้กระหรี่นี่เลย” เสลดไหลจากลูกตาจนไปถึงริมฝีปาก และเข้าไปในปาก”
เรียกได้ว่าชีวิตในวัยเด็กไม่ต้องพูดถึงการแสวงหาความสุข ขอเพียงหนทางที่จะมีชีวิตรอดจากความรุนแรงนี้ก็เพียงพอ ฉากเปิดเรื่องนี้อาจดึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่านไปในทางสงสารที่ตัวละครเอกต้องเผชิญกับความรุนแรงเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้ แต่คนอ่านจะต้องผงะอีกครั้งเมื่ออ่านไปถึงเกือบท้ายเรื่อง ในตอนที่ Bellegueule เหมือนกึ่งๆ ถูกบังคับโดยพี่สาวของเขาให้มีอะไรกับเพื่อนสาวของเธอโดยสร้างสถานการณ์ให้ทั้งคู่อยู่ด้วยกัน เด็กผู้หญิงพยายามจะเปิดฉากเกมรักจนกระทั่งไปถึงจุดที่ทั้งคู่ต้องปฏิสัมพันธ์กันอย่างแบบเนื้อแนบเนื้อ
“เธอลูบไล้อวัยวะเพศฉันที่ยังคงนอนนิ่ง ฉันไม่มีอารมณ์ พยายามคิดถึงอย่างอื่นที่ทำให้มันแข็งตัวขึ้น (…) ฉันจินตนาการว่ามันคือร่างของผู้ชายที่อยู่บนตัวฉัน ร่างกายของผู้ชายสามสี่คนที่กล้ามเนื้อแน่นๆ เป็นมัด เถื่อนๆ สีไปมากับตัวฉัน พวกเขาตรึงแขนของฉันไว้ไม่ให้ขยับ สอดใส่อวัยวะเพศของเขามาในร่างของฉัน ทีละคน มือของพวกเขาปิดปากฉันไว้ไม่ให้ส่งเสียงดัง (…) ฉันจินตนาการถึงเด็กผู้ชายสองคนนั้นว่าเขาบังคับให้ฉันจับอวัยวะเพศของพวกเขา ด้วยมือ ริมฝีปาก และลิ้น ฉันมโนว่าพวกเขาถ่มเสลดใส่หน้าฉัน และด่าฉันว่า ‘อีกะเทย’ ‘อีตุ๊ด’ ในขณะที่เขาใส่อวัยวะเพศมาในปากของฉัน ไม่ใช่ครั้งละอัน แต่ทั้งสองอันในครั้งเดียวกัน ฉันหายใจไม่ออกและอ๊อกจนเกือบจะอาเจียน”
มาถึงจุดนี้ผู้อ่านต้องทำความเข้าใจต่ออารมณ์ความรู้สึกสงสารตัวละครเอกทั้งหมด เพราะมันกำลังจะบอกกับเราว่าความรุนแรงหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นความอุจาดที่เกิดขึ้นในบางฉากบางตอนของเรื่องกลับกลายเป็นแฟนตาซีทางเพศของ Bellegueule เขาเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจจากผู้ถูกเอาเปรียบกลายเป็นผู้ได้ประโยชน์ เด็กผู้ชายสองคนนั้นกลายเป็นเครื่องสนองตัณหาแฟนตาซีของเขาเท่านั้น การถูกกระทำจึงถูกเปลี่ยนเป็นอำนาจที่จะท้าทายต่อสังคมเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งขณะเดียวกันยิ่งชวนให้สะเทือนใจ และในทางวรรณกรรม ตัวบทก็กำลังเล่นอยู่กับเส้นแบ่งของวรรณกรรมกับหนังสือโป๊ในเวลาเดียวกัน แน่นอนว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ไม่ได้หมายความเกย์ทุกคนจะชื่นชอบความรุนแรง หรือเราสมควรที่จะได้รับความรุนแรง และไม่มีใครสมควรจได้รับความรุนแรงไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม
ฉัน ในฐานะผู้อ่านก็ยังอดจะเชื่อมโยงตัวเองกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้ มากหรือน้อย ประสบการณ์ต่อความรุนแรงที่คนรักเพศเดียวกันได้รับมักจะมีจุดร่วมกันไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นในมุมไหนของโลก
และนี่คือความทรงจำต่อหนังสือเล่มล่าสุดที่ได้มาจาก เลส์ โม อา ลา บูช ที่มีข่าวแว่วมากำลังจะย้ายจากที่ตั้งเดิมในเลอ มาเรส์ เนื่องจากสู้ค่าเช่าที่ราคาขึ้นมากกว่าสามเท่าตัวไม่ไหว ร้านหนังสือธีม LGBTQ ที่รวมต่อสู้เคียงบ่าเคียงใหล่กับคนรักเพศเดียวกันในปารีสกำลังจะถูกแทนที่ด้วยร้านรองเท้าสัญชาติอังกฤษ Dr. Martens และจวบจนตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าร้านหนังสือในตำนานนี้จะถูกย้ายไปอยู่ที่ไหน