เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นวันเกิดครบรอบ 83 ปี ของพระสันตะปาปาฟรานซิสแล้ว ยังถือว่าเป็นวันที่พระสันตะปาปาฟรานซิสออกประกาศยกเลิกกฎการรักษาความลับของศาสนจักร (Pontifical secrecy) สำหรับกรณีการล่วงละเมิดทางเพศโดยบาทหลวง ซึ่งครอบคลุมเหยื่อที่เป็นผู้เยาว์ ผู้ที่บอบบาง และผู้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบาทหลวง และยังออกประกาศแก้ไขกฎเกณฑ์ว่าด้วยการกระทำผิดที่ร้ายแรง (Normae de gravioribus delictis – Norms Concerning the Most Serious Crimes) โดยแก้ไขให้ “การถือครองหรือการเผยแพร่ภาพลามกอนาจารผู้เยาว์” จากเดิมที่จำกัดไว้แค่เยาวชนที่มี ‘อายุต่ำกว่า 14 ปี’ เป็นเยาวชนที่มี ‘อายุต่ำกว่า 18 ปี’
ทั้งนี้ การยกเลิกกฎการรักษาความลับสำหรับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดโดยบาทหลวง ช่วยให้เหยื่อการล่วงละเมิดสามารถติดตามขั้นตอนการพิจารณา และรับทราบเกี่ยวกับกระบวนการไต่สวนที่มีขึ้นภายในศาสนจักร
ขณะเดียวกัน ยังเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับคดีการล่วงละเมิด สามารถเข้ามาขอข้อมูลหรือเอกสารสำคัญสำหรับการสอบสวนจากสังฆมณฑล (Diocesis – เขตปกครองของบิชอบ ซึ่งคล้ายๆ กับเขตที่เป็นหน่วยการปกครอง) โดยศาสนจักร/วาติกันจะไม่ขัดขวาง คัดค้าน หรือต่อต้านใดๆ
แบร์นาร์ด กาล์บาท์ (Bernard Callebat) ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายศาสนจักรจากมหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งตูลูส (Institut catholique de Toulouse) ในฝรั่งเศส มองว่า “การกำหนดให้ยกเลิกการรักษาความลับ (สำหรับกรณีการล่วงละเมิดทางเพศโดยบาทหลวง) เป็นการตัดสินใจที่สำคัญในประวัติศาสตร์ (ของศาสนจักรคาทอลิก)” เพราะการยกเลิกสถานะข้อมูล ‘Top Secret’ สำหรับกรณีการล่วงละเมิดทางเพศโดยพระสงฆ์นี้ ถูกใช้เพื่ออำพรางและทำลายหลักฐานเกี่ยวข้องกับคดีการล่วงละเมิด
กฎ ‘Pontifical secrecy’ นั้นเปรียบเสมือน ‘กำแพง’ ที่ปกป้องเรื่องละเอียดอ่อนของศาสนจักร ซึ่งถ้าหากมีการรั่วไหลออกไปแล้ว เรื่องดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการของศาสนจักรได้ แต่ทว่ากฎดังกล่าวกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่หล่อหลอมวัฒนธรรมความลับ (Culture of secret) ในศาสนจักร วัฒนธรรมที่ยึดหลักว่า ‘ความในอย่านำออก’
ปฏิรูปศาสนจักร ภารกิจสำคัญของโป๊ปฟรานซิส
ก่อนหน้าที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจะได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาในเดือนมีนาคม 2013 ศาสนจักรคาทอลิกเผชิญกับข้อครหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคอร์รัปชั่นและการฟอกเงิน ถึงแม้ว่าศาสนจักรจะปฏิรูปและปรับเปลี่ยนการบริหารงานภายในเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ก็ยังคงเจอมรสุมรุมเร้าที่ทำให้ศาสนจักรคาทอลิกต้องสั่นคลอน
ทันทีที่ดำรงตำแหน่งเป็นพระสันตะปาปา การปฏิรูปศาสนจักรเป็นภารกิจอันดับหนึ่ง เพียงหนึ่งเดือนหลังจากการเลือกตั้ง พระสันตะปาปาฟรานซิสก็ประกาศจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา (Council of Cardinals) ซึ่งประกอบด้วยคาร์ดินัล 9 คน จากทวีปต่างๆ เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับพระสันตะปาปาฟรานซิส
“ในงานบริหารศาสนจักรสากล และศึกษาธรรมนูญ Pastor Bonus (ของพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2) ซึ่งว่าด้วยการปฏิรูปการดำเนินงานของโรมันคูเรีย (Roman Curia – เทียบได้กับรัฐบาลกลางของวาติกัน)”
นอกจากนี้ พระสันตะปาปาฟรานซิสยังแต่งตั้งคณะกรรมการสำหรับตรวจสอบการทำงานของ Institute for Works of Religion หรือที่เรียกกันว่า ธนาคารวาติกัน และตั้งคณะกรรมการสำหรับศึกษาโครงสร้างการบริหารและการเงินของวาติกัน (COSEA)
เหตุผลสำคัญที่พระสันตะปาปาฟรานซิสต้องการปฏิรูป มาจากระบบการบริหารงานของโรมันคูเรียที่ขาดประสิทธิภาพและความโปร่งใส เอกสารลับที่รั่วไหลจากวาติกัน (กรณี ‘Vatileaks’) ในปี 2012 เผยให้เห็นถึงการต่อสู้เพื่อแสวงหาอำนาจ และการใช้เงินบริจาคที่ไม่ตรงจุดประสงค์ของบาทหลวงชั้นผู้ใหญ่บางคน (Prelate)
โดยแนวทางหลักสำหรับการ ‘ทำความสะอาด’ ศาสนจักรของพระสันตะปาปาฟรันซิสประกอบด้วย
1) การปรับปรุงให้ระบบการทำงานมีประสิทธิภาพและความโปร่งใสมากขึ้น
2) การมอบหมายผู้เชี่ยวชาญภายนอกให้เข้ามามีบทบาทในงานบริหาร ปรับปรุง และตรวจสอบ
3) การกระจายอำนาจโรมันคูเรียสู่ศาสนจักรท้องถิ่น
การเปลี่ยนแปลงในวาติกันเริ่มเกิดขึ้น ในเดือนพฤศจิกายน 2013 คณะกรรมการจาก COSEA ได้ให้บริษัท Ernst & Young บริษัทตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ของโลก เข้ามาตรวจสอบบัญชีและกิจกรรมทางการเงินของวาติกัน และในอีกหนึ่งเดือนถัดมา บริษัท KPMG หนึ่งบริษัทตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ของโลก (คู่แข่งสำคัญของ Ernst & Young) และบริษัท Mckinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจชั้นนำระดับโลกได้รับมอบหมายให้เข้ามาปรับปรุงระบบงานบัญชีและการสื่อสารของวาติกันให้เข้ากับยุคสมัย
ขณะที่การปฏิรูปด้านการบริหาร-การเงินของวาติกันเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่าง แต่เรื่องการกระจายอำนาจจากโรมสู่ศาสนจักรท้องถิ่นยังอยู่ในขั้นตอนการหาแนวทาง ซึ่งพระสันตะปาปาฟรานซิสเห็นว่า ศาสนจักรคาทอลิกรวมศูนย์อำนาจเกินไป
สำหรับพระสันตะปาปาฟรานซิสแล้ว การตัดสินใจต่างๆ ในศาสนจักร เช่นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับหลักความเชื่อทางศาสนา ไม่จำเป็นต้องผ่านโรม หรือไม่จำเป็นต้อง “รอคำตอบที่สมบูรณ์จากหน่วยงานของพระสันตะปาปา (Papal magisterium) เกี่ยวกับเรื่องทุกเรื่องในศาสนจักรและโลก” ด้วยเหตุผลที่ว่าปัญหาและการแก้ไขในแต่ละพื้นที่หรือประเทศนั้นอาจแตกต่างกัน
ความท้าทายของการปฏิรูปคือ การที่จะต้องทำงานกับบาทหลวงชั้นผู้ใหญ่ในโรมันคูเรียที่คัดค้านการปฏิรูป เพราะเป็นเรื่องยากที่จะหาผู้บริหารระดับสูงซึ่งสนับสนุนให้หน่วยงานตัวเองถูกลดอำนาจ หรือถูกยุบเพื่อควบรวมกับหน่วยงานอื่น
หลังจากพระสันตะปาปาฟรานซิสเข้ามา ‘ปัดกวาดเช็ดถู’ ศาสนจักรคาทอลิกเพียงหนึ่งปีกว่า
พระสันตะปาปาฟรานซิสก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับพฤติกรรมของบาทหลวงชั้นผู้ใหญ่ในโรมันคูเรีย ขณะกล่าวอวยพรคริสต์มาสแก่พระผู้ใหญ่ที่ทำงานอยู่ในโรมันคูเรียในปลายปี 2014 พระสันตะปาปาฟรานซิสเปรียบเทียบโรมันคูเรียว่าเป็น ‘ร่างกายที่ซับซ้อน’ และกำลังถูกคุกคามด้วยโรค ‘15 โรค’ ซึ่งมีทั้ง ‘โรคอัลไซเมอร์ทางจิตวิญญาณ’ ที่ส่งผลให้ลืมหลักคำสอน “โรคที่ชอบสะสมของใช้ […] โดยหารู้ไม่ว่าผ้าห่อศพไม่มีกระเป๋าใส่ของ” หรือแม้กระทั่ง “โรคจิตเรื้อรัง […] ที่ทำให้ผู้ป่วยได้สร้างโลกคู่ขนาน โดยจะเทศน์สอนคนอื่นอย่างหนัก แต่กลับใช้ชีวิตอย่างลับๆ ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการใช้ชีวิตอย่างเสเพล”
การล่วงละเมิดทางเพศในศาสนจักร
เรื่องราวการละเมิดทางเพศในเด็กโดยบาทหลวงมากมายในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ชิลี สหรัฐฯ เยอรมนี และในอีกหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเคยถูกปกปิดไว้ในอดีต เริ่มเป็นที่รับรู้ในสังคมอย่างกว้างขวาง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 2018 จนกลายเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการการแก้ไข พระสันตะปาปาฟรานซิสออกมาประกาศจุดยืนว่า ศาสนจักรจะไม่ยอมต่อเรื่องการละเมิดทางเพศ และออกนโยบาย ‘Zero-Tolerance’ โดยศาสนจักรจะดำเนินการกับบาทหลวงหรือพระชั้นผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศทั้งทางตรงและทางอ้อม
นอกจากนี้ พระสันตะปาปาฟรานซิสยังออกมายอมรับการกระทำผิดของบาทหลวงบางคน และรับรู้ถึงความล้มเหลวของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในศาสนจักร (Ecclesial authority) ที่ไม่สามารถจัดการต่อกรณีการล่วงละเมิดได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม
พระสันตะปาปาฟรานซิสออกประกาศขอร้องให้ทุกคนและทุกชาติทั่วโลกร่วมมือกันเพื่อแก้ไขและป้องกันเหตุการณ์การล่วงละเมิดโดยบาทหลวง โดยระบุว่า เรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ลดคุณค่าหรือมองคุณค่าของบุคคลทั่วไป/ฆราวาสต่ำเกินความเป็นจริง (พูดในเชิงเทคนิคคือ “ลดคุณค่าของพระหรรษทานที่คริสตชนได้รับในพิธีศีลจุ่ม”) หรือที่พระสันตะปาปาฟรานซิสเรียกว่า ‘Clericalism’
โดย ‘Clericalism’ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการล่วงละเมิด ซึ่ง ‘Clericalism’ นั้นเป็นทัศนคติที่บาทหลวงและ/หรือฆราวาสต่างยึดถือว่า บาทหลวงเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นปราชญ์ที่พูดถูกต้องเสมอและรู้ดีที่สุด มีศักดิ์และ ‘อำนาจ’ เหนือกว่าฆราวาส ด้วยเหตุว่าบาทหลวงเป็นบุคคลที่รับผิดชอบ ‘หน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์’ ผู้จัดการพิธีศีลต่างๆ (Sacraments) ทั้งนี้ ปัญหาจาก ‘Clericalism’ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการใช้อำนาจโดยมิชอบ และการแสวงหาผลประโยชน์จากความรู้สึกผิดชอบของผู้ศรัทธา (Abuse of Consience)
กรณีการล่วงละเมิดทางเพศนับว่าเป็นปมปัญหาที่สร้างความยากลำบากในการปฏิรูปศาสนจักรของพระสันตะปาปาฟรานซิสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สมาชิก Council of Cardinals สองคน ซึ่งได้แก่ คาร์ดินัลฟรานซิสโก ซาวิเอ้ เอราซูอิซ (Francisco Javier Errazuriz) และคาร์ดินัลจอร์จ เพล (George Pell) ที่ต่างมอบหมายเป็นที่ปรึกษาสันตะปาปาฟรานซิสในการปฏิรูปโรมันคูเรีย ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีการล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ ซึ่งสันตะปาปาฟรานซิสได้ให้ทั้งสองหยุดทำหน้าที่ในคณะที่ปรึกษาหลังจากที่ทำหน้าที่มาแล้วกว่า 5 ปี
เรื่องราวการละเมิดทางเพศในศาสนจักรได้เน้นย้ำความสำคัญของการปฏิรูปศาสนจักร ซึ่งไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การปฏิรูปในเชิงโครงสร้างบริหารและการจัดการเท่านั้น แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงการปรับทัศนคติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองที่เห็นว่า “บาทหลวงมีสถานะเหนือกว่าและแยกจากคนทั่วไป” “บาทหลวงรู้ดีที่สุด” และการเป็นคริสตชนที่ดี จำเป็นต้องเชื่อฟังบาทหลวงอย่างสนิทใจ โดยไม่ตั้งคำถามใดๆ ราวกับว่าเป็นเด็กที่ “ว่านอนสอนง่าย” และ “เชื่อฟังผู้ใหญ่” ซึ่ง “ฆราวาสเป็นเพียงแค่คนทำตามคำสั่ง” ของบิชอบและบาทหลวง
อันที่จริง การปฏิรูปศาสนจักรมีให้เห็นอยู่โดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นสมัยพระสันตะปาปาปอลที่ 6 หรือในสมัยพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ซึ่งพระสันตะปาปาฟรานซิสเป็นเพียงผู้รับหน้าที่ในการปฏิรูปต่อ โดยหลายอย่างที่พระสันตะปาปาฟรานซิสทำระหว่างการปฏิรูปเป็นการนำสิ่งที่ได้เขียนไว้ในการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 มาปฏิบัติใช้จริง เช่น การนำเสนอความหลากหลายในศาสนจักรผ่านการแต่งตั้งสมาชิก Council of Cardinals ที่ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่คาร์ดินัลจากประเทศในทวีปตะวันตกเพียงอย่างเดียว หรือความพยายามที่จะกระจายอำนาจสู่ศาสนจักรท้องถิ่นโดยเพิ่มความสำคัญของการประชุมของบิชอบ/สภาบิชอบ (Episcopal conference)
แม้ว่ารายการในการปฏิรูปยังมีอีกมากและมาพร้อมกับแรงต้านมากมาย พระสันตะปาปาฟรานซิสก็ยังคงเดินหน้าปรับศาสนจักรให้เป็นศาสนจักรที่น่าเชื่อถือ ก้าวทันโลกปัจจุบัน และเหมือนกับที่คาร์ดินัลคาร์โล มาร์ตินี (Carlo Martini) เคยกล่าวไว้ “Church is 200 years behind the times!” ด้วยเหตุนี้ศาสนจักรโรมันคาทอลิกจำจึงเป็นต้องได้รับการปฏิรูปอย่างจริงจัง และ “Ecclesia semper reformada (ศาสนจักรต้องได้รับการปฏิรูปอยู่เสมอ)”
และสำหรับพระสันตะปาปาฟรานซิสแล้ว “การทำการปฏิรูปในโรม[วาติกัน]ก็เหมือนกับการทำความสะอาดสฟิงซ์แห่งอียิปต์ด้วยแปรงสีฟันอันเดียว” ฉะนั้น เมื่อเริ่มลงมือขัดถูแล้ว ก็ต้องใจเย็นๆ และอดทน
อ้างอิง
- Vatican II : Lumen Gentium 10, 13
- Pope Francis : Evangelii gaudium 16
- Pope Francis (2013): Chirograph by which a Council of Cardinals is established
- Pope Francis (2014): Christmas Greetings to the Roman Curia
- La Croix : Le pape François réfléchit à une Église plus décentralisée
- La Croix : La réforme de la Curie se heurte à des résistances
- Pope Francis (2016): Letter to Cardinal Marc Ouellet
- Conference at Centre Sèvres (2018): Eglise, du scandale à la réforme
- Christoph Theobald : Vers une Eglise hospitalière
- ย้อนรอยปัญหาการละเมิดทางเพศโดยบาทหลวง
- คนรุ่นใหม่ไม่นับถือศาสนา: อนาคตและความหวังของศาสนจักรโรมันคาทอลิกภายใต้มรสุม
Fact Box
Pontifical secrecy มีไว้เพื่อปกป้องข้อมูลละเอียดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของศาสนจักร เช่น ข้อมูลทางการทูต เป็นต้น ทั้งนี้ข้อมูลที่อยู่ภายใต้ Pontifical secrecy นี้มีระดับชั้นความลับที่เปรียบเสมือนเป็น Top Secret และมีผลต่อความมั่นคง