ปัจจุบันศาสนจักรโรมันคาทอลิกกำลังเผชิญกับมรสุมครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นก็คือ ปัญหาการละเมิดทางเพศโดยบาทหลวง แม้ว่าผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจำนวนมากเป็นเด็ก แต่ยังมีผู้ที่บรรลุนิติภาวะชาย-หญิงอีกหลายคนที่ต่างก็ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศดังกล่าวช ไม่ว่าจะเป็นแม่ชี หรือ Seminarist (นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ เพื่อเตรียมบวชเป็นบาทหลวง) เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้กระทำผิดกลับเป็นบาทหลวงชั้นผู้ใหญ่ที่ผู้ศรัทธาให้ความเคารพเชิดชูเสียเอง โดยกรณีที่อื้อฉาวมากที่สุด ก็หนีไม่พ้นกรณีของธีโอดอร์ อี. แมคแคร์ริค (Theodore E. McCarrick) อดีตอัครสังฆราช (Ex-Archbishop) แห่งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และอดีตคาร์ดินัล (Ex-Cardinal) ปัจจุบันมีอายุ 88 ปี โดยอดีตคาร์ดินัลแมคแคร์ริค ถูกศาลวาติกันตัดสินว่ามีความผิด จากการล่วงละเมิดทางเพศและใช้อำนาจโดยมิชอบ เคยล่วงละเมิดเยาวชนชายในปี ค.ศ. 1971

นอกจากนี้ สมัยที่แมคแคร์ริคยังมีตำแหน่งเป็นสังฆราช “เขาได้เชิญ Seminarist ไปบ้านพักฤดูร้อน ติดชายทะเล และร่วมหลับนอนกับเขา” รวมถึง “ชักชวนให้เรียกเขาว่า ลุง Ted” ซึ่งแน่นอนว่า (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยก่อน) เมื่อสังฆราชกล่าวเช่นนี้ เป็นไปได้ยากที่จะมี Seminarist คนไหนกล้าปฏิเสธ เพราะจะกลายเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา

เรื่องราวของแมคแคร์ริคได้สร้างความสะเทือนใจและผิดหวังในหมู่คริสตชน นิกายโรมันคาทอลิกในสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก เนื่องจากแมคแคร์ริคมีบทเทศน์ที่เฉียบคม พร้อมกับส่งเสริมความยุติธรรมในสังคมอเมริกันอย่างชัดเจนอยู่เรื่อยมา

แม้ว่าอดีตอัครสังฆราชแมคแคร์ริคไม่ได้รับบทลงโทษทางกฎหมายอาญา เนื่องจากศาลสหรัฐฯ เห็นว่าคดีหมดอายุความ แต่ถึงกระนั้น ทางคณะกรรมการว่าด้วยเรื่องหลักความเชื่อ (Congregation for the Doctrine of the Faith) ตัดสินให้อดีตอัครสังฆราชแมคแคร์ริคสิ้นสภาพบาทหลวง (defrock) เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สำหรับศาสสงฆ์วาติกัน การกระทำผิดใดๆ ก็ตามของบาทหลวงนั้นไม่มีอายุความ ถึงแม้ว่าคดีอาจจะล่วงเลยมากว่า 40-50 ปี

นอกเหนือจากกรณีของแมคแคร์ริคแล้ว ล่าสุด คือกรณีการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กของ คาร์ดินัล จอร์จ เพลล์ (George Pell) ชาวออสเตรเลีย ซึ่งมีอายุ 77 ปี และเป็นที่ปรึกษาคนสนิทของสันตะปาปาฟรันซิส รวมถึงยังเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารการเงินของวาติกัน (Treasurer)

ที่สำคัญคือ คาร์ดินัล จอร์จ เพลล์ นี้ ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสสูงสุดของศาสนจักรคนแรก ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจต้องโทษจำคุกราวๆ 50 ปี และสิ้นสภาพบาทหลวงเหมือนกับแมคแคร์ริค

ที่มาภาพ: William WEST / AFP

นโยบาย ‘Zero-Tolerance’ ไม่ยอมประนีประนอมต่อเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศของสันตะปาปาฟรันซิส สร้างแรงกดดันให้พระสงฆ์ในศาสนจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีสมณศักดิ์ชั้นสูง เช่น สังฆราช (Bishop) หรือ คาร์ดินัล ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นทางตรง (จากการเป็นผู้กระทำผิดเอง) หรือทางอ้อม (ผ่านการปกปิดเรื่องดังกล่าว)

จากเหตุการณ์การละเมิดทางเพศโดยบาทหลวง ที่เกิดขึ้นมากมายในหลายประเทศ สันตะปาปาฟรันซิส ได้เรียกประชุมสังฆราชจากทั่วทุกมุมโลก (Episcopal Conference) ระหว่างวันที่ 21-24 กุมภาพันธ์ 2019 นอกเหนือจากสังฆราชแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านความรุนแรงทางเพศและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศโดยบาทหลวง จุดประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ คือ เพื่อหาแนวทางการแก้ไข และป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ ซึ่งเน้นผู้ที่ถูกล่วงละเมิดเป็นศูนย์กลาง

เหยื่อแต่ละคนเล่าถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ผู้หญิงวัย 50 ปี คนหนึ่ง ได้ถูกเชิญให้ขึ้นมาพูดเกี่ยวกับเรื่องราวในวัยเด็กของเธอ “…บาทหลวงในละแวกบ้านของดิฉัน ได้ทำลายชีวิตดิฉัน เมื่อดิฉันอายุเพียง 11 ขวบ…”

ความเจ็บปวดของผู้ที่ถูกล่วงละเมิด ดูเหมือนจะส่งผ่านไปยังทุกคนในที่ประชุม คำให้การต่างๆ ของผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทำให้สังฆราชบางท่านที่ได้ฟังถึงกลับกลั้นน้ำตาไม่อยู่ สังฆราชหลายท่านที่เคยคิดว่า ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องไกลตัว และเป็นเพียงปัญหาที่เกิดขึ้นในไม่กี่ประเทศเท่านั้น (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศ Anglo-Saxon หรือ ประเทศที่มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่) มีมุมมองที่เปลี่ยนไป การล่วงละเมิดทางเพศสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่ง การเมินเฉยหรือปิดปากเงียบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในศาสนจักรของบรรดาสังฆราชที่ไม่เคยพบกรณีการล่วงละเมิดทางเพศ ในเขตความรับผิดชอบหรือสังฆมณฑลของตน (Diocese) มีแต่จะเอื้อให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศโดยบาทหลวง

ถึงกระนั้น เหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดหลายคน รู้สึกผิดหวังต่อการประชุมครั้งนี้ และเห็นว่าสันตะปาปาฟรันซิสไม่ได้ออกบทบัญญัติหรือมาตรการชัดเจนต่อเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศแม้แต่น้อย คือ “มีแต่บทสรุปที่กว้างๆ”

อย่างไรก็ดี พระคุณเจ้า เฟลิกซ์ เจเมอร์ (Monseignor Felix Gmür) ผู้แทนจากที่ประชุม เปิดเผยว่า “สันตะปาปาไม่ต้องการให้ผลการประชุมเป็นเพียงแค่การสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือบทลงโทษที่พร้อมนำไปใช้ปฏิบัติทันที ทว่าสันตะปาปาอยากให้ฟังเรื่องราวของเหยื่อการล่วงละเมิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน ด้วยเหตุผลที่ว่า บทกฎหมายในแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน ทั้งนี้เอกสารฉบับสมบูรณ์จะออกมาในภายหลัง”

เป็นเรื่องไม่ง่ายนักสำหรับศาสนจักรที่ต้องกำหนดบทลงโทษสำหรับบาทหลวงผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานล่วงละเมิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก ในด้านหนึ่ง การไล่บาทหลวงที่พบว่ากระทำผิดออกเป็นสิ่งที่ทำได้ทันที รวดเร็วและเห็นผลชัดเจน ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่าทำไมใครหลายคนเรียกร้องให้วาติกันเลือกใช้บทลงโทษดังกล่าว และเห็นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับศาสนจักร

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง การที่ศาสนจักรให้ผู้ที่ละเมิดทางเพศ พ้นจากสภาพบาทหลวง โดยไม่มีแผนสำหรับการบำบัดหรือการรักษา อาจส่งผลให้ผู้กระทำผิดเหล่านี้กลับมาทำผิดซ้ำอีก เช่น เจมส์ พอร์เทอร์ (James Porter) ซึ่งถูกให้ออกจากการเป็นบาทหลวงโดยสังฆมณฑลแห่งหนึ่งในรัฐแมสซาชูเซตส์ เนื่องจากได้ล่วงละเมิดทางเพศเด็กจำนวนมาก หลังจากนั้น แม้เขาใช้ชีวิตอย่างฆราวาสและแต่งงาน ทว่าก็ต้องถูกต้องโทษอีกครั้งฐานล่วงละเมิดทางเพศพี่เลี้ยงเด็กคนหนึ่งที่มาดูแลลูกของเขา

ข่าวการล่วงละเมิดทางเพศเด็กโดยบาทหลวงเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นในช่วง ค.ศ. 2000 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าก่อนหน้านี้จะไม่มีเหตุการณ์การล่วงละเมิดเกิดขึ้น

ใน ค.ศ. 1962 สันตะปาปาจอห์นที่ 23 ประกาศว่า หากมีการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กเกิดขึ้น บาทหลวงต้องขึ้นศาลสงฆ์ที่วาติกัน ทว่าไม่มีกล่าวถึงการขึ้นศาลพลเรือนแต่อย่างใด ทั้งนี้ กระบวนการการตัดสินของวาติกันถือว่าเป็นเรื่องภายใน “ครอบครัว” และไม่ได้เผยแพร่สู่สาธารณชน

อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงในศาสนจักรเริ่มปรากฏให้เห็น เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศโดยบาทหลวงไม่ได้ถือว่าเป็นปัญหาภายในที่ศาสนจักรสามารถจัดการด้วยตนเองอีกต่อไป ในปี ค.ศ. 2011 สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า ศาสนจักรจะให้ความร่วมมือกับศาลพลเรือนอย่างจริงจัง และเปิดโอกาสให้ศาลพลเรือนเข้ามาตรวจสอบคดีล่วงละเมิดทางเพศของบาทหลวง โดยสั่งให้สังฆราชทุกคนทำงานร่วมกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ซึ่งเน้นย้ำว่าระบบศาลของรัฐจะต้องมาก่อนกระบวนการการตัดสินของศาสนจักรและวินัยศาสนา (Canon law)

ซึ่งล่าสุดในวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลอาญาฝรั่งเศสพิพากษาจำคุก 6 เดือน รอลงอาญา คาร์ดินัล ฟิลิปป์ บาร์บาแรง (Philippe Barbarin) สังฆราช แห่งลียง ฐานปกปิดกรณีการล่วงละเมิดทางเพศเด็กของบาทหลวงแบร์นาร์ เพรย์นาต์ (Bernard Preynat) ซึ่งได้ล่วงละเมิดทางเพศเด็กและเยาวชนราวๆ 10 คน ในระหว่างค.ศ. 1980-1990

ตั้งแต่ ค.ศ. 2004 วาติกันมีคำสั่งให้บาทหลวงกว่า 848 คน พ้นสภาพจากการเป็นพระ เนื่องจากพบว่าบาทหลวงเหล่านี้ ได้ข่มขืนหรือลวนลามเด็ก และบาทหลวงกว่า 2,572 คนถูกสั่งห้ามยุ่งเกี่ยวกับงานใดๆ ในศาสนจักร

และจากสถิติล่าสุดซึ่งจัดทำโดยคณะราชกรรมาธิการ (Royal Commission) ของออสเตรเลีย พบว่า 7% ของบาทหลวงชาวออสเตรเลียเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศระหว่างปี 1950-2010 ในที่ขณะที่สหรัฐอเมริกา จำนวนบาทหลวงที่ล่วงละเมิดทางเพศอยู่ที่ 4.9% ของจำนวนบาทหลวงทั้งหมด

การล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นบ่อยครั้งในทศวรรษ 1950s และต้นยุค 1960s ซึ่งเป็นยุคก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์การปฏิวัติทางเพศ (Sexual revolution) ในทำนองเดียวกัน ผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ และเยอรมนี พบว่าบาทหลวงที่ล่วงละเมิดทางเพศล้วนบวชก่อนที่จะมีเหตุการณ์การปฏิวัติทางเพศ นอกจากนี้บาทหลวงที่ได้ล่วงละเมิดทางเพศจำนวนมาก ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว

ที่มา: William WEST / AFP

ศาสตราจารย์ฮานส์ โซล์เนอร์ (Hans Zollner) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและประธานศูนย์ปกป้องเด็ก ประจำมหาวิทยาลัยเกรกอเรี่ยน ในกรุงโรม กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา คดีการล่วงละเมิดลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 10 ปีที่ผ่านมานี้ ตัวเลขแทบจะเป็นศูนย์” แต่ “…ผมไม่คิดว่าเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในศาสนจักรจะหยุดเร็วๆ นี้ ผมคิดว่าเราต้องปรับปรุงโครงสร้าง (ของศาสนจักร) ให้สามารถตรวจสอบได้”

สำหรับสันตะปาปาฟรันซิส ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นจากบาทหลวงไม่ดีหรือมีอาการป่วยทางจิตเพียงอย่างเดียว ทว่าวิกฤตการณ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับระบบการบริหารของศาสนจักร การที่สังฆราชไม่สามารถจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง ด้วยเหตุผลที่ว่าสังฆราช ไม่ต้องการให้มีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้น สนับสนุนให้เกิด ‘วัฒนธรรมของการล่วงละเมิด’

ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศในหมู่สงฆ์ มาจากการใช้สถานะและอำนาจ อย่างไม่เหมาะสม ซึ่งเปิดช่องทางให้บาทหลวงบางคน “ฉวยโอกาส”

ดูเหมือนสถานะของบาทหลวงจะเป็นปัจจัยหลักของการล่วงละเมิดทางเพศ โอลิวิเอร์ โบบิโน (Olivier Bobineau) นักสังคมวิทยา ซึ่งเขียนหนังสือเกี่ยวกับการล่วงละเมิดในเด็ก กล่าวถึงสถานะของบาทหลวงว่า “ศาสนจักรคาทอลิกตั้งอยู่บนแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับบทบาทและอำนาจของพ่อ (ในครอบครัว)”

“พ่อ” คือ คำที่คริสตชนใช้เรียกพระสงฆ์ในศาสนาคริสต์ และในทางกลับกันบาทหลวงก็จะเรียกคริสตชนว่า “ลูก” นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์จึงมองบาทหลวงเป็นเสมือนบุคคลที่ต้องเคารพและเชื่อฟัง รวมถึงเป็นบุคคลสามารถเชื่อใจได้อย่างสนิทใจ เพราะถือว่าบุคคลที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม

ปัญหาการละเมิดทางเพศโดยบาทหลวง ก่อให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นในหมู่ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก คริสตชนกว่า 28,000 คน จากร็อทเท็นบูร์ก แอม เน็กคาร์ (Rottenburg am Neckar) และออกซ์บูร์ก (Augsburg) ตัดสินใจละทิ้งศาสนา ด้วยเหตุที่ว่าศาสนจักรมีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นซ้ำซากเป็นเวลาเนิ่นนาน

และถ้าหากคริสตชนไม่สามารถไว้ใจบาทหลวงหรือเชื่อถือศาสนจักรได้ ศาสนจักรโรมันคาทอลิกคงไม่มีให้เห็นอีกต่อไป เนื่องจากความเชื่อมั่น (Confidence) หรือ “Cum fides” (คุม ฟิเดส) ในภาษาลาติน ซึ่งหมายถึง “เชื่อใจ” ล้วนมาจากคำว่า ความเชื่อ/ศรัทธา (Faith) หรือ “Fides” (ฟิเดส) ซึ่งเป็นหัวใจของศาสนาคริสต์

ดูเหมือนว่าสำหรับสันตะปาปาฟรันซิส ยิ่งปล่อยเรื่องการละเมิดทางเพศไว้นาน ก็ยิ่งยากที่จะแก้ เพราะเรื่องดังกล่าวซึ่งถูกเพิกเฉยเป็นเวลานานหลายสิบปีไม่เพียงแต่จะขัดแย้งต่อรากฐานคำสอนศาสนาคริสต์เท่านั้น แต่ยังจะนำพาศาสนจักรไปสู่หายนะอีกด้วย

เป็นที่แน่นอนว่า หากต้องการให้ศาสนจักรกลับมาสะอาด โปร่งใส และเป็นที่เชื่อถือได้ ย่อมต้องอาศัยผู้นำที่กล้าเปลี่ยนและแก้ไขสิ่งที่ผิด สันตะปาปาที่กล้าจะ “จับไม้กวาด” และเริ่มปัดกวาดเช็ดถูศาสนจักรอย่างจริงจัง โดยไม่หวั่นเกรงแรงต่อต้านจากฝ่ายบริหารในวาติกัน ที่ส่วนใหญ่ปิดกั้นต่อการเปลี่ยนแปลง และเห็นว่า “การพูดเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย”

 

ที่มาภาพหน้าแรก: REUTERS/Alessandro Bianchi

 

บรรณานุกรม

Tags: , ,