“Love is the time and space in which ‘I’ assumes the right to be extraordinary.”—Julia Kristeva
ดังที่เราได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ในความรัก เราต่างเป็นนักทฤษฎี หากทฤษฎีนี้จะขาดพร่องไปมากหากเรามีแต่ทฤษฎีจากมุมมองของเพศชายแต่อย่างเดียว
บทความตอนนี้ของเราจึงขออุทิศให้แก่ ฌูเลีย คริสเตวา (Julia Kristeva) นักคิดสตรีนิยมและนักเขียนหญิงผู้มีบทบาทสำคัญในขบวนการเคลื่อนไหวทางปัญญาที่มักถูกเรียกว่า หลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism)
คริสเตวาสำเร็จการศึกษาทางด้านภาษาและวรรณกรรม เป็นบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีของคาอิล บาคติน (Mikhail Bakhtin) ในสมัยที่ชื่อเสียงของนักปรัชญาและนักวรรณคดีศึกษาคนนี้ยังไม่เป็นที่รู้จัก ด้วยเพราะบิดาได้ส่งเธอเข้าเรียนในโรงเรียนคริสต์ที่ดำเนินการสอนโดยคณะแม่ชีโดมินิกันทำให้เธอเชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศสตั้งแต่เด็ก วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเธอที่เสนอต่อมหาวิทยาลัยในเวลานั้นว่าด้วยงานวรรณกรรมกลุ่ม Nouveau Roman หรือ ‘นวนิยายใหม่’ ของฝรั่งเศสที่มีบทบาทและความเคลื่อนไหวนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2
เล่ากันว่า เธอได้สมัครสอบและได้รับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้เดินทางไปศึกษาต่อที่ปารีส แต่ด้วยเพราะกลัวว่าคณบดีที่ค่อนข้างจงรักภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็เป็นคนพาเธอไปสอบด้วยนั้นจะปฏิเสธและห้ามไม่ให้ไป และกว่าจะได้รับทุนจริงก็ต้องปีใหม่ เธอจึงตัดสินใจหลบหนีข้ามประเทศไปตั้งแต่ช่วงคริสต์มาสพร้อมด้วยเงินติดตัวเพียงเล็กน้อย
การผจญภัยในแดนเทศของเธอทำให้คริสเตวาได้กลายเป็นมิตรและศิษย์ของนักคิดคนสำคัญอย่างลูเซียง โกลมานน์ (Lucien Goldmann) ผู้ให้ความช่วยเหลือและรับเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเธอ ทั้งยังแนะนำเธอให้รู้จักกับโรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Bathes) เอมิล บ็องแว็งนิสต์ (Émile Benveniste) และปัญญาชนคนสำคัญอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก
ชีวิตทางความคิดและโดยเฉพาะทางการเมืองของเธอถือได้ว่าเติบโตและผลิบานจริงๆ ก็เมื่อเธออยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส และเธอก็ได้พบรักกับฟิลิปป์ โซแลรส์ (Philippe Sollers) นักเขียนและบรรณาธิการผู้ก่อตั้ง บรรณาธิการผู้ก่อตั้ง Tel Quel นิตยสารวรรณกรรมหัวก้าวหน้าที่เป็นศูนย์รวมของนักเขียนนักคิดที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น มิแช็ล ฟูโกต์ (Michel Foucault) และโมริซ บล็องโชต์ (Maurice Blanchot)
ด้วยเพราะความเชี่ยวชาญในทฤษฎีของบาคติน คริสเตวาจึงได้ตีพิมพ์ผลงานชิ้นแรก (ในภาษาฝรั่งเศส) Semiotiké: Recherches pour une sémanalyse หรือ Semiotics: Investigations for Semanalysis ในปีปี 1969 หรือภายหลังจากการปฏิวัติวัฒนธรรมพฤษภาคมปี 1968 เพียงไม่นาน
คริสเตวามีความคิดว่า ‘ภาษา’ เป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับ ‘การเป็นอยู่’ ของเราอย่างมาก เธออธิบายว่า มนุษย์เราเป็นองค์ปาฐก (speak subject) ซึ่งพัฒนาและแปรเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับภาษาดังที่เธอนิยามว่า “องค์ปาฐกเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ถอดรื้อตัวเอง” ดังนั้นแล้วทฤษฎีภาษา (Theory of Language) จึงไม่สามารถแยกออกจากทฤษฎีซับเจกต์ (Theory of Subject) ซับเจกต์ในกรอบคิดของคริสเตวาจึงเป็นซับเจกต์ที่พัฒนาต่อไป (Le sujet-en-procès)
แนวคิดของคริสเตวาในเรื่องนี้ถือเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากเอ็ดมุนด์ ฮุสเซิร์ล (Edmund Husserl) แฟร์ดินงด์ เดอ โซซูร์ (Ferdinand de Saussure) ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งฌาคส์ ลาก็อง (Jacques Lacan)
ดังนั้นไตรภาคที่ประกอบด้วย หนึ่ง Pouvoirs de l’horreur. Essai sur l’abjection (1980) หรือ The Power of Horror สอง Histoires d’amour (1983) หรือ Tales of Love และ สาม Soleil noir. Dépression et mélancolie (1987) หรือ Black Sun : Depression and Melancholia. จึงถือเป็นทั้งบทสนทนาโต้ตอบกับนักคิดยุคก่อนหน้าและเป็นการสร้างข้อเสนอของเธอเอง เช่นแอบเจคชั่น (Abjection) ที่ว่าด้วยเรื่องของการสูญเสียการรับรู้ขอบเขตของตัวตนและคนอื่น ผ่านสิ่งที่เราหวาดกลัวเช่น ซากศพ ใน Power of Horror ประเด็นเรื่องความสูญเสียและความเศร้าใน Black Sun และ ‘ความรัก’ ใน Tales of Love ที่เราจะได้พูดถึงต่อไปข้างหน้า
Tales of Love เริ่มต้นจากการพยายามศึกษาอารมณ์ของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อจิต (Psyche) และเช่นเดียวกับเดียวกับ The Power of Horror คริสเตวาเลือกบอกเล่าผ่านสรรพนาม ‘ฉัน’
หาก The Power of Horror นำเสนอผลกระทบต่อจิตของมนุษย์จากการถูกตัดขาด โดดเดี่ยว แปลกแยก Tales of Love ก็คือกลับไปสู่ความสัมพันธ์ และการต่อเชื่อมถึงกันผ่านสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ความรัก’
เธอคิดว่านักปรัชญาตั้งแต่เพลโต เดอการ์ตส์ มาจนถึงเฮเกลต่างก็พยายามจับยึดประสบการณ์ของความรักเข้ากับความจริง จัดระเบียบ หรือไม่ก็พยายามตัดแต่งให้เข้ากับความคิดที่น้อมนำไปสู่การมีความดีสูงสุด หรือจิตอันสมบูรณ์ (absolute spirit) จนมาถึงซิกมุนด์ ฟรอยด์ (คริสเตวาเรียกเขาว่าเป็นนักคิดในยุคหลังโรแมนติก) เป็นบุคคลแรกที่พยายามเปลี่ยนความรักเป็นการรักษา ฟรอยด์มุ่งหน้าเข้าหาความไร้ระเบียบของความรัก พยายามไขว่ขว้าสิ่งถูกเผยออกมา เขาได้สร้างทฤษฎีจิตวิเคราะห์จากการค้นพบหลักการแทนที่ (transference) ซึ่งเกิดจากกระบวนการปรึกษาของผู้วิเคราะห์และถูกวิเคราะห์
จิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ได้ทำให้คริสเตวา มองเห็นปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในจิต หรือ psyche ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามกรอบอธิบายเรื่องจิตของเพลโต หรือจิตสำนึกที่แผ่อิทธิพลครอบคลุมปรัชญาตะวันตก แต่เป็นเรื่องที่จิตนั้นเป็นระบบเปิด (open system) ที่เชื่อมต่อกับจิตอื่นๆ โดยเงื่อนไขต่างๆ นั้นถูกปรับแปลงอยู่ตลอดเวลา จิตจะมีชีวิตอยู่ได้ก็เมื่อจิตนั้นมีความรัก แต่จะตายลงก็เมื่อมันปราศจากซึ่งความรัก เฮเกลจึงอาจพูดถูกที่ว่า “ความตายนั้นเป็นเจ้าของชีวิต”
ความรักจึงมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและปรับเปลี่ยนตัวเรา เราไม่เพียงประกอบสร้างความรัก แต่ความรักยังมีส่วนประกอบสร้างตัวเรา และเป็นดังที่คริสเตวาได้กล่าวเตือนใจไว้ว่า
“ในความรัก ‘ฉัน’ กลายเป็นผู้อื่น วลีนี้ได้นำพาเราไปสู่บทกวี หรือภาพลวงตาบ้าคลั่ง น้อมนำไปสู่ภาวะอันไม่แน่นอน ซึ่งทำให้ปัจเจกไม่ได้กลายเป็นสิ่งที่แบ่งแยกไม่ได้อีกต่อไป และยินยอมให้ตัวเขานั้นหลงเข้าไปในผู้อื่น ในความรักที่มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นโศกนาฏกรรมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ กลายเป็นเรื่องปกติ และสมยอมอย่างเต็มใจ”
Tags: In Theories