แม้จะมีความแตกต่างด้านโปรดักชันและบริบทของเรื่อง แต่ 2 มิวสิคัลที่เปิดแสดงในช่วงใกล้ๆ กันอย่าง แม่นาค เดอะ มิวสิคัล จากค่ายดรีมบอกซ์ และ Life Lessons จากคณะละครภาษาอังกฤษ Peel the Limelight ต่างสะท้อนแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ชีวิตผ่านความรักและความตาย

แม่นาค เดอะ มิวสิคัล

หลังจากจัดแสดงครั้งแรกเมื่อปี 2552 แม่นาค เดอะ มิวสิคัล ได้หวนคืนเวทีอีกครั้งในวาระครบรอบ 33 ปีของดรีมบอกซ์ในปีนี้ เพื่อสะท้อนถึงยุคที่ 2 ของค่ายที่มีการทำละครเพลงแบบร้องทั้งเรื่อง (sung-through) โดยได้รวมตัวทีมงานและนักแสดงชุดเดิมมาเป็นจำนวนมาก นำโดยผู้กำกับ สุวรรณดี จักราวรวุธ รวมถึง น้ำมนต์—ธีรนัยน์ ณ หนองคาย ที่กลับมารับบทแม่นาคอีกครั้ง

แม้จะพลาดการแสดงเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ตลอด 3 ชั่วโมงที่ได้รับชม แม่นาค เดอะ มิวสิคัล รีสเตจในครั้งนี้ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่านี่คือหนึ่งในมิวสิคัลคุณภาพ ซึ่งสิ่งที่โดดเด่นเป็นอย่างมากและทำให้การแสดงนี้คลาสสิกอยู่เหนือกาลเวลา ก็คือบทละครและคำร้องโดย ดารกา วงศ์ศิริ ที่สร้างสรรค์ ‘โลกของนาค’ ขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ผ่าน 50 บทเพลง ซึ่งเรียงร้อยเหตุผลเข้ามารองรับการกระทำของตัวละครหลักที่คุ้นเคยกันดีอย่างนาคและมาก รวมถึงตัวละครใหม่ที่เสริมแต่งเข้ามา เช่น พ่อแม่ของนาค แม่ของมาก สายหยุด (ลูกพี่ลูกน้องของมาก) พร้อมนำสิ่งที่อยู่ขั้วตรงข้ามมาปะทะกันเพื่อให้คนดูฉุกคิดถึงสัจธรรมชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การเกิด (หมอตำแย) – ความตาย (สัปเหร่อ) ความจริง – ความฝัน/ความเท็จ และความเป็นมนุษย์ – ความเป็นผี

จากเรื่องราวของผีตายทั้งกลมสุดเฮี้ยนในตำนาน แม่นาคของดรีมบอกซ์ทำให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์และความแข็งแกร่งของผู้หญิงคนหนึ่งที่มั่นคงในความรัก ยอมอดทนต่อคำติฉินนินทา อดกลั้นกับกรอบความคิดโบราณที่มองว่าผู้หญิงไม่เก่งงานบ้านหรือไม่ถนัดงานใช้แรงงานนั้นมีค่าด้อยยิ่งกว่าควาย (แม้ว่าจะอ่านออกเขียนได้ก็ตาม) นอกจากนั้น ยังถ่ายทอดการก้าวข้ามผ่านวัยสาวสู่การเป็นแม่คน และต้องต่อสู้กับความตาย เพื่อยื้อเศษเสี้ยวสุดท้ายของความสุขในชีวิตไว้ให้นานที่สุด 

ธีรนัยน์ถ่ายทอดช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ได้อย่างลึกซึ้งผ่านการแสดง และเสียงโซปราโนทรงพลังที่ทั้งทำให้ซาบซึ้งและขนลุกไปได้ในเวลาเดียวกัน การรับมือกับเพลงยาก ๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบยิ่งเสริมให้บทเพลงที่ประพันธ์ไพเราะอยู่แล้วออกมาน่าประทับใจยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเพลงเด่นของเรื่องอย่าง ‘ฟ้าเป็นพยาน’ ‘โลกของนาค’ และ ‘ข้ายังไม่พร้อมจะยอมตาย’ ซึ่งโดยรวมแล้วนักแสดงในโปรดักชันนี้มีมาตรฐานสูงทั้งการแสดงและการร้อง รวมถึงนักแสดงหมู่มวล (ensemble) ที่มีบทบาทสำคัญในการสะท้อนภาพกลุ่มคนที่รับสารโดยไม่ได้กลั่นกรอง มักโทษคนอื่นก่อนตัวเอง และพร้อมที่จะไปรุมนินทาว่าร้ายกลั่นแกล้งผู้อื่น ซึ่งยังคงมีอยู่คู่มนุษยชาติในทุกยุคสมัย

นอกจากนั้น เสื้อผ้ายังถูกออกแบบมาช่วยเล่าเรื่องราวได้เป็นอย่างดี จากที่ตัวละครสวมชุดสีสันสดใสในช่วงแรกได้ค่อยหม่นลงหลังเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น เช่นเดียวกับชุดของนาคที่สามารถสื่อถึงสถานะที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างลงตัว สอดคล้องกับการออกแบบฉากและเทคนิคพิเศษ ที่ไม่เพียงสวยงาม แต่ยังสื่อความได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะฉาก ‘เรือมรณา’ ซึ่งแม่ของนาคได้ล่องเรือมารับนาคไปอยู่ปรโลก และฉากสะพานขาดที่สื่อถึงการแยกกันอยู่คนละภพชาติของนาคและมาก เมื่อรวมกับแสงต่างสีที่สาดไปยังแต่ละตัวละครก็ยิ่งสะท้อนโลกที่ต่างกันของตัวละครได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

Life Lessons

จากคณะละครขนาดกลางมาที่คณะละครขนาดเล็กกับเรื่อง Life Lessons มิวสิคัลออริจินัลเรื่องแรกของคณะละครภาษาอังกฤษ Peel the Limelight ที่มักนำบทละครและมิวสิคัลที่มีประเด็นน่าสนใจมาสร้างสรรค์ได้อย่างมีคุณภาพ โดยครั้งนี้ผู้กำกับประจำคณะ ปีเตอร์ โอ นีลล์ ได้เขียนบทร่วมกับ แคลร์ แสตนลีย์ นักแสดงที่มีความโดดเด่นทั้งการแสดงและการร้องเพลง เพื่อนำสิ่งที่ทั้งคู่พานพบมาบอกเล่าผ่านชีวิตของสองพ่อลูก ‘เรย์’ และ ‘เรแกน’

แม้เรื่องราวส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในอังกฤษ และมีบางช่วงที่ตัวละครเดินทางมากรุงเทพฯ แต่ชีวิตของเรแกนก็ดูคล้ายคลึงกับนาคไม่น้อย เพราะทั้งคู่ต่างต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก ต่างต้องเรียนรู้เส้นทางที่จะเติบโต ต่างต้องเสาะหาพลังในตัวเองเพื่อที่จะยืนหยัดขึ้นมาอีกครั้ง หากในขณะที่นาคถูกรายล้อมด้วยอคติและความเกลียดชัง มีเพียงมากเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เรแกน (แสดงโดยแสตนลีย์) กลับถูกโอบล้อมด้วยความรักและความเข้าใจจากครอบครัวและคนรัก จนทำให้เธอยอมรับตัวตนแท้จริงของตัวเอง และสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคในชีวิตได้อย่างเข้มแข็ง

ความจริงใจในการถ่ายทอดเรื่องราวถือเป็นเสน่ห์สำคัญที่ทำให้มิวสิคัลเรื่องนี้น่าติดตาม ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านเพลงที่มีความน่ารักสดใสอย่าง ‘All the Way’ และ ‘Pops’ รวมถึงเพลงเนื้อหาดีๆ ที่พูดถึงตัวตนที่แท้จริงอย่าง ‘The Last Song is Sung’ และ ‘Hiding’ นอกจากนั้นยังมีกิมมิคที่ให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นในบาร์หรือในงานแต่งงาน ที่มีการเสิร์ฟแชมเปญ เค้ก และเชิญชวนผู้ชมให้มาร่วมเต้นรำ 

อย่างไรก็ตาม บทยังสามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ หากมีการเพิ่มความซับซ้อนให้ตัวละครมากขึ้น เชื่อมโยงแต่ละฉากให้ราบรื่นโดยไม่ทิ้งช่วงเป็นห้วง ๆ ไปตามเพลง รวมถึงการสื่อสารบทบาทของ ‘มาร์ลีน’ (แสดงโดยนีล แอนโทนี รูเซีย) เจ้าของบาร์ในกรุงเทพฯ ที่ชื่อ ‘ดีทริช’ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะแน่นอนว่าตัวละครนี้ต้องการสื่อถึง ‘มาร์ลีน ดีทริช’ นักแสดงอเมริกันเชื้อสายเยอรมันที่มีรูปแบบความรักไม่เป็นไปตามขนบ ซึ่งคล้ายกับตัวมาร์ลีนเองที่ต้องใกล้ชิดกับคนแปลกหน้าชั่วข้ามคืนเพื่อหาเลี้ยงชีพ แต่ดูจะยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมเธอถึงรู้สึกฝังใจกับเรย์จนวิญญาณของเธอต้องตามไปหาเขาไกลถึงอเมริกา หรือเพียงเพราะคนเขียนบทอยากให้มีใครไปช่วยร้องเพลงในฉากที่เหลือเท่านั้น 

นักแสดงทั้งสี่สวมบทบาทเป็นตัวละครได้อย่างมืออาชีพ โดยเฉพาะเจมส์ เลเวอร์ ที่รับบทพ่อได้อย่างน่ารักและซาบซึ้ง ทิพย์ตะวัน อุชัย ในบทลิซซี่ คนรักของเรแกน ที่ทำได้ดีทั้งการแสดงและการร้อง รวมถึงสแตนลีย์ที่ถ่ายทอดการเติบโตของตัวละครได้ดี โดยเฉพาะการโชว์พลังเสียงในเพลง ‘And All I Wanted Was You’ 

ภายในเวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที Life Lessons ได้สื่อสารถึงความหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ และทัศนคติ ซึ่งแม้จะแตกต่างกัน แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้หากทุกคนยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น และเปิดใจให้กับความหลากหลายเหล่านี้ ถึงแม้จะดูโลกสวยและเชยไปบ้าง แต่ก็ทำให้ได้พลังบวกกลับไปเสริมสร้างกำลังใจในการใช้ชีวิตให้เต็มที่ในวันต่อไป

*แม่นาค เดอะ มิวสิคัล จัดแสดงจนถึงวันที่ 1 ธันวาคม ที่เอ็มเธียเตอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่

**Life Lessons แสดงถึงวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคมนี้ ที่ Peel the Limelight Studio ชั้น 2 อาคารจัสมินซิตี้ สุขุมวิท 23

Tags: , , ,