ผู้เขียนไม่รู้จักคณะ Qrious Theatre มากนัก อาจเพราะพวกเขาเพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 2018 และมีผลงานมาเพียง 2 เรื่อง (นั่นคือ ม้า 2018 และ TranS I-Am) ดังนั้นจึงเดินทางไปดูเรื่อง คืนนั้นฉันรักโจชัว หว่อง ด้วยโหมดสมองว่างเปล่า แถมยังนึกทึกทักเอาจากโปสเตอร์ไปเองว่านี่น่าจะเป็นละครตลกขำขัน

ทว่าผู้เขียนก็ประสบกับความเหวอหลายประการ นับตั้งแต่สถานที่ที่เหมือนผับลึกลับในหนังเรื่อง Irreversible, การจัดไฟสปอตไลต์ให้แยงตาผู้ชมด้านหนึ่งไปเต็มๆ (อันนี้ไม่รู้ว่าตั้งใจหรือผู้เขียนโชคร้ายเอง) การแสดงยังเปิดตัวด้วยการด่าทอกันอย่างรุนแรงของนักแสดงหญิงสองคน แถมไม่ใช่คำด่าแบบมาตรฐานทั่วไป ทว่าไต่ระดับกันไปถึงคำว่า ‘อีหน้า hee+’ (ว้าย)

ผ่านไปเพียง 5 นาทีจึงเริ่มรู้ตัวว่าต้องตั้งสติจูนเครื่องตัวเองใหม่ นี่ไม่ใช่ละครดูเอาฮาแล้ว โดย คืนนั้นฉันรักโจชัว หว่อง ว่าด้วย โคโค่ (รับบทโดย ณัฐญา นาคะเวช) ตุ๊ดรุ่นดึกที่เกิดอาการสติหลอนเห็นว่า แฟรงค์ (อรัชพร โภคินภากร) หลานชายของตัวเองหน้าเหมือนโจชัว หว่อง ขณะเดียวกันเธอก็คอยพูดคุยกับ แองเจลีน่ารัตน์ จัง (มินตา ภณปฤณ) จิตแพทย์ที่ดูเหมือนจะทำให้โคโค่อาการหนักกว่าเดิม

ต้องยอมรับว่าช่วงแรกตกใจพอสมควรที่ละครเต็มไปด้วยการด่าอย่างหยาบโลน แต่ดูไปสักพักก็เริ่มจะเข้าใจวิธีการนำเสนอของงาน การพูดคุยของโคโค่กับจิตแพทย์น่าจะเป็นการสะท้อนถึงบทสนทนาภายในตัวเอง จิตแพทย์อาจไม่มีตัวตนจริงหรือเป็นสิ่งที่โคโค่สร้างขึ้นมา โคโค่เป็นพวกผู้ใหญ่ที่โวยวายไปเรื่อยถึงทิศทางของโลกที่เปลี่ยนไปในแบบที่ไม่ถูกใจตัวเอง ถ้าคนรุ่นใหม่มาดูละครก็คงพูดกับโคโค่ว่า “Ok, boomer” 

  นอกจากจะยึดติดในโลกแบบแผนของตัวเองแล้ว ลักษณะเด่น (ที่ไม่ใช่เรื่องดี) อีกประการของโคโค่คือการ ‘จัดหมวด’ สิ่งต่างๆ และกำหนดลำดับชั้นของมัน ซึ่งตรงนี้ผู้สร้างใช้กิมมิคสร้างคำศัพท์ต่างๆ ขึ้นมา เช่นว่าโคโค่ยอมรับได้กับการเป็น ‘แอร์เมส’ แต่รังเกียจพวก ‘เวอร์ซาเช่’ คนดูจึงต้องแกะรหัสเอาเองว่าศัพท์พวกนี้มีความหมายอย่างไร ทำไมโคโค่ถึงยอมรับไม่ได้ที่แฟรงค์จะเป็นพวกเวอร์ซาเช่ ถึงขั้นวางแผนจะฆ่าแกงหลานตัวเอง

บรรดาคลังคำศัพท์ในเรื่องยังมีอีกมากมาย อาทิ ไตลองเดอ (Thailande), ชีนัวส์ (Chinois) ไปจนถึงปังปอนด์ (!?) จนผู้ชมพอจะจับได้ว่าละครเรื่องนี้ไม่ได้พูดแค่เรื่องสงครามกะเทยหรือการปะทะกันของคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ แต่ยิ่งกินความไปถึงเรื่องชนชั้น เชื้อชาติ และอุดมการณ์ แต่ด้วยความที่ละครมีความยาวถึง 90 นาที และมีเมสเซจซ่อนอยู่แทบทุกซีน การชมละครเรื่องนี้จึงเหนื่อยไม่ใช่น้อย 

อีกปัจจัยที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้ากับละครคือจังหวะการแสดงที่เปรียบเหมือนการขับรถแบบเหยียบแต่คันเร่ง ไม่มีการเบรค มันกลายเป็นทั้งเรื่องน่าชื่นชมและน่ากังวลไปในตัว นักแสดงที่ต้องปรบมือให้คือ ณัฐญากับบทโคโค่ที่ปรากฏตัวทุกฉากของละครและพูดแบบน้ำไหลไฟดับไม่หยุดหย่อน ส่วนการแสดงของอรัชพรก็ถือว่าน่าประทับใจมาก ในเรื่องก่อนๆ อย่าง Teenage Wasteland หรือ ‘นางร้าย’ เธอดูจะเล่นบทที่ใกล้ตัวไปหน่อย แต่เรื่องนี้เธอต้องสวมบทบาทป็นเด็กผู้ชายและทำได้ดี ฉากที่ณัฐญาปะทะกับอรัชพรยังถือเป็นฉากน่าประทับใจแห่งปี

อย่างไรก็ดี จะเสียดายอยู่บ้างที่โปรดักชันของละครอาจจะเรียบง่ายไปสักหน่อย โดยเฉพาะฉากในช่วงท้ายอันเป็นเหตุการณ์หวือหวาที่เรียกร้องดีไซน์ในระดับที่สูงกว่านี้ คงเรียกได้ว่าไม่ ‘แอร์เมส’ สมใจสักเท่าไร 

มีเรื่องของกะเทยไปแล้ว เราขอพูดถึง Life Lessons ไปด้วย ผลงานล่าสุดของกลุ่ม Peel the Limelight ละครเวทีที่ตัวละครนำเป็นเลสเบี้ยน

Peel the Limelight เป็นคณะละครภาษาอังกฤษที่โดดเด่นเรื่องการเลือกบทดีๆ มาดัดแปลง อาทิ I Am My Own Wife, Death and the Maiden และ Hand to God แต่สำหรับเรื่อง Life Lessons มีความพิเศษตรงที่มันเป็นบทออริจินัล สูจิบัตรระบุข้อมูลว่าเขียนขึ้นจากประสบการณ์ของผู้เขียนบททั้งสอง (ปีเตอร์ โอ นีลล์ และแคลร์ แสตนลีย์) และความเก๋ไก๋คือมันเป็นละครมิวสิคัล

ช่วงเริ่มต้นของ Life Lessons ผู้ชมเข้าไปพบกับบาร์ที่ชื่อว่า Dietrich (มาจากชื่อนักแสดงเยอรมันในตำนาน Marlene Dietrich นั่นเอง) เจ้าของร้านสาวข้ามเพศนามมาร์ลีนจะเอาเครื่องดื่มมาเสิร์ฟให้ เป็นลูกเล่นยั่วล้อคนดูว่า เอ๊ะ นี่ละครเริ่มหรือยังนะ จากนั้นจึงเข้าเนื้อหาหลักที่เล่าถึงเรแกน (แคลร์ แสตนลีย์) เลสเบี้ยนสาวที่ใช้ชีวิตอยู่กับพ่อ (เจมส์ เลเวอร์) เพียงสองคน เธอกำลังสานสัมพันธ์กับชาวเอเชียชื่อลิซซี่ (ทิพย์ตะวัน อุชัย) แต่ปัญหาคือเธอไม่กล้าบอกพ่อว่าตัวเองชอบผู้หญิง

ใจความใหญ่ของละครจึงเป็นการต่อสู้ในจิตใจของเรแกนถึงการเปิดเผยตัวและการยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็น ว่ากันตรงๆ เรื่องราวการ come out ประเภทนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ถูกนำเสนอมาแล้วเป็นล้านครั้ง แต่ด้วยสไตล์ของละครที่เป็นมิวสิคัลก็ทำให้เรื่องดำเนินไปอย่างเพลิดเพลิน ไม่ได้เกิดรู้สึกว่าต้องฝืนใจดู ต้องชื่นชมทีมงานว่าแต่งเพลงได้ดี แถมนักแสดงก็ร้องเพลงกันเพราะด้วย (โดยเฉพาะแสตนลีย์) และแม้จะเป็นละครโรงเล็กที่ไม่สามารถเปลี่ยนฉากอย่างอลังการ แต่พร็อพที่มีอยู่น้อยนิดของเรื่องก็สามารถเป็นได้ทั้งรถยนต์ เคาน์เตอร์บาร์ และเตียงนอน  

ละครยิ่งสนุกไปอีกในฉากงานเลี้ยงที่ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมลุกขึ้นปรบมือหรือลงไปเต้นที่เวทีได้ แถมยังมีเสิร์ฟแชมเปญและเค้กอย่างจริงจัง (อิ่มเลยจ้ะเรื่องนี้) ทว่าหลังจากนั้นละครมีแต่เหตุการณ์รื่นรมย์ไม่สิ้นสุด จนรู้สึกว่าสวยงามเกินไป ระหว่างทางก็แอบลุ้นว่าละครจะมีจุดหักมุมอย่างไร ซึ่งพอฉากนั้นมาถึงก็แอบเสียดายว่ามันออกจะซ้ำซากอยู่ รวมไปถึงการคลี่คลายเรื่องที่ไม่ได้เกินคาดนัก 

ผู้เขียนไปชมละครเรื่องนี้พร้อมกับเพื่อนนักวิจารณ์อีกสามคน ทุกคนมีมติเอกฉันท์ว่า Life Lessons เป็นละครที่ดูสนุก แต่มันออกจะ ‘เชย’ ไปสักหน่อย ในยุคสมัยนี้ที่สื่อศิลปะต่างๆ ทำประเด็น LGBTQIAPK ออกมามากมาย อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ความผิดของละครเสียทีเดียว ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเกี่ยวกับเพศสภาพที่ถูกนำเสนอในเรื่องนี้ยังคงมีอยู่ทั้งในสังคมเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม ก็คงเหมือนกับที่พูดกันว่าสิ่งที่ ‘ซ้ำซาก’ ที่สุดก็คือมนุษย์อย่างเราๆ นี่เอง

 

  • คืนนั้นฉันรักโจชัว หว่อง แสดงถึง 24 พฤศจิกายน 2562 ณ Goose Life Space (BTS สนามเป้า) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/532209794206671/
  • Life Lessons แสดงถึง 7 ธันวาคม 2562 ณ Peel the Limelight Studio (BTS อโศก หรือ MRT สุขุมวิท) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/2576240535929418/