มีอะไรอยู่ในสมุด ?

หลายปีต่อมาเมื่อผมได้อ่าน สถานการณ์ยังเป็นปกติ รวมเรื่องสั้นชุดใหม่ของ สมุด ทีทรรศน์ ผมก็พลันระลึกนึกย้อนไปถึงความรู้สึกตื่นเต้นเมื่อราวหกปีก่อน (ปี 2556) ในตอนที่ผมได้พบกับรวมเรื่องสั้นชุด ก่อนความหมายจะหายลับ ของเขาเป็นครั้งแรก หนังสือขนาดกะทัดรัด หน้าปกโดดเด่นสะดุดตา กลิ่นอายความลึกลับคลุมเครือที่อบอวลอยู่ในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องมาพร้อมกับความลึกลับของชื่อนักเขียนที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน 

เมื่อผมอ่าน ก่อนความหมายจะหายลับ จบลง (และได้หยิบมาอ่านซ้ำอีกหลายครั้ง) ผมก็รู้ทันทีว่าหนังสือรวมเรื่องสั้นชุดดังกล่าวและชื่อของ สมุด ทีทรรศน์ จะติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผมไปอีกนานเท่านาน ทั้งในฐานะความทรงจำส่วนตัว และในฐานะนักเขียนฝีมือฉกาจผู้ที่ผมเฝ้าจับตามองและรอคอยผลงานของเขามากที่สุดคนหนึ่ง 

สมุด ทีทรรศน์ และ จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร คือนักเขียนคนเดียวกันแต่สวมหมวกสองใบ หมวกใบแรกในฐานะนักเขียนเรื่องสั้น และหมวกอีกใบในฐานะนักวิจารณ์และนักวิชาการด้านวรรณกรรม บทบาทของเขาในฐานะนักวิจารณ์วรรณกรรมก็โดดเด่นไม่แพ้กัน ดังจะเห็นได้จากการได้รับรางวัลบทวิจารณ์วรรณกรรมของกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ถึง 3 ครั้ง และบทความทางวรรณกรรมของเขาที่มีออกมาอย่างต่อเนื่องก็สะท้อนให้เห็นทั้งความหลงใหลในผลงานของนักเขียนไทยรุ่นลายครามผู้เป็นหมุดหมายสำคัญของวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ และความสนใจที่มีต่อทิศทางของวรรณกรรมไทยในผลงานของนักเขียนไทยร่วมสมัยอีกหลายคน

นอกเหนือจากสองบทบาทในหมวกสองใบดังกล่าวแล้ว อีกบทบาทหนึ่งของเขาที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเป็นบรรณาธิการแปลวรรณกรรมชิ้นเอกของโลกอย่าง Pnin ของ วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ (Vladimir Nabokov), On The Road  ของ แจ๊ก เคอรูแอค (Jack Kerouac) และ Lord of the Flies ของ วิลเลียม โกลดิง (William Golding) ในภาคภาษาไทย

การทำงานวรรณกรรมของเขาในหลากหลายบทบาททั้งในฐานะคนสร้าง (ในฐานะนักเขียนเรื่องสั้น) คนเสพ (ในฐานะนักวิจารณ์วรรณกรรม) และคนทำงานเบื้องหลัง (ในฐานะบรรณาธิการแปล) คงจะทำให้เราพอมองเห็นว่าความหนักแน่น ลุ่มลึก และลีลาอันจัดจ้านในงานเขียนของเขา บ่มเพาะและหล่อหลอมตัวมันเองขึ้นมาจากธาตุทางวรรณกรรมชนิดใดบ้าง

ดำดิ่งลงไปในสถานการณ์และความเป็นปกติ

เมื่อผมอ่านเรื่องสั้นทั้ง 8 เรื่องในเล่มนี้จบลง น่าสนใจว่าชื่อของรวมเรื่องสั้นชุดนี้ได้ซุกซ่อนความหมายไว้หลายระดับ เราอาจมอง สถานการณ์ยังเป็นปกติ ได้ทั้งในฐานะประโยคบอกเล่า และ สถานการณ์ยังเป็นปกติ ? ในฐานะประโยคคำถาม

หากเรานำเอาความหมายของ สถานการณ์ยังเป็นปกติ ในฐานะประโยคบอกเล่ามาเป็นกรอบในการมองรวมเรื่องสั้นชุดนี้ จะพบความหมายที่ลึกลงไปอีกใน 2 ลักษณะด้วยกัน อย่างแรกคือท่าทีของถ้อยคำในแบบรายงานของทางการ อาจมาจากมุมมองของผู้มีอำนาจที่ประกาศว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้หมดแล้ว ความหมายดังกล่าวนี้นับว่าสอดคล้องกันดีกับ ‘โลก’ ในฉากและบรรยากาศของเรื่องสั้นอย่าง ‘กลุ่มอาการของผู้มีปม’ ‘วันพักร้อนของพนักงานคนหนึ่ง’ ‘ครอบครัวของมายา’ ‘คนของทะเล’ ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนฉายให้เห็น (อย่างตรงไปตรงมาบ้าง อย่างเป็นนัยบ้าง) โลกที่ผู้คนถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดผ่านกลไกอำนาจที่มาในรูปของเทคโนโลยี โลกที่ประวัติศาสตร์ของการลุกฮือขึ้นต่อต้านถูกจดจำและพูดถึงในฐานะประวัติศาสตร์ของการถูกปราบปรามกวาดล้าง เป็นทั้งประวัติศาสตร์ที่เลือนราง ห่างไกล และถูกพูดถึงอย่างเก็บงำคลุมเครือ โลกที่ชัยชนะของฝ่ายเผด็จการเข้าควบคุมประวัติศาสตร์และความทรงจำของผู้คน

ความหมายของ สถานการณ์ยังเป็นปกติ ในลักษณะที่สองคือ มุมมองแบบที่เกิดจากการถอยห่างออกมามองสถานการณ์ความเป็นไปต่าง ๆ จากระยะไกล อันเป็นผลมาจากกรอบการมองประวัติศาสตร์ในมุมกว้าง จนกระทั่งมองเห็นว่าวิถีความเป็นไปทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นแท้จริงแล้วแทบไม่มีอะไรใหม่   ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง วงจรของอำนาจ การต่อสู้ การปราบปรามกวาดล้างผู้ต่อต้าน ฯลฯ ก็เกิดขึ้นวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าในโครงเรื่องและวิถีทางแบบเดิม เหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ที่เปลี่ยนแต่เพียงผู้เล่นและสถานการณ์ แต่ในภาพใหญ่แล้วทุกอย่างก็ยัง ‘เป็นปกติ’ เหมือนเดิมเสมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนโฉมไปจากเดิม 

ดังเช่นในเรื่อง ‘วันพักร้อนของพนักงานคนหนึ่ง’ การเที่ยวชมความ exotic ด้วยมุมมองแบบเจ้าอาณานิคมที่มีต่อดินแดนใต้อาณานิคมก็ยังดำรงอยู่เช่นนั้นแม้ฉากในเรื่องจะเป็นโลกอนาคตที่เทคโนโลยีรุดหน้าไปไกลแล้วก็ตาม หรือในเรื่อง ‘ครอบครัวของมายา’ ที่ความหวาดกลัวในสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งลี้ลับยังคงสามารถใช้เป็นเครื่องมือกำราบผู้อยู่ใต้อำนาจได้ ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีที่รุดหน้าไปไกลก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ปลดปล่อยคน แต่เป็นเทคโนโลยีแห่งการควบคุมที่ทรงพลังอำนาจยิ่งขึ้นไปอีก

หาก สถานการณ์ยังเป็นปกติ แบบประโยคบอกเล่าที่เป็นเสมือนคำประกาศชัยชนะของผู้มีอำนาจ และเป็นการมองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยมุมมองแบบถอยห่างออกมามองในระยะไกล คำว่า สถานการณ์ยังเป็นปกติ ? แบบที่เป็นประโยคคำถาม ก็คือการดำดิ่งลงไปพินิจพิจารณาดูว่าใต้พื้นผิวของสถานการณ์ที่ดูเหมือนว่ายังเป็นปกตินั้น ได้ซุกซ่อนความไม่ปกติอื่นใดไว้ในนั้นหรือไม่ 

เมื่อเราใช้กรอบการมองดังกล่าวนี้วางทาบลงไปบนเรื่องสั้นบางเรื่อง ก็จะพบร่องรอยของความไม่ปกติแฝงเร้นอยู่ นั่นคือ การขัดขืนต่อต้านที่ยังเกิดขึ้นอยู่อย่างเนือง ๆ ในช่องโหว่ที่อำนาจไม่อาจควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในเรื่อง ‘กลุ่มอาการของผู้มีปม’ ที่การต่อต้านยังคงหลบซ่อนและดำเนินไป แม้จะถูกปราบปรามอย่างหนักก็ตาม ในขณะที่สำนึกทางชนชั้นที่เปลี่ยนแปลงไปของตัวละครในเรื่อง ‘วันพักร้อนของพนักงานคนหนึ่ง’ และ ‘ครอบครัวของมายา’ ก็เผยนัยยะให้เห็นว่า อำนาจของการควบคุมที่ดูเหมือนเบ็ดเสร็จนั้น ในทางหนึ่งก็ได้มอบอำนาจของการโต้กลับไว้ให้ด้วย

เมืองธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

‘เมืองธรรมดา’ คือชื่อเมืองสมมติที่ปรากฏอยู่ในเรื่องสั้นทุกเรื่องในเล่มนี้ ปรากฏทั้งในฐานะเมืองที่เป็นฉากหลังของเรื่องราวโดยตรง และเมืองที่ถูกกล่าวถึงจากมุมมองของผู้ที่จากเมืองธรรมดามาแล้ว

ความไม่ธรรมดาของเมืองธรรมดานั้นอยู่ตรงที่มันสามารถเป็นเมืองใดเมืองหนึ่งโดยเฉพาะก็ได้ หรือไม่เป็นเมืองใดเลยก็ได้ สำหรับผู้อ่านที่เป็นคนไทย ย่อมอดไม่ได้ที่จะคิดเปรียบเทียบกับเมืองไทย (ในอนาคต ?) เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบบางอย่าง แต่ถ้าหากเรามอง ‘ความเป็นเมือง’ ด้วยสายตาแบบเดียวกับที่อิตาโล คัลวีโน (Italo Calvino) จินตนาการถึงเมืองต่างๆ ไว้ในหนังสือ เมืองที่มองไม่เห็น แล้ว แก่นแท้ของเมืองแต่ละเมืองก็ไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว สามารถสับเปลี่ยนองค์ประกอบและแทนที่กันได้  ขึ้นอยู่กับการประกอบสร้างด้วยมโนทัศน์และจินตนาการที่แต่ละคนมีต่อเมืองนั้น

ความท้าทายประการหนึ่งของเรื่องสั้นชุดนี้อยู่ตรงที่ผู้เขียนโยนเราผู้อ่านเข้าไปในเมืองสมมติเมืองหนึ่ง แล้วทิ้งร่องรอยเบาะแสบางอย่างไว้เพื่อทดสอบดูว่า ‘ความหมาย’ ของร่องรอยเบาะแสเหล่านั้น ‘กระทำ’ อะไรต่อความรับรู้ของเราบ้าง ใครที่เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับความหมายชุดใดก็ย่อมบ่งบอกถึงพลังของบริบททางความคิดและบริบททางประวัติศาสตร์ที่ผู้อ่านคนนั้นรับรู้และถูกหล่อหลอมมา

บริบททางความคิด ประวัติศาสตร์ และจุดอ้างอิงทางเวลา (อดีต ปัจจุบัน อนาคต) ที่ไม่ตายตัวนี้จึงทำให้เรารับรู้และสามารถ ‘อ่าน’ เรื่องสั้นแต่ละเรื่องด้วยความหมายหลายระดับ ขึ้นอยู่กับว่าจุดศูนย์กลางที่เราใช้อ้างอิงนั้นคืออะไรและอยู่ตรงไหน หรือในทางกลับกัน การอ่านด้วยสายตาและความหมายแบบใดก็ย้อนกลับมาสะท้อนให้เห็นจุดอ้างอิงที่ประกอบสร้างความเป็นตัวเราขึ้นมา

ด้วยเหตุนี้ การอ่านรวมเรื่องสั้นชุดนี้จึงท้าทายให้สำรวจตัวเองไปด้วยว่า การอ่านของเรานั้น ‘แปดเปื้อน’ ด้วยกรอบการรับรู้และชุดความคิดแบบใดบ้าง ทั้งนี้มิใช่เพื่อมองหาการอ่านที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่คือการยอกย้อนกลับเพื่อชี้ให้เห็นว่าการอ่านที่บริสุทธิ์ผุดผ่องนั้นไม่มีอยู่จริง

ตัวอย่างที่สำคัญอันหนึ่งที่ผู้เขียน ‘เล่น’ กับกรอบการรับรู้ของเราอยู่ตรงที่ฉากหลังของเรื่องสั้นบางเรื่องที่ผมขอใช้คำเรียกแบบที่มีความ oxymoron (ชุดคำที่มีความหมายแย้งกัน) สักหน่อยว่า ‘ไซไฟย้อนยุค’ เพราะเมื่อเรานึกถึงขนบการเล่าเรื่องแบบนิยายไซไฟ ภาพที่เรามักจะคุ้นเคยก็คือชีวิตของผู้คนในโลกอนาคตที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยอำนาจของการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในแง่หนึ่งคำว่าไซไฟจึงผูกพ่วงอยู่กับจุดอ้างอิงทางเวลาที่เป็นอนาคต (ในแบบที่ผู้เขียนแต่ละคนจินตนาการเอาไว้) อย่างแนบแน่น 

แต่สิ่งที่ปรากฏในเรื่องสั้นชุดนี้คือ การกลับหัวกลับหางบริบททางประวัติศาสตร์และเส้นเวลาเอาไว้อย่างผิดที่ผิดทาง เช่น ในฉากหลังที่เป็นโลกเทคโนโลยีแห่งอนาคต กลับปรากฏผู้คนที่ยังแต่งกายด้วยชุดย้อนยุค หรือบางเสี้ยวเหตุการณ์ที่พอจะจับเค้าลางได้ว่าอาจจะเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุค 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา ก็ถูกสอดแทรกเข้ามาด้วยฉากหลังที่เป็นโลกอนาคต

 ผลลัพธ์ของการกลับหัวกลับหางที่ว่านี้ นอกจากจะยั่วเย้ากรอบการรับรู้ของผู้อ่านให้รู้สึกฉงนสนเท่ห์แล้ว  ยังเป็นการขยับขยายพรมแดนของการเขียนและการอ่านให้ออกไปจากอาณาบริเวณที่คุ้นเคยอีกด้วย เช่นว่าเราอาจอ่านความหมายของมันในเชิงเปรียบเปรยก็ได้ว่า นี่อาจจะเป็น ‘โลกอนาคต’ อีกแบบหนึ่งที่เราไม่สามารถเขียนประวัติศาสตร์และบอกเล่าความจริงได้อย่างตรงไปตรงมา การเขียนจึงมาในรูปของอนาคตอันไกลโพ้น และอดีตอันห่างไกล ที่ต้องกลับหัวกลับหางเพื่อซ่อนเร้นความหมายไว้หลายชั้น 

ในอีกแง่หนึ่ง การที่เรื่องเล่าไม่ได้สลัดตัวมันเองทิ้งจากบริบทที่กำกับความหมายของตัวมันเองไปโดยสิ้นเชิง แต่ผู้เขียนเลือกที่จะใช้ความหมายของบริบทเหล่านั้นเพื่อผลักเรื่องเล่าไปจนพ้นขีดจำกัดความหมายดั้งเดิมของมัน มันจึงสามารถเป็นได้ทั้งตัวมันเองและเป็นสิ่งอื่นได้ในเวลาเดียวกัน นี่จึงเป็นเสมือนคำยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า วรรณกรรมคือพื้นที่ของความเป็นไปได้

Fact Box

สถานการณ์ยังเป็นปกติ

สมุด ทีทรรศน์ เขียน

สำนักพิมพ์แซลมอน

สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของ สมุด ทีทรรศน์ ได้ที่เพจ : Gloomphim House

Tags: , , ,