ตัวหนังสือร้อยเรียงติดกันยาวเป็นพืดคล้ายเส้นทางบนถนนที่ทอดยาวไกลสุดลูกหูลูกตา ปราศจากการเคาะหน้ากระดาษ และไร้ซึ่งการแบ่งบท มีเพียงเรื่องเล่าต่อเนื่อง ลื่นไหลสลับขลุกขลัก ราวกับรถยนต์ที่เหยียบคันเร่งเร็วรี่ ไม่ผ่อนแม้ขอบยางตกหลุมบ่อบนท้องถนน 

เรื่องราวของแจ็ค เคอรูแอค (Jack Keuroac) และนีล แคสซาดี (Neal Cassady) ที่ออกรอนแรมครั้งแล้วครั้งเล่าทั่วผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ของสหรัฐอเมริกา พันทบพันไมล์จากฝั่งตะวันตกอันเหงาเงียบราบเรียบ สู่ความรื่นเริงระคนห่ามในฝั่งตะวันออก ก่อนดิ่งลงใต้ผ่านทุ่งกว้างร้อนระอุในเท็กซัส และด่านตรวจคนเข้าเมืองในลาเรโด เพื่อพานพบความสนุกสนานและแปลกใหม่ของเม็กซิโก

 เหตุผล? การโบยบินในเวิ้งฟ้าของอิสรภาพเพื่อตักตวงหรรษาอันไม่สิ้นสุด แค่นั้น พอจะเรียกว่าเป็นเหตุผลได้ไหม

กำลังคิดถึง ‘เงิน’ อยู่ในใจใช่ไหม? ทำงานสิ จะเป็นเด็กเก็บรถ คนห้ามล้อรถไฟ หรือลูกเรือหาปลาก็ได้ทั้งนั้นแหละ แค่เก็บเงินซื้อรถบุโรทั่งสักคันให้มันพอลากสังขารไปไหวก็พอแล้ว 

ถ้ามันพังน่ะเหรอ? …. ไม่รู้สิ ค่อยคิดตอนมันพังอีกทีแล้วกัน แต่รถประจำทางก็ไม่เลว หรือจะรอน้ำจิตน้ำใจบนถนนก็ได้ทั้งนั้น 

ซุกหัวนอนที่ไหน? ไม่ต้องห่วงหรอก เรื่องนั้นอาจจะง่ายที่สุด ….

ชีวิตต้องคิดอะไรมากมายขนาดนั้นเลยหรือ หากยังมีกาแฟให้กินในตอนเช้า มีเมรัยให้ร่ำและใครสักคนให้กอดผ่านค่ำคืน แค่นั้นก็เพียงพอแล้วหรือเปล่า

ถึงแม้แจ็คไม่ได้เขียนถึงเรื่องเหล่านี้ออกมาอย่างโจ่งแจ้ง หากแต่มันหลบเร้น สะท้อนและชวนคิดอยู่ทุกบรรทัดในงานเขียนของเขา

แจ็คสะท้อนให้เราตระหนักขึ้นว่า จังหวะของชีวิตก็ไม่ได้ต่างจากรถยนต์ที่เคลื่อนอยู่บนถนนนักหรอก บางครั้งสองคันสวนกันรวดเร็วเห็นเพียงแสงสีขาววูบวาบ บางครั้งจอดเคียงคู่ยาวนานเบื้องหน้าไฟแดง ก่อนเลี้ยวแยกกันไป และนานๆ ครั้งถึงจะพบสักคัน ที่ปลายทางไกลโพ้นเป็นที่เดียวกัน 

เช่นเดียวกับตัวละครประหลาดพิสดารมากมายที่ผลัดหมุนเวียนกันออกมาแนะนำตัวบนหน้ากระดาษ ผุดขึ้น หายไป ผุดขึ้นอีกครั้ง ก่อนหายไปตลอดกาลจาก On The Road สู่หนไหน และบางทีอาจเป็นชีวิตจริงของ แจ็ค เคอรูแอคเช่นกัน

ถึงแม้ต่อมา On the Road จะกลายเป็นสะพานแห่งแรงบันดาลใจให้ออกเดินทางสำหรับนักอ่านหลายคน ก่อนหน้านี้ มันเคยถูกปฎิเสธตีพิมพ์หลายครั้งคราด้วยเหตุผลทางต้นฉบับประมาณว่า “หนังสือทั่วไปไม่ได้มีหน้าตาแบบนี้” หรือจากเพื่อนสนิทของแจ็ค อย่าง อัลเลน กินสเบิร์ก (Allen Ginsberg) ที่คิดว่าเรื่องเล่าทั้งหมดนั้น “มันแสนจะส่วนตัวและเต็มไปด้วยถ้อยคำลามกอนาจาร”

ถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ครั้งแล้วครั้งเล่า บั่นทอนจนแหลกเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีก กว่าจะได้ตีพิมพ์ครั้งแรกก็ล่วงไปปี 1957(เขาเริ่มเขียนเดือนเมษายนปี 1951) แต่ก็ยังไม่วายถูกตัดตอนบางส่วนออกไปอยู่ดี รอกระทั่งแจ็คเสียชีวิตด้วยพิษสุรานั่นแหละ สำนักพิมพ์จึงหยิบต้นฉบับดั้งเดิมยาวพืดนั่นขึ้นมาตีพิมพ์ 

นีลที่พูดถึงในช่วงแรก ชื่อเต็มๆ ของเขาคือ นีล แคสซาดี (Neal cassady) เพื่อนสนิทที่แจ็คนับถือ ราวกับว่าเขาเป็นศาสดาองค์ใหม่ลงมาเกิด เปี่ยมไปด้วยความกระหายในเซ็กซ์ และมุทะลุบ้าบิ่นต่อความต้องการ เขาหาได้แยแสแม้ที่ขวางกั้นอยู่เบื้องหน้าคือกฎเหล็กหรือศีลธรรมจรรยาของสังคม

แต่ความบ้าบอผีเข้าผีออก กลับยิ่งทวีความน่าหลงใหลและทรงเสน่ห์อย่างลึกลับให้กับนีลไปเสียอย่างนั้น คงเหมือนที่เขาว่ากันว่า “คนบ้าๆ นี่แหละ น่าหลงใหลกว่าคนดีๆ เป็นไหนไหน” 

ทุกสิ่งที่พวกเขาทำและทุกบทสนาที่โต้ตอบกัน ช่างชวนให้สงสัยว่าคนทั้งคู่พลัดหลงมาจากอาณาจักรพิลึกกึกกือที่ไหนสักแห่ง เป็นสังคมประหลาดไม่มีขื่อแปคอยห้ามปรามความดิบใต้สำนึก มีป่าดงพงไพรลับแลรายล้อมให้ยึดสัญชาตญาณนำหน้าเหตุผล และปราศจากห่วงโซ่ใดๆ คล้องเหนี่ยวแขนขาหรืออิสรภาพของชีวิต 

หรือความห่ามบ้าทั้งหมดทั้งปวง ก็แค่เกิดจากมโนภาพและความเชื่อในหัวของพวกเขาเอง ที่ไม่สนหีบสนแตนอะไรทั้งนั้น นอกจากการกอบโกยความสุขและเพลิดเพลินกับชั่วขณะของปัจจุบัน เรียกให้ดูโก้ก็คงเป็นพวกสุขนิยมสุดโต่ง

หนึ่งสิ่งที่แจ็คถนัดเหลือเกินคือ การเล่าถึงดนตรีบีบ็อบ (ดนตรีที่เป็นที่นิยมของกลุ่มศิลปินบีตนิก) ที่เขาและนีลหลงใหล ตลอดเรื่องราวยาวเหยียดเกือบ 500 หน้ากระดาษ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ (Charlie Parker), ทีโลเนียส มังค์ (Thelonious Monk) ตลอดจนจอร์จ เชียริง (George Shearing) ผลัดกันขึ้นมาเปล่งเมโลดี้คลอเคล้า เร่งเร้า และหลายครั้งที่ดึงให้ดำดิ่งไปกับความรู้สึกของแจ็คเอง

“เขาดึงเอาอารมณ์นั้นออกมาแล้วก็บรรเลงเป่าผสานเข้าไปอย่างกลมกลืน เวลาหยุดนิ่ง เขาเติมเต็มพื้นที่ว่างเปล่าของพวกเราราวกับว่าตอนนั้นเสียงเพลงที่เขาส่งมานั้นลอยข้ามสะพานไป แล้วก็ย้อนกลับมาพร้อมกับความรู้สึกที่พรั่งพรูไม่มีวันหมดสิ้นในกระแสเสียง แน่นอนว่าทุกคนรับรู้ถึงมันได้ มันไม่ใช่แค่ท่วงทำนองธรรมดาแต่มันคือสิ่งนั้นโดยแท้”

การเดินทางนับพันไมล์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและชีวิตอันไร้หลักปักฐานของทั้งคู่ดำเนินควบคู่พร้อมกับ คัดง้างและขบกัดวัฒนธรรมวัตถุนิยมที่กำลังเฟื่องฟูสุดขีดในสหรัฐอเมริกาขณะนั้น

ทั้งคู่เบือนหน้าหนีต่อสินทรัพย์อันเป็นเครื่องหมายความมั่งคั่งมั่งมีของรุ่นพ่อ-แม่ ถ่มถุยใส่ความเสแสร้งอันไม่ใช่จริตที่จริงใจของใครบางคน และถึงกับหัวเราะกลิ้งไปกับพรมในห้องนั่งเล่นเมื่อถามถึงหลักประกันและความมั่นคงของชีวิต

“นายหมายความว่า เราจะเป็นคนจรจัดงั้นเหรอ” แจ็คถามนีล

“ทำไมจะไม่ล่ะ แน่นอนเราจะเป็นถ้าเราต้องการ และทั้งหมดนั้นไม่เลวร้ายอะไรที่จะจบลงแบบนั้น นายใช้เวลาทั้งชีวิตไปกับการไม่ยุ่งเรื่องความต้องการของคนอื่น…. นายควรหันมาอยู่กับตัวเองได้แล้ว” นีลตอบ 

พฤติกรรมอันแปลกแยกจากขนบของสังคม ทำให้พวกเขาถูกถีบและปฏิบัติเยี่ยง ‘ชนชั้นใต้ดิน’ เป็นพลเมืองชั้นสองของสังคมอเมริกา ทั้งที่จริงแล้ว รสนิยมทางดนตรี วรรณกรรมที่อ่าน ตลอดจนแนวคิดของชีวิต เรียกได้ว่าประณีต ลึกซึ้ง และผ่านการทบทวนมาเป็นอย่างดี

แต่อย่างว่าแหละ….. วิปลาสกับอัจฉริยะ ถูกแบ่งขาดจากกันด้วยเส้นบางๆ ที่ใครไม่รู้ขีดขึ้นเท่านั้น

ความระห่ำระคนวิปลาสนานาสิ่งอย่างที่พวกเขาทำ มองในแง่หนึ่ง ช่างเสื่อมเกียรติ ไร้สำนึก และเห็นแก่ตัว แต่หากมองเรื่องราวเหล่านั้นลงไปให้ลึกและชัด เสียงกระซิบราบเรียบแต่เย็นเยือกอาจจะดังขึ้นในหูเราเองว่า “แล้วชีวิตคืออะไร?”

คำถามเชิงปรัชญาโลกแตกข้างต้น พาเราไปสู่คำถามอีกนับหมื่นพันที่เราควรจะพูดคุย ถกเถียง และหาคำตอบภายในตัวเอง เราทำงานไปเพื่ออะไร อิสรภาพที่แท้จริงมีอยู่ไหม ความสุขที่แท้จริงมาจากไหน และถ้าให้เจ็บแปลบกว่านั้น “ตัวเรากล้าพอไหม ที่จะใช้ชีวิตแบบนีลและแจ็ค”

“เส้นทางของนายคืออะไรวะเพื่อน เส้นทางที่ศักดิ์สิทธิ์ เส้นทางที่บ้าบอ เส้นทางสายรุ้ง เส้นทางที่เกรี้ยวกราด มันมีเส้นทางสำหรับทุกคนอยู่ทุกที่ ไม่ว่าทางไหนและที่ไหนใครจะอยู่อย่างไร”

แต่หากจะออกตัวก่นด่าปรัชญาดิบของพวกเขาว่า “บ้าบอ งี่เง่า ไร้สาระ” คงไม่จริงนัก เมื่อชีวิตและงานเขียนของพวกเขากลายเป็นหนึ่งในคำภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของบุปผาชนในยุค 60’s และตระหง่านผ่านร้อนหนาวของยุคสมัย จน ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ ต้องหยิบจับขึ้นมาแปลเป็นภาษาไทยเมื่อต้นปี 2562 ภายใต้ชื่อ สู่หนไหน 

นั้นแหละ หนึ่งในเรื่องราวที่กลายเป็นตำนานของแจ็ค เคอรูแอค และผองเพื่อนที่ถูกเรียกในเวลาต่อมาว่า ‘กลุ่มบีตนิค’ (Beatnik Generation)

Fact Box

  • แจ็ค เคอรูแอค (1922-1969) ขึ้นชื่อในการเขียนรูปแบบที่เรียกว่า ‘กระแสสำนึกฉับพลัน’ โดยเรื่องราวของเขาค่อยๆ พรั่งพรูออกมาจากความทรงจำของตัวเอง ครั้งแรกที่เขาลงมือเขียน ‘On the Road’ เขานำกระดาษพิมพ์ดีดยาวกว่า 120 ฟุตมาติดกัน และลงมือเขียนมันจนจบใน 3 สัปดาห์ (แต่ใช้เวลาแก้อีกหลายครั้ง ก่อนได้รับการตีพิมพ์แบบตัดตอนบางส่วน ในปี 1957) ก่อนที่ต้นฉบับพิมพ์ดีดดังกล่าวของเขาจะถูกขายในเวลาต่อมาด้วยมูลค่า 2.43 ล้านดอลลาห์
  • แจ็คและผองเพื่อนของเขา อาทิ อัลเลน กินสเบิร์ก, วิลเลี่ยม เอส. เบอร์โรห์ส รวมถึงนีล แคสซาดี เป็นหัวขบวนของกลุ่มบีตนิค ซึ่งมีแนวคิดเมินเฉยต่อสภาพสังคมอเมริกายุคนั้น ที่กำลังฟุ้งเฟ้อจากอำนาจทางการทหารและเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตถึงขีดสุด แนวทางการใช้ชีวิตและหนังสือของพวกเขากลายมาเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มบุปฝาชนในเวลาต่อมา
  • หนังสือ On the Road ได้กลายเป็นภาพยนต์ในปี 2012 โดยผู้กำกับ วอลเตอร์ ซอลเลห์ (Walter Salles) 
Tags: , ,