18 ตุลาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนพยาน กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98(3) เนื่องจากถือหุ้นสื่อ บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด หรือไม่
09.15 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดี และชี้แจงว่าวันนี้ศาลจะไต่สวนพยานของผู้ถูกร้องจำนวน 10 คน ได้แก่
- ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกร้อง
- ณัฐนนท์ อภินันทน์ ทนายความผู้รับรองตราสารการโอนหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้สมพร
- ชัยสิทธิ์ กล้าหาญ คนขับรถของธนาธร
- สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของธนาธร ผู้รับโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด
- รวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยาของธนาธร
- ลาวัลย์ จันทร์เกษม บัญชีของบริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด พยานการโอนหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด
- กานต์ฐิตา อ่วมขำ พนักงานด้านการเงินของบริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด พยานการโอนหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด
- ปีติ จรุงสถิตย์พงศ์ หลานของสมพร ผู้รับโอนหุ้นบริษัทวีลัคต่อจากสมพรอีกทอดหนึ่ง
- ทวี จรุงสถิตย์พงศ์ หลานของสมพร ผู้รับโอนหุ้นบริษัทวีลัคต่อจากสมพรอีกทอดหนึ่ง
- พิพัฒพงศ์ รุจิตานนท์ ทนายความผู้รับรองตราสารการโอนหุ้นระหว่างนางสมพรและหลานทั้งสอง
พยานทั้งสิบคนมาให้การ และตอบคำถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นับเป็นการไต่สวนพยานจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีบุญส่ง กุลบุปผา, วรวิทย์ กังศศิเทียม, และจรัญ ภักดีธนากุล ทำหน้าที่ซักถามเป็นหลัก
เราทราบอะไรจากปากคำพยานทั้ง 10 ปากบ้าง?
1. ธนาธร ไปหาเสียงวันที่ 7 มกราคม 2562 และบึ่งรถกลับวันที่ 8 มกราคม 2562
รวิพรรณและชัยสิทธิ์ให้การตรงกันว่า ธนาธรเดินทางโดยเครื่องบินจากสนามบินดอนเมืองไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 7 มกราคม 2562 โดยชัยสิทธิ์ขับรถตู้สีขาวล่วงหน้าไปเพื่อรับธนาธรที่ จ.อุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2562
เช้าวันที่ 8 มกราคม 2562 ธนาธรมีกิจกรรมลงพื้นที่หาเสียงที่ จ.บุรีรัมย์ หลังหาเสียงเสร็จ ธนาธรเดินทางกลับพร้อมกับชัยสิทธิ์เพียงสองคน ในเวลาประมาณ 11.00 น. เนื่องจากเที่ยวบินที่จังหวัดบุรีรัมย์เต็ม เมื่อคำนวณเวลาหากจะเดินทางด้วยเครื่องบินจากอุบลราชธานีไปกรุงเทพมหานคร ก็ใช้เวลาใกล้เคียงกับการเดินทางโดยรถยนต์ ธนาธรจึงเลือกนั่งรถยนต์ที่ชัยสิทธิ์ขับกลับเพื่อพักผ่อนระหว่างทาง เดินทางถึงเลคไซด์วิลล่า บ้านพักของธนาธร ซึ่งเป็นสถานที่นัดโอนหุ้นระหว่างเวลาประมาณ 16.00-16.30 น.
2. การโอนหุ้นเตรียมการล่วงหน้าอยู่แล้ว หลังธนาธรตัดสินใจจะลงเล่นการเมือง
ธนาธรเข้าเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จำนวน 675,000 หุ้น เมื่อราวปี 2558 หลังจากสมพรชักชวนรวิพรรณให้เข้าไปบริหารงาน นอกจากนี้ ธนาธรยังถือหุ้นของบริษัทอื่นอีกประมาณ 30 บริษัท เมื่อตัดสินใจจะเล่นการเมือง จึงปรึกษาหารือภายในครอบครัวเรื่องการปรับโครงสร้างบริษัท และลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทของครอบครัวภายในเดือนพฤษภาคม 2561
สอดคล้องกับที่สมพรและลาวัลย์ ผู้จัดการทั่วไปที่ดูแลงานด้านบัญชีของบริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด เบิกความว่า มีการโอนหุ้นของธนาธรหลายตัวในปี 2562 เพื่อปรับโครงสร้างบริษัท
ด้านกานต์ฐิตา พนักงานด้านการเงินของบริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ก็เบิกความว่า ทราบเรื่องจากสำนักเลขานุการของสมพรตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ว่าจะมีการโอนหุ้นในวันที่ 8 มกราคม 2562 และไม่ใช่เฉพาะหุ้นของบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด เท่านั้น แต่ยังรวมถึงหุ้นของบริษัทในเครือไทยซัมมิทอีกสิบกว่าบริษัทที่นัดโอนในวันที่ 8 มกราคม 2562
3. ขั้นตอนการโอนหุ้น
ณัฐนนท์ ทนายความพรรคอนาคตใหม่ให้การว่า เขาได้รับการประสานงานจากพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของพรรคอนาคตใหม่ ว่าให้เตรียมเอกสารการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ของธนาธรและรวิพรรณ โดยลาวัลย์ให้การสอดคล้องว่า ตนมีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการโอนหุ้นของบริษัทต่างๆ ของสมพร เมื่อทราบว่าจะมีการโอนหุ้นในวันที่ 8 มกราคม 2562 จึงประสานเรื่องตราสารโอนหุ้นกับพุทธิพงศ์
วันที่ 8 มกราคม 2562 รวิพรรณอยู่ที่บ้านทั้งวัน ณัฐนนท์เดินทางมาถึงบ้านพักที่เลคไซด์วิลล่าเป็นคนแรกในเวลาประมาณ 16.00 น. เพื่อจัดเตรียมเอกสาร โดยชัยสิทธิ์ให้การว่า ขณะขับรถมาถึงบ้านพักของธนาธร พบรถที่ไม่ใช่ของสมาชิกในครอบครัวจอดอยู่แล้วหนึ่งคัน แต่ไม่ทราบว่าเป็นของใคร ก่อนที่เขาจะขอตัวกลับบ้านไปพักผ่อนทันทีโดยไม่ได้เข้าไปในบ้านพักของธนาธร ส่วนธนาธรเมื่อกลับถึงบ้านก็เข้าไปพักผ่อน ก่อนออกมาพบณัฐนนท์ที่ห้องทำงานประมาณ 17.00 น. กานต์ฐิตา ลาวัลย์ และสมพรมาถึงบ้านของธนาธรในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยกานต์ฐิตาเดินทางมาพร้อมกับลาวัลย์ และจัดเตรียมอากรสแตมป์เพื่อใช้ในการโอนหุ้นมาด้วย
หลังณัฐนนท์ กานต์ฐิตา และลาวัลย์ช่วยกันจัดเตรียมและตรวจเช็คเอกสารเรียบร้อย ธนาธรและรวิพรรณได้ลงชื่อโอนหุ้นให้สมพร โดยมีกานต์ฐิตาและลาวัลย์เป็นพยาน ส่วนณัฐนนท์เป็นทนายความผู้รับรองตราสารโอนหุ้น
สำหรับหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด สมพรเตรียมเช็คชำระค่าหุ้นที่เขียนเสร็จเรียบร้อยแล้วมามอบให้ธนาธรและรวิพรรณคนละใบ ส่วนหุ้นของบริษัทในเครือไทยซัมมิทนั้น ระบุเอาไว้ในสัญญาว่าจะชำระภายใน 6 เดือน ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับการบริหารกระแสเงินสดของบริษัท เมื่อทุกคนลงชื่อในตราสารการโอนหุ้นแล้วได้ติดอากรสแตมป์ที่ลาวัลย์เตรียมไปด้วย เพราะหากไม่ติดอากรสแตมป์ตราสารโอนหุ้นถือว่าใช้ไม่ได้ จากนั้นลาวัลย์จึงเพิ่มชื่อผู้โอนและผู้รับโอนลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท
4. “ผมไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน”
“เงินตั้งหกล้านจำไม่ได้ ถ้าเป็นผมผมไม่กล้าเซ็นนะตั้งหกล้านเนี่ย” บุญส่ง กุลบุปผา เปรยขึ้นระหว่างการไต่สวนเกี่ยวกับมูลค่าหุ้นของบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด ที่ธนาธรโอนให้สมพร
“ผมไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน…” คำตอบที่ธนาธรให้ต่อศาลเรียกเสียงหัวเราะจากผู้มาให้กำลังใจขณะชมถ่ายทอดสดการไต่สวนที่จัดไว้ให้บริเวณโถงของศูนย์ราชการ อาคารเอ ด้านหน้าศาลรัฐธรรมนูญ
หากนี่ไม่ใช่ครั้งเดียวที่ธนาธรตอบในทำนองนี้ต่อศาล เขายืนยันอีกครั้งว่า ครอบครัวไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน เมื่อศาลซักถามเกี่ยวกับการนำเช็คที่สมพรจ่ายเพื่อซื้อหุ้นไปขึ้นเงินล่าช้า ก่อนขยายความว่า เขายกให้ภรรยาเป็นผู้ดูแลเรื่องทรัพย์สิน การจะนำเช็คไปขึ้นเงินเมื่อไรจึงเป็นไปตามความสะดวกของรวิพรรณ ขณะที่รวิพรรณให้การในทำนองว่า ขณะนั้นต้องดูแลลูกอายุราว 3 เดือน ไม่สะดวกจะนำเช็คไปขึ้น และไม่ไว้ใจให้คนอื่นขึ้นเงินแทน ประกอบกับเป็นเช็คจากสมพร จึงไม่กังวลว่าเช็คจะเด้ง
5. หลังหุ้นวีลัคพ้นมือธนาธร บริษัทก็เตรียมเลิกกิจการ
ธนาธรให้การว่า ตั้งแต่เข้าถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เขาไม่เคยบริหารงานหรือมีตำแหน่งกรรมการในบริษัท และหลังจากโอนหุ้นก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว
“ผมไม่รู้เลยว่าใครเป็นกรรมการบริหาร บริหารกันอย่างไร มีผู้จัดการกี่คน พนักงานกี่คน” ธนาธรกล่าว
จากคำให้การของสมพร กานต์ฐิตา ลาวัลย์ พิพัฒพงศ์ ทวี และปีติ ให้ข้อมูลตรงกันว่า สมพรโอนหุ้นให้ทวีและปีติที่เป็นหลานชายในวันที่ 14 มกราคม 2562 โดยไม่ชำระค่าหุ้น เพื่อให้หลานทั้งสองช่วยเข้ามาช่วยฟื้นฟูกิจการของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งไม่มีพนักงานแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 แต่เมื่อทวีซึ่งจบการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์เข้ามาศึกษาและวางแผนฟื้นฟูธุรกิจ ได้เสนอในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 โดยมีแผนการว่า ต้องอัดฉีดเงินเพิ่มอีกหลายล้านบาท สมพรไม่เห็นด้วยจึงเตรียมเลิกกิจการเนื่องจากเป็นขาลงของธุรกิจนิตยสาร ทวีและปีติจึงนัดโอนหุ้นคืนให้สมพรโดยไม่มีการชำระค่าหุ้นในวันที่ 21 มีนาคม 2562 ทั้งสองครั้งมีพิพัฒพงศ์เป็นทนายความรับรองตราสารการโอนหุ้น ส่วนกานต์ฐิตาและลาวัลย์ลงชื่อเป็นพยาน
ขณะที่สมพร มารดาของธนาธร ให้การว่า ทยอยซื้อหุ้นคืนจากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว เพื่อให้การเลิกกิจการเป็นไปโดยสะดวกขึ้น ปัจจุบันบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด แจ้งเลิกกิจการแล้ว รอเพียงขั้นตอนการตรวจสอบจากกรมสรรพกร
6. รายงานบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นช้า เพราะรอรายงานพร้อมการเปลี่ยนกรรมการ
สมพรให้การต่อศาลว่า ตามปกติบริษัทจะส่งเอกสารสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือแบบ บอจ.5 ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าหลังการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี ซึ่งบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด จะยื่นช่วงเดือนเมษายนพร้อมงบการเงินประจำปี ส่วนลาวัลย์ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการโอนหุ้นชี้แจงต่อศาลว่า ไม่ได้รายงานบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในการโอนหุ้นวันที่ 8 และ 14 มกราคม 2562 เนื่องจากเป็นการโอนหุ้นภายในครอบครัว และบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ไม่มีพนักงานที่จะดำเนินการเรื่องดังกล่าว แต่รายงานการโอนหุ้นดังกล่าว รวมถึงการโอนหุ้นในวันที่ 21 มีนาคม 2562 ต่อกรมธุรกิจการค้าแล้ว เนื่องจากวันที่ 19 มีนาคมมีการประชุมวิสามัญ ที่เปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท จึงรายงานการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นไปพร้อมกัน
การไต่สวนในวันนี้ใช้เวลาไต่สวนกว่า 6 ชั่วโมง โดยบันทึกภาพเคลื่อนไหวและถ่ายทอดสดให้สื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจบริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญได้รับชม การไต่สวน เสร็จสิ้นประมาณ 16.30 น. ศาลอนุญาตให้คู่ความร่วมซักถามระหว่างการไต่สวน และอนุญาตให้คัดถ่ายคำเบิกความพยานที่เป็นข้อความถอดเทปได้หลังศาลมีคำวินิจฉัยในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 เวลา 14.00 น. โดยให้คู่ความยื่นแถลงการณ์ปิดคดีภายใน 15 วัน
หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การถือหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นเหตุให้ธนาธรขาดคุณสมบัติการสมัครเป็น ส.ส. ก็จะทำให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของธนาธรสิ้นสุดลงอย่างถาวร หลังถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ไว้ชั่วคราวก่อนหน้านี้ โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุด ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ แต่เนื่องจากธนาธร เป็น ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ เมื่อถูกวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ ผู้สมัครบัญชีรายชื่อในลำดับถัดไปของพรรคอนาคตใหม่ ก็จะได้เข้าทำหน้าที่ ส.ส. แทน
Tags: ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, อนาคตใหม่, หุ้นสื่อ, วีลัคมีเดีย