ปลายยุค 70s แนวดนตรีใหม่แบบ ‘พังก์’ ได้แจ้งเกิด มาพร้อมเยาวชนคนรุ่นใหม่ วัฒนธรรม แฟชั่น และแนวคิดที่ต่อต้าน ทั้งรูปแบบดนตรี วัฒนธรรมกระแสหลัก และการทำงานของรัฐบาลอังกฤษที่ไร้ประสิทธิภาพ จนเกิดอัตราการว่างงานสูง
พังก์จึงไม่ใช่แค่ดนตรี แต่เป็นอาวุธทางวัฒนธรรมที่ทรงพลังที่ใช้บอกเล่าการเมืองในยุคนั้น และในอีก 40 ปีต่อมา วงการดนตรีอังกฤษก็เกิดแนวดนตรีใหม่ที่เรียกว่า ‘ไกรม์’ (Grime)
จากเสียงร้อง (แร็ป) ของลูกหลานชนชั้นแรงงานในย่านการเคหะในแถบลอนดอนตะวันออก (East London) ที่ยากจนและไร้การเหลียวแล จนครั้งหนึ่งเคยเป็นย่านอันตราย เต็มไปด้วยอาชญากรรมและยาเสพติด เยาวชนเหล่านี้เติบโตขึ้นมาแล้วเห็นได้ว่าเขาไม่มีทางที่จะได้ดีไปกว่านี้ ไม่ใช่ไม่พยายาม แต่สภาพแวดล้อมและช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยทำให้พวกเขา ‘ได้เท่านี้’ ทั้งหมดถูกเรียบเรียงออกมาเป็นเนื้อร้องเพลงในสไตล์ดนตรีแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘ไกรม์’
Grime vs Hip Hop
หากเราฟังเพลงสไตล์ไกรม์ของศิลปินที่กำลังโด่งดังในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็น Wiley หรือ Stormzy อาจจะงงว่าแล้วมันต่างจากแร็ปตรงไหน ในเมื่อก็เป็นการร้องแร็ปเหมือนกัน แล้วเหตุใดเพลงไกรม์ถึงไม่ถูกจัดประเภทเป็นแร็ป ภายใต้หมวดหมู่ของดนตรีฮิปฮอป
ไกรม์ได้รับอิทธิพลมาจากฮิปฮอปก็จริง แต่อิทธิพลหลักโดยเฉพาะในแง่ของดนตรีมาจากแนวเพลงการาจของอังกฤษ ซึ่งโด่งดังในช่วงต้นยุค 2000s (มีศิลปินอย่าง MJ Cole, Artful Dodger, Armand Van Helden, Craig David ที่นำเพลงยูเคการาจให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก) ผสมผสานกับเพลงในสไตล์จังเกิล ที่เกิดในกลุ่มชนชั้นล่างของลอนดอน และ เรกเก้ ซึ่งเป็นแนวดนตรีที่ได้รับอิทธิพลมาจากจาไมกา
เนื่องด้วยพื้นที่แหล่งกำเนิดดนตรีไกรม์ มาจากย่านลอนดอนตะวันออกที่เคยเป็นย่านผู้อพยพจากแอฟริกาในช่วงปลายยุค 90s นอกจากจะเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมไกรม์ถึงมีสำเนียงดนตรีจาไมกาผสม และเต็มไปด้วยศิลปินผิวดำ
นอกจากจำนวนบาร์ ซึ่งมีตั้งแต่ 8 บาร์ไปจนถึง 64 บาร์ แต่ในระดับพื้นฐานมักจะเป็น 16 บาร์ และมี 8 บาร์ในท่อนคอรัสวนไปเรื่อยๆ จนจบเพลง (ซึ่งไม่ได้กำหนดเป็นโครงสร้างตายตัว) และความเร็วบีตที่ 140 bpm ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของไกรม์ ในแบบที่แทบจะฟังไม่ทัน (และไม่รู้เรื่อง) แร็ปตามไม่ได้แล้ว ในทางโครงสร้างดนตรี ไกรม์มีลักษณะต่อต้านรูปแบบหลักของฮิปฮอปหรือแร็ปเป็นทุนเดิม มักจะแร็ปไปเรื่อยๆ แทบจะไม่มีความป๊อปให้ติดหู ไม่ผ่อนหนักเบา หรือมีท่อนร้องสวยๆ มาผสมในแบบแร็ปฮิปฮอป (แต่เพลงไกรม์ที่มีท่อนฮุกหรือคอรัสที่ติดหูก็มี เพียงแต่นี่ก็ไม่ใช่รูปแบบตายตัว)
ไกรม์ไม่ใช้เครื่องดนตรีจริงหรือดนตรีสด จะใช้ดนตรีสังเคราะห์จากซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เท่านั้น โดยเฉพาะ Fruity Loops หรือที่รู้จักกันในนาม FL Studio วนไปเรื่อยๆ เพราะไกรม์ไม่ได้เกิดมาเพื่อแสดงความสามารถของศิลปินและนักดนตรีในเชิงศิลปะ การใช้ดนตรีสังเคราะห์ก็เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่สร้างดนตรีไกรม์ขึ้นมาสามารถสร้างงานผลงานเพลงขึ้นมาได้ง่ายและไม่ต้องมีต้นทุนมาก เนื่องด้วยบีตเหล่านี้สามารถหาซื้อได้ในราคาถูกในอินเทอร์เน็ต ไกรม์จึงผูกพันอยู่กับเรื่องเศรษฐกิจและชนชั้นอย่างเหนียวแน่น
จังหวะของไกรม์เป็นจังหวะที่เร่งเร้า กระแทกกระทั้น ส่วนเนื้อเพลงเต็มไปด้วยแสลงและสำเนียงเฉพาะของอีสต์ลอนดอนอันเป็นต้นกำเนิดของแนวดนตรีไกรม์ เรื่องราวเนื้อหาของเพลงยังเต็มไปด้วยความรุนแรง อาชญากรรม การค้ายา ความยากจน การต่อต้านสังคม ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นอยู่ ชีวิต สังคม ของผู้คนที่เป็นผู้ก่อกำเนิดเพลงไกรม์ขึ้นมานั่นเอง
อีกสิ่งที่กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของไกรม์ก็คือ แฟชั่น โดยเฉพาะชุดกีฬาแบบแทร็กสูท ก่อนที่มันจะกลายมาเป็นเทรนด์แฟชั่นโลกในปัจจุบันนี้ แทร็กสูทเคยเป็นตัวแทนของเหล่าวัยรุ่นชนชั้นแรงงานในลอนดอน ที่นอกจากจะไม่ได้เก๋แล้ว ยังถูกเลือกปฏิบัติอีกด้วย แต่ตอนนี้ มันได้กลายเป็นสิ่งที่เก๋ในโลกแฟชั่นไปแล้ว
The Birth of Grime
ในช่วงแรกที่ยังไม่ได้จัดประเภทแนวเพลงไกรม์นั้น เพลงที่เรียกว่าสไตล์ไกรม์ (ในภายหลัง) จะออกในรูปแบบแผ่นไวนิลขนาด 12 นิ้วเท่านั้น เพราะมันราคาถูกที่สุด และจะออกภายใต้สังกัดของศิลปินเอง (พูดง่ายๆ คือทำเอง) จำนวนไม่เยอะ 10-20 แผ่น เอาไว้แจกดีเจตามคลื่นวิทยุเถื่อนที่รู้จักกันในท้องถิ่น หากได้รับกระแสที่ดีถึงจะเข้าสังกัดและทำแผ่นออกมาขาย แต่อย่างมากก็หลักร้อยแผ่น
หนึ่งในแผ่นไวนิลของเพลงไกรม์ที่ถือกันว่าเป็นแผ่นแรกๆ ซึ่งเบิกทางแนวดนตรีนี้ ก็คือเพลง Pulse X ของ Musical Mob ซึ่งออกมาในเดือนมิถุนายน 2002
Pulse X ของ Musical Mob เป็นเพลงที่บุกเบิกแนวเพลงไกรม์ แม้ว่าโดยตัวโครงสร้างเพลงแล้วจะอยู่ที่บีต 138 bpm เท่านั้น
ส่วนเพลงที่ทำให้เพลงไกรม์โด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ก็คือเพลง Eskimo ของ Wiley ศิลปินซึ่งกลายมาเป็นเจ้าพ่อเพลงไกรม์ในปัจจุบัน และสไตล์ที่เรียกว่า Eskibeat ถือรูปแบบหนึ่งของไกรม์ไปแล้ว จนทำให้เพลง Eskimo ซึ่งมีเฉพาะดนตรีแต่ไม่มีเนื้อร้องกลายมาเป็นเพลงต้นแบบของไกรม์ในที่สุด
ยังมีศิลปินอื่นๆ ที่ทำเพลงในสไตล์ไกรม์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง N.A.S.T.Y Crew (Natural Artistic Sounds Touching You), Ruff Sqwad และ Roll Deep ซึ่งทั้งหมดมาจากแถบอีสต์ลอนดอนทั้งสิ้น
ปัจจัยอีกอย่างของความเป็นไกรม์ ก็คือความโดดเด่นของเอ็มซี (MCs) ที่มีมากกว่าคนทำดนตรี หรือโปรดิวเซอร์ เพราะสำหรับไกรม์ คนจะมาฟังเอ็มซีที่มาพ่นแร็ป และให้ความสำคัญไม่แพ้กัน
การจะทำความเข้าใจไกรม์ในเชิงวัฒนธรรมนั้น คงต้องอ้างอิงหนังสือ ‘Don’t Call Me Urban! The Time Of Grime’ ของไซมอน วีทลีย์ ผู้ที่ลงไปทำความรู้จักเบื้องหลังแนวดนตรีไกรม์ถึงถิ่นกำเนิด ไม่ใช่แค่ในแง่ดนตรีเท่านั้น แต่รวมไปถึงความเป็นอยู่ สภาพทางสังคมที่ก่อกำเนิดเพลงไกรม์ที่เต็มไปด้วยความดุดัน และเนื้อหาอันรุนแรง
ไกรม์เกิดมาจากบรรดาวัยรุ่นที่เกิดจากพ่อแม่ยุค 1980s และต้น 1990s ในแถบการเคหะในอีสต์ลอนดอนอันเสื่อมโทรมและไร้การเหลียวแล เป็นย่านที่เต็มไปด้วยความยากจนและผู้อพยพจากแอฟริกา ไร้งานแต่มีชีวิตอยู่ด้วยเงินอุดหนุนจากรัฐ เป็นสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยอาชญากรรมและยาเสพติด และเด็กที่เกิดมาในย่านนี้ก็ไม่มีทางที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีไปมากกว่านั้น มีเพียงสามทางเท่านั้นที่จะทำให้พวกเขาหลุดพ้น มีเงิน มีชีวิตดีที่ขึ้น (อย่าไปหวังเรื่องงาน) นั่นก็คือ การขายยา เป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงให้ได้ หรือเป็นนักดนตรี เพราะหากจะหวังพึ่งการศึกษาเพื่อยกระดับชีวิตคงจะเป็นไปได้ยาก
หลังจากการเริ่มต้นของเพลง Pulse X ของ Musical Mob ในปี 2002 เพลงสไตล์ไกรม์ก็เริ่มได้รับความนิยมจากบรรดาวัยรุ่นชนชั้นแรงงานในแถบอีสต์ลอนดอน เพราะเนื้อหามันพูดตรงในเรื่องของพวกเขา ไกรม์ใช้เวลาหลายปีก่อนจะโผล่ขึ้นเมนสตรีมด้วยเพลง POW ของ Lethal Bizzle ในปี 2005 ซึ่งสามารถไต่ชาร์ตเพลงของอังกฤษไปได้ถึงอันดับที่ 11
ความเฉพาะกลุ่มของเนื้อหาในเพลงสไตล์ไกรม์ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งของแก๊งต่างๆ ในลอนดอน อาชญากรรม การค้ายา (โคเคน เฮโรอีน และกัญชาเป็นสิ่งที่พูดถึงเป็นเรื่องปกติในเนื้อเพลงเหล่านี้ เช่นเดียวกับชื่อแก๊ง RSG ทางตอนใต้ของลอนดอน) แม้ในทางหนึ่ง มันจะทำให้ไกรม์มีความเป็นเอกลักษณ์ แต่ในทางหนึ่ง มันก็ทำให้ไกรม์ถูกกีดกันจากการเล่นเพลงของดีเจตามคลื่นวิทยุ เพราะภายใต้มุมมองของชนชั้นกลางและชนชั้นสูงก็จะบอกว่า เนื้อหาอันรุนแรงนี้ไม่เหมาะสมที่จะเปิด
นอกจากบรรดาเรื่องในพื้นที่แล้ว อีกหนึ่งเรื่องราวที่เห็นได้ในเพลงไกรม์ก็คือมุมมองต่อรัฐและการปฏิบัติต่อชนชั้นแรงงาน ซึ่งบรรดาวัยรุ่นชนชั้นแรงงานในแถบอีสต์ลอนดอนมักจะโดนตำรวจเรียกตรวจค้นเสมอ จนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างตำรวจกับคนในพื้นที่ และการมองอย่างเหมารวมของรัฐ หรือแม้แต่ชนชั้นกลางต่อคนในพื้นที่การเคหะของอีสต์ลอนดอน
The Second Rise
เพลงสไตล์ไกรม์ได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อยๆ ในช่วงต้นทศวรรษ 2010 ก่อนจะกลายมาเป็นแนวเพลงระดับโลกอีกครั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปีนี้ ที่ Stormzy ศิลปินแนวดนตรีไกรม์ได้ขึ้นแสดงที่งานแกลสตันบูรีเป็นครั้งแรก และเป็นศิลปินเดี่ยวผิวดำคนแรกที่ได้ขึ้นแสดงในเทศกาลงานดนตรีอันยิ่งใหญ่ของโลกที่มีมาตั้งแต่ปี 1970 นี้ (โดยมีการเว้นช่วงการจัดหลังปี 1981)
จากความนิยมของไกรม์ ซึ่งโผล่พ้นจากสถานีวิทยุใต้ดินมาสู่กระแสหลัก จนกลายเป็นแนวเพลงระดับโลกที่คนรู้จัก ทำให้แฟนเพลงของไกรม์ไม่ได้มีเพียงแค่เด็กหนุ่มวัยรุ่นไร้การศึกษามีงานทำบ้างไม่มีงานทำบ้างในอีสต์ลอนดอนอีกต่อไป กลายเป็นวัยรุ่นชนชั้นกลางที่ตื่นเต้นเร้าใจไปกับการแร็ปและดนตรีที่เร่งเร้าในความเร็ว 140 bpm แต่กลับไม่เชื่อมโยงไปถึงรากของเนื้อเพลง จะมีก็บางเพลงเท่านั้นที่พูดถึงเรื่องในระดับใหญ่อย่างนโยบายรัฐและโครงสร้างสังคมที่วัยรุ่นชนชั้นกลางพอจะเชื่อมโยงไปถึง
และนั่นก็ทำให้เกิดคำถามถึงการวิวัฒน์ของแนวเพลงไกรม์ในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร หรือมันจะถูกนิยามไว้เพียงรูปแบบของดนตรีที่ความเร็ว 140 bpm เท่านั้น และกลายเป็นแนวดนตรีกระแสหลักตามเทรนด์ เหมือนที่ครั้งหนึ่ง แนวดนตรีพังก์ก็เคยวิวัฒน์มาจนถึงจุดที่ไม่เหลือขนบแห่งการต่อต้านไว้เหมือนเมื่อครั้งที่ก่อกำเนิดขึ้นมา
อ้างอิง
ภาพ : จากหนังสือ ‘Don’t Call Me Urban! The Time Of Grime’
Tags: อีสต์ลอนดอน, wiley, stormzy, grime, ไกรม์, เพลงไกรม์