“…เพื่อให้สร้างร่างฉัน ไร้ร่องบอบบอกช้ำ
เหยื่อจึงถูกทรมาน คลุมหัวให้ขาดออกซิเจน ขาดอากาศหายใจ
จนกว่าจะปริปาก จนกว่าจะคายออกมา จนกว่าร่อแร่เจียนตาย
มีวิธีอีกมากมาย ในการซ้อมทรมานเหยื่อให้ยอมรับสารภาพออกมา
เช่น กรอกน้ำมหาศาล ครั้งแล้วครั้งเล่า ครั้งแล้วครั้งเล่า
จนสำลัก สะทกสะท้าน
จะมีสักกี่คนที่ทนไหว ร่างกายไม่ใช่อิฐ หิน ปูน
โดนหนักเข้า สลบไสล
คุณมองเห็นฉัน คุณก็มองเห็นฉัน
คุณมองเห็นฉัน ปราศจาก บาดแผล ไร้ร่องรอยซ้อมทรมาน
ฉันก็มองเห็นคุณ
กวีชิ้นนี้เขียนตอนได้ข่าวคุณตกอยู่ในสภาวะสมองบวม ยังมีลมหายใจ…”
ส่วนหนึ่งของบทกวีไร้ฉันทลักษณ์อันทรงพลังที่สะกดให้ผู้ฟังเรือนร้อยในบ่ายวันหยุดให้ต้องเงียบสงัด ทว่าในใจนั้นกลับสั่นระรัว บทกวีที่อุทิศให้การจากไปของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ เหยื่อรายล่าสุดที่เสียชีวิต หลังถูกนำตัวไปสอบสวนในศูนย์ซักถามและหมดสติลงพร้อมด้วยอาการสมองบวม กระทั่งจากไปพร้อมข้อสงสัยมากมายที่กำลังถูกทำให้หายไป
บทกวีไร้ฉันทลักษณ์เป็นของกวีหนุ่มจากตีนเขาบูโด นราธิวาส เจ้าของรางวัลซีไรต์ปีพ.ศ. 2553 ซะการีย์ยา อมาตยา ที่ถูกเปล่งขึ้นในงานเปิดตัวหนังสือ มลายูปริทัศน์ (Melayu Review) เล่ม 2
นี่เป็นหนึ่งในโปรแกรมคุณภาพจำนวนมากที่ถูกอัดแน่นตลอด 4 วัน ในงาน Pattani Decoded เทศกาลที่รวบรวมและดึงเอาภูมิปัญญาเก่ามาผสานกับยุคสมัย คือเทศกาลที่กำลังเติมความหวัง ปลุกแสงสว่างให้เมืองชายแดนใต้ได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เราจึงอยากชวนทุกคนไปถอดรหัสดูว่าที่นี่มีอะไรที่ ‘ดีโคตร’
“เราอยากให้คนในพื้นที่ตระหนักว่า งานออกแบบอยู่ใกล้ตัวทุกคน” ราชิต ระเด่นอาหมัด ประธานกลุ่ม Melayu Living หัวหอกคนสำคัญของงานครั้งนี้บอกกับเราเมื่อถามถึงความตั้งใจในการจัดงาน
“เราจึงดีไซน์งานครั้งนี้ให้เป็นงานที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ขณะเดียวกันเราก็พยายามจะบอกคนภายนอกด้วยว่าที่นี่มีอะไร ซึ่งถ้าเป็นข่าว นี่อาจไม่ใช่ข่าวที่พาดหัวได้ แต่เราจำเป็นต้องช่วยพูด ไม่งั้นเราจะโดนใครก็ไม่รู้มาแต่งตัวให้เรา”
สำหรับจุดเริ่มต้นของ Pattani Decoded ราชิตเล่าให้ฟังว่า เกิดขึ้นหลังจากที่ได้เชิญ หมู นนทวัฒน์ เจริญชาศรี มาบรรยายที่มาลายูลิฟวิ่ง “ตอนนั้นมีเด็กรุ่นใหม่มาฟังเยอะมาก ตอนจบพี่หมูเลยพูดขึ้นว่า น่าจะจัดงานดีไซน์วีคในปัตตานีได้แล้ว เพราะเขาเห็นพลังหนุ่มสาวที่นี่ เห็นงานศิลปะของคนรุ่นใหม่”
ราชิตเล่าว่าหลังจากวันนั้น เขาและกลุ่มเพื่อนก็เก็บมาคิดว่าไอเดียนี้น่าสนใจที่จะทำ ก็เริ่มขยายมาคุยกับคนที่คิดว่าน่าจะเป็นทีมงานหลักได้
“พอคิดได้แล้วเราจะทำ ก็มาที่โจทย์ที่สองที่ว่า ถ้าเราจัดดีไซน์วีคอย่างเดียว ประการแรกกลัวว่าคนอาจจะคาดหวังจะเกินไป ประการที่สอง ดีไซน์อย่างเดียวอาจจะไกลตัวคนส่วนมากไป เราเลยมองว่า เป็นไปได้มั้ยที่เราจะพูดถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เมื่อได้โจทย์มาอย่างนั้น เราเลยกลับมาดูว่า ภายในพื้นที่สามจังหวัดมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง เรามองว่าทั้งของเดิมที่ดีอยู่แล้ว กับของใหม่ที่ดีไซน์เนอร์และศิลปินท้องถิ่นพยายามจะหยิบต้นทุนทางวัฒนธรรมมาประยุกต์ให้เป็นงานร่วมสมัย กระทั่งได้กลายมาเป็น แนวคิดเรื่องการ Decoding หรือการถอดรหัส
เมื่อสรุปได้อย่างนั้น ดีไซน์วีคสุดคูลจึงกำเนิดขึ้นบนถนน 3 สายที่ได้ชื่อน่ารักๆ ว่า ถนนอา-รมย์-ดี (อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ และฤาดี) เทศกาลที่นำเอาเรื่องราวของเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุกมุมของพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส มาถอดรหัส โดยอาศัยพื้นที่อาคารเก่า พื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างมาแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงาน
ปรากฎการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายจากงาน 4 วัน โดยเฉพาะกับกิจกรรมเวิร์กชอปทุกกิจกรรมถูกจับจองเต็มอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่บางงานต้องควักเงินหลักพันบาทเพื่อเข้าร่วม นี่คือสิ่งที่คนจัดงานเองก็แทบไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ปัตตานี
งาน Pattani Decoded มีกิจกรรมไฮไลต์อยู่มากมาย อาทิ ‘เดินล่องส่องย่าน’ บนถนนถนนอา-รมย์-ดี การบรรยายทางวิชาการโดย ดร.สิงห์ อินทรชูโต การประกวดแบบสถาปัตยกรรม การจัด Chef Table จากร้านอาหารดัง การแสดงดนตรี จัดฉายภาพยนต์ เวิร์กชอปทำรองเท้าจากขยะโดยกลุ่มทะเลจร การทำผ้าเลอปัส โดยเบญจเมธา เวิร์กชอปด้านวรรณกรรมโดยวีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์ 2 สมัย เป็นต้น
เคลื่อนเมืองด้วยวรรณกรรม งานศิลปะและความคิดสร้างสรรค์
สิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองของงานสร้างสรรค์ในพื้นที่ คือการเกิดขึ้นของศิลปินรุ่นใหม่ในท้องถิ่น และพื้นที่ศิลปะที่เปิดกว้างอย่าง Patani Artspace ของ อาจารย์เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ การเกิดขึ้นของ De’ Lapae Art Space นราธิวาส ก่อตั้งโดย ปรัชญ์ พิมานแมน และคีต์ตา อิสรั่น เป็นบทพิสูจน์ว่าเมืองแห่งนี้กำลังเต็มไปด้วยแรงขับทางความคิด
“ช่วง 15 ปีที่ผ่านมานี้มีศิลปินในพื้นที่เกิดขึ้นมากมาย” ราชิตตอบทันทีเมื่อเราถามถึงเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นมา 15 ปี เราสงสัยต่อว่าเพราะอะไร?
เขามองว่า หากเทียบว่าเราอาศัยในเมืองที่ไม่ได้มีเหตุการณ์ใดๆ โอกาสที่เราจะรู้สึกว่าไม่ต้องดิ้นรน รู้สึกว่าเรียบมันมีเยอะกว่า คนเลยเฉยเมยต่อสิ่งรอบตัว ดังนั้นหลังจากเหตุการณ์ปะทุขึ้น มันจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่าคลื่นที่อยากผลักดันอะไรบางอย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเอาความรุนแรงมาเป็นเครื่องมือนะ เพียงแต่สถานการณ์มันถูกแปรเปลี่ยนเพื่อเยียวยาและทำให้สังคมไปต่อมากกว่า
ในเวทีเปิดตัวหนังสือ มลายูปริทัศน์ (Melayu Review) เล่ม 2 ซะการีย์ยา ในฐานะบรรณาธิการเล่าว่า เพื่อนต่างชาติเคยบอกกับเขาว่าพื้นที่สามจังหวัดทำให้นึกถึงยุคเรเนอซองส์ (ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ) มันคล้ายๆ งานนิทรรศการขนาดใหญ่ในพื้นที่ ช่วงที่เริ่มมีความขัดแย้ง มีการเกิดขึ้นของกลุ่มภาคประชาสังคม กลุ่มศิลปิน กลุ่มต่างๆ ที่พยายามจะสร้างงานศิลปะ มันมีการผลิขึ้นของงานศิลปะขึ้นในพื้นที่
“ตอนที่เราทำวารสารมลายูปริทัศน์ เราพบว่ามีหลายคนอยากเขียน แต่เราก็รอดูว่ามันจะเป็นยังไงต่อไป จะเขียนจริงจังมั้ย ผมคิดว่าเราต้องไม่ขัดขากันเอง ใครทำอะไรได้ก็ทำ”
ในบทนำของ มลายูปริทัศน์ฉบับแรก ซะการีย์ยาระบุไว้ว่า The Melayu Review คือการใคร่ครวญและค้นหาการเดินทางทางความคิด บอกเล่าในสิ่งที่มองเห็นได้ และพยายามมองให้เห็นในสิ่งที่มองเห็นไม่ได้ พยายามกระทำในสิ่งที่เป็นไปได้และในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ผ่านการทำงานทางความคิดกลั่นกรองถ่ายทอดออกมาเป็นงานขึ้นมา การเขียนจะนำไปสู่ความสงบ สมาธิ ใคร่ครวญ ทบทวน ความคิด การรับรู้ของตนเองเผื่อแผ่สู่ผู้อื่นและปลดเปลื้องอุปสรรคทางความคิดจนนำไปสู่อิสรภาพ
ความฮิปที่มีอยู่ในสายเลือด
หนึ่งในรหัสที่แฝงอยู่ในสายเลือดชาวมลายูสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ ความเป็นคนฮิปๆ ในแบบฉบับของตัวเอง สิ่งนี้มีให้เห็นอยู่โดยทั่วไป ด้วยความที่อดีตพื้นที่แห่งนี้คือเมืองท่าสำคัญของภูมิภาคคาบสมุทรมลายู การติดต่อ เชื่อมโยงกับโลกภายนอกตั้งแต่ไหนแต่ไร จึงไม่ต้องแปลกใจหากคุณจะพบว่า ทำไมคนที่สามจังหวัดถึงมีรสนิยมที่จัดจ้านได้เพียงนี้
ฮาดีย์ หะมิดง หนึ่งในกำลังหลักของงาน เคยพูดเรื่องนี้ไว้ในเวทีเสวนาเสียงของความหวัง ที่จัดขึ้นที่ cinema oasis ว่า คนในพื้นที่มีการเชื่อมโยงกับข้างนอกมานานแล้ว ยกตัวอย่างเรื่องดนตรี สมัยเด็กๆ ตัวเองก็ฟังเพลงจากข้างนอก เพลงต่างประเทศ ถ้าไปดูตอนนี้ สามจังหวัดกลายเป็นเมืองฮิปสเตอร์มาก สิ่งเหล่านี้ไม่เพิ่งเกิดขึ้น หากย้อนไปในอดีต เมืองปีนังคือศูนย์กลางความเจริญของภูมิภาค ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากที่นี่ ดังนั้นวัฒนธรรมต่างๆ ก็ถูกส่งมาโดยตรง ไม่ได้รับจากส่วนกลางของไทย จึงไม่แปลกที่หากเข้าไปดูบางบ้านเราจะเห็นงานเซรามิกจากอิตาลี ซึ่งบางหลังตอนนั้นมีก่อนที่คนกรุงเทพฯจะมีด้วยซ้ำ
หรือแม้แต่ความเป็นเมืองของสินค้ามือสอง ไม่เชื่อลองมองไปยังพ่อค้าเสื้อผ้าและของมือสองในตลาดจตุจักร จะพบว่าส่วนมากเป็นคนสามจังหวัด เริ่มเข้าไปขายกันตั้งแต่ยุคที่ยังอยู่สนามหลวงด้วยซ้ำ เรียกได้ว่า คนที่จับเสื้อผ้ามือสองที่เก่งที่สุดไม่มีใครเอาชนะคนสามจังหวัดได้เลย
ราชิตเห็นด้วยในสิ่งนี้ เขามองว่าความฮิปเหล่านี้คือ ยีนของคนที่นี่ ด้วยความเป็นเมืองท่าเก่า พวกเราเลยซึมซับกันมา สไตล์ต่างๆ อย่างการฟังเพลง สมัยก่อนเด็กที่นี่ไม่ได้ฟังวิทยุจากกรุงเทพ แต่รับเทรนด์มาจากมาเลเซีย
“ตอนเด็กๆ ก็โตมากับ The Beetle, Manic Street, Green Day, Oasis ขณะที่เพื่อนๆ ในภาคใต้ตอนบนยังไม่รู้จักด้วยซ้ำ สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนออกมาในงานที่พวกเราทำด้วย” ราชิตเล่าถึงวัยเด็ก
แต่เมื่อเราถามว่ากลับไปว่า ทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงไม่ใช่วัฒนธรรมกระแสหลักของสังคมที่นี่ ทั้งๆ ที่มันน่าจะเป็นแบบนั้น
เขาก็อธิบายให้ฟังว่า ด้วยความที่คนส่วนมากคือชาวมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีความเชื่อว่าวันนึงเราต้องกลับไปหาพระเจ้า ดังนั้นพอถึงจุดๆ หนึ่ง เราก็สละความฮิปเหล่านี้ออก วัฒนธรรมนี้มันเลยไม่เมนสตรีมทั้งในบริบทของพื้นที่และภาพใหญ่ในความหมายของประเทศด้วย
ปลุกเมืองที่กำลังตาย
อย่างที่เล่าไปข้างต้น งานครั้งนี้จัดขึ้นครอบคลุมบนถนนสามสายประวัติศาสตร์ อันได้แก่ อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ และฤาดี ซึ่งในอดีตตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ที่นี่เคยเป็นถนนสายสำคัญทั้งการค้า การทูต ที่หลอมรวมคนทุกเชื้อชาติเอาไว้ด้วยกัน จึงไม่ต้องแปลกใจหากจะเดินไปมุมไหนของถนนสายนี้ แล้วจะเห็นร่องรอยความรุ่งเรืองในอดีตซ่อนอยู่
พันธุ์ฤทธิ์ วัฒนายากร อดีตประธานชุมชนหัวตลาด และทายาทของตระกูลคณานุรักษ์ (ซึ่งถือเป็นตระกูลที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3) เล่าให้เราฟังถึงช่วงแรกที่กลุ่มของราชิตเข้ามาใช้พื้นที่อาคารพาณิชย์เพื่อก่อตั้ง Melayu Living ว่า ตอนนั้นชาวบ้านในพื้นที่ไม่ไว้ใจว่า คนกลุ่มนี้จะเข้ามาทำอะไร แต่ภายหลังเมื่อได้ทำความรู้จักกัน ได้แลกเปลี่ยนก็เริ่มมองเห็นว่า นี่คือคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนสังคม
“ก่อนหน้านี้ถนนแถบนี้ตายไปแล้ว” พันธุ์ฤทธิ์ กริ่นกับเราอย่างนั้นเมื่อถามถึงงานที่กำลังเกิดขึ้นบริเวณรอบๆ บ้าน
เขาเล่าให้ฟังว่า อดีตที่นี่คือจุดศูนย์กลางของปัตตานี เพราะติดแม่น้ำ เดินทางสะดวก หลังๆ เมืองเริ่มโต ก็ขยายออกไปเรื่อยๆ ตรงนี้ก็เริ่มถดถอยและไม่มีใครแวะมาในที่สุด
“โดยเฉพาะยิ่งหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ยิ่งแล้วใหญ่ คนแถวนี้ หกโมงเย็นปิดบ้านเงียบไม่มีใครออกมาเดินเลยสักคน คนก็ระแวง รู้สึกไม่ปลอดภัย”
ถึงแม้จะมีคนมามาสักการะศาลเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยวอยู่บ้าง ทว่าอดีตประธานชุมชนแห่งนี้บอกว่า ถนนเส้นนี้มันได้ตายไปเรียบร้อยแล้ว
กระทั่งมีกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างราชิต เริ่มเข้ามาจัดกิจกรรม เดินชมย่านเมืองเก่านี่แหละ ที่จุดความหวังให้ชุมชนกลับมาอีกครั้ง
พันธุ์ฤทธิ์ เล่าถึงกระบวนการทำงานร่วมกันว่า เริ่มจากการไปคุยกับบ้านทุกหลังในละแวกนี้ แรกเริ่มเดิมทีก็ไม่มีใครอยากเปิดบ้านให้ชม ไม่ใครเชื่อว่าจะทำได้ จะให้ใครก็ไม่รู้เข้ามาดูบ้าน แต่สุดท้ายเวลาก็ได้พิสูจน์ว่าที่นี่กำลังจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ผ่านกิจกรรมเหล่านี้ จากเดิมที่ไม่มีใครขับผ่าน ทุกวันนี้แถวนี้กลายเป็นพื้นที่ที่วัยรุ่นอยากมา ร้านกาแฟต่างๆ ก็เริ่มมาเปิด เหมือนได้ชุบชีวิตย่านนี้กลับมาอีกครั้ง
ขณะที่ทางด้านราชิตมองว่า สิ่งที่พวกเขากำลังทำไม่ใช่การอนุรักษ์แบบเดิม แต่โจทย์คือจะทำอย่างไรให้เมืองมีชีวิตขึ้นมา อย่าให้เมืองมันตายลงไปอีก บางคนอาจจะมองว่า การจัดงานแบบนี้ก็ไม่ต่างจากอีเวนต์ประเดี๋ยวประด๋าว จบจากนี้ทุกอย่างก็จะกลับไปเงียบลง
“จริงๆ แล้วตรงกันข้าม สิ่งที่เราได้จากงานที่ผ่านมา ชาวบ้านเมื่อเห็นว่าบ้านตัวเองมีคุณค่า บางบ้านถูกปิดร้างไปแล้ว แต่พอเราไปทำความสะอาด เอางานศิลปะเข้าไปอยู่ ชาวบ้านก็คิดไม่ถึงว่า เฮ้ย มันทำได้นี่น่า” ราชิตเล่าความรู้สึก
“เราอาจเป็นสถาปนิกที่ไม่ดีก็ได้ บางคนอาจบอกว่า การอนุรักษ์ต้องคงความดั้งเดิมเอาไว้ แต่เราถามกลับว่า แล้วชาวบ้านที่ต้องอยู่ทุกวัน เขาอยู่กับมันได้จริงหรือเปล่า จะไปบอกว่าอนุรักษ์เลยร้อยเปอร์เซ็นต์ก็อาจไม่ใช่คำตอบ ดังนั้นเราจึงลองหาวิธีการอื่นๆ ที่พยายามค่อยๆ พูดว่าถ้าจะปรับเปลี่ยน ต่อเติมบ้านควรทำแบบไหน เพื่อให้เสน่ห์เก่ามันไม่หายไป ขณะเดียวกันก็ยังอยู่ได้ด้วย”
“เราไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เราทำจะเปลี่ยนบ้านเมืองสงบสุขทันที แต่ในเมื่อทุกคนมีความทุกข์อยู่ เราก็พยายามเติมสิ่งเหล่านี้เพื่อว่าอย่าเพิ่งหมดหวังกันเสียก่อน”
ราชิตมองว่า หากเรามองประวัติศาสตร์ว่าต้องทำตามนั้นเป๊ะๆ เราก็ได้ประวัติศาสตร์แบบแช่แข็ง ดังนั้น Pattani Decoded จึงเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมา มันคือประวัติศาสตร์ในยุคของเรา เป็นงานที่พยายามดึงความร่วมสมัยออกมา การเอาสองอย่างมาปะทะนี่เองที่จะทำให้เราได้ความหมายใหม่ๆ ออกมา
Tags: Pattani Decoded