ทุกวันนี้ คนกรุงเทพฯ จำนวนมากอาจไม่ประหลาดใจนักกับการกินอาหารเช้าระหว่างเดินทาง คนจำนวนมากพบว่าตัวเองกินอาหารในรถ หรือไม่อย่างนั้นก็แขวนท้องไปจนถึงที่ทำงานแต่เช้าตรู่ เพื่อจะพึ่งพิงโรงอาหารของตึก หรือไม่ก็ตลาดเล็กๆ ข้างๆ ออฟฟิศ

นั่นคืออาหารเช้าจากการปฏิบัติจริง แต่ในจินตนาการและอุดมคติแล้ว ถ้าพูดถึงคำว่า ‘อาหารเช้า’ เชื่อว่าหลายคนอาจนึกภาพอาหารเช้าแสนอบอุ่นในครัวที่บ้าน เป็นอาหารเช้าที่นั่งกินกันพร้อมหน้าทั้งครอบครัว ก่อนเร่งรุดแยกย้ายกันไปทำกิจธุระของแต่ละคน

ว่าแต่ว่า – อาหารเช้าแบบ on the go หรืออาหารเช้าระหว่างเดินทางนั้น มีกำเนิดมาตั้งแต่เมื่อไรกัน?

หลายคนอาจคิดว่า อาหารมื้อที่แทบทุกคนกินนอกบ้านเป็นประจำมากที่สุดก็คืออาหารเที่ยง แต่เชื่อหรือไม่ว่า มีตัวเลขบอกว่า คนอเมริกันถึงสองในสามกินอาหารเช้ากันนอกบ้านระหว่างเดินทางไปทำงาน แล้วไม่ได้เพิ่งกินเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ ทว่าการกินอาหารเช้าระหว่างเดินทางเกิดขึ้นเป็นร้อยปีแล้ว ตั้งแต่คนยังเดินทางด้วยรถม้าอยู่เลย 

แน่นอน อาหารเช้าระหว่างเดินทางที่ดีที่สุด ย่อมหนีไม่พ้นแซนด์วิช

อาหารเช้าแบบแซนด์วิช (หรือที่เรียกว่า Breakfast Sandwich) ถือเป็นอาหารหลักที่ก่อกำเนิดขึ้นหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในหมู่คนงานโรงงานในลอนดอนสมัยศตวรรษที่ 19 คนงานเหล่านี้มักจะเดินไปทำงาน แล้วก็แวะแผงลอยขายกาแฟระหว่างทาง จิบกาแฟเร็วๆ สักแก้วหนึ่ง แกล้มไปกับแซนด์วิชขณะเดินเท้าเข้าไปสู่โรงงาน

มันคือการกินที่รีบเร่ง แต่ในเวลาเดียวกันก็ประหยัดเวลาและสะดวกเอามากๆ จนแม้ในปัจจุบันนี้ เราก็ยังเห็นแผงลอยขายกาแฟแบบที่ว่าได้ตามเมืองใหญ่ ทั้งในลอนดอนและนิวยอร์ก แต่แทนที่จะเป็นคนงานโรงงานเพียงอย่างเดียว ก็กลายเป็นภาพนักธุรกิจใส่สูทเดินถือแก้วกาแฟกับแซนด์วิชไว้ในมือเดียวกัน (มืออีกข้างถือกระเป๋าใส่เอกสารหรือโน้ตบุ๊ก) แล้วก็สาวเท้าเดินเร็วๆ เพื่อไปทำงาน

ในลอนดอนยุคนั้น บางครั้งก็เรียกแซนด์วิชอาหารเช้าว่า Bap Sandwich เป็นชื่อที่มาจากขนมปังที่ใช้ทำแซนด์วิช มันไม่ใช่ขนมปังแผ่นๆ แบบที่เราคุ้นในปัจจุบัน แต่เป็นขนมปังซอฟต์โรลที่เป็นก้อนกลมๆ นิ่มๆ นำมาผ่าแล้วใส่ไส้ต่างๆ ลงไป โดยมากไส้คือไข่ต้มกับเนื้อ แต่ถ้าให้หรูหราดูดีขึ้นมาหน่อย ก็อาจมีไส้กรอกกับเบคอนอยู่ด้วย

การปฏิวัติอุตสาหกรรมพาแซนด์วิชอาหารเช้าข้ามแอตแลนติกมาสู่สหรัฐอเมริกา แล้วคนอเมริกันก็ดัดแปลงแซนด์วิชอาหารเช้าของตัวเอง ด้วยการเพิ่มไส้ต่างๆ เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นไข่ แฮม พริกหวาน หรือหัวหอม เป็นแซนด์วิชที่หลายคนเรียกว่า Denver Sandwich โดยในปัจจุบันเดนเวอร์แซนด์วิชมักจะใส่ไส้ออมเล็ตมากกว่าอย่างอื่น

เจมส์ เบียร์ด (James Beard) นักเขียนเรื่องอาหารเคยตั้งทฤษฎีเอาไว้ว่า แซนด์วิชแบบนี้เกิดจากคนงานชาวจีนที่สร้างรางรถไฟในอเมริกายุคบุกเบิกตะวันตก คนงานเหล่านี้ใส่โน่นนั่นนี่ลงไป (เช่นหัวหอม) ก็เพื่อกลบกลิ่นไข่ที่ไม่ค่อยจะสดเท่าไร อย่าลืมว่าคนงานวางรางรถไฟต้องเดินทางไปเรื่อยๆ การหาซื้อของสดจึงเป็นเรื่องยาก แต่ไข่เป็นสิ่งที่นำติดตัวไปได้นานหลายวัน หรือบางครั้งเป็นเดือนก็มี ไข่จึงสะดวกต่อการปรุงอาหารมาก แต่ถ้าไข่ไม่สดก็อาจมีปัญหาเรื่องกลิ่นได้

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นอีก ว่ากันว่า การกินอาหารเช้าระหว่างเดินทางของคนอเมริกันนั้น เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อเดินทางมากับเรือเมย์ฟลาวเวอร์ (Mayflower) แล้ว เรือเมย์ฟลาวเวอร์ขนผู้อพยพชาวเพียวริแทนกลุ่มแรกออกจากท่าเรือที่เมืองพลีมัธในอังกฤษ ไปถึงอเมริกาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการเดินทางที่ยากลำบาก กาารปันส่วนอาหารในเรือย่ำแย่ อาหารประเภทบิสกิตและโอ๊ตมีลที่เป็นเสบียงสำคัญมีหนอนขึ้น ทำให้ปันส่วนได้น้อยลงไปอีก แต่นักประวัติศาสตร์อาหารก็ถือว่า อาหารในเรือเมย์ฟลาวเวอร์น่าจะเป็นอาหารระหว่างการเดินทางครั้งแรกๆ ที่เกิดขึ้น

เมื่อบุกเบิกตะวันตก ยามเช้าของนักบุกเบิกทั้งหลายที่ใช้ชีวิตอยู่บนเกวียนโขยกเขยกไปตามทางเกวียน (แบบเดียวกับในหนังสือ ‘ผลพวงแห่งความคับแค้น’ ของจอห์น สไตน์เบค) มักเริ่มต้นวันด้วยอาหารที่ปรุงใหม่ๆ แต่เป็นการปรุงกันเวลาตั้งค่ายพักแรมริมทางเกวียนนั่นเอง โดยอาหารเช้าของผู้อพยพและนักบุกเบิกเหล่านี้ ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยถั่ว ขนมปังที่ทำจากแป้งข้าวโพด แล้วก็เนื้อสัตว์อย่างเบคอน 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หายากที่สุดก็คือถั่ว ดังนั้น บ่อยครั้งจึงพบว่าพวกเขาแทนที่ถั่วด้วยออมเล็ตแทน และนั่นทำให้เกิดเรื่องน่าสนใจขึ้นอย่างหนึ่ง

สิ่งนั้นก็คือ ‘ร่องรอยออมเล็ต’ ที่ถูกทิ้งไว้ในอาหารเช้า ซึ่งบ่งบอกทั้งวิวัฒนาการของตัวออมเล็ตเองและวิวัฒนาการของการเดินทางและใช้ชีวิตของนักบุกเบิก

มันคือร่องรอยประวัติศาสตร์น่าตื่นตาตื่นใจที่ฝังอยู่ในออมเล็ตสองอย่าง

อย่างแรกก็คือออมเล็ตที่ปรากฏอยู่ในแซนด์วิชอย่างที่เรียกว่า Denver Sandwich ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าหมายถึงเมืองเดนเวอร์ในโคโลราโด ออมเล็ตแซนด์วิชแบบนี้จึงมีนัยย้อนกลับไปถึงการเดินทางบุกเบิกตะวันตกยุคแรกๆ ที่เกี่ยวพันไปถึงคนงานชาวจีนที่มาวางรางรถไฟด้วย เพียงแต่ต่อมาภายหลัง มีหลายคนอ้างว่าเป็นผู้คิดค้นเดนเวอร์แซนด์วิชขึ้นมา ทว่าก็เหมือนอาหารอื่นๆ อีกมากมายนั่นแหละครับ คือไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นคนคิดค้นกันแน่ แต่บางครั้งก็มีคนเรียกเดนเวอร์แซนด์วิชว่า Western Sandwich ด้วยเหมือนกัน นี่จึงเป็นร่องรอยวิวัฒนาการของแซนด์วิชในโลกตะวันตก ที่น่าจะมี ‘ราก’ มาจากการแทนที่ถั่วด้วยไข่ของผู้อพยพ และการใส่สิ่งอื่นๆ ลงไปในไส้แซนด์วิชเพื่อกลบกลิ่นไข่ที่ไม่สดของกรรมกรชาวจีนด้วย

อย่างที่สองก็คือ เมื่อการบุกเบิกตะวันตกยาวไกลมาจนถึงแคลิฟอร์เนียแล้ว เราได้พบกับออมเล็ตอีกชนิดหนึ่ง เป็นออมเล็ตชนิดใหม่ที่ว่ากันว่าถือกำเนิดในแคลิฟอร์เนียยุคตื่นทอง แต่ออมเล็ตชนิดนี้มีชื่อเฉพาะเรียกว่า Hangtown Fry 

ออมเล็ตชนิดนี้มีกำเนิดจากเมือง Placerville ซึ่งในตอนนั้นมีชื่อว่า Hangtown มันเป็นออมเล็ตที่ ‘หรูหรา’ กว่าเดิม เพราะคนร่ำรวยขึ้นจากการขุดทองที่แคลิฟอร์เนีย จึงอยากกินอาหารที่แพงขึ้น 

Hangtown Fry เป็นออมเล็ตไม่ธรรมดาที่ใส่อะไรลงไปหลายอย่างเพื่อเพิ่มพลังและความอร่อย ที่นิยมใส่กันมากก็คือเบคอนกับหอยนางรม ทำให้กลายเป็นออมเล็ตที่หรูหราขึ้นมาทันที ออมเล็ตแบบนี้ไปปรากฏอยู่ในอาหารเช้าแบบแซนด์วิช จนกลายเป็น Hangtown Fry Sandwich ที่คนนิยมกินกันมากในยุคตื่นทอง

จะเห็นได้ว่า ออมเล็ตแบบเดนเวอร์กับแบบแฮงก์ทาวน์ ล้วนมีที่มาทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวพันกับ ‘เส้นทางเกวียน’ (Wagon Trail) ของนักบุกเบิกตะวันตกในหลายๆ ยุค โดยได้ทิ้งประวัติศาสตร์เหล่านี้ไว้ในรูปของอาหาร

ต่อมา แซนด์วิชอาหารเช้ากลายเป็นอาหารหลักในหมู่ผู้ใช้แรงงานและนักเดินทาง มีหลักฐานว่า แซนด์วิชอาหารเช้าปรากฏครั้งแรกในหนังสืออาหารที่ตีพิมพ์ในปี 1897 แต่แซนด์วิชอาหารเช้ามา ‘ระเบิด’ ครั้งใหญ่ในหมู่คนทำงานจริงๆ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองในราวยุค ’50s ถึง ’60s  เมื่อคนอเมริกันหมกมุ่นอยู่กับความเร็วและความสะดวกสบาย ทำให้ ‘พิธีกรรม’ ในการกินอาหารเช้าที่เคยอ้อยอิ่ง อบอุ่น และการอยู่พร้อมหน้า – กลายเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยเกินไป 

จะต้องจัดจานอาหารเช้าสี่ที่ทำไม ในเมื่อสามารถวางแซนด์วิชรวมๆ เอาไว้ในจานเดียว แล้วต่างคนต่างหยิบกินได้?

ดังนั้น อาหารเช้าแบบแซนด์วิชจึงแพร่หลาย และเป็นไปได้ว่าเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับวัฒนธรรมฟาสต์ฟู้ดแบบอเมริกัน โดยเมื่อเชนฟาสต์ฟู้ดอย่างแมคโดนัลด์เห็นแนวโน้มนี้ ก็แน่นอนว่าจะต้องก้าวเข้ามาขอมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อาหารเช้าแบบฟาสต์ฟู้ดเต็มตัวอย่างแรกๆ ที่มีการ ‘ประดิษฐ์’ ขึ้นมา ก็คือ Egg McMuffin ที่ใช้มัฟฟินแทนขนมปังธรรมดา และทำไข่เลียนแบบ Egg Benedict โดยไม่ใช้ซอส Hallandaise ที่อาจไหลเปื้อนเลอะมือได้ โดยการทอดไข่ให้เป็นวงกลม และมีเนื้อกับชีสประกอบ อาหารชนิดใหม่นี้เกิดขึ้นในปี 1971 และกลายเป็นอาหารฮิตติดร้านแมคโดนัลด์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันนี้ แซนด์วิชอาหารเช้ามีความหลากหลายมาก ขนมปังที่ใช้มีตั้งแต่ซาวร์โดห์เบรดไปจนถึงครัวซองต์ เบเกิล ฟอกัชเชีย อิงลิชมัฟฟิน และบริโอช (Brioche) ส่วนไส้ก็มีตั้งแต่เรียบง่ายธรรมดาๆ ไปจนถึงแฮมอิตาเลียนอย่างโพรชุตโต (Prosciutto) การใช้ไข่ที่เลี้ยงไก่แบบปล่อย เลยไปถึงเนยแข็งสารพัดชนิด เช่น กรูแยร์ (Gruyère) และอื่นๆ

จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการความรวดเร็ว ก็เริ่มประดิดประดอยมากขึ้น ใช้เวลามากขึ้น พิถีพิถันมากขึ้น และย้อนกลับไปสู่ ‘พิธีกรรม’ มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

คำพูดที่ว่า – ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอยู่เสมอ จึงอาจเป็นเรื่องที่เห็นได้แม้กระทั่งในแซนด์วิชอาหารเช้า

Tags: , , , ,