“ในปี 2549 ผมซึ่งได้ร่วมรัฐบาลทักษิณ ทหารออกมาปฏิวัติ แต่ประชาชนออกมาต้อนรับการปฏิวัติครั้งนั้นมากมาย ที่มันเป็นแบบนี้เพราะตอนรัฐบาลไทยรักไทยบริหารประเทศอยู่นั้น นโยบายต่างๆ เอื้อประโยชน์ให้กับครอบครัวอดีตนายกฯ มีผลประโยชน์ทับซ้อนเรียกว่า ทุจริตเชิงนโยบาย”
นี่คือประเด็นหนึ่งในการปราศรัยของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ที่สนามกีฬาบางปลา จ.สมุทรปราการ บนเวทีปราศรัยใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและได้รับการลงคะแนนเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย เป็นสมัยที่สองหลังจากขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจากการทำรัฐประหารในปี 2557
ผลประโยชน์ทับซ้อน ตามความหมายอย่างกว้างหมายรวมถึงการปฏิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่ที่รับผิดชอบต่อหน่วยงานหรือองค์การหรือต่อส่วนรวม แต่ดำเนินการตัดสินใจปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเอง ครอบครัว และเพื่อนฝูง
ในขณะที่ คอร์รัปชันเชิงนโยบาย ซึ่งมีความคาบเกี่ยวทับซ้อนกับคำว่าผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่นั้น หมายถึง การที่ผู้มีอำนาจและหน้าที่กำหนดนโยบายได้ใช้อำนาจหน้าที่ของตนเอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง โดยวิธีการกำหนดนโยบายที่มีจุดมุ่งหมายซ่อนเร้นที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว
จากงานวิจัย นโยบายของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ: การทับซ้อนของผลประโยชน์ทางธุรกิจ (Conflict of Interest) ของนายวิทยากร เชียงกูร ผู้อำนวยการวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ออกมาในเดือนสิงหาคม 2549 หลังการรัฐประหารไม่ถึงเดือน พบ 13 กรณีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในยุครัฐบาลทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นการโอนหุ้น ออกกฎหมายให้สัมปทาน ยกเว้นภาษี แก่บริษัทในธุรกิจของตัวเองและพวกพ้อง ปิดกั้นเสรีภาพของสื่อสารมวลชน แทรกแซงองค์กรอิสระ ฯลฯ
หนึ่งในประเด็นที่สั่นคลอนความน่าเชื่อถือในการบริหารงานของรัฐบาลยุคทักษิณจนนำมาสู่การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็คือผลประโยชน์ทับซ้อน และการคอร์รัปชันเชิงนโยบายที่กลายเป็นคำฮิตในยุคนั้น โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. นำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ให้เหตุผลที่ต้องยึดอำนาจการปกครองว่า 1. มีการทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน 2. การใช้อำนาจในทางมิชอบ 3. การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ 4. การแทรกแซงองค์กรอิสระ 4. การละเมิดสิทธิเสรีภาพ 5. การบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ
หนึ่งในประเด็นที่สั่นคลอนความน่าเชื่อถือในการบริหารงานของรัฐบาลยุคทักษิณจนนำมาสู่การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็คือผลประโยชน์ทับซ้อน และการคอร์รัปชันเชิงนโยบายที่กลายเป็นคำฮิตในยุคนั้น
น่าแปลกใจที่ทุกเหตุผลในการก่อการรัฐประหารในครั้งนั้นคล้ายกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยภายใต้รัฐบาล คสช. ในปัจจุบันนี้ เพียงแต่ว่าผลประโยชน์ทับซ้อนและคอร์รัปชันเชิงนโนบายมันอาจจะไม่ใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในทาง ‘ธุรกิจ’ เสียทีเดียว แต่เป็นประโยชน์ในทาง ‘การเมือง’ เสียมากกว่า โดยเฉพาะหากจะพิจารณาประเด็นเรื่องการสรรหา ส.ว. ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอยู่ในขณะนี้
โดยหลังจากนายวิษณุ เครืองาม ได้ออกมาเปิดเผยรายชื่อกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีทั้งหมด 9 คน ที่รัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติว่าต้องเป็นกลางทางการเมือง ไม่เป็นสมาชิกหรือสังกัดพรรคการเมือง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งแต่งตั้งโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. (ซึ่ง คสช. นั้นทั้งแต่งตั้งกรรมการสรรหาและคัดเลือก ส.ว.ด้วยตัวเองอีกด้วย) อันได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ, นายวิษณุ เครืองาม, พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร, พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย, พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งปรากฏว่า
-
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ไม่ได้เป็นกรรมการโดยตรง แต่เป็นหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการสรรหา โดยปรากฏมีชื่อ พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภาในการคัดเลือกครั้งนี้
-
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะกรรมการสรรหา และปรากฏว่ามี พล.ร. ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภา
-
นายวิษณุ เครืองาม ในฐานะกรรมการสรรหา และปรากฏว่ามี พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม น้องชายได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภา
-
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะกรรมการสรรหา และปรากฏว่ามีนายสม จาตุศรีพิทักษ์ พี่ชายได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภา
-
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ในฐานะกรรมการสรรหา และปรากฏว่าตนเองได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภา
-
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ในฐานะกรรมการสรรหา และปรากฏว่าตนเองได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภา
-
พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ในฐานะกรรมการสรรหา และปรากฏว่าตนเองได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภา
-
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ในฐานะกรรมการสรรหา และปรากฏว่าตนเองได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภา
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ ถือว่าเป็นการตัดสินใจปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเอง ครอบครัว และเพื่อนฝูง ตามความหมายของคำว่าผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเปล่า หรือเป็นการที่ผู้มีอำนาจและหน้าที่กำหนดนโยบายได้ใช้อำนาจหน้าที่ของตนเอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง ตามความหมายของคำว่าการคอร์รัปชันเชิงนโยบายหรือไม่
ไม่เพียงแค่การสรรหาและการแต่งตั้ง ส.ว. ในครั้งนี้ แต่ยังรวมไปถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดการทำงานตลอด 5 ปีในฐานะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของ คสช. ที่อาจเข้าข่าย 1. มีการทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน 2. การใช้อำนาจในทางมิชอบ 3. การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ 4. การแทรกแซงองค์กรอิสระ 4. การละเมิดสิทธิเสรีภาพ 5. การบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ
แต่แน่นอนว่า…เป็นสิ่งที่ คสช.หรือทหารเองก็ไม่พูดถึง แม้กระทั่งนักการเมืองอย่างสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และคนอื่นๆ ที่เคยกล่าวถึงประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หรือคอร์รัปชันเชิงนโนบายในช่วงรัฐบาลทักษิณก็ไม่มีใครพูดถึง ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้หากพิจารณาตามความหมายและสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคล้ายคลึงกับเหตุผลที่ คปค. ใช้ในการทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณเลยทีเดียว
แต่สิ่งที่ไม่คล้ายกันก็คือภายใต้การทำงานของรัฐบาล คสช. องค์กรอิสระนั้นไม่ได้มีหน้าที่คอยตรวจสอบและเป็นอิสระโดยแท้ แต่เป็นองค์กรที่คอยโอบอุ้มให้ไม่สามารถตรวจสอบและเอาผิดได้เสียมากกว่า รวมไปถึงว่าแม้องค์ประกอบของประเด็นจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นมี ‘ความชอบธรรม’ และไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากว่าได้มีการเขียนกฎหมายรับรองไว้ก่อนแล้ว ซึ่งผู้เขียนกฎหมาย ออกกฎหมาย และใช้กฎหมายก็คือผู้ที่เสมือนว่ามีการทำผิดทั้งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หรือคอร์รัปชันเชิงนโนบายนั่นเอง
หรือบางทีเราอาจจะคิดมากไป เพราะอาจจะเป็นอย่างที่วิษณุ เครืองามให้สัมภาษณ์ไว้ก็ได้ว่า “คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงคำสั่ง ไม่ใช่กฎหมาย ไม่จำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะเป็นขั้นตอนภายในไม่เกี่ยวกับประชาชน…คำสั่งนี้จะถือว่าเกี่ยวกับประชาชนไม่ได้ เพราะประชาชนไม่มีส่วนจะมาสมัครอะไรทั้งสิ้น การจะรู้หรือไม่รู้ว่าใครเป็นกรรมการสรรหา ไม่ทำให้ประชาชนได้เปรียบหรือเสียเปรียบ”
อ้างอิง
https://www.khaosod.co.th/politics/news_2613606
https://witayakornclub.wordpress.com/2008/03/27/13-กรณีปัญหาผลประโยชน์ทั/
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=คอร์รัปชันเชิงนโยบาย
http://www.anticorruption.in.th/2016/th/detail/56/1/ผลประโยชน์ทับซ้อน%20(conflict%20of%20interest)
https://www.thairath.co.th/news/politic/1590426
Tags: ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ส.ว., ทุจริต, เลือกตั้ง62, สรรหา ส.ว., ผลประโยชน์ทับซ้อน, ทุจริตเชิงนโยบาย