ประเทศไทยกำลังจะมีการประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายน และถึงแม้จะยังไม่มีการลงมติเกิดขึ้นจริงๆ ความรู้สึกของคนทั่วไปคือ หัวหน้าคณะรัฐประหารคงได้เป็นนายกฯ ต่อตามข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐ ถึงแม้เส้นทางอยู่ในทำเนียบต่อไปอาจไม่ได้ราบรื่นเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่คิดกันก็ตาม

ทันทีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญที่ ส.ส. พลังประชารัฐ สารภาพว่า “เขียนให้พลังประชารัฐตั้งรัฐบาล” อายุการเป็นนายกฯ จะนับถอยหลังด้วยปัญหาสามข้อ หนึ่งคือความรู้สึกไม่นิยมคุณประยุทธ์ในหมู่ประชาชน สองคือความไม่ลงรอยของทหารกับพรรคการเมือง และสามคือความไม่พอใจของประชาชนต่อการใช้กองทัพเพื่อรักษาอำนาจให้คุณประยุทธ์ต่อไป

สำหรับใครที่คิดว่าคุณประยุทธ์จะทำให้ประเทศเดินหน้าสู่ความสงบ ข่าวร้ายคือทิศทางประเทศจากนี้จะถูกครอบงำด้วยความขัดแย้งซึ่งมีศูนย์กลาง คือ ‘เอาประยุทธ์’ หรือ ‘ไม่เอาประยุทธ์’ จนทิศทางการเมืองจะเป็นการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายที่ต้องการจรรโลงอำนาจกับฝ่ายไม่พอใจการสืบทอดอำนาจอย่างสมบูรณ์

ประชาธิปัตย์ VS พลังประชารัฐ สมรสแต่ไม่สมรัก

พลเอกประยุทธ์ไม่ใช่แคนดิเดตนายกฯ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของคนทุกฝ่ายในสังคม เพราะต่อให้โพลล์บางสำนักจะบอกว่ามีผู้สนับสนุนให้คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ มากกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ แต่ผลเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 คือประชาชนเลือกพรรคที่ไม่หนุนคุณประยุทธ์กว่า 20 ล้านเสียง สูงกว่าพรรคหนุนคุณประยุทธ์หนึ่งเท่าตัว

ภายใต้ผลเลือกตั้งที่ประชาชนเลือกพรรคหนุนคุณประยุทธ์นิดเดียว วิธีผลักดันให้คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ โดย 10 พรรคเล็กและวุฒิสมาชิกที่คุณประยุทธ์ตั้งเอง 250 เสียง ยิ่งทำให้ความไม่ยอมรับคุณประยุทธ์พุ่งสูงขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในพรรคการเมืองซึ่งตกลงร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐที่หนุนคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ

ข่าวการเจรจาตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐทำให้ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยเป็นจำเลยสังคม แต่ที่จริงทั้งสองพรรคล้วนมี ส.ส. ที่ไม่สนับสนุนคุณประยุทธ์ ผลก็คือกว่าพลังประชารัฐจะเจรจากับสองพรรคได้จริงๆ ก็ต้องรอจนถึงก่อนเปิดสภาไม่กี่วัน

ขณะที่ภายในพรรคภูมิใจไทยมีความไม่ลงรอยเรื่องนี้น้อยพอที่จะยุติโดยให้หัวหน้าพรรคตัดสินใจแทน ส.ส. ทุกคน ด้านพรรคประชาธิปัตย์มีความขัดแย้งเรื่องนี้สูง จนแม้ในวันที่พลังประชารัฐเดินทางไปพบเพื่อ ‘สู่ขอ’ มาร่วมรัฐบาล พรรคก็ไม่สามารถมีมติหนุนคุณประยุทธ์อย่างที่พลังประชารัฐต้องการ

ความไม่ลงรอยในประชาธิปัตย์ทำให้คุณอุตตม สาวนายน, คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์, คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน และคุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งไป ‘สู่ขอ’ ได้พบแค่เลขาฯ พรรค จนกลับมาด้วยความว่างเปล่า ตรงข้ามกับการเดินทางไป ‘สู่ขอ’ พรรคภูมิใจไทยในวันเดียวกัน ที่ได้พบกับคุณอนุทินจนทั้งสองฝ่ายตั้งโต๊ะแถลงข่าวเรื่องร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐทันที

พปชร.-ภูมิใจไทย ชื่นมื่น

ตรงข้ามกับมุมมองว่าประชาธิปัตย์แกล้งทะเลาะเพื่อสร้างภาพต้านเผด็จการ ความขัดแย้งในพรรคเรื่อง ‘หนุน’ หรือ ‘ไม่หนุนประยุทธ์’ เป็นข้อเท็จจริงที่พลังประชารัฐรับรู้จนไม่ต้องการมีมติหนุน ‘ชวน หลีกภัย’ เป็นประธานสภาผู้แทนฯ กระทั่งทำให้การประชุมสภาวันแรกแทบล่มแบบไม่มีชิ้นดี

ในการประชุมสภาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พลังประชารัฐขอเลื่อนการเลือกประธานเพราะไม่ต้องการโหวตคุณชวน หลีกภัย ตามที่ประชาธิปัตย์เสนอ เหตุผลทางการเมืองในพรรคคือ ‘สุชาติ ตันเจริญ’ ต้องการตำแหน่งนี้ ส่วนเหตุผลนอกพรรคคือ รัฐมนตรีพลเอกเห็นว่าคุณชวนเป็นฝ่าย ‘ต้านสืบทอดอำนาจ’ มากกว่าจะเป็นพวก คสช.

ด้วยท่าทีที่คุณชวนแสดงออกต่อการรัฐประหาร, รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. รวมทั้งการ ‘สืบทอดอำนาจ’ ฝ่าย ‘หนุนประยุทธ์’ ทั้งที่อยู่ในพรรคและนอกพรรคพยายามร่วมมือกัน ‘ยึดพรรค’ โดยส่งคนชิงตำแหน่งหัวหน้าหรือเทคโอเวอร์ด้วยวิธีต่างๆ แต่ก็พ่ายแพ้ต่อคนที่กลุ่มนี้มองว่าเป็น ‘ฝ่ายชวน’ ทุกครั้งไป

ไม่ว่าผู้แสดงหลักของฝ่ายหนุนคุณประยุทธ์ในประชาธิปัตย์จะเป็นใคร ทิศทางที่ไม่เปลี่ยนคือการโจมตีคุณชวนทั้งโดยเปิดเผยหรือลอบกัด หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม และคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ใช้โซเชียลมีเดียโจมตีคุณชวนแบบกระหายตำแหน่งจนผิดปกติ ส่วนเครือข่ายคุณถาวร เสนเนียม ก็ปั่นข่าวว่าคุณชวนอยากให้พรรคหนุน คสช.กว่าทุกคน

ในโลกของฝ่ายตั้งรัฐบาลเพื่อหนุนคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ คุณชวนไม่ใช่พวกเดียวกับ คสช.เท่าคุณถาวร, หมอวรงค์, คุณพีระพันธุ์ ฯลฯ ที่ไม่เปิดเผยตัวอีกมาก ความรู้สึกว่า ‘ฝ่ายชวน’ ขัดขวางการตั้งรัฐบาลสืบทอดอำนาจเป็นมุมมองที่ผู้เกี่ยวข้องกับการเจรจาระหว่างพลังประชารัฐและพรรคอื่นๆ รับรู้ร่วมกัน

ความสัมพันธ์พลังประชารัฐ/ประชาธิปัตย์ เหมือนผัวเมียที่จำใจแต่งงานจนนอนหันหลังให้กันตลอดเวลา

Real Politics ไม่มีพรรคไหนกล้าอยู่ข้างอนาคตใหม่-เพื่อไทย

สำหรับนักการเมืองชั้นนำของพรรคฝ่ายหนุนประยุทธ์แทบทุกคน หากตัดคุณชวนและ ‘พวกชวน’ ออกไป คนสำคัญของประชาธิปัตย์ล้วนเห็นด้วยกับการหนุนประยุทธ์จนเจรจาเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีกันไปหมดแล้ว ส่วนกลุ่ม กปปส. ที่ไม่มีตำแหน่งในพรรคก็ใช้วิธีเข้าหานายพลเพื่อขอเป็นรัฐมนตรีตรงๆ

แม้พลเอกประยุทธ์จะมีเสียงพรรคการเมืองและวุฒิสมาชิกสนับสนุนมากพอจะเป็นนายกฯ ได้ตามรัฐธรรมนูญที่คุณประยุทธ์สร้างขึ้น แต่ด้วยจำนวน ส.ส.ของพรรคฝ่าย ‘หนุนประยุทธ์’ ทำให้ตอนนี้ รัฐบาลประยุทธ์จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทน ที่มีโอกาสล้มได้ทุกเมื่อ ยกเว้นจะได้ประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาล

ภายใต้ความรับรู้ของก๊วนนายพล, พรรคพลังประชารัฐ และพรรคฝ่ายหนุนประยุทธ์อื่นๆ ‘พวกชวน’ ทำให้ประชาธิปัตย์ประกาศร่วมรัฐบาลประยุทธ์ล่าช้าถึงขั้นที่ ส.ส. อาจฟรีโหวตจนไม่สนับสนุนประยุทธ์ทั้งหมด ขณะที่คนอื่นในพรรคซึ่งลงทุนไปกับการหาเสียงเลือกตั้งมากนั้น ล้วนอยากร่วมรัฐบาล

ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ คนล่าสุด

ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ทูลเกล้าเสนอชื่อนายกฯ คือประธานรัฐสภา ซึ่งคนที่ฝ่ายสืบทอดอำนาจไว้ใจก็คือบุคคลที่ถึงอย่างไรก็เสนอชื่อประยุทธ์เป็นนายกฯ แต่คุณชวนมีจุดยืนและภูมิหลังที่น่าสงสัยว่า อาจจะไม่เสนอชื่อคุณประยุทธ์

ในเงื่อนไขที่ผู้ชิงตำแหน่งประธานสภามีแค่คุณชวนจากพรรคประชาธิปัตย์และคุณสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคพลังประชารัฐและนายพลถูกบีบให้ต้องหนุนคุณชวนอย่างไม่มีทางเลือก การปล่อยให้เพื่อไทยได้เป็นประธานสภาคือฝันร้ายที่พลังประชารัฐยอมไม่ได้ ถึงแม้ความหวาดระแวงเรื่องคุณชวนอาจจะต้านสืบทอดอำนาจจะไม่เปลี่ยนไปก็ตาม

นอกจากความขัดแย้งในประชาธิปัตย์เรื่องหนุนหรือไม่หนุนประยุทธ์จะเป็นเหตุให้ทหารนักการเมืองและพรรคพลังประชารัฐไม่เต็มใจให้คุณชวนเป็นประธานสภา ทัศนคติที่ต่างกันในพรรคยังส่งผลให้ ส.ส., ผู้สมัคร, สมาชิก และผู้สนับสนุนกลุ่มต่างๆ ออกมากดดันไม่ให้พรรคหนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ ด้วยเช่นกัน

วันเดียวกับที่พรรคพลังประชารัฐส่งกลุ่มสี่รัฐมนตรีและกลุ่มสามมิตรไป ‘สู่ขอ’ พรรคประชาธิปัตย์โดยไม่มีหัวหน้าพรรคร่วมพูดคุย คุณวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก็ยืนชูป้ายกลางพรรคว่า “ไม่เอาประยุทธ์เป็นนายก” โดยชี้แจงว่า ทำแบบนี้เพื่อสะท้อนความรู้สึกของสมาชิกพรรคจำนวนมากให้ชัดเจน

ไม่เพียงแต่การคัดค้านของคุณวัชระซึ่งมีบทบาทเปิดโปงแผนตั้งพรรคพลังประชารัฐเพื่อหนุน คสช.มานาน อดีตผู้สมัคร ส.ส.กลุ่ม New Dem อย่างคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือคุณธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ก็ประกาศไม่เห็นด้วยกับการ ‘หนุนประยุทธ์’ โดยคุณพริษฐ์ชี้ว่าทำให้เกิด ‘เผด็จการรัฐสภา’ ส่วนคุณธนัตถ์ก็ขู่เตรียมลาออกจากพรรคทันที

ในกรณีสมาชิกพรรคหรือผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์โดยทั่วไป สิ่งที่คนเหล่านี้ทำในเวลานี้ก็คือการล่ารายชื่อเพื่อไม่ให้พรรค ‘หนุนประยุทธ์’ เพราะรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย, วุฒิสภาไม่ควรมีอำนาจเลือกนายกฯ  หรือกระทั่งประชาชนจะออกมาต่อต้านคุณประยุทธ์จนประเทศกลับสู่ความขัดแย้งวุ่นวาย

ในเครือข่ายออนไลน์ของผู้สนับสนุนประชาธิปัตย์ระดับฮาร์ดคอร์ ประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์ต้านเผด็จการจนมีแนวทางต่างจากพลังประชารัฐขั้นอยู่ร่วมกันไม่ได้ ส่วนนโยบายของพลังประชารัฐคือประชานิยมแบบเผด็จการรัฐสภาที่เปรียบได้กับระบอบทักษิณซึ่งปราศจากทักษิณจนประชาธิปัตย์ไม่ควรเกี่ยวข้องเลย

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความเห็นต่างในประชาธิปัตย์ที่กล่าวมา ข้อเสนอที่มีการพูดกันในระดับผู้บริหารพรรคชัดๆ มีแค่การร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ แต่ไม่บังคับว่า ส.ส.ต้องโหวตเลือกประยุทธ์เป็นนายกฯ ส่วนแนวทาง ‘ฝ่ายค้านอิสระ’ หรือการปฏิเสธพลังประชารัฐโดยเด็ดขาดยังเป็นทางเลือกที่ไกลความจริง

ด้วย Real Politics ซึ่งทำให้ไม่มีพรรคไหนกล้าอยู่ฝ่ายอนาคตใหม่และเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐแน่ๆ ส่วนจะเอาไงกับคุณประยุทธ์นั้นมีแต่พระเจ้าที่รู้ และในเมื่อคุณอนุทินประกาศว่าจะอยู่ฝ่ายที่ได้เสียงข้างมาก ท่าทีประชาธิปัตย์จึงทำให้เกิดรัฐบาลที่พลังประชารัฐเป็นแกนกลาง 100%

จัดตั้งรัฐบาลแบบการเมืองเรื่องสัตว์ใน Animal Farm

จริงอยู่ว่าการจัดตั้งรัฐบาลกว่าสัปดาห์แล้วยังไม่ยุตินั้นผิดปกติทางการเมือง และการที่ทุกพรรคต้องพูดผ่านสื่อเรื่อง ‘ตำแหน่ง’ ยิ่งแสดงความไม่ปกติ แต่ในเมื่อการเมืองแบบพิเศษทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ความล่าช้าย่อมไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาลของฝ่าย ‘หนุนประยุทธ์’ อยู่ดี

เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ ความล่าช้าในการตั้งรัฐบาลมาจากสามสาเหตุ หนึ่งคือการตกลงกันไม่ได้ในพรรคเดียวกัน สองคือการตกลงกันไม่ได้ระหว่างพรรคการเมืองทั้งหมด และสามคือการตกลงกันไม่ได้ระหว่างพรรคฝ่าย ‘หนุนประยุทธ์’ กับทหารที่มีอิทธิพลตอนนี้ ซึ่งถึงที่สุดล้วนเป็นเรื่องที่ยุติได้ในบั้นปลาย

ความล่าช้าในการตั้งรัฐบาลมาจากสามสาเหตุ
หนึ่งคือการตกลงกันไม่ได้ในพรรคเดียวกัน
สองคือการตกลงกันไม่ได้ระหว่างพรรคการเมืองทั้งหมด
และสามคือการตกลงกันไม่ได้ระหว่างพรรคฝ่าย ‘หนุนประยุทธ์’ กับทหารที่มีอิทธิพลตอนนี้

พูดตรงๆ บทบาทของทหารการเมืองในการผูกขาดตำแหน่งรัฐมนตรีให้คุณประวิตร วงษ์สุวรรณ, คุณอนุพงษ์ เผ่าจินดา, คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, คุณวิษณุ เครืองาม และนักการเมืองใกล้ชิดคนอื่นๆ คือเหตุที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลยุ่งยากที่สุด เพราะไม่ว่าผลเจรจาของพรรคพลังประชารัฐกับพรรคอื่นจะเป็นอย่างไร ทหารก็พร้อมจะล้มข้อสรุปที่ไม่พอใจทันที

หนึ่งสัปดาห์แรกหลังประชุมสภาคือช่วงเวลาที่แต่ละพรรค ‘กดดัน’ ทหารเพื่อรักษาอำนาจของพรรคการเมือง ชาติไทยพัฒนาพูดเรื่องการเป็นฝ่ายค้านอิสระ พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีมติร่วมรัฐบาลประยุทธ์ชัดๆ ต่อให้รู้วันประชุมเลือกนายกฯ แล้ว และภูมิใจไทยระบุว่าพร้อมจะถอนตัวตามประชาธิปัตย์ทันที

นักการเมืองที่เคยมีบทบาทจัดตั้งรัฐบาลหลายคนพูดตรงกันว่าไม่เคยมีการตั้งรัฐบาลครั้งไหนวุ่นวายเท่าครั้งนี้ คนที่ไม่พอใจเรื่องนี้ถึงขั้นแถลงข่าวมีตั้งแต่คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน, คุณเทพไท เสนพงศ์ , คุณวราวุธ ศิลปอาชา ฯลฯ ซึ่งสะท้อนว่าการจัดตั้งรัฐบาลมีปัญหาขั้นที่ไม่สามารถพูดคุยกันเป็นการภายในได้ต่อไป

จริงอยู่ว่าโดยพื้นฐานของการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจแบบนี้เกิดขึ้นเพื่อ ‘ต่อรอง’ และการที่พลังประชารัฐปล่อยข่าวว่าจะเลือกคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ โดยไม่รอประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยก็เป็นหลักฐานว่าพรรคการเมือง ‘ต่อรอง’ ได้สำเร็จจนฝ่ายคุณประยุทธ์ต้อง ‘กดดัน’ พรรคการเมืองโดยวิธีนี้ด้วยเช่นกัน

11 พรรคเล็กที่ได้ที่นั่งจากการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แถลงหนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อมา มีการคำนวณที่นั่งใหม่หลังเลือกตั้งซ่อมที่เชียงใหม่ ทำให้พรรคไทรักธรรมหลุดจากการเป็น ส.ส. / ภาพโดย รวินทร์ สุจฉายา

ล่าสุด แม้กระทั่ง 10 ส.ส. จากกลุ่มพรรคเล็กซึ่งสังคมมองว่าได้เข้าสภาเพราะความอนุเคราะห์ของ กกต.ก็ออกมา ‘ต่อรอง’ ตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย คำอธิบายของกลุ่มนี้คือถ้าพรรคชาติไทยพัฒนาที่มี ส.ส. 10 คนได้รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วย พรรคเล็กซึ่งมี ส.ส.10 คนก็ควรได้ตำแหน่งรัฐมนตรีในสัดส่วนเดียวกัน

พูดสั้นๆ เรากำลังเจอการจัดตั้งรัฐบาลที่ผู้เกี่ยวข้องไม่เป็นปึกแผ่นและไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างที่สุด ผลก็คือการได้มาซึ่งตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเกิดจากกระบวนการที่ทั้งทหารและพรรคการเมืองต้องทำทุกวิถีทางเพื่อ ‘กดดัน’ และ ‘ต่อรอง’ ให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่ตัวเองต้องการไม่ต่างจากฝูงสัตว์ใน Animal Farm

ประเทศไทยหลังวันเลือกนายกฯ จะเป็น Day One ของรัฐบาลที่คุณประยุทธ์เป็นผู้นำด้วยเสียงสนับสนุนหลักจากวุฒิสมาชิกที่ัตั้งขึ้นเอง 250 คน แต่รัฐบาลจะเต็มไปด้วยความไม่ลงรอยระหว่างพรรคต่างๆ ที่จำใจอยู่ร่วมกันจนต้องหาจังหวะออก เพื่อไม่ให้พังพินาศไปกับนายกฯ ที่สังคมไม่ยอมรับตลอดเวลา

เรากำลังเจอการจัดตั้งรัฐบาลที่ผู้เกี่ยวข้องไม่เป็นปึกแผ่นและไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างที่สุด

เผด็จการรัฐสภาในระบอบประยุทธ์

อนาคตประเทศหลังการจัดตั้งรัฐบาลแบบนี้เป็นไปได้สามทาง ทางแรกคือฝ่าย ‘หนุนประยุทธ์’ สามัคคีเหนียวแน่นจนฝ่ายค้านทำอะไรไม่ได้, ทางที่สองคือกองทัพใช้อิทธิพลดำเนินการจน ส.ส.ไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาล และ สามคือรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำถูกฝ่ายค้านคว่ำกฎหมายหรืออภิปรายจนล่มกลางสภา

ในโลกอุดมคติของฝ่าย ‘หนุนประยุทธ์’ การควบคุม ส.ส.ในสภาให้เหนียวแน่นคือทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ด้วยข้อเท็จจริงซึ่ง ส.ส.เกือบครึ่งสภาอยู่พรรค ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ โอกาสที่ฝ่าย ‘หนุนประยุทธ์’ จะหละหลวมจนเกิด ‘สภาล่ม’ ย่อมสูงมากจนอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลในระยะยาว

หากประเมินอนาคตจากอดีตยุคที่นายพลเป็นนายกฯ ยาวนานครั้งสุดท้ายในปี 2523-2531 สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือบทบาทกองทัพในการเป็นกลไกขัดขวางไม่ให้พรรคการเมืองตรวจสอบรัฐบาลในรูปของการข่มขู่, ใช้คดีความ หรือให้ผลประโยชน์เพื่อไม่ให้ ส.ส.อภิปรายไม่ไว้วางใจ, ถอนชื่อจากญัตติ, กดดันให้โหวตสนับสนุนรัฐบาล ฯลฯ

ผู้สนับสนุนคุณประยุทธ์มักอ้างว่าคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้เหมือนพลเอกเปรม แต่แปดปีของพลเอกเปรมคือแปดปีที่สภาตรวจสอบหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ไม่ได้ ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งหนึ่งล่มเพราะทหารกดดันและให้เงินจน ส.ส.ถอนญัตติไปในที่สุด และนั่นคือสิ่งที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน

ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ประเทศไทยใต้การปกครองของคุณประยุทธ์อาจเดินหน้าสู่ระบบ ‘เผด็จการรัฐสภา’ ที่สภาผู้แทนจากการเลือกตั้งของประชาชนตรวจสอบนายกฯ และฝ่ายบริหารไม่ได้เลย ต่อให้จำนวน ส.ส.ฝ่าย ‘หนุนประยุทธ์’ จะมากกว่าจำนวน ส.ส.ฝ่าย ‘ประชาธิปไตย’ แค่นิดเดียวก็ตาม

ถ้าโชคดีขึ้นมาอีกนิด จำนวน ส.ส.ฝ่าย ‘หนุนประยุทธ์’ ที่เกินกว่าฝ่าย ‘ประชาธิปไตย’ แค่สิบกว่าเสียงอาจทำให้เป็นไปได้ที่รัฐบาล ‘ล่มกลางสภา’ แต่ กระบวนการนี้ก็ไม่แน่ว่าจะนำไปสู่การสิ้นสุดอำนาจของรัฐบาล ‘หนุนประยุทธ์’ จนได้มาซึ่งรัฐบาลใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม

พูดตรงๆ เหตุการณ์ที่รัฐบาล ‘ล่มกลางสภา’ ครั้งสุดท้ายเกิดสมัย พล.อ.เปรม เป็นนายกฯ ในปี 2531 เมื่อพรรครัฐบาลอย่าง ‘ประชาธิปัตย์’ เกิดความขัดแย้งภายในจน 40 ส.ส.คว่ำกฎหมายของรัฐบาล ต้นตอของเหตุ ‘ล่มกลางสภา’ จึงมาจากความไม่ลงรอยของฝ่ายรัฐบาลยิ่งกว่าฝ่ายค้านอย่างที่มักเข้าใจผิดกัน

ด้วยสภาพของพรรคที่เรียกตัวเองว่า ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ที่เกิดเหตุการณ์ ‘ส.ส.งูเห่า’ แหกมติพรรคไปสนับสนุนประธานสภาจากประชาธิปัตย์อย่างน้อย 6 ราย โอกาสที่ ส.ส.ฝ่ายนี้จะมีเอกภาพเหนียวแน่นจนทำให้รัฐบาล ‘ล่มกลางสภา’ ยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะไม่มีใครรู้ว่า ส.ส.ที่อยู่ฝั่งนี้เป็นคนของอีกฝ่ายแล้วกี่คน

ต่อให้จะเกิดเหตุการณ์ที่รัฐบาล ‘ล่มกลางสภา’ ซึ่งโดยปกติแล้วควรนำไปสู่การยุบสภา ฉากทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นได้คือวุฒิสภาซึ่งตั้งโดยพลเอกประยุทธ์อาจเสนอพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีก หากพรรค ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ไม่สามารถได้ ส.ส.มากกว่า 376 คน ซึ่งสูงกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้กว่า 50%

สำหรับฝ่าย ‘ประชาธิปไตย’ ที่คิดว่าจะใช้วิธีอภิปรายไม่ไว้วางใจล้มรัฐบาล ส.ส.ไพบูลย์ นิติตะวัน เปิดเผยว่ามาตรา 154 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อนุญาตให้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกได้ปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น โอกาสที่รัฐบาลจะล้มกลางสภาจริงๆ จึงยากในระบบที่โดยเนื้อแท้แล้วเป็น ‘เผด็จการรัฐสภา’ โดยปริยาย

อย่าทำให้ท้องถนนเป็นทางออกเดียว

คนจำนวนมากไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม บนความหวังจะเห็นรัฐบาลใหม่เพื่อนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตย แต่ความจริงที่จะปรากฏในวันเลือกนายกฯ คือคุณประยุทธ์จะเป็นผู้นำรัฐบาลที่เป็น ‘เสียงข้างมาก’ ซึ่งจรรโลงอำนาจด้วยกองทัพและการจัดสรรผลประโยชน์แก่พรรคร่วมรัฐบาลตลอดเวลา

ทันทีที่การเลือกนายกฯ จบลงในวันที่ 5 มิถุนายน การเมืองไทยจะเดินหน้าสู่สถานการณ์ใหม่ที่ ‘เอาประยุทธ์’ หรือ ‘ไม่เอาประยุทธ์’ เป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งทางการเมืองทั้งหมด รัฐบาลประยุทธ์จะโดนกดดันจากประเด็น ‘ประชาธิปไตย VS เผด็จการ’ ยิ่งกว่าที่เป็นมาตลอดห้าปีในยุค คสช.

สำหรับฝ่าย ‘หนุนประยุทธ์’ โจทย์ทางการเมืองหลังจากนี้คือการเปลี่ยนประเด็น ‘ประชาธิปไตย VS เผด็จการ’ เป็นการต่อสู้ระหว่าง ‘ฝ่ายรัฐบาล’ กับ ‘ฝ่ายค้าน’ ตามการเมืองปกติให้ได้ ขณะที่ฝ่าย ‘ไม่เอาประยุทธ์’ ต้องทำให้สังคมเห็นว่า การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อรัฐบาลที่โดยเนื้อแท้คือร่างทรง คสช.

หลังวันที่ 5 มิถุนายน ประเทศไทยจะเดินหน้าสู่หุบเหวของความขัดแย้งและการเผชิญหน้าที่อาจทำให้การชุมนุมปี 2553 เป็นเรื่องตลก และตราบใดที่ผู้มีอำนาจตัวจริงไม่ยอมให้การเลือกตั้งและสภาผู้แทนราษฎรเป็นกลไกในการเปลี่ยนประเทศไปสู่การเมืองปกติ การเมืองบนท้องถนนก็อาจเป็นหนทางเดียวในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

การสืบทอดอำนาจของคุณประยุทธ์กำลังทำให้การเมืองไทยคล้ายรัฐสัตว์ใน Animal Farm ที่สัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกันในแง่อยู่ใต้สัตว์ตัวเดียว ปัญหามีอยู่ว่าฝูงสัตว์จะยอมจำนนอยู่ในสภาพแบบนี้ได้อีกกี่ปี?

Tags: , , , , , ,