ปัจจุบัน สกินเฮดอาจจะเป็นแค่ผมทรงหนึ่งเท่านั้น แต่ในประวัติศาสตร์ทรงผมที่ดูง่ายๆ นี้กลับเต็มไปด้วยเรื่องราว สกินเฮดมีต้นกำเนิดประมาณปี 1950 และเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในปี 1960 เดิมทีมันก็ไม่ต่างจากแฟชั่นทั่วๆ ไปที่มีการแบ่งกลุ่มอย่างชัดเจน ในด้านการแต่งตัวหรือเพลงที่ฟัง แล้วมันก็วิวัฒนาการมาเรื่อยๆ จนในปี 1970 กลุ่ม Oi! ก็ถือกำเนิด พวกเขาเป็นกลุ่มดนตรีพังก์ร็อก ทำเพลงที่พูดถึงเรื่องอำนาจรัฐ ซึ่งเล่าเรื่องความไม่ชอบธรรมต่างๆ สื่อทั่วไปมักเสนอภาพความรุนแรงของพวกเขา จนมาถึงการงอกเงยของชาตินิยม กลุ่มนีโอนาซีก็ผุดขึ้นมา พวกเขาเริ่มมีจุดยืนที่ชัดเจน มีอุดมการณ์ที่ยึดถือ และมีข้อเรียกร้องที่ต้องการ ภาพลักษณ์ที่เป็นที่จดจำของสกินเฮดจึงแปรเปลี่ยนไป… แต่มาถึงตอนนี้ สกินเฮดก็เป็นเพียงหนึ่งในวัฒนธรรมย่อยที่ถูกพูดถึง มันกลายเป็นแฟชั่นและแรงบันดาลใจที่หลายคนหยิบยกไปต่อยอด เมื่อได้อ่านประวัติความเป็นมาแล้ว เราก็ได้แต่นึกในใจว่าการเมืองอยู่ในทุกที่จริงๆ ส่วนภาพยนตร์ 5 เรื่องที่หยิบยกมานี้จะเกี่ยวข้องกับสกินเฮดในแง่ไหน อย่างไร อย่าลืมไปหามาชมกัน
Romper Stomper (1992)
ภาพยนตร์ออสเตรเลียที่นำแสดงโดยรัสเซล โครว์ นักแสดงชาวนิวซีแลนด์-ออสเตรเลีย ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นบทบาทที่โดดเด่นที่สุดงานหนึ่งของเขา และด้วยการแสดงนี้เองที่ทำให้เคอร์ติส แฮนสัน ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง L.A. Confidential (1997) เลือกรัสเซลมาแสดงนำ
Romper Stomper ถูกหยิบนำมาสร้างเป็นซีรีส์ในปี 2018 ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาสืบเนื่องมาจากภาพยนตร์ ในเวลาให้หลัง 25 ปี
Romper Stomper เล่าเรื่องของกลุ่มนีโอนาซีในย่านชานเมืองเมลเบิร์น โดยมีแฮนโด้เป็นผู้นำกลุ่ม ในฉากเปิดพวกเขากำลังลงไม้ลงมือกับแก๊งเด็กวัยรุ่นชาวเวียดนาม เพราะความเกลียดชังทางเชื้อชาติ และไม่ต้องการให้คนพวกนี้มาอยู่ในเมืองของตน พวกคนเอเชียมาอยู่ที่นี่มากมาย ทำให้ธุรกิจส่วนหนึ่งตกไปอยู่ในมือของพวกเขา
และมันก็ไม่จบเพียงแค่การทำร้ายครั้งแรก เพราะต่อมาพวกเขาก็มีเรื่องกันอีก แฮนโด้กับเพื่อนทำร้ายชาวเวียดนามจนปางตาย คนที่เล็ดลอดออกไปได้จึงไปตามพรรคพวกที่เหลือ ชาวเวียดนามกลุ่มใหญ่พกพาอาวุธมาด้วย และพร้อมจะเอาคืนในสิ่งที่พวกเขาทำ ทั้งสองฝ่ายเริ่มต่อสู้ มีคนล้มตายและบาดเจ็บ แก๊งแฮนโด้ถูกไล่ต้อนจนแตกฮือและหลบหนี แต่พวกเวียดนามก็ตามมาเผาโกดังอาศัยจนราบเป็นหน้ากลอง
ใช่ว่าพวกเขาจะหลาบจำ ความโกรธเกรี้ยวที่ฝังอยู่ในจิตใจอันคับแคบนั้นพร้อมจะระเบิดอยู่ทุกเมื่อ แก๊งแฮนโด้จึงก่อเรื่องอีก และเมื่อเรื่องถึงมือตำรวจก็คงได้เวลาการล่มสลายของแก๊งเสียที
American History X (1998)
แฟรงค์ มีอิงค์ วัยรุ่นชาวอเมริกันถูกตัดสินใจจำคุกสามปี ในข้อหาลักพาตัวและพยายามฆ่า เขาเป็นผู้ปลุกระดมความเกลียดชังต่อคนต่างสีผิวต่างชาติพันธุ์ แต่สุดท้ายเขาก็เข้าไปชดใช้สิ่งที่ทำในห้องขัง และเรียนรู้ชีวิตมากกว่าที่เคยเป็นตลอดมา เรื่องราวของแฟรงค์เป็นแรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่องนี้
โทนี่ เคย์ ผู้กำกับพยายามมองหานักแสดงที่จะมาสวมบทบาทเรื่องนี้ได้ แล้วเขาก็พบกับเอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน นอร์ตันพยายามอย่างมากสำหรับบทนี้ เขาโกนผมทิ้งและเพิ่มน้ำหนักตัวอีกเกือบ 30 ปอนด์ แต่ดูเหมือนว่าเคย์ยังไม่ได้เชื่อมั่นในตัวนอร์ตันขนาดนั้น หลายอย่างในโปรเจกต์นี้ไม่เป็นไปตามที่เขาคิด และเขาก็ยังรู้สึกไม่พอใจกับผลลัพธ์ตลอดมา
มันเป็นเรื่องราวของสองพี่น้องครอบครัววินยาร์ด พวกเขาสูญเสียพ่ออันเป็นที่รักไปอย่างไม่อาจหวนคืน หลังจากเหตุการณ์นี้ เดเร็คก็มีมุมมองชีวิตที่ต่างออกไปจากเดิม เขานับถือลัทธินีโอ-นาซี และกลายเป็นคนเหยียดสีผิวอย่างรุนแรง เดเร็คก่ออาชญากรรมหลายอย่าง แล้วในคืนวันอันโชคร้ายของโจรผิวสีคนหนึ่ง เดเร็คได้ลงมือทำร้ายเขาอย่างโหดร้าย ซึ่งมันนำเขาไปสู่การถูกจองจำเป็นเวลาสามปี
ในคุก เดเร็คทำงานในห้องซักรีด ซึ่งเขาต้องร่วมงานกับมอนต์ ชายผิวสี เดเร็คไม่ลงรอยกับเขาในทีแรก ทั้งยังแสดงพฤติกรรมไม่ต่างจากก่อนเข้าคุกมา แต่ชีวิตในคุกนั้นไม่ง่าย การแบ่งพรรคแบ่งพวกที่หากเลือกไม่ถูกฝั่งก็จะมีแต่ซวยกับซวย แล้วบทเรียนราคาแพงก็ตกมาถึงตัวเดเร็ค ศักดิ์ศรีที่เคยมีก็ย่อยยับลง พอออกจากคุกเดเร็คก็เปลี่ยนเป็นคนละคน แต่เขากลับต้องมาพบว่าเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังในอดีตที่ตนเพาะไว้ ตอนนี้มันอยู่ในตัวแดนนิส น้องชายของเขาแล้ว
ความเกลียดชังนั้นสามารถเพาะขึ้นมาได้โดยง่าย แต่การจะถอนรากถอนโคนมันช่างยากเย็นแสนเข็ญ เมื่อเราได้หว่านเมล็ดออกไปแล้ว มันก็มีแต่จะเติบโต งอกงาม และผลิดอกออกผลต่อไป
This Is England (2006)
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีอีกชื่อว่า This Is England ’83 เพื่อไม่ให้สับสนกับซีรีส์ทางโทรทัศน์ที่ตามมาอีกหลายตอนของผู้กำกับ ฌอน เมโดวส์ จุดศูนย์กลางของเนื้อเรื่องอยู่ในปี 1983 แต่มันแสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมหลายอย่างนั้นมีรากมาจากปี 1960 โดยได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมใน West Indies ทั้งแฟชั่นและการฟังเพลง
ตัวละครหลักของเรื่องคือ ฌอน โดยบทนี้ตกไปเป็นของ โทมัส เทอร์กูส ซึ่งมีอีกคนที่มาออดิชั่นบทนี้ นั่นคือแจ็ค โอคอนเนลล์ เขาก็พลาดบทนี้ไป แต่ผู้กำกับรู้สึกประทับใจในตัวแจ็ค เขาจึงเขียนบทตัวละคร เพอร์กี้ ขึ้นมาให้แจ็คโดยเฉพาะ
เดือนกรกฎาคม ปี 1983 วันสุดท้ายของการเรียน ฌอน เด็กชายวัย 12 ปี มีเหตุวิวาทกับเพื่อนในโรงเรียน เพราะถูกล้อเลียนเรื่องพ่อ ฌอนฝังใจอยู่กับการสูญเสีย พ่อตายไปในสมรภูมิเกาะฟอร์คแลนด์ เด็กคนอื่นๆ ชอบกลั่นแกล้งเขา ฌอนไม่ถูกยอมรับจากเพื่อนวัยเดียวกัน จนวันหนึ่งเขาก็มาเจอกับวูดดี้ เพื่อนต่างวัยซึ่งอยู่ในแก๊งระแวกบ้าน วูดดี้เห็นใจและชวนฌอนเข้ามาร่วมกลุ่มด้วย ที่นี่ฌอนได้รับการยอมรับในฐานะสมาชิกคนหนึ่ง
ฌอนถูกสอนให้รู้จักรักพวกพ้อง สอนให้เห็นความสำคัญของความเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งแสดงออกผ่านการแต่งตัว การกระทำ และคำพูด แล้วอีกจุดเปลี่ยนก็เดินทางมาถึง เมื่อคอมโบ เพื่อนเก่าของวูดดี้ปรากฎตัว ทิศทางของกลุ่มเปลี่ยนแปรไป คอมโบปลูกฝังอุดมการณ์ใหม่ให้พวกเขา มันคือความรักต่อชาติ และความเกลียดชังต่อสีผิวอื่น จากนั้นการกระทำของพวกเขาก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการทำลายข้าวของ การปล้นสินค้า การตราหน้าคนอื่นด้วยคำพูดหยาบคาย ความแตกแยกที่ไม่รู้ว่าจะมีสิ่งใดมาสมาน หรือความสงบจะกลับมาอีกครั้งเมื่อไร
เมื่อใครสักคนโตมากับสงครามหรือความรุนแรง บางครั้งเขาจึงอาจเข้าใจได้ว่านั้นคือทางเลือกเดียวที่จะทำให้เขากลายเป็นผู้ใหญ่ การหลุดพ้นจากการโดนเหยียบย่ำ การไม่ต้องโดนผู้อื่นทำร้าย แล้วพวกเขาก็จะเข้าสู่วังวนที่ไม่มีทางออก ซากปรักหักพังต่างๆ จะทับถมเขาไว้ หากไม่มีใครสักคนยื่นมือเข้าไปช่วย…
Green Room (2015)
ภาพยนตร์ระทึกขวัญ ผลงานเขียนบทและกำกับเรื่องที่ 2 ของอดีตช่างถ่ายภาพยนตร์ เจเรมี ซอลเนียร์ ที่เพิ่มความดิบโหดจากภาพยนตร์เรื่องแรกมาอีกเท่าตัว นำแสดงโดยดาราที่เราคุ้นเคยอย่างแพทริก สจ๊วต และแอนตัน เยลชิน ชายหนุ่มผู้ล่วงลับไปหลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายไม่นานนัก
ภาพบนโปสเตอร์ของภาพยนตร์อ้างอิงมาจากปกอัลบั้ม London Calling ของ The Clash’s ที่มือเบสของวง พอล ไซโมนอนทุบเบสของเขาบนเวที และภาพยนตร์ก็ยังได้รับแรงบันดาลใจบางส่วนมาจาก Straw Dogs (1971)
เรื่องราวของสมาชิกวงดนตรีพังก์วงหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วย แพ็ต, แซม, รีซ และไทเกอร์ พวกเขาขับรถตระเวนไปเล่นดนตรีตามที่ต่างๆ จนไปพบเข้ากับคลับที่อยู่ในป่านอกพอร์ตแลนด์ โดยร้านนี้เป็นร้านสำหรับพวกนีโอนาซี ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นดี จนกระทั่งการแสดงดนตรีจบลง แพ็ตกลับไปยัง Green Room (ห้องพักนักดนตรี) แต่ดันไปพบร่างของเอมิลี่ หญิงสาวที่ถูกแทงจนเสียชีวิต การฆาตกรรมครั้งนี้ไม่ใช่ฝีมือใครอื่น นอกจากคนในแก๊งนีโอนาซี แพ็ตพยายามเรียกตำรวจ แต่ดันถูกจับได้เสียก่อน ทั้งวงจึงถูกจับมาขังไว้รวมกันในห้อง
สถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ แก๊งนีโอนาซีตัดสินใจที่จะฆ่าทั้งหมดเพื่อนปิดปาก และพยายามหลอกล่อพวกเขาอยู่ในช่วงหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วเมื่อมีการปะทะกันเกิดขึ้น พวกที่โดนจับก็ไม่ปล่อยให้ตัวเองถูกฆ่าลงง่ายๆ พวกเขาทำทุกอย่างเพื่อเอาชีวิตรอด สู้กลับแบบหลังชนฝา เพราะการรวมหัวกันสู้ก็ยังดีกว่าการปล่อยให้ตัวเองถูกฆ่าโดยที่ไม่ทำอะไรเลย แม้จำนวนคนที่น้อยกว่าจะทำให้พวกเขาเสียเปรียบก็ตาม
ภาพยนตร์ใช้เวลาปูเรื่องไม่นานเท่าไรนัก พอหลังจากนั้นก็เข้าสู่บรรยากาศที่พาให้ผู้ชมลุ้นระทึกจนเลือดสูบฉีดตาม มีการชิงไหวชิงพริบกันไปมา ความรุนแรงเสิร์ฟมาแบบไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าผู้ชมจะเดาไปในทิศทางไหนก็ไม่สามารถกะเกณฑ์สิ่งที่จะปรากฎตรงหน้าได้เลย
Imperium (2016)
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการเขียนบทและกำกับการแสดงภาพยนตร์ขนาดยาวครั้งแรกของแดเนียล รากัสซี ซึ่งเรื่องราวนั้นสร้างมาจากประสบการณ์จริงของอดีตเอฟบีไออย่าง ไมเคิล เยอรมัน ที่เขียนบทร่วมกับเขาด้วย ได้นักแสดงที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดีมากแสดงนำ ได้แก่ แดเนียล แรดคลิฟฟ์ โดยแดเนียลได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวเองด้วยการโกนผมทั้งหมด
ชื่อภาพยนตร์เป็นภาษาละติน แต่ใช้กันโดยทั่วไปในภาษาเยอรมัน หมายถึง ‘อาณาจักร’ บรรดานีโอนาซีที่พูดภาษาอังกฤษมักอ้างอิงถึง ‘Western Imperium’ เป็นอาณาจักรทางทฤษฎีในอนาคตตามมุมมองทางการเมืองและปรัชญาของพวกเขา
เนท ฟอสเตอร์ หนุ่มนักวิเคราะห์ข่าวกรองของหน่วย FBI เขาเชี่ยวชาญภาษาอารบิกหลังจากประสบการณ์การทำงาน และเขาก็หวังว่าจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเปิดเผยแผนการก่อการร้าย แต่บางทีการได้แต่รอคำตอบ โดยไม่ลงพื้นที่จริงก็ทำให้ไม่ได้อะไรกลับมา เมื่อเนทได้คุยกับแองเจลา แซมปิโน เขาก็ทราบว่าจะมีการลักลอบนำเข้าซีเซียม-137 ซึ่งเป็นสารตั้งต้นหลักในการสร้างระเบิด เนทจึงได้รับมอบหมายให้เป็นสายลับเพื่อแทรกแซงเข้าไปในกลุ่มคนผิวขาวหัวรุนแรง เพื่อจะได้เข้าถึงตัว ดัลลัส วูลฟ์ นักจัดรายการวิทยุที่คอยยุยงปลุกปั่น เนทต้องใช้ทักษะทั้งหมดที่มีในการเป็นหนอนบ่อนไส้ เขาต้องลากความจริงออกมาให้ได้ โดยที่ตัวเองก็ยังมีลมหายใจเช่นกัน
การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ใช่แค่การลงไปจับผู้ร้าย แต่เรายังจะได้เห็นการคิด วิเคราะห์ และการวางแผนที่แนบเนียน ซึ่งต้องครอบคลุมไปจนถึงความคิดภายในที่แสดงออกมาด้วย ภาพยนตร์เอ่ยถึงสิ่งที่จะเล่าตั้งแต่เปิดเรื่อง “ตัวอักษรและคำพูดมีพลังกว่าการใช้กำลังและความรุนแรง” มันสามาถชี้นำความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ได้ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัยก็ตาม
Tags: The list, Skinhead