วันที่ 30 มกราคม 1933 คือจุดเปลี่ยนของอำนาจ หลังจากสาวกและผู้ติดตามต่อสู้ฝ่าฟันกันมาระยะหนึ่ง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ไม่จำเป็นต้องตะเกียกตะกายอีกต่อไป อำนาจทางการเมืองถูกหยิบยื่นให้เขาโดยตรงถึงมือ เมื่อ พอล ฟอน ฮินเดนบวร์ก (Paul von Hindenburg) ประธานาธิบดีอาณาจักรไรช์ แต่งตั้งให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีอาณาจักรไรช์

จากนั้น ช่วงเวลาแห่งการรวบอำนาจก็เริ่มต้นขึ้น พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน (Nationalsozialistische Deutsche Arbeiterpartei: NSDAP) กวาดคะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้งรัฐสภาวันที่ 5 มีนาคม 1933 ได้อย่างไม่ยากเย็น และผลลัพธ์ก็เป็นอย่างที่รู้กัน เยอรมนีกลายเป็นประเทศมหาอำนาจ ที่มีผู้นำเผด็จการปกครองยาวนาน กระทั่งเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ และสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามมา ซึ่งแม้แต่พลเมืองชาวเยอรมันเองก็ไม่อาจล่วงรู้ได้ในช่วงปี 1933-1934

ตลอดช่วงหลายปีที่ทำงานด้านสังคมศาสตร์ ศาสตราจารย์เธโอดอร์ อาเบล (Theodore Abel, 1896-1988) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก เคยมีคำถามกับตัวเองว่า ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นมามีอำนาจได้อย่างไร ทำไมชาวเยอรมันส่วนใหญ่ถึงให้การสนับสนุนพรรคนาซี พวกเขาถูกหลอกล่อหรืออย่างไร

ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นมามีอำนาจได้อย่างไร ทำไมชาวเยอรมันส่วนใหญ่ถึงให้การสนับสนุนพรรคนาซี พวกเขาถูกหลอกล่อหรืออย่างไร

และเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ ในเดือนมิถุนายน 1934 ด้วยความช่วยเหลือของกระทรวงโฆษณาการ อาเบลจึงตั้งประเด็นคำถาม “ทำไมข้าพเจ้าถึงเป็นนาซี” ขึ้นมา เป็นหัวข้อประกวดการเขียนบทความ โดยมีเงิน 125 ไรชส์มาร์กมอบให้เป็นรางวัลตอบแทน เงินจำนวนดังกล่าวในยุคนั้น สำหรับชาวเยอรมันส่วนใหญ่เท่ากับรายได้หนึ่งเดือนหรือมากกว่านั้น ข้อเขียนเรื่องราวส่วนตัวที่เล่าเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกพรรคนาซีและให้การสนับสนุนฮิตเลอร์นั้น มีการชี้แจงว่าจะนำไปเผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์ของพรรคนาซี

ผู้สนใจส่งบทความเข้าประกวดมีทั้งอดีตนายทหารจากยุทธภูมิสงครามโลกครั้งที่ 1 ข้าราชการ คนใช้แรงงาน แม่บ้าน และเด็กๆ บางคนเขียนส่งเพียง 2-3 หน้ากระดาษ บางคนก็ร่ายยาวถึง 12 หน้า เป็นตัวพิมพ์ดีด และมีไม่น้อยเช่นกันที่เขียนด้วยลายมือ

กุสตาฟ ไฮนช์ (Gustav Heinsch) ปีเกิด 1890 จากเขตเวสเทนด์ ของเบอร์ลิน อาชีพใช้แรงงาน เข้าเป็นสมาชิกพรรค NSDAP ตั้งแต่ปี 1931: วัยเด็กเขามีความฝัน อยากมีเงินซื้อหนังสือด้วยตัวเอง แต่กว่าจะได้เงินมาแต่ละครั้ง เขาต้องไปทำงานที่โรงงานกระดาษหลังเลิกเรียน ที่นั่นทำให้เขาได้เรียนรู้จักกับอุดมการณ์ การต่อสู้ของชนชั้น และชื่นชมพรรคพลเมืองเยอรมันเสรี (Deutschvölkische Freiheitspartei: DVFP) ซึ่งมีนโยบายส่งเสริมคนในชาติและกีดกันคนต่างชาติพันธุ์ “ตอนนั้นผมเริ่มเข้าใจว่าทำไมผมเปลี่ยนแนวคิดเป็นชาตินิยม เพราะวิถีของสังคมนิยมไม่ตอบโจทย์ในชีวิตของผมเลย” หลังจากนั้น เขาก็กลายเป็นแนวร่วมในการเคลื่อนไหวที่มิวนิก และค้นพบว่าฮิตเลอร์คือคำตอบที่เขาแสวงหา

“ตอนนั้นผมเริ่มเข้าใจว่าทำไมผมเปลี่ยนแนวคิดเป็นชาตินิยม เพราะวิถีของสังคมนิยมไม่ตอบโจทย์ในชีวิตของผมเลย” ไฮนช์ อาชีพใช้แรงงาน สมาชิกพรรค NSDAP กล่าว

ฟริตซ์ ยุงฮานส์ (Fritz Junghanss) ปีเกิด 1900 จากเขตชาร์ล็อตเทนบวร์ก พนักงานขาย เข้าเป็นสมาชิกพรรค NSDAP ตั้งแต่ปี 1930: เขามีพื้นเพจากครอบครัวชนชั้นกลาง แต่เติบโตขึ้นในบ้านที่ขาดรัก เขาฝักใฝ่แนวทางคอมมิวนิสต์ ในตอนเริ่มแรก ก่อนจะเปลี่ยนใจไปเห็นชอบแนวความคิดทางวัตถุนิยม หลังจากเข้าร่วมชุมนุมกับ โยเซฟ เกิบเบลส์ (Joseph Goebbels) ในปี 1929 ที่ขับเคลื่อนนโยบายเอาใจคนว่างงานของพรรคนาซี “ผมไปเจอสิ่งที่ตัวเองใฝ่หามานาน มันคือความถูกต้องและการพัฒนา” ที่สอดคล้องกับความต้องการของคนทำงานเชื้อชาติเยอรมัน “มันเป็นแนวความคิดที่ทำให้เราเห็นโลกกว้างขึ้น รวมทั้งเห็นถึงความแตกต่างของเผ่าพันธุ์มนุษย์บนโลกนี้ด้วย” เขามองในแง่ดีว่าเป็นแนวทางการสร้างสันติสุขให้กับมนุษยชาติ เขาเปรียบเทียบชาติพันธุ์มนุษย์บนโลกคล้ายดอกไม้ในสวน แต่ละชนิดมีความสวยงามในแบบที่ต่างกัน “ตราบใดที่มันไม่เป็นพิษภัย”

เฮดวิก เอ็กแกร์ต (Hedwig Eggert) เกิดปี 1898 จากเขตสเท็กลิตซ์ เจ้าของกิจการขนาดเล็ก เข้าเป็นสมาชิกพรรค NSDAP ตั้งแต่ปี 1928: เธอมาจากครอบครัวยากจน เริ่มทำงานหาเลี้ยงชีพหลังเรียนจบชั้นประถมปลาย เธอเป็นคนขยัน ไม่เคยเลือกงาน จนสามารถเก็บออมเงินไว้ได้ และลงทุนเปิดกิจการร้านขายของเล็กๆ ปี 1924 ตอนที่ฮิตเลอร์ถูกนำตัวขึ้นศาลในฐานะจำเลยคดีกบฏในมิวนิก เธอเริ่มมีใจเลื่อมใสในตัว ‘ผู้นำ’ เพราะเขายอมแบกรับความผิดไว้แต่เพียงผู้เดียว หลังจากนั้นเธอกับเพื่อนมักจะไปร่วมชุมนุม แม้บางครั้งต้องเสี่ยงอันตรายก็ตาม “เพราะพวกคอมมิวนิสต์คอยจ้องแต่จะทำร้ายเรา พวกเขาไม่เคยเห็นค่าในการต่อสู้เพื่อความสุขของคนในชาติ”

“เพราะพวกคอมมิวนิสต์คอยจ้องแต่จะทำร้ายเรา พวกเขาไม่เคยเห็นค่าในการต่อสู้เพื่อความสุขของคนในชาติ” เฮดวิก เจ้าของกิจการ สมาชิกพรรค NSDAP กล่าว

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้ร่วมแสดงความเห็นทั้งหมดจะต้องเข้าสังกัดพรรค NSDAP ก่อนวันที่ 1 มกราคม 1933 หรือร่วมเคลื่อนไหวในกิจกรรมต่างๆ ของพรรค ในบทความที่เขียนแสดงความเห็นนั้นจะต้องเล่าถึงชีวิตครอบครัว เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ประสบการณ์ ความคิด ความรู้สึกอย่างเปิดเผย โดยไม่จำกัดรูปแบบ

ครั้งนั้นมีผู้ร่วมส่งข้อเขียนแสดงความเห็นทั้งหมด 683 คน ได้รับการคัดเลือกไว้ 581 บทความ และในจำนวนนั้นมี 36 คนที่เป็นผู้หญิง ทั้งหมดกลายเป็นข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีการเก็บรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน

ศาสตราจารย์เธโอดอร์ผู้ริเริ่มโครงการ ล้มเหลวกับการจัดการเอกสารข้อมูลที่ซับซ้อน ส่วนสถาบันด้านประวัติศาสตร์ในมิวนิกซึ่งน่าจะเป็นฝ่ายจัดการกับเรื่องนี้ได้ดี และรู้ว่าเอกสารทั้งหมดอยู่ในความดูแลของอเมริกา แต่กลับไม่ได้สนใจ เหตุผลอาจเป็นเพราะว่า มันเป็นเพียงข้อเขียนของผู้คนธรรมดาทั่วไปที่แสดงความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาชื่นชมเท่านั้น

ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น มีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ทุกคนกลายเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน และต่างคนต่างหลงลืมไปว่า จริงๆ แล้วพวกเขาล้วนเป็นชนชาติเยอรมัน ที่ควรจะสมัครสมานเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีใครชี้นำให้ประชาชนรู้จักรักและสามัคคีกัน แต่พรรคแต่ละฝ่ายต่างโจมตีใส่กัน ใครที่ยืนอยู่ระหว่างพรรคต่างๆ จะรู้สึกได้ถึงความไม่เป็นสุข และรู้สึกเหมือนถูกกดดัน

กระทั่งปี 1923 หลายคนได้ยินชื่อของฮิตเลอร์ ผู้ชายในแบบฉบับผู้นำ กับหนังสือ Mein Kampf (การต่อสู้ของข้าพเจ้า) ที่วางขายในราคา 7 มาร์ก พวกเขาซื้อและอ่าน จากนั้นรู้สึกประทับใจกับอุดมการณ์และแนวความคิดของฮิตเลอร์

ต่อมา เมื่อฮิตเลอร์ก้าวขึ้นเป็นผู้นำ ชาวเยอรมันโดยเฉพาะผู้หญิงเริ่มเทใจให้กับเขาเพิ่มมากขึ้น นั่นเพราะนโยบายการเมืองที่ไม่กีดกันเรื่องเพศ ที่ไม่เคยมีนักการเมือง (ไม่ว่าก่อนหน้าหรือหลังจากฮิตเลอร์) ให้ความสำคัญ เริ่มกันตั้งแต่คำกล่าวเวลาเขาปราศรัยต่อสาธารณชน ที่เขา “กราบเรียน” พี่น้องประชาชนเพศหญิง และเพศชายทุกครั้งเสมอ

อีกอย่างที่สำคัญ ฮิตเลอร์ไม่เพียงแต่ก่อตั้งพรรคการเมืองเพื่อประชาชนขึ้นเป็นครั้งแรก หากพรรคการเมืองของเขายังเป็นพรรคที่ไม่ผูกโยงกับคริสตจักรคาทอลิกหรือโปรเตสแตนต์ ไม่ผูกโยงกับภูมิภาคหรือชนชั้นเหมือนเช่นพรรคการเมืองอื่นใดที่เคยมีมา

จากเอกสารที่ ศาสตราจารย์เธโอดอร์รวบรวมได้นั้น ยังบ่งบอกด้วยว่า ความแตกแยกของพรรคการเมืองในสาธารณรัฐไวมาร์ระหว่างปี 1918-1923 จนเกิดความโกลาหล สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน และมองไม่เห็นว่าจะมีใครเข้มแข็งหรือเด็ดขาดพอที่จะควบคุมสถานการณ์ เมื่อมองจากสายตาประชาชนแล้ว นายกรัฐมนตรีไรช์ทั้ง 15 คนในยุคไวมาร์ล้วนเข้ามารับตำแหน่งแล้วก็ไป ไม่มีคนไหนสร้างผลงานให้เป็นที่จดจำ กระทั่งฮิตเลอร์ปรากฏตัวขึ้น และชี้นำด้วยประโยคที่จับใจ “พวกคุณต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจซึ่งกันและกัน ต้องทำงานด้วยสมองและสองมือ ไม่มีใครยืนหยัดอยู่ได้โดยลำพัง”

คำพูดของฮิตเลอร์ปลุกเร้าความรู้สึกเรื่องของชนชั้นและชาติพันธุ์ที่ฝังในจิตสำนึกของชาวเยอรมัน ให้มองเห็นถึงความแตกต่างระหว่างตนเองกับชนชั้นและชาติพันธุ์ที่เห็นแก่ตัว เสียงดัง ใฝ่ความสำเร็จ และที่เป็นยิว

เอกสารข้อมูลต่างๆ ที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ในยามนี้ บางทีอาจจะเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ชาวเยอรมันกลายเป็นชนชาติที่เห็นคล้อยกับรัฐที่ปล้นสะดมและสังหารหมู่ผู้คนได้อย่างไร

ภาพอดีตเหล่านี้ย้อนกลับมาให้ชาวเยอรมันหวนรำลึกถึงอีกครั้ง หลังจากพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (Alternative für Deutschland: AfD) ได้รับคะแนนเสียงอย่างเกินคาดเมื่อคราวเลือกตั้งปี 2017 รวมถึงการเคลื่อนไหวแบบรุกคืบ-คุกคามของกลุ่มชาตินิยมขวาจัด หรือนีโอนาซีตามเมืองต่างๆ ในอดีตเยอรมนีตะวันออก

ชาวเยอรมันหลายคนกลัวว่า ประวัติศาสตร์จะย้อนรอยเดิมอีกครั้ง

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , ,