หลังจากที่ปล่อยให้ประชาชนรอกันจนเหงือกแห้ง ในที่สุด กกต. ก็เดินหน้าประกาศรับรอง ส.ส. แบบแบ่งเขต 349 คนและแบบบัญชีรายชื่ออีก 149 คน ทำให้เราพอจะเริ่มคำนวณความน่าจะเป็นได้ว่ารัฐบาลผสมที่จะเกิดขึ้นจะมีหน้าตาแบบไหนได้บ้าง เหลือก็แต่นั่งลุ้นว่าพรรคการเมืองน้อยใหญ่จะจับขั้วตามที่เราคาดหวังหรือไม่

ระหว่างที่พรรคการเมืองกำลังปรึกษาหารือหรือแบ่งเค้กแบ่งกระทรวงกัน สัปดาห์นี้ เราจะไปเจาะลึกศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลกัน เพื่อดูว่าคำที่เราพบเห็นชินตามีที่มาจากไหนและมีคำไหนที่เป็นญาติกันบ้างในภาษาอังกฤษ

Government – รัฐบาล

คำๆ นี้ มาจากกริยา govern ที่แปลว่า ปกครอง หากสืบสาวกลับไปจริงๆ จะพบว่ามาจากกริยา gubernare ในภาษาละติน ซึ่งแต่เดิมใช้กับ เรือ มีความหมายว่า บังคับหรือควบคุมทิศทาง แต่เนื่องจากมักมีการเปรียบเปรยว่าประเทศเป็นดั่งเรือนาวา ส่วนผู้ปกครองเป็นเสมือนกัปตันที่เดินเรือฝ่าคลื่นลมให้ผ่านพ้นภยันตรายและไปสู่ที่หมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย ดังนั้น กริยา gubernare จึงเริ่มมีความหมายว่า ปกครอง ด้วยนั่นเอง

แม้ว่าคำว่า govern และ government อาจมีหน้าตาต่างจาก gubernare ที่เป็นคำต้นกำเนิดไปมากพอสมควร เพราะยืมผ่านภาษาฝรั่งเศสมา แต่ก็ยังมีคำที่มาจาก gubernare ที่ภาษาอังกฤษยืมมาและมีหน้าตาใกล้เคียงคำเดิม นั่นก็คือคำว่า gubernatorial ซึ่งเป็นรูปคุณศัพท์ของ governor ที่แปลว่า ผู้ว่าราชการ

ทั้งนี้ทั้งนั้น คำว่า gubernare ไม่ใช่คำละตินแท้ แต่เป็นคำที่ยืมมาจากคำกรีก kybernan อีกทอด เป็นกริยาใช้กับเรือ หมายถึง บังคับควบคุมทิศทาง เช่นเดียวกับในภาษาละติน คำว่า kybernan นี้มีญาติคือคำว่า kybernetes แปลว่า คนคัดท้ายเรือ หรือ ผู้ควบคุม ผู้ปกครอง ในเวลาต่อมา เมื่อมีนักวิทยาศาสตร์พยายามสร้างกลไกการควบคุมและถ่ายทอดข้อมูลระหว่างระบบทางชีววิทยาและระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น จึงเอาคำว่า kybernetes นี้มาตั้งชื่อศาสตร์ใหม่แขนงนี้ เป็นคำว่า cybernetics อย่างที่เรารู้จักในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นที่มาของส่วนเติมหน้า cyber- ที่ไปปรากฏในคำต่างๆ อย่าง cyberspace (โลกไซเบอร์) และคำว่า cyborg ที่แปลว่า มนุษย์ครึ่งคนครึ่งหุ่นยนต์ ด้วย

Parliament – รัฐสภา

หากใครที่เคยดูการประชุมรัฐสภา ก็จะเห็นว่ากิจกรรมหลักๆ ที่เกิดขึ้นคือ การอภิปรายถกเถียงเรื่องต่างๆ ระหว่างสมาชิกสภา (อาจมีการชกต่อยหรือทุ่มเก้าอี้ใส่กันเป็นครั้งคราวในประเทศอื่น) ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่คำว่า parliament ที่แปลว่า รัฐสภา จะสืบสาวกลับไปได้ถึงกริยา parler ในภาษาฝรั่งเศส หมายถึง พูด

คำว่า parliament นี้มีที่มาจากคำว่า parlement ในภาษาฝรั่งเศสเก่า (สร้างขึ้นจากกริยา parler ที่แปลว่า พูด) มีความหมายว่า การอภิปราย ปาฐกถา ต่อมาภายหลัง เนื่องจากคำนี้ใช้ในบริบทการปกครองเป็นหลัก คือใช้เรียกการประชุมของขุนนาง คำนี้จึงเริ่มมีความหมายเจาะจงขึ้น หมายถึง การประชุม และกลายมาหมายถึง รัฐสภา ดังเช่นปัจจุบันในท้ายที่สุด

ทั้งนี้ คำว่า parler ที่แปลว่า พูด ในภาษาฝรั่งเศสนี้ หากสืบสาวกลับไปจะพบว่ามาจากคำว่า parabolare ในภาษาละติน แปลว่า พูด มาจากคำว่า parabola (ซึ่งยืมมาจาก parabole กรีกโบราณอีกทอด) หมายถึง การเปรียบเทียบ ประกอบขึ้นจาก para- ที่แปลว่า ข้าง และ ballein ที่แปลว่า โยน (ทำนองว่านำของสองสิ่งมาโยนวางไว้ข้างกันเพื่อเปรียบเทียบกัน) ส่วนที่ parabola ที่แปลว่า การเปรียบเทียบ กลายไปเป็นคำว่า parler ที่แปลว่า พูด ได้นั้น ก็เพราะหลายครั้งที่เราต้องการสื่อสารใจความบางอย่าง ก็ต้องอาศัยการเล่าเรื่องหรือใช้ภาพเปรียบเปรยนั่นเอง (parabola นี้จึงเป็นที่มาของคำว่า parable ที่แปลว่า นิทานคติสอนใจของชาวคริสต์ที่มักอาศัยการเปรียบเปรยด้วย)

หลายคนที่เคยหรือกำลังทนทุกข์ทรมานกับวิชาคณิตศาสตร์เรื่องภาคตัดกรวยอาจจะกำลังเกาหัวเอียงคอสงสัยเบาๆ ว่า แล้ว parabola ที่แปลว่า การเปรียบเทียบนี้ เกี่ยวข้องกับ พาราโบลาไหม คำตอบก็คือ เกี่ยวกัน! คำว่า parabola นี้นอกจากจะแปลว่า การเปรียบเทียบ แล้ว ยังมีอีกความหมายหนึ่งคือ ความขนานกัน (ทั้งการเปรียบเทียบและความขนานกันเกี่ยวกับการนำของสองสิ่งมาวางข้างกันทั้งคู่) เนื่องจากพาราโบลาคือภาคตัดกรวยที่ขนานกับเส้นกำเนิดกรวยบนผิวกรวย จึงได้ชื่อว่า parabola นั่นเอง

คำว่า parler ยังมีญาติที่น่าสนใจอีกคำในภาษาอังกฤษ นั่นก็คือคำว่า parlor ที่ใช้เรียกร้านค้าบางประเภทนั่นเอง ภาษาอังกฤษยืมคำนี้มาจากคำว่า parleor ในภาษาฝรั่งเศสเก่า แต่แทนที่จะนำมาใช้เรียก ห้องตัดสินคดีความ (ซึ่งก็ต้องมีการพูดปาฐกถาและอภิปรายกัน) อย่างในภาษาต้นทาง กลับนำมาใช้เรียก ช่องหน้าต่างที่ไว้สารภาพบาปกับนักบวช หรือห้องที่ไว้ใช้พูดคุยกับฆราวาสแทน ในเวลาต่อมา คำนี้จึงนำมาใช้หมายถึง ห้องนั่งเล่น ห้องรับรองแขก ก่อนที่จะกลายมาใช้เรียก ร้านที่ขายสินค้าหรือให้บริการบางชนิด อย่างในปัจจุบัน เช่น ice cream parlor (ร้านขายไอศกรีม) และ massage parlor (ร้านนวด)

Senate –วุฒิสภา

แม้ว่าโดยปกติแล้ววุฒิสภาจะไม่ได้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกคนเข้าสภา แต่รอบนี้ได้รับพลังวิเศษให้ช่วยเลือกนายกรัฐมนตรี ดังนั้นจะไม่พูดถึงเสียหน่อยก็คงกระไรอยู่

คำว่า senate มีที่มาจากวุฒิสภาในสมัยโรมันโบราณ เรียกว่า Senatus Romanus มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับกษัตริย์ในการดูแลบริหารประเทศ ทั้งนี้ คำว่า senatus มาจากคำว่า senex ที่แปลว่า แก่ อาวุโส ชรา เนื่องจากสภานี้ส่วนใหญ่แล้วประกอบด้วยผู้ที่มีอาวุโสนั่นเอง (แต่อันที่จริง ในสมัยนั้น อายุแค่ 30 ก็มีสิทธิ์เป็นสมาชิกสภานี้แล้ว)

คำว่า senate มีญาติที่เห็นได้ชัดเจนอยู่หลายคำในภาษาอังกฤษ เช่น senicide (การฆ่าผู้สูงอายุ) senile (เลอะเลือนเพราะความชรา) และ senior (อาวุโสกว่า ผู้อาวุโส) แต่ที่หลายคนดูเผินๆ อาจไม่รู้ว่าเกี่ยวดองกันก็คือคำว่า sir ซึ่งมาจากคำว่า senior ที่แปลว่า อาวุโสกว่า แต่ฝรั่งเศสยืมไปเป็นคำว่า sire เพื่อใช้เรียกอัศวิน ขุนนาง (ซึ่งก็มักจะมีแต่ผู้ชาย) และกษัตริย์ ต่อมาภายหลังนำมาใช้เรียกพ่อหรือบรรพบุรุษที่เป็นผู้ชาย (ทำให้เกิดกริยา sire ที่แปลว่า ให้กำเนิด ได้ด้วย) และเกิดรูป sir ขึ้น ซึ่งภายหลังนำมาใช้เป็นคำให้เกียรติผู้ชายอย่างเช่นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในสมัยคนยังใช้คำว่า sir กับขุนนางเสียมาก ยังมีการนำคำว่า sir มาประกอบกับ -ly เพื่อสร้างคำคุณศัพท์ว่า sirly แปลว่า มีลักษณะอย่างขุนนาง แต่ขุนนางมักวางตัวให้สูงกว่าคนทั่วไป คำว่า sirly จึงเริ่มกลายมามีความหมายว่า เย่อหยิ่งจองหอง ในที่สุด ตัวสะกดของคำนี้ก็เปลี่ยนไปกลายเป็น surly และกลายมามีความหมายว่า บึ้งตึง ไม่เป็นมิตร อย่างเช่นในปัจจุบัน

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Word Origins. Kylie Cathie: London, 2010.

Jones, Peter. Quid Pro Quo: What the Romans Really Gave the English Language. Atlantic Books: London, 2016.

Lewis, Norman. Word Power Made Easy.  Pocket Books: New York, 1978.

Merriam-Webster Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.

Tags: , , ,