“…ถ้าเธอมีโอกาสผ่านไปที่เลขที่ 84 ถนนแชริงครอสส์ ช่วยประทับรอยจูบไว้ที่ร้านแทนฉันด้วยได้ไหม ฉันเป็นหนี้สถานที่แห่งนั้นมากเหลือเกิน”
‘ร้านหนังสือเลขที่ 84 ถนนแชริงครอสส์’ ผลงานของเฮเลน แฮฟฟ์ นักเขียนบทละครเวทีและบทโทรทัศน์ชาวอเมริกันที่มีผลงานเกี่ยวกับโลกแห่งวรรณกรรมมากมาย
ชื่อ ‘เฮเลน แฮฟฟ์’ ไม่ได้ทิ้งไว้ให้เราคุ้นตาในฐานะผู้เขียนบนปกหนังสือเท่านั้น เพราะชื่อนี้จะกลายเป็นชื่อของตัวละครหลักที่โลดแล่นในเรื่องราวแห่งจินตนาการ ด้วยบทบาทของนักเขียนชาวนิวยอร์กที่ไม่ต่างจากชีวิตจริงของผู้เขียนเลย
ร้านหนังสือเลขที่ 84 ถนนแชริงครอสส์ เริ่มต้นเรื่องด้วยการที่เฮเลน แฮฟฟ์ นักเขียนสาวผู้ใช้ชีวิตที่นิวยอร์กได้เริ่มต้นเขียนจดหมายสั่งซื้อหนังสือถึงร้านมาร์คส์ แอนด์ โค. ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพราะเธอพบโฆษณาของร้านหนังสือแห่งนี้ใน Saturday Review of Literature พร้อมคำอธิบายว่าขายหนังสือหายากที่ไม่มีการพิมพ์ซ้ำ
จดหมายฉบับแรกแหวกว่ายผ่านมหาสมุทร โผผินกลางอากาศจากนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมืองอันฟูเฟื่องทันสมัย ส่งตรงข้ามทวีปไปยังร้านหนังสือมาร์คส์ แอนด์ โค. ที่ลอนดอน อังกฤษ เมืองแห่งการคงความเป็นผู้ดีเอาไว้ตลอดกาล
จากจดหมายฉบับแรกที่ส่งไป สมาชิกร้านมาร์คส์ แอนด์ โค. จึงจัดหาหนังสือให้ตามที่เฮเลน แฮฟฟ์ต้องการ พร้อมแนบจดหมายกลับมาเพราะยังขาดหนังสือบางเล่มที่เธอต้องการ จึงเสนอเล่มอื่นมาแทน
จากจดหมายฉบับแรกที่เฮเลน แฮฟฟ์ ส่งไป จึงกลายเป็นจดหมายฉบับที่สอง สาม สี่ ห้า หก…
จากการสั่งซื้อหนังสือตามรายการ กลายเป็นบทสนทนาพูดคุยที่สุดแสนจะน่ารัก เรียบเรื่อย และละมุนละม่อมระหว่างเฮเลน แฮฟฟ์ นักเขียนที่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบจากวรรณกรรมกับสมาชิกร้านหนังสือมาร์คส์ แอนด์ โค. ที่ผลัดกันเขียนจดหมายตอบกลับเธอ
ต่างฝ่ายต่างผลัดกันเล่าเรื่องราวชีวิตของตนซึ่งอยู่คนละประเทศ ถ่ายทอดเนื้อหาในโลกวรรณกรรมแก่กัน มอบของขวัญวันคริสต์มาส การ์ดอวยพรวันปีใหม่ ส่งอาหาร ของใช้ ยื่นมอบความสัมพันธ์ที่อบอุ่นให้กันข้ามทวีป
จากจดหมายสั่งซื้อหนังสือธรรมดาๆ จึงกลายเป็นบันทึกแห่งประวัติศาสตร์ข้ามทวีประหว่างอังกฤษและสหรัฐอเมริกาที่ล้ำค่าและน่าจดจำยิ่ง
ที่เรียกได้ว่าเป็นบันทึกแห่งประวัติศาสตร์นั้น ก็เพราะเรื่องราวในจดหมายตลอด 20 ปีที่ทั้งสองฝ่ายเขียนโต้ตอบกันสะท้อนประวัติศาสตร์ของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้อย่างดี แต่ละปี ค.ศ ที่จ่าบนจดหมายได้จารึกเศษเสี้ยวแห่งความจริงของยุคสมัยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ราวกับได้มองเห็นโลกของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาไปพร้อมๆ กันผ่านโยงใยความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของเฮเลนและสมาชิกร้านมาร์คส์ แอนด์ โค.
…..
จากจุดเริ่มต้นของการเขียนจดหมายโต้ตอบกันตลอด 20 ปีของทั้งสองฝ่ายใน ค.ศ.1949 – 1969 เป็นช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงเพียง 4 ปีเท่านั้น เรียกว่าเป็นแผลสดที่เพิ่งใช้เวลารักษาสมานได้ไม่นาน ความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษที่เพิ่งเผชิญความขัดแย้ง ยังคงเหลือความบอบช้ำ ความระทมทุกข์และความพยายามในการฟื้นฟูประเทศ แต่แน่นอนว่าความไม่ลงรอยกันของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษไม่ใช่บาดแผลที่รักษาไม่ได้ เพราะเราจะเห็นทั้งสองฝ่ายพยายามสมานความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศไว้ผ่านโยงใยความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของเฮเลน แฮฟฟ์และสมาชิกร้านมาร์คส์ แอนด์ โค.
ไม่เพียงแต่จะเห็นความพยายามในการรักษาความสัมพันธ์นี้ แต่เนื้อหาในจดหมายที่ทั้งสองฝ่ายโต้ตอบกันตลอด 20 ปี ยังคงสะท้อนให้เห็นสายสัมพันธ์ที่ตัดกันไม่ขาดระหว่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เพราะภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษซึ่งอยู่ฝ่ายอักษะพ่ายแพ้ต่อสหรัฐอเมริกาที่อยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้อังกฤษต้องกอบเก็บความเสียหายจากสงครามไปซ่อมแซมบาดแผลและฟื้นฟูประเทศและทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มมีอำนาจมากขึ้นจากการเป็นผู้ชนะ ทว่าการมีอำนาจและความฟูเฟื่องของสหรัฐอเมริกาไม่ได้ตัดขาดจากความเจริญเก่าอย่างอังกฤษไปเสียทีเดียว
ในหนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นว่าเฮเลน แฮฟฟ์ นักเขียนชาวนิวยอร์กก็จำเป็นต้องปีนป่ายไปสู่องค์ความรู้ด้านวรรณกรรมด้วยบันไดแห่งมวลมหาหนังสือจากลอนดอน ณ ร้านมาร์คส์ แอนด์ โค. และชาวลอนดอนเองก็จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้บางอย่างจากชาวนิวยอร์ก ผ่านการแลกเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ที่จะเห็นได้ตลอดทั้งเรื่อง
การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อันหลากหลายระหว่างมหาอำนาจสองพื้นที่จึงสะท้อนให้เห็นผ่าน ‘ร้านหนังสือเลขที่ 84 ถนนแชริงครอสส์’ อย่างชัดเจน และเมื่อเปรียบเทียบกับความเป็นจริงในบริบททางประวัติศาสตร์สมัยนั้น ก็จะเห็นได้ถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษที่สอดคล้องกับในหนังสือเรื่องนี้เช่นกัน เพราะภายหลังจากการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาและอังกฤษก็ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีเรดาร์แก่กันจนสามารถพัฒนาเป็นเรดาร์ในย่านไมโครเวฟได้
หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเครื่องสะท้อนประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศ เผยภาพความเชื่อมโยงกันของมหาอำนาจหนึ่งที่กำลังบอบช้ำและทรุดหนักอย่างอังกฤษและมหาอำนาจที่กำลังจะรุ่งโรจน์อย่างสหรัฐอเมริกา และยังเป็นเป็นบันทึกแห่งสายสัมพันธ์ที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษพยายามจะเยียวยาไว้
ผ่านความรักและความผูกพันของคนสองประเทศที่จะทำให้ผู้อ่านต้องเสียน้ำตาให้ด้วยความอิ่มเอมใจ
Fact Box
- หนังสือ : ร้านหนังสือเลขที่ 84 ถนนแชริงครอสส์ ผู้เขียน: Helene Hanff ผู้แปล: รังสิมา ตันสกุล, ปราบดา หยุ่น สำนักพิมพ์ : Bookmoby Press